วันเสาร์, กรกฎาคม 13, 2567

ฉายา ‘เศรษฐา‘ ช่างสมน้ำสมเนื้อ ‘นายกฯ สั่งการ‘ สั่งไปแล้ว ๑๙๓ เรื่อง ล้วน “สั่งลมสั่งแล้ง”

ผ่านมา ๑๑ เดือน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ ๓๐ ได้ฉายาที่เป็นของตัวเอง และจะติดตัวไปชั่วนาตาปีแล้วละ นายกฯ สั่งการ นั่นไง เมื่อ ไทยพับลิก้าเก็บรวบรวมข้อมูลจากการประชุม ครม.ของรัฐบาลนี้ ตั้งแต่ ๑๓ กันยา ๖๖ ถึง ๙ กรกฎา ๖๗

ได้ความว่าสั่งการไปแล้ว ๑๙๓ เรื่อง ถึง ๒๕๑ หน่วยงาน เป็นการเน้นสั่งแบบไม่เจาะจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีถึง ๑๖๒ เรื่อง สักแต่ว่าสั่ง แต่ไม่มีกรอบเวลาสำหรับการปฏิบัติ จึงลงเอยว่า สั่งลมสั่งแล้งทั้งนั้น

ทั้งนี้ในจำนวน ๑๙๓ เรื่องสั่งการ แยกแยะเป็นวิธีการสั่ง ๔ แบบ นอกจาก ข้อสั่งการ๑๓๒ เรื่องแล้ว มีการ ขอ ๒๗ เรื่อง มอบหมาย ๑๗ เรื่อง และ กำชับ อีก ๑๗ เรื่อง

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้ที่เปิดประเด็นเรื่อง สั่งลมของนายกฯ เศรษฐา เป็นที่ปรึกษาของรองนายกฯ ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งก็คือ วรชัย เหมะ คนที่อาจหาญวิจารณ์นายกฯ เศรษฐาว่าอย่าเอาแต่ชีพจรลงเท้า กลับเข้ามาทำงานได้แล้ว

“แนวทางการทำงานที่ผ่านมาของนายกฯ ด้วยความขยัน ความอดทน แต่ไม่เร็วพอที่จะทำให้ประชาชนพึงพอใจได้...จึงอยากให้นายกฯ...ทวงถามความคืบหน้าข้อสั่งการต่างๆ ที่เคยให้ไว้ในรอบเกือบ ๑ ปี กับข้าราชการผู้รับผิดชอบ”

เป็นผลให้ หมอมิ้งนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช โต้กลับว่านายวรชัยอยู่ไกลไม่เห็นว่านายกฯ ทำงานหนักอย่างไร กลายเป็นศึกคารมเมื่อวรชัยขยับกล้ามงัดกับหมอมิ้งว่า น้ำเต็มแก้ว แล้วไม่รู้ความเดือดร้อนของประชาชนเหมือนตน

ข้อวิจารณ์ของวรชัยต่อเศรษฐานี่เอง เมื่อเอาไปต่อยอดพบว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง ในบรรดาการสั่งงานแบบปลายเปิด ไม่บอกต้องเสร็จเมื่อไร ๑๖๒ เรื่อง “ในจำนวนนี้มีไม่ถึง ๑๐ เรื่องที่หน่วยงานที่ได้รับการบ้าน นำกลับมารายงานซ้ำ”

ก็ยังมีบางเรื่องที่แม้กำหนดกรอบเวลาไว้ชัดเจน (๒๑ เรื่อง) บ้างมีการนำกลับมารายงานซ้ำ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ “ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่า หน่ายงานนั้นๆ ดำเนินการกับนโยบายที่ได้รับมอบหมายอย่างไร”

(https://thaipublica.org/2024/07/over-hundred-matters-in-eleven-months/)