วันอังคาร, กรกฎาคม 02, 2567

ทำไมประเทศนี้ คนจนโงหัวไม่ขึ้นจาก ‘ความจน’


(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

โงหัวไม่ขึ้นจาก ‘ความจน’

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2567
1 กรกฎาคม พ.ศ.2567

“คนจนมีสิทธิมั้ยครับ” วลีจากเพลงที่โด่งดังระดับตำนานในวงการมาในช่วงหนึ่ง ถึงวันนี้ยังเป็นคำถามที่ไม่ใช่เพื่อหาคำตอบ เพราะต่างรู้กันอยู่แล้วว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน เพียงแค่ยังตะโกนขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงความเจ็บช้ำน้ำใจที่ไม่เคยจางไปจากความรู้สึก

ทุกครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองทุกพรรคจะพูดถึงการสร้างโอกาสเท่าเทียมของการมีชีวิตที่ดี แต่หลังจากพ้นจากเวลาหาเสียง เป็นที่รับรู้กันว่าเหลือสักกี่พรรค หรือ ส.ส.สักกี่คนที่ยังยืนหยัดที่จะพาประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เดินไปถึงโอกาสที่ให้สัญญาไว้ในช่วงขอคะแนน

เนิ่นนานมาแล้วที่พูดกันถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ว่าเป็น “ตัวเซาะกร่อน” ความสุขของการอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง แต่จนถึงวันนี้ “โอกาสที่เท่าเทียม” ก็ยังเป็นความฝันที่คนไทยไม่เคยได้รับการตอบสนองให้ไปถึง

ไม่ใช่ไม่รู้สาเหตุ ด้วยมีการศึกษาวิจัยมากมายในเรื่องนี้ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ยกตัวอย่างของการศึกษาที่ทำให้เห็นรูปธรรมชัดเจน “KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร” เรื่อง “ภาพรวมความเหลื่อมล้ำไทย” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยในเนื้อหาส่วนหนึ่งมีได้ตั้งคำถามว่า “เกิดมาจนแต่สร้างตัวเองจนร่ำรวยเป็นไปได้จริงหรือไม่”

ผลของการศึกษาก็คือ ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางโอกาสในทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และวัยชรา

หนึ่ง โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม คนรายได้น้อยต้องอยู่กับการศึกษาที่คุณภาพแย่ ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงมีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้มากกว่า ทำให้มีแนวโน้มได้งานที่ดีและรายได้สูงกว่า

สอง แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ค่าแรงเติบโตช้า ในช่วงหลังต่ำกว่าการเติบโตของ GDP ธุรกิจเพิ่มกำไรได้จากการผูกขาดขณะไม่มีกฎหมายกำกับให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นระบบ ขาดกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เหมาะสม และขาดนโยบายช่วยเหลือสร้างโอกาสให้กับคนที่มีรายได้น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนกำไรกว่า 60% ของรายรับทั้งหมด ส่งผลให้ธุรกิจรายเล็กๆ ไม่สามารถแข็งขันได้เต็มที่ บริษัทใหญ่เข้าถึงบริการทางการเงิน แหล่งทุนได้มากกว่า

สาม ขาดสวัสดิการและกลไกลดความเหลื่อมล้ำ ระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ยังต่ำ

ไม่เพียงเท่านั้น KKP Research ยังชี้ให้เห็น 4 เรื่องสำคัญที่อธิบายความเหลื่อมล้ำในอดีตและความท้าทายในอนาคตของไทย คือ

(1) ประชากรถึง 1 ใน 3 ทำงานในภาคเกษตรและเจอปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

(2) ประชาชนได้รับโอกาสอย่างไม่เท่าเทียมตั้งแต่การศึกษา การทำงาน การทำธุรกิจ และสวัสดิการพื้นฐาน

(3) โควิด-19 จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลงเพราะกระทบกับกลุ่มคนเปราะบาง

(4) ปัญหาสังคมสูงวัยจะมีความท้าทายเพิ่มขึ้นในครัวเรือนที่ยังมีสถานะทางการเงินไม่พร้อม

และยืนยันว่า สถาบันการเมืองไม่เชื่อมโยงกับความรับผิด (Accountability) เป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมและนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ฉุดรั้งการเติบโตระยะยาว

ข้อมูลที่นำสู่การวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ แม้จะเป็นข้อมูลที่เก่าสักหน่อย แต่ก็ชัดเจนว่าความเป็นจริงในวันนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากมายกระทั่งส่งผลให้ต้องมองในมุมใหม่

สภาพชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศยังเหมือนเดิมๆ คนจนไม่มีโอกาสรวย หรือมีก็เป็นด้วยเงื่อนไขพิเศษอย่างเหลือเชื่อจริงๆ ขณะที่คนรวยไม่ว่าจะทำตัวเหลวไหลอย่างไรก็ยังรักษานะไว้ได้ เพราะอยู่ในเงื่อนไขและปัจจัยที่ได้เปรียบทุกด้านที่เอื้อชีวิตที่ดีกว่า เหนือกว่าให้อยู่ดี

คำถาม “คนจนมีสิทธิมั้ยคะ” คำตอบไม่เคยเปลี่ยนแปลง

(https://www.matichonweekly.com/column/article_779541)