วันศุกร์, กรกฎาคม 05, 2567

เรา “นินทา” ไปทำไม และในแง่สังคมการเมือง การนินทามีประโยชน์บ้างมั้ย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร - SAC
10 hours ago
·
เรา “นินทา” ไปทำไม: เมื่อการนินทาใหญ่กว่าเรื่องของชาวบ้าน
.
นักมานุษยวิทยาลงความเห็นว่าการนินทาเป็นปรากฏการณ์สากล การนินทาถูกนิยามในความหมายเชิงลบของการพูดคุยของบุคคลที่หนึ่งกับบุคคลที่สองในพื้นที่ส่วนตัว โดยคำนึงถึงการไม่ปรากฏตัวของบางคนบางกลุ่มในฐานะบุคคลที่สาม
.
สาระของการนินทามักเป็นเรื่องของการกระทำที่น่าตำหนิติเตียนของคนหลายระดับตั้งแต่คนใกล้ชิดไปจนถึงผู้มีอำนาจ ด้วยเหตุที่การนินทามักเกิดขึ้นในกลุ่มสนทนาเล็ก ๆ กิจกรรมการพูดคุยดังกล่าวจึงมักถูกมองว่าเป็นเรื่องของชาวบ้าน ในหลายสังคม การนินทาถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและไม่เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่น่าตำหนิและไม่ควรปฏิบัติ กระนั้นเอง การนินทางก็ยังคงเป็นสิ่งที่มนุษย์ในทุกสังคมมีส่วนร่วมอย่างอย่างไม่อาจหลบเลี่ยงได้ตามโอกาส ใครบางคนอาจกล่าวติติงการนินทาในที่แจ้ง แต่เขาอาจเคยนินทาผู้อื่นในที่ลับมาก่อนก็ได้
.
แม้มานุษยวิทยาพยายามศึกษาการนินทามาตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1960 แต่ประเด็นดังกล่าวเริ่มเป็นที่สนใจเมื่อแม็กซ์ กลักแมน อธิบายว่าการนินทามีหน้าที่ทางสังคมในฐานะที่เป็นกลไกในการรักษาความเกลียวภายในกลุ่มทางสังคม การนินทาเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองบรรทัดฐานทางสังคม ส่วนหนึ่งเป็นไปด้วยกลไกการสร้างความกลัวให้กับการตกเป็นบุคคลที่สามที่จะถูกพูดถึงในทางลบ ด้วยเหตุที่เป็นผู้กระทำผิดไปจากบรรทัดฐานและความคาดหวังของสังคม
.
นอกจากนี้ การนินทาระหว่างบุคลที่หนึ่งและสองยังช่วยหล่อเลี้ยงความรู้สึกที่พวกเขาเป็นสมาชิกของสังคมที่ยึดถือในบรรทัดฐานแบบเดียวกันด้วย อีกประการหนึ่งคือ การนินทาเป็นการเบี่ยงเบนความก้าวร้าวและการประจัญหน้าเพื่อที่จะรักษาความร่วมมือบางอย่างเอาไว้ นอกจากนี้ กลักแมนยังอธิบายว่า ในบางกรณี การนินทายังมีบทบาทในการตรวจสอบ ประเมิน และควบคุมผู้นำหรือผู้มีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการด้วย
.
โดยสรุปแล้ว กล่าวได้ว่า การนินทาเป็นกลไกทางการเมืองในระดับชีวิตประจำวันของผู้คนในการจัดระเบียบและเบี่ยงเบนการปะทะทางสังคม แม้ผู้ที่ถูกนินทาอาจไม่รับรู้ว่าตนเองกำลังตกเป็นเป้าเนื่องด้วยการกระทำบางอย่างของตน แต่ผู้คนในวงสนทนาหรือคนที่ได้รับรู้ถึงสาระของการพูดคุยจะได้เรียนรู้ทางอ้อมว่าการกระทำของบุคคลนั้น ๆ ไม่ควรเอาอย่าง ภายใต้ความอิหลักอิเหลื่อ ที่ไม่อาจไม่พึงพอใจแต่ก็ยังทำประโยชน์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ การนินทาไม่อาจมองอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นการซุบซิบเรื่องราวของชาวบ้านที่ไม่สัมพันธ์กับมิติทางสังคมวัฒนธรรม หากแต่ยังเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ผู้คนใช้ระบายความไม่พึงพอใจที่ไม่อาจประจัญหน้า และชี้ให้เห็นว่ามีตัวอย่างที่แย่ของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่ทุกคนยึดถือบรรทัดฐานบางอย่างร่วมกัน
.
ติดตามได้ในบทความ series มานุษยวิทยาอนาคต "เรา “นินทา” ไปทำไม: เมื่อการนินทาใหญ่กว่าเรื่องของชาวบ้าน"
https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/626
.
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์: เขียน
.
#มานุษยวิทยาอนาคต #วัฒนธรรมร่วมสมัย #นินทา #ศมส #ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร #SAC