วันศุกร์, กรกฎาคม 19, 2567

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยื่นหนังสือถึง กมธ.นิรโทษฯ ขอให้มีมตินิรโทษทุกคดี รวม 112

https://www.facebook.com/watch/?v=498594492749319&t=0
.....


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10 hours ago
·
เครือข่ายนิรโทษกรรม ปชช. พร้อมผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ยื่นหนังสือถึง กมธ.นิรโทษฯ พร้อมแถลงข่าว ขอให้มีมตินิรโทษกรรมทุกคดี รวมถึง ม.112
.
.
วันที่ 18 ก.ค. 2567 เวลา 11.30 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เดินทางไปยังรัฐสภา (เกียกกาย) เข้ายื่นหนังสือ โดยมี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เดินทางมารับหนังสือ โดยมีจุดประสงค์ในการเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ มีมติ “นิรโทษกรรมทุกคดีรวมมาตรา 112”
.
ในวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภาจะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้อีกครั้งเป็นครั้งที่ 18 ซึ่งจะมีการพิจารณาและลงมติในประเด็น คดีและฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรม โดยเฉพาะในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ผ่านมาที่ประชุมได้เสนอและมีความเห็นแตกต่างเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ไม่นิรโทษกรรมทั้งสองมาตรา 2) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราแต่มีเงื่อนไขพิเศษ 3) นิรโทษกรรมทั้งสองมาตราโดยไม่มีเงื่อนไข
.
เวลา 11.00 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 25 คน เดินทางมาที่บริเวณรัฐสภา พร้อมถือโปสเตอร์ #นิรโทษกรรมประชาชน #รวม112 และสแตนดี้ผู้ต้องขังคดีการเมือง ก่อนรวมกลุ่มกันเดินเข้ารัฐสภา
.
เวลา 11.30 น. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และตัวแทนคณะกรรมาธิการ เดินทางมารับหนังสือ พร้อมถ่ายรูปร่วมกันกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนและผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
.
หลังจากมอบหนังสือแล้ว “ทนายเมย์” พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของ 23 องค์กรภาคประชาสังคม ได้แถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ในทางหนึ่งเครือข่ายฯ ได้ผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนโดยเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งได้เสนอเข้าสภา และอยู่ในระหว่างรอคิวพิจารณา แต่ในอีกทางหนึ่งคู่ขนานกัน สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายและคาดว่าคณะกรรมการวิสามัญฯ จะมีผลของการพิจารณาแล้ว
.
ข้อห่วงกังวลของเครือข่ายฯ คือ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณาว่าจะมีการรวมคดีมาตรา 112 และคดีมาตรา 110 หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีมติว่า จะไม่มีมติว่าควรจะรวมหรือไม่รวม แต่จะให้คณะกรรมาธิการฯ แต่ละคนให้ความเห็นแทนว่าจะรวมหรือไม่
.
เครือข่ายฯ เห็นว่า คณะกรรมาธิการฯ ถูกตั้งมาพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องนิรโทษกรรมโดยเฉพาะ จึงควรจะมีมติได้ว่าจะรวมหรือไม่ และรวมลักษณะอย่างไร
.
วันนี้ (18 ก.ค. 2567) เครือข่ายฯ จึงพาผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาให้ข้อมูลว่าเหตุผลที่ควรจะรวมคดี 112 ในการนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบตัวจริงได้เสนอกับคณะกรรมาธิการฯ
.
“แหวน” ณัฎฐธิดา มีวังปลา กล่าวว่า มาตรา 112 มีประเด็นปัญหา 5 ประเด็น ดังนี้
.
1.) การตีความที่กว้างขวางมากจนเกินไป ส่งผลให้การแสดงออกที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทก็ถูกดำเนินคดีไปด้วย
.
2.) มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐ
.
3.) การบังคับใช้มาตรา 112 สร้างความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน
.
4.) ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น องค์กรสหประชาชาติ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
.
5.) กระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่มีความโปร่งใสและไม่มีความเป็นธรรม โดยเฉพาะในยุค คสช. จนถึงปัจจุบัน
.
ณัฎฐธิดาทิ้งท้ายว่า อยากฝากทางรัฐสภาช่วยกระตุ้นในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะยังมีผู้ต้องหาทางการเมืองอยู่อีกหลายสิบคน
.
กรกช แสงเย็นพันธ์ กล่าวว่า ในฐานะกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน การนิรโทษกรรมประชาชนเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการพูดและแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
.
การไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 จะเป็นการแยกผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ว่าไม่ใช่คดีทางการเมือง และกลายเป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งส่วนตัวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำให้เสรีภาพของประชาชนในอนาคตมีปัญหา ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาถึง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุกหมวดทุกมาตรา
.
การรวมมาตรา 112 จะทำให้เห็นว่ากำลังมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ผู้ต้องหาคดี 112 ไม่ได้สิทธิประกันตัว ผู้พิพากษาไม่มีอิสระในการตัดสิน ต้องมีการสอบถามกับผู้มีอำนาจภายในกระบวนการยุติธรรม ทำให้จำเป็นต้องยื่นนิรโทษกรรมสู่สภา
.
หากยังมีการสร้างความหวาดกลัวเช่นนี้ โดยการไม่รวมมาตรา 112 เข้าไป เชื่อว่าการรณรงค์ประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญจะมีปัญหาอย่างแน่นอน
.
“ณัฐ” ณัฐชนน ไพโรจน์ กล่าวว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะไม่เป็นผลดีกับภาพรวมทางการเมืองเลย หากไม่รวมมาตรา 112 เข้าไป คดีที่รวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีหลายคดี และส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ คดีมาตรา 112 กว่า 300 คดี ผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ คือ คดีมาตรา 112
.
ณัฐชนนทิ้งท้ายว่า ความขัดแย้งจะไม่ถูกแก้ไข สิทธิและเสรีภาพในประเทศไทยที่เราหวังว่าจะดีขึ้นจะไม่ถูกทำให้เป็นผล การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงจำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย
.
“บอย” ธัชพงษ์ แกดำ กล่าวว่า ในสังคมเรามีข้อบกพร่องและความผิดพลาด และเราก็สามารถที่จะเรียนรู้และเติบโตไปกับประสบการณ์เหล่านั้นได้ ในประเทศของเรามีการใช้มาตรา 112 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เราต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหามากมายที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองเพราะมาตรา 112 มาหลายทศวรรษ
.
ทุกฝ่ายที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา ล้วนแต่มีความปรารถนาดีกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เสื้อเหลืองเสื้อแดง จนถึงมาคนรุ่นเรารุ่นลูกรุ่นหลาน และเพื่อนของเราที่อยู่ในเรือนจำ อีกหลายชีวิตที่ต้องลี้ภัย และบางคนที่ต้องตายและเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร
.
การให้อภัย การสร้างความร่วมไม้ร่วมมือในการนิรโทษกรรมประชาชนคือหัวใจสำคัญ การนิรโทษกรรมประชาชนไม่ใช่การกำชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือสัญลักษณ์ของความร่วมไม้ร่วมมือ ความเชื่อใจ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน และเป็นประตูที่จะบอกว่าประเทศเราพร้อมที่จะก้าวข้ามไปข้างหน้าได้ หากเริ่มต้นคุยกันโดยการนิรโทษกรรมประชาชน หากในสภาปิดโอกาสนี้ เราก็จะต้องเผชิญกับความขัดแย้งตลอดไป
.
“มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวว่า ในฐานะคนที่โดนดำเนินคดีมาตรา 112 และคนที่ผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมประชาชนที่ต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วยไม่ว่าอย่างไรก็ตาม
.
ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่รัฐบาลต้องการให้คลี่คลายไปจะไม่จบลง ความขัดแย้งไม่จบลงจากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่จะจบลงเมื่อประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย ใช้เสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมและเสมอหน้ากัน
.
มาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและสำคัญมาก หากรัฐบาลและกรรมาธิการนิรโทษกรรมไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องมาตรา 112 เท่ากับว่ากำลังจะผลักเรื่องนี้ให้เป็นภาระของประชาชน ควรเปิดพื้นที่อย่างเป็นทางการให้การพูดคุยเรื่องมาตรา 112
.
ภัสราวลีย้ำว่า เกินกว่าครึ่งของนักโทษการเมืองที่อยู่ในเรือนจำคือคนที่ถูกขังด้วยคดีมาตรา 112 และตอนนี้เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ควรจริงจังให้กับการคืนความยุติธรรมและความเป็นปกติกับการใช้เสรีภาพสักที
.
“ใบปอ” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เห็นว่ากฎหมายมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีมากมาย มีเพื่อน ๆ อีก 40 กว่าคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ และล่าสุดก็มีคนเสียชีวิตเพราะมาตรา 112 แล้ว “บุ้ง” เนติพร เสน่ห์สังคม เสียชีวิตภายใต้การคุมขังด้วยมาตรา 112
.
กฎหมายมาตรา 112 ก็คือกฎหมายอาญาเหมือนกฎหมายอื่น ๆ ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์หรือสูงส่งใด ๆ ทำไมจะนิรโทษกรรมไม่ได้ เราควรตั้งคำถามกลับว่า ทำไมจึงรวมไปในนิรโทษกรรมไม่ได้
.
ณัฐนิชยืนยันว่า ต้องรวมกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม โดยนี่ไม่ใช่เวลาถกเถียงแล้วว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่เป็นเวลาที่ต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่เกิดการสูญเสียของเพื่อน ๆ เราอีก
.
“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่า ทำไมต้องรวมมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นี้ด้วย เพราะมีคนเจ็บปวดจริง ๆ จากมาตรา 112 มีคนตายจริง ๆ และมีคนตายทั้งเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ ล่าสุด “บุ้ง” ต้องเสียชีวิต จากการถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 คือ คดีทำโพลขบวนเสด็จ ซึ่งบุ้งถูกถอนประกันและต้องเสียชีวิต
.
ดังนั้น คุณมีพลังอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับพวกเขาได้ แม้คุณจะไม่มีพลังวิเศษที่จะฟื้นคืนชีวิตให้พวกเขากลับมา แต่อย่างน้อย ๆ คุณมีอำนาจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับเขา แม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ลดลงเลยก็ตาม
.
ทานตะวันทิ้งท้ายว่า หากคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถนิรโทษกรรมให้นักโทษทางความคิดได้เช่นกัน
.
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า 6 เดือนแล้วที่เราพูดคุยกันในห้องกรรมาธิการ ใน 6 เดือนนี้ ครึ่งหนึ่งพวกเราก็พายวนอยู่ในอ่างอยู่หลายครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยในประเด็นที่สำคัญจริง ๆ ของการนิรโทษกรรม คือ คดีที่มีความละเอียดอ่อนมาก ๆ มาตรา 112, 110 และ 289
.
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคณะกรรมการฯ หลายท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นแล้วว่าควรรวมคดีที่มีความละเอียดอ่อนดังกล่าวหรือไม่ อยากให้ลองติดตามในบันทึกการประชุมว่าแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และในช่วงบ่ายนี้ก็จะมีการเปิดให้คณะกรรมการฯ แสดงความคิดเห็น
.
ศศินันท์เห็นว่า เสียงทุกเสียงควรได้รับการรับฟังในคณะกรรมาธิการฯ และอยากให้การมาครั้งนี้ของประชาชนสามารถส่งเสียงไปถึงคณะกรรมการฯ ทุกท่านได้จริง ๆ และได้นำไปใช้ในการถกเถียงและทำสรุปของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อเสนอต่อสภาต่อไปในอนาคต ขอบคุณทุกท่านที่มาในวันนี้ และอยากให้ช่วยติดตามกันในสภาว่าใครจะอภิปรายอย่างไร ใครแสดงความคิดเห็นอย่างไร ในช่วงเวลาที่ทางการเมืองเดือดร้อนเช่นนี้
.
ในช่วงสุดท้ายของการแถลงข่าว ประชาชนทุกคนที่มาร่วมยื่นหนังสือได้ผลัดกันตะโกนว่า “#นิรโทษกรรมประชาชน” และ “#รวม112
.
.
อ่านข่าวและหนังสือที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นต่อ กมธ. บนเว็บไซต์ : (https://tlhr2014.com/archives/68697)