ถ้าจำกันได้ เมื่อตอนซีพีชนะประมูลเดินรถไฟเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ยุค คสช.นั้น ทำเอากลุ่มเจ้าสัวรายอื่นหน้าม้านไป ทั้งที่รวมกันสองบริษัทแล้วก็ยังสู้ไม่ได้ ต่อมาพอโครงการอีอีซีชักเฝือ ซีพีก็เริ่มอิดออดแล้วเมื่อปลายยุค ‘ไอทู้บ’
รัฐบาลประยุทธ์ยอมให้ซีพีแก้สัญญา เรื่องเงินที่ต้องจ่ายการรถไฟแห่งประเทศไทยกว่าหมื่นล้านบาท สำหรับโอนลิขสิทธิเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ซีพีขอผ่อนชำระเป็นงวดๆ งวดละ ๑๐% ต่อปี จำนวน ๖ ปี งวดสุดท้ายจ่ายหมดที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย
อีกข้อที่ซีพีขอแก้ไข เรื่องเงินอุดหนุนค่าก่อสร้าง ที่ รฟท.ต้องจ่ายคืนให้ซีพี ๑๑๗,๗๒๗ ล้านบาท เมื่อเปิดบริการแล้ว ๑ ปี โดยทยอยจ่าย ๑๐ ปี ซีพีบอกรอไม่ไหวขอรับเงินเร็วขึ้น ๔-๕ ปี ตั้งแต่ปีที่สองของการก่อสร้างนั่นเลย
Spacebar สื่อที่กลุ่มพลังงาน ‘กั๊ลฟ์’ เป็นเจ้าของ บอกว่าแบบนี้เท่ากับซีพีขอเป็น “สร้างไปจ่ายไป” แล้วกัน เหมือนกับที่ กอร์ดอน วู เคยสร้างไปเบิกไป ในโครงการโฮปเวลล์ ที่พอขาดสภาพคล่อง ก็หยุดสร้างทิ้งงานไปเฉย เหลือตอม่อ ‘สโตนเฮ้นจ์’ ไว้ให้คนไทยชม
อย่างไรก็ดีตอนนั้นปลายรัฐบาลตู่แล้ว ประยุทธ์กลัวมีชนักปักหลังก็เลยไม่ยอมให้แก้สัญญา จนมาถึงรัฐบาลเศรษฐา ปรากฏว่าผ่านฉลุย ๓ ด่าน คือด่านแรกบอร์ดการรถไฟฯ โบกให้เมื่อ ๒๓ พฤษภาที่ผ่านมา ด่านที่สองกรรมการกำกับบริหารสัญญา กดผ่านเมื่อ ๔ มิถุนา
ด่านที่สาม บอร์ดอีอีซีเพิ่งเห็บชอบช่วยซีพีไม่ต้องเสียดอกเบี้ยกู้เงินก้อนใหญ่มาลงทุนก่อสร้าง ต่อแต่นี้ก็จะทำไปเบิกไปสมใจนึก ส่วนด่านสุดท้ายอยู่ที่ ครม.จะเออออห่อหมกด้วยไหม สำนักข่าวนี้เชื่อว่าผ่านแน่ไม่มีปัญหา
จะมีก็แต่ ถ้าเกิดมีใครหัวหมอ ไปฟ้องศาลปกครองว่าเป็นการแก้ไขสัญญา อันมิชอบ มีอย่างที่ไหนตอนขายซองประมูลเป็นสัญญาร่วมลงทุนรัฐละเอกชน ท้ายสุดกลายเป็น รฟท.ต้องลงทุนหลัก รับความเสี่ยงแทนซีพี ที่เป็นแค่ผู้รับเหมาก่อสร้างและรับจ้างเดินรถ เท่านั้น
(https://spacebar.th/deep-space/economy-high-speed-train-airport/Ac9XvPWf5ONY)