รู้จัก “แทรมน้อย” รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น สัญลักษณ์การกระจายอำนาจ ที่เกิดไฟไหม้กลางดึกก่อนวันส่งมอบ
Isaan Record
“สรุปเรื่องแทรมไฟไหม้ เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้ทำมา 3 ปี แพลนส่งมอบงานในวันนี้ (1 กรกฎาคม)
ไหม้แบบใช้งานไม่ได้เลย ตัวถังไหม้ไป 2 จาก 3 ตู้
ทำระบบเสร็จมาเดือนนึงแล้ว เพิ่งทำส่วนของสีเสร็จ
เหลือแค่เก็บรายละเอียด รอส่งมอบ
หน้างานตัดไฟก่อนเสร็จงานประจำวันทุกวัน”
นี่คือข้อสรุปเพลิงไหม้แทรม จาก Facebook : Supakorn Sirisoontorn ศุภกร ศิริสุนทร นักการตลาด ผู้ที่ตามติดความเคลื่อนไหวของเมืองขอนแก่นเป็นประจำ
แม้ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่ก็ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ว่าเกิดอะไรกับ “แทรม” หรือ “รถไฟรางเบา” ที่กำลังจะส่งมอบ ขณะเดียวกัน The Isaan Record ถือโอกาสนี้ชวนย้อนกลับไปทำความรู้จัก “แทรมน้อย” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการกระจายอำนาจและการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่พยายามเดินหน้าโดยภาคประชาชน
แทรมน้อยเพื่อการศึกษา
โครงการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา และการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมในแนวสายรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเรียกว่า Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ
รถไฟฟ้ารางเบา (tram) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘แทรมน้อย’ มีทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแทรมน้อยรอบบึงแก่นนคร ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเข้ารถรางมือสองจากญี่ปุ่นมาให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.ขอนแก่น) ศึกษาจนมีการเรียนการสอน ไปจนถึงการทดลองวิ่งจริงในมหาวิทยาลัย และโครงการใหญ่อย่างโครงการริมถนนมิตรภาพ โดยจะเริ่มวิ่งตั้งแต่สถานีสำราญ-ท่าพระ
โมเดลจำลองระบบรางของ แทรม ภาพ: Khon Kaen Talk
ตามแผนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายเหนือใต้ สำราญ-ท่าพระ จะมีระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 21 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน โดยมีขบวนละ 3 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน
แก้จนลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านรถไฟฟ้ารางเบา
โครงการรถไฟฟ้าสำราญถือเป็นโครงการแก้จนลดความเหลื่อมล้ำ ที่หยิบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมาบริหารงาน และนำเข้าตลาดทุน โดยสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT ซึ่งมีส่วนร่วมสร้างรถไฟฟ้ารางเรา บอกว่าจะต้องเอาคนจนเข้าตลาดด้วย เป็นการใช้เครื่องมือคนรวยมาแบ่งคนจนนั่นเอง
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภาพ: ลาวเด้อ
โดยสรุปรายละเอียดแผนการอีกครั้งได้ ดังนี้ 1) จัดตั้งบริษัทขึ้นภายใต้ชื่อ KKTS พร้อมส่งขอรัฐบาล 2) ผ่านการอนุมัติเป็นเจ้าของกิจการรถไฟฟ้ารางเบา 3) ขอพัฒนาเรื่องที่ดินเพิ่มไปพร้อมกับการพัฒนาระบบขนส่ง 4) ส่งสัญญากู้เงินให้กับฮ่องกงและกำลังอยู่ในกระบวน 5) ก.ล.ต.จัดตั้งกองทุนสำหรับคนจน 6) นำกองทุนผู้มีรายได้น้อยเข้าเป็นผู้ถือหุ้น KKTS 7) นำข้อ 2,3 เข้าตลาดทุน 8) คนที่มีรายได้น้อยก็จะมีเงินจากหุ้นตลาดที่เพิ่มขึ้น แม้สะสมแค่ 5% และ 9) แก้ปัญหาความยากจนเสร็จ จะช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง
สุรเดชบอกอีกว่าแผนนี้จะไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วทิ้ง ในอนาคตหากมีการพัฒนาเมืองส่วนไหนอีกก็จะนำเครื่องมือแก้จนนี้ใช้ต่อ และในส่วนของแผนพัฒนาขอนแก่น 20 ปี สุรเดชเสริมว่า “เมื่อมีบริษัทที่เป็นเทศบาลในจังหวัดแล้ว จะมีความมั่งคั่งอยู่ที่ประมาณ 70,000 – 80,000 ล้านบาท และส่วนนี้ก็จะค่อยๆ ถูกนำมาพัฒนาเมืองขอนแก่นต่อไป”
ภาพ: ลาวเด้อ
ปัจจุบันงบประมาณที่ใช้ในการสร้างแทรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ดำเนินการโครงการวิจัย และพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยได้รับงบประมาณจาก บพข. แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
- ระยะที่ 1 ดำเนินการ 3 ปี 2563-2565 งบประมาณ 90 ล้านบาท
- ระยะที่ 2 ดำเนินการ 1 ปี 2565-2566 งบประมาณ 33 ล้านบาท
ซึ่งวันนี้ (1 กรกฎาคม 2567) จะมีกำหนดการส่งมอบรถไฟฟ้ารางเบาให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.ขอนแก่น) แต่กลับเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม ภายในบริษัท ช.ทวี บ้านโนนตุ่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งสาเหตุที่เพลิงไหม้นั้นยังต้องรอการยืนยันผลตรวจจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 4 คาดว่าจะรู้ผลประมาณ 1 เดือน
อ้างอิง
ลาวเด้อ : การพัฒนา การศึกษาขอนแก่น ในมุมภาคเอกชนโดยขอนแก่นพัฒนาเมือง
Khon Kaen Talk : แถลงข่าวความคืบหน้าความเสียหาย โครงการจักสร้างรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบ
ข้อสรุปเพลิงไหม้แทรม
Khon Kaen Talk : แถลงข่าวความคืบหน้าความเสียหาย โครงการจักสร้างรถไฟฟ้ารางเบาต้นแบบ
ข้อสรุปเพลิงไหม้แทรม