ภาพจาก เอกชัย หงส์กังวาน
วันชาติที่ยังมีผู้ต้องขังทางการเมืองกว่า 50 คน
.....
ผู้จัดการ iLaw กังวลจำนวนคดี 112 มีมากกับมวลชนคนธรรมดา สังคมตามไม่ทันแต่ละคดีเกิดอะไรขึ้น
2024-06-24
ประชาไท
112WATCH สัมภาษณ์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ถึงสถานการณ์การบังคับใช้ ม.112 พร้อมแสดงความกังวลจำนวนคดี 112 มีมากกับมวลชนคนธรรมดา สังคมตามไม่ทันว่าแต่ละคดีเกิดอะไรขึ้น
24 มิ.ย.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์โครงการ 112WATCH ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อธิบายจำนวนคดีกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย และผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน
ดังนี้
112WATCH : สถานการณ์เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ยิ่งชีพ : เราอยู่ในช่วงสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผู้คนเริ่มสนใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางและมีจำนวนถี่ขึ้น เพื่อปราบปรามความคิดแบบต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ช่วงปี 2563 ถึง 2566 มีผู้คนมากกว่า 250 คนถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายนี้ นี่คือจำนวนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย ในทางกลับกัน กลุ่มฝ่ายขวานิยมเจ้าในไทยก็ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์มาฟ้องต่อประชาชนทั่วไป โดยกลุ่มนี้มักจะไปดำเนินคดีในจังหวัดที่ห่างไกลเพื่อสร้างภาระให้กับจำเลยและทนาย ขณะที่ปีนี้มีคดีที่ตัดสินบทชั้นศาลหลายคดี แต่ก็ยากจะมองได้ว่าแนวโน้มที่แท้จริงเป็นเช่นไร ในหลายกรณีศาลตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางเพื่อคุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วและเชื้อพระวงศ์อื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม เราก็เห็นหลายคดีที่ศาลตัดสินโทษไม่รุนแรง เช่น การตัดสินคดีให้ติดคุกแค่ 3 ปีซึ่งเป็นแค่โทษขั้นต่ำ หรือบางครั้งก็ให้รอการลงโทษไปก่อน (รอลงอาญา) ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ที่ยังไม่ถูกตัดสินมักจะได้รับการประกันตัวด้วยเงื่อนไขให้ติดกำไร EM แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ได้ประกันก่อนการตัดสินอยู่บ้าง
ช่วยอธิบายได้หรือไม่ว่าแนวโน้มกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทยได้หรือไม่?
จำนวนคดีเป็นที่น่ากังวลมาก เมื่อมีนักกิจกรรมบางคนที่พอจะมีชื่อเสียงทางสังคม สังคมก็ดูเหมือนว่าจะให้ความสนใจอยู่บ้าง แต่จำนวนคดีที่มากว่า 200 คดีทำให้สังคมตามไม่ทันว่าแต่ละคดีเกิดอะไรขึ้น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีรูปร่างหน้าตาแบบใด ผู้ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่มักจะไม่ใช่นักกิจกรรม แต่เป็นมวลชนคนธรรมดา ถ้าศาลตัดสินจำคุกพวกเขา พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะถูกลืม
ในบริบทของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบนี้ กลุ่ม ilaw มีบทบาทอย่างไร?
คลื่นระลอกแรกของการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นในช่วงปีคริสต์ศักราช 2010-2011 ซึ่งกลุ่ม iLaw เกิดขึ้นมาเพื่อสอดส่องและเก็บข้อมูลรายละเอียดคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เราเก็บข้อมูลทั้งหมดด้วยภาษาไทยและภาษาอังกฤษบนโลกออนไลน์เพื่อที่จะเก็บข้อมูลและแพร่กระจายของเท็จจริงและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เรายังใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของพวกเรา เช่น เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ เพื่ออัพเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ เพื่อที่จะกระตุ้นความตระหนักรู้ของคนเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในปีคริสต์ศักราช 2012 iLaw ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ผ่านการรวบรวมรายชื่อกว่า 26,000 คนเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ประธานสภา ณ เวลานั้นไม่รับร่างดังกล่าว ในปีคริสต์ศักราช 2021 iLaw ได้ร่วมรณรงค์อีกครั้งและในรอบนี้สามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึง 200,000 รายชื่อเพื่อเตรียมยื่นเสนอต่อสภาให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 iLaw ได้เผยแพร่สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หลายรูปแบบ เช่น สติ๊กเกอร์ แผ่นพับ พ็อกเกตบุ๊ก 3 เล่ม เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลของการรณรงค์
ช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งที่ประเทศไทย คุณเพิ่งจะมีโอกาสได้พบกับผู้มีอำนาจของประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยบอกได้หรือไม่ว่า มีวัตถุประสงค์อย่างไรกับการเข้าพบตัวแทนของประเทศสหรัฐอเมริกา?
เราเดินทางไปที่นั่นเพื่อที่จะพบผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ งานของพวกเราคือการสื่อสารและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน เราแบ่งปันข้อมูลกับพวกเขาว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ และอธิบายคดีกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์กำลังทยอยเข้าไปสู่กระบวนการศาล เราหวังว่าผู้คนจากต่างประเทศจะเข้าใจว่า พวกเราไม่ได้กำลังปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงออกของเราก็ถูกจำกัดโดยกฎหมายและความกลัว เรายังหวังว่าตัวแทนของประเทศสหรัฐจะรวบรวมข้อมูลจากหลายแง่มุมรวมถึงข้อมูลที่เราอธิบายแก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถการตัดสินใจว่าจะมีนโยบายต่อประเทศไทยอย่างไรในช่วงเวลาอันแสนสำคัญนี้
อะไรคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในความเห็นคุณ?
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือยกเลิกก็ยอมรับได้ทั้งหมด สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของกฎหมายนี้คืออัตราโทษที่รุนแรงเกินไป และไม่มีบทยกเว้นโทษต่อการวิจารณ์อย่างสุจริต ถ้าแง่มุมทางกฎหมายเหล่านี้ถูกแก้ไขจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของปัญหา ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากการจับจ้องของสาธารณะ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐในทุกกระบวนการดำเนินคดีอย่างถูกต้องตามหลักการ โดยไม่ถูกความกลัวมากดดัน หรือการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจเหมือนกับการบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ ผู้ถูกกล่าวหาจะมีโอกาสมากขึ้นในการได้รับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมมากขึ้น และมีโอกาสที่จะลดความตึงเครียดระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชน
https://prachatai.com/journal/2024/06/109685)