นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มของโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอท่าอุเทน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไฟฟ้ารั่วช็อตนักเรียน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567
วิบากกรรมของเด็กไทย จากตู้กดน้ำไม่ปลอดภัย และน้ำประปาที่ดื่มไม่ได้จริง
25 มิถุนายน 2024
บีบีซีไทย
การเสียชีวิตของเด็กนักเรียนมัธยมที่ จ.ตรัง ทำให้เกิดการตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มในโรงเรียนทั่วประเทศ แต่มากกว่าปัญหาไฟรั่วและตู้กดน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจต้องตั้งคำถามถึงน้ำประปาดื่มได้ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
กรณีเด็กชายวัย 14 ปี เสียชีวิตจากการกดน้ำดื่มที่ตู้น้ำดื่มในโรงเรียนกันตังรัษฎาศึกษา อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากไฟรั่วนั้น ความคืบหน้าล่าสุด พ.ต.อ.ประดิษฐ ชัยพล ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรกันตัง ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน วานนี้ (24 มิ.ย.) ว่ายังอยู่ระหว่างการรอผลตรวจพยานหลักฐานจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในเรื่องมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อหาผู้รับผิดชอบมาดำเนินการตามกฎหมาย หากพบว่ามีเกิดความประมาทเลินเล่อจริง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบรายงานเรื่องอันตรายจากตู้กดน้ำในโรงเรียน โดยที่ผ่านมาพบปัญหาทั้งเรื่องการปนเปื้อน ความสกปรก และความปลอดภัยจากการติดตั้งตู้กดน้ำ ทั้งที่อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำสะอาดในสถานศึกษา
นอกจากนี้การมีอยู่ของตู้กดน้ำและเครื่องกรองน้ำในสถานศึกษา ยังเป็นภาพหนึ่งที่สะท้อนว่าน้ำประปาประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ดื่มได้จริง
ปัญหาตู้กดน้ำไม่สะอาด ปนเปื้อนแบคทีเรีย และตะกั่ว
เมื่อปี 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ออกมาเปิดเผยว่า ตู้ทำน้ำดื่มในโรงเรียนเสี่ยงมีตะกั่วปนเปื้อน จากการสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำความเย็นของโรงเรียนต่าง ๆ พบว่าส่วนหนึ่งมีค่าตะกั่วปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภค ซึ่งระบุไว้ว่าห้ามเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร
ทั้งนี้ หากได้รับพิษตะกั่วสะสมต่อเนื่องและปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพนักเรียน ตั้งแต่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง รวมถึงอาจทำให้ระบบประสาทส่วนปลายเป็นอัมพาตที่นิ้วเท้าและมือ เหนื่อยง่าย และอ่อนเพลียได้ หากได้รับพิษสะสมจำนวนมาก
สาเหตุการปนเปื้อนดังกล่าวเกิดจากการนำตะกั่วมาบัดกรีเพื่อเชื่อมซ่อมแซมรอยต่อตู้เก็บน้ำ ทั้งที่ควรเชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอนหรือก๊าซสำหรับเชื่อชนิดอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และถังเก็บน้ำควรทำจากวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม และข้อต่อพลาสติกภายในตัวเครื่องก็ต้องเป็นวัสดุที่ใช้กับอาหารได้ โดยไม่มีสารพิษอยู่ในเนื้อพลาสติก
แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภคปี 2522 ระบุถึงการห้ามขายสินค้าเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวประสานรอยเชื่อมต่อของตะเข็บถังน้ำหรือท่อส่งน้ำแล้ว
ต่อมาในปี 2558 นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ในขณะนั้น เคยออกมาเปิดเผยว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำบริโภคในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพและนำมาตรวจในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีตัวอย่างน้ำคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานถึง 37.5% ส่วนใหญ่เป็นการปนเปื้อนแบคที่เรียมากที่สุด อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของบุคลากรในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน หรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน ไม่ล้างแก้วน้ำให้สะอาดก่อนดื่ม ไม่มีการดูแลบำรุงรักษาตู้น้ำเย็นหรือเครื่องกรองน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ รวมถึงไม่ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรอง หรือล้างย้อนระบบจ่ายน้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์
ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กรมอนามัย ได้ออกข้อแนะนำให้โรงเรียนหมั่นทำความสะอาดให้เครื่องกดน้ำ เครื่องทำน้ำเย็น รวมถึงเครื่องกรองน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันปัญหาแบคทีเรียปนเปื้อน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยในเด็กและบุคลากรของโรงเรียนได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็พบการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความสะอาดของตู้กดน้ำและเครื่องทำน้ำเย็นประจำโรงเรียน ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะ ๆ
คำแนะนำการติดตั้งตู้น้ำดื่มโดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย
ปัญหาตู้กดน้ำไม่ติดตั้งสายดิน
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินโครงการตรวจสอบระบบไฟฟ้าตู้น้ำดื่มให้กับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปี 2548
ในปี 2566 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ 300 แห่ง จากการตรวจสอบของ กฟน. พบว่า โรงเรียนบางแห่งมีตู้กดน้ำจำนวนหลายตู้ด้วยกัน และบางตู้ไม่ได้ติดตั้งสายดิน ซึ่งอาจทำให้เกิดกระแสไฟรั่วและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ โดยทาง กฟน. ได้ดำเนินการติดตั้งสายดินให้หมดแล้ว หลังพบปัญหาดังกล่าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การติดตั้งตู้กดน้ำในโรงเรียนอาจไม่ได้มาตรฐานเสมอไป
หลังจากเกิดเหตุนักเรียนวัย 14 ปี ใน จ.ตรัง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทาง สพฐ. ได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัดเร่งตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มว่าติดตั้งได้มาตรฐานหรือไม่ รวมถึงให้ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว และห้ามติดตั้งตู้กดน้ำในที่เปียกชื้น พร้อมกับกำชับให้ทุกโรงเรียนต้องใช้ตู้กดน้ำที่ได้มาตรฐาน มอก. เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
เครื่องกรองน้ำในโรงเรียน สะท้อนปัญหาน้ำประปาที่ใช้ดื่มไม่ได้
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า นอกจากตู้กดน้ำแล้ว การติดตั้งเครื่องกรองน้ำตามโรงเรียนต่าง ๆ ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาน้ำประปาในไทยที่ยังไม่สามารถใช้ดื่มได้
“มันเป็นเรื่องสิ้นเปลืองมากที่ต้องซื้อน้ำดื่มกันทุกบ้าน หรือแม้แต่ในโรงเรียนก็ต้องติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ซึ่งต่อให้เอาเครื่องไปวัดคุณภาพจากเครื่องกรองน้ำที่อยู่ตามโรงเรียน คิดว่าได้คุณภาพเพียงแค่ 50% เพราะเราอาจคิดว่าน้ำผ่านเครื่องกรองมาแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว เรามีงบเปลี่ยนไส้กรองมากแค่ไหน” เธอตั้งคำถาม
“นโยบายของเราคือการทำประปาดื่มได้ เช่น การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แต่มันดื่มได้ก็ต่อเมื่อออกจากแพลนท์ (โรงผลิต) ท่อเรามันเก่า ต่อให้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ว่าเราดื่มได้ หรือเราไม่สบายใจที่จะดื่มอยู่ดี” ผศ.สิตางศุ์ กล่าว
อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่าคุณภาพน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค อาจดื่มได้เมื่อออกจากโรงผลิตน้ำ แต่ระบบท่อก็เก่าและมีปัญหาไม่ต่างจาก กปน.
“ระบบสูบส่งสูบจ่าย [ของ กปภ.] นอกจากท่อจะเก่าแล้ว ท่อก็รั่วด้วย ซึ่ง กปน. ก็มีปัญหานี้เหมือนกัน ปัญหาท่อรั่วคือน้ำออกมาได้ แต่เชื้อโรคก็เข้าไปได้เหมือนกัน ดังนั้น นอกจากท่อจะเป็นสนิม มีอะไรอยู่ในท่อ แบคทีเรีย จุลินทรีย์ต่าง ๆ ก็เข้าออกได้ ทำให้มันดื่มไม่ได้ พอน้ำไปถึงที่ไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือโรงเรียน มันก็ดื่มไม่ได้ เพราะมันต้องไปแก้ปัญหาเรื่องสูบส่งสูบจ่ายน้ำประปา”
เธอยังบอกด้วยว่าคุณภาพน้ำประปาตามหมู่บ้านต่าง ๆ ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความสะอาดที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องมาจากแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำ ไปจนถึงระบบท่อ รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการมีอยู่อย่างจำกัด
“บอกได้เลยว่าน้ำประปาที่เห็นเป็นแท็งก์สูง ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งคือน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ผศ.สิตางศุ์ กล่าว และบอกว่า “ไม่ใช่ว่าทุก อบต. จะดูแลโรงผลิตน้ำประปาได้เอง”
ปัญหาตู้กดน้ำไม่ติดตั้งสายดิน
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินโครงการตรวจสอบระบบไฟฟ้าตู้น้ำดื่มให้กับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่ปี 2548
ในปี 2566 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ 300 แห่ง จากการตรวจสอบของ กฟน. พบว่า โรงเรียนบางแห่งมีตู้กดน้ำจำนวนหลายตู้ด้วยกัน และบางตู้ไม่ได้ติดตั้งสายดิน ซึ่งอาจทำให้เกิดกระแสไฟรั่วและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานได้ โดยทาง กฟน. ได้ดำเนินการติดตั้งสายดินให้หมดแล้ว หลังพบปัญหาดังกล่าว
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การติดตั้งตู้กดน้ำในโรงเรียนอาจไม่ได้มาตรฐานเสมอไป
หลังจากเกิดเหตุนักเรียนวัย 14 ปี ใน จ.ตรัง ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทาง สพฐ. ได้สั่งการให้โรงเรียนในสังกัดเร่งตรวจสอบตู้กดน้ำดื่มว่าติดตั้งได้มาตรฐานหรือไม่ รวมถึงให้ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว และห้ามติดตั้งตู้กดน้ำในที่เปียกชื้น พร้อมกับกำชับให้ทุกโรงเรียนต้องใช้ตู้กดน้ำที่ได้มาตรฐาน มอก. เท่านั้น เพื่อความปลอดภัย
เครื่องกรองน้ำในโรงเรียน สะท้อนปัญหาน้ำประปาที่ใช้ดื่มไม่ได้
ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า นอกจากตู้กดน้ำแล้ว การติดตั้งเครื่องกรองน้ำตามโรงเรียนต่าง ๆ ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาน้ำประปาในไทยที่ยังไม่สามารถใช้ดื่มได้
“มันเป็นเรื่องสิ้นเปลืองมากที่ต้องซื้อน้ำดื่มกันทุกบ้าน หรือแม้แต่ในโรงเรียนก็ต้องติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ซึ่งต่อให้เอาเครื่องไปวัดคุณภาพจากเครื่องกรองน้ำที่อยู่ตามโรงเรียน คิดว่าได้คุณภาพเพียงแค่ 50% เพราะเราอาจคิดว่าน้ำผ่านเครื่องกรองมาแล้ว แต่จริง ๆ แล้ว เรามีงบเปลี่ยนไส้กรองมากแค่ไหน” เธอตั้งคำถาม
“นโยบายของเราคือการทำประปาดื่มได้ เช่น การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) แต่มันดื่มได้ก็ต่อเมื่อออกจากแพลนท์ (โรงผลิต) ท่อเรามันเก่า ต่อให้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่ว่าเราดื่มได้ หรือเราไม่สบายใจที่จะดื่มอยู่ดี” ผศ.สิตางศุ์ กล่าว
อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่าคุณภาพน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค อาจดื่มได้เมื่อออกจากโรงผลิตน้ำ แต่ระบบท่อก็เก่าและมีปัญหาไม่ต่างจาก กปน.
“ระบบสูบส่งสูบจ่าย [ของ กปภ.] นอกจากท่อจะเก่าแล้ว ท่อก็รั่วด้วย ซึ่ง กปน. ก็มีปัญหานี้เหมือนกัน ปัญหาท่อรั่วคือน้ำออกมาได้ แต่เชื้อโรคก็เข้าไปได้เหมือนกัน ดังนั้น นอกจากท่อจะเป็นสนิม มีอะไรอยู่ในท่อ แบคทีเรีย จุลินทรีย์ต่าง ๆ ก็เข้าออกได้ ทำให้มันดื่มไม่ได้ พอน้ำไปถึงที่ไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือโรงเรียน มันก็ดื่มไม่ได้ เพราะมันต้องไปแก้ปัญหาเรื่องสูบส่งสูบจ่ายน้ำประปา”
เธอยังบอกด้วยว่าคุณภาพน้ำประปาตามหมู่บ้านต่าง ๆ ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความสะอาดที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องมาจากแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำ โรงผลิตน้ำ ไปจนถึงระบบท่อ รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการมีอยู่อย่างจำกัด
“บอกได้เลยว่าน้ำประปาที่เห็นเป็นแท็งก์สูง ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งคือน้ำประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ผศ.สิตางศุ์ กล่าว และบอกว่า “ไม่ใช่ว่าทุก อบต. จะดูแลโรงผลิตน้ำประปาได้เอง”
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ “อนามัยโพล” ที่สำรวจความเห็นในประเด็น “พฤติกรรมการเลือกน้ำดื่ม 2567” โดยกรมอนามัย ระหว่างวันที่ 1 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 700 คน พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่จำนวน 54.22% คิดว่า “น้ำประปาดื่มได้” เป็นเรื่องไม่จริง และมีเพียง 31.04% ที่คิดว่าน้ำประปาดื่มได้จริง ขณะที่อีก 14.74% ตอบว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่าน้ำประปาดื่มได้
จากผลสำรวจนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจบางส่วนบอกว่า มีความเชื่อมั่นคุณภาพแหล่งน้ำจากแหล่งผลิต แต่ไม่มั่นใจในความสะอาดของท่อส่งน้ำที่ต่อออกมาจากแหล่งผลิตน้ำประปา มีท่อชำรุด หรือปนเปื้อนระหว่างทาง รวมถึงปัญหาท่อส่งน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานความสะอาดและไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ โดยเฉพาะส่วนภูมิภาค ขณะที่น้ำประปาที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีความขุ่นสูงมาก จึงไม่แน่ใจในเรื่องการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาโดยหน่วยงานภายนอกที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง กปภ. และ กปน. ยืนยันมาตลอดว่าคุณภาพน้ำประปามีคุณภาพใช้ดื่มได้
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่จำนวน 57.71% ตอบว่าดื่มน้ำจากขวดน้ำบรรจุขวดปิดสนิทบ่อยครั้งมากที่สุด รองลงมา คือ น้ำประปาผ่านเครื่องกรองในบ้าน 20.29% ตามมาด้วยน้ำดื่มบรรจุถัง และน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญที่ 17.86% และ 5.29% ตามลำดับ
อาจารย์จากภาควิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า การปรับปรุงระบบท่อต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และปัญหาหนึ่งคือการทำงานแบบแบ่งส่วนของหน่วยงานราชการในไทย
“ท่อประปาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ร่วม พอประปาจะไปเปิดหน้าดินเพื่อขอปรับปรุงท่อ ก็ต้องไปขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมมติเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ต้องไปขอ กทม. ซึ่งอาจจะอยากให้บ้าง ไม่อยากให้บ้าง เพราะมันทำให้เกิดปัญหารถติด มันเป็นปัญหาจากการที่เราไม่ได้ทำงานอย่างบูรณาการจริง ๆ มันเป็นปัญหาการทำงานแบบแบ่งส่วน ภารกิจแยกกันหมด มันเลยยาก”
ผศ.สิตางศุ์ เสนอว่า หากการแก้ปัญหาในระบบใหญ่เป็นไปได้ยาก หากตระหนักว่าน้ำสะอาดคือสิ่งที่จำเป็นและให้เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ อาจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการพัฒนาระบบผลิตน้ำประปาในโรงเรียนให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะหากพึ่งพาเครื่องกรองน้ำเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน
“มันควรมีงบให้โรงเรียนไปทำได้ เป็นนโยบายไปเลย ถ้าเราคิดว่ามันสำคัญพอ ถ้าเราจะรอไปแก้ที่ระบบใหญ่ แก้ที่ประปาหมู่บ้าน ประปาภูมิภาค ประปานครหลวง มันก็ไปไม่ถึงปลายทางเสียที เราก็จะติดขัดในปัญหาเดิม ๆ ตั้งแต่เรื่องงบประมาณ ปัญหาบุคลากรขาดแคลน รวมถึงการทำงานแบบแบ่งส่วนของราชการ”
https://www.bbc.com/thai/articles/cedd32w9dpdo