วันอังคาร, มิถุนายน 25, 2567

เรื่องราวของ “กุงเย” ผู้สร้างอาณาจักรใหม่ใน เกาหลี โดนคนสนิทล้ม อ้างเหตุสติฟั่นเฟือน คล้ายพระราชประวัติ พระเจ้าตาก


ซ้าย) ภาพวาด กุงเย จาก 위키봇봇 / (ขวา) “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ 17 ฉบับที่ 875 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2528

ตำนาน “กุงเย” สร้างอาณาจักรใหม่ในเกาหลี โดนคนสนิทล้ม อ้างเหตุสติฟั่นเฟือน

ที่มา ศิลปวัฒนธรรม
24 มิถุนายน พ.ศ.2567

เรื่องราวของ “กุงเย” ผู้สร้างอาณาจักรใหม่ใน เกาหลี โดนคนสนิทล้ม อ้างเหตุสติฟั่นเฟือน คล้ายพระราชประวัติ พระเจ้าตาก

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ในประวัติศาสตร์จะบันทึกเรื่องราวและเส้นทางชีวิตของบุคคลสำคัญไว้อย่างหลากหลาย แต่ในอีกแง่หนึ่งก็น่าคิดเช่นกันว่า บุคคลอยู่ห่างไกลกันหลายพันกิโลเมตร แต่ประสบ “ชะตากรรม” วาระสุดท้ายในแบบเดียวกันอย่างเช่น กุงเย (Gung Ye) กษัตริย์ที่ครอง “โกกุเรียว ยุคหลัง” (มาจิน) กับสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ซึ่งทั้งสองพระองค์ถูกบันทึกว่ามีอาการทางจิต สติฟั่นเฟือน (และกรณีของกุงเย ยังมีบันทึกว่า พระองค์คิดว่าบรรลุโสดาบัน)

กุงเย หรือองค์ชาย เย เป็นเชื้อพระวงศ์ของซิลลา ในประวัติศาสตร์เกาหลีช่วงยุคที่เรียกว่า “นัมปุกกุก ซิแด” หรืออาณาจักรเหนือ-ใต้ (ค.ศ. 698-926) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผ่านสมัย 3 อาณาจักร (โกกุเรียว-แพคเจ-ซิลลา) ไปแล้ว ในยุค “นัมปุกกุก ซิแด” หลงเหลืออาณาจักรเดียวคือ ซิลลา ขณะที่แพคเจ และโกกุเรียว (เดิม) ล่มสลายไปแล้ว

สภาพในยุคหลัง 3 อาณาจักร

แม้ว่าซิลลา จะเป็นฝ่ายที่ครอบครองเขตแดนส่วนใหญ่บนคาบสมุทรเกาหลีได้ตั้งแต่ค.ศ. 668 แต่ก็ยังไม่ถือว่าครอบครองได้ทั้งหมด นักวิชาการบางส่วนมองว่าซิลลา เองก็เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงปลาย ขณะที่ประชาชนของโกกุเรียว ก็กระจัดกระจายออกไปหลังจากเมืองหลวงแตก และเดินทางขึ้นเหนือในเขตแดนของโกกุเรียว ซึ่งศัตรูยังเข้าไม่ถึง

ในช่วงเวลานั้น แท จุงซัง (Dae Jungsang) แม่ทัพโกกุเรียวที่รอด พร้อมชาวโกกุเรียว อีกประมาณ 8,000 รายรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้ต่อต้านราชวงศ์ถังของจีน และมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณหนึ่งในมณฑลจี๋หลิน ของจีนในปัจจุบัน พวกเขาเรียกอาณาจักรใหม่ว่า “จิน” (Jin) เป็นกลุ่มผู้สืบทอดอาณาจักรโกกุเรียว มีแท โจยอง (Dae Joyeong) บุตรชายของแท จุงซัง เป็นกษัตริย์ในปี ค.ศ. 698

บริบทแวดล้อมในช่วงเวลานั้น “รงรอง วงศ์โอบอ้อม” อธิบายว่า จีนเผชิญความขัดแย้งภายในและนอก ขณะที่ซิลลา ก็ไม่เข้มแข็งพอจะขยายอำนาจไปทางตอนบนได้ กลายเป็นโอกาสให้อาณาจักรจิน เริ่มสร้างสมกำลัง แม้ว่าจีนจะมีท่าทีไม่ยอมรับอาณาจักรแห่งนี้ในช่วงแรกเพราะต้องการยึดดินแดนตอนบนของเกาหลีเป็นรัฐกันชน ป้องกันชนเผ่าเร่ร่อนทางเหนือซึ่งจะมาโจมตีชายแดนจีน แต่ภายหลัง ในค.ศ. 713 ราชวงศ์ถัง ประกาศเรียกอาณาจักรนี้ว่า “ป๋อไห่” หรือออกเสียงในภาษาเกาหลีว่า “ปาลแฮ” (Bal-hae) และให้ถือเป็นเขตปกครองของจีน อยู่ในฐานะประเทศราช

แน่นอนว่าอาณาจักรจิน ไม่ยอมรับการประกาศของจีน แต่ฝ่ายจีนทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่พร้อมทำศึก สุดท้ายต้องยอมรับอาณาจักรจินในฐานะเพื่อนบ้าน โดยทางการจีนยังเรียกอาณาจักรนี้ว่า ป๋อไห่

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างปาลแฮ กับซิลลา ยังเป็นไปแบบคุกรุ่น การเมืองภายในของซิลลา ที่ไม่มั่นคงในช่วงท้ายของซิลลา ก็ทำให้เป็นโอกาสของเกียน ฮวอน (Gyeon Hwan) ผู้นำของชาวนาและภายหลังได้เป็นเจ้าหน้าที่การทหาร ฉวยโอกาสในช่วงการเมืองสั่นคลอนและภาวะเศรษฐกิจไม่มั่นคง ลุกขึ้นต่อต้านทางการ แรกเริ่มจากสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำฝ่ายทหารในระดับเมือง และได้รับชัยชนะ เขายังทะเยอทะยานมากกว่านั้น ร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ร่วมต่อต้านอำนาจของราชวงศ์ซิลลา และฟื้นฟูอาณาจักรแพคเจใหม่ โดยเรียกว่า “หู แพคเจ” หรือแพคเจ ยุคหลัง เมื่อ ค.ศ. 892 เป็นอีกหนึ่งกลุ่มหลักในช่วงแผ่นดินวุ่นวายยุคที่ซิลลา ครองอำนาจคาบสมุทรเกาหลี

ในช่วงเวลานั้น พระที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของซิลลา นามว่า กุงเย ซึ่งภายหลังเป็นผู้นำกองกำลังต่อต้าน และเข้าสู่การเมืองก็ก่อตั้งอาณาจักรโกกุเรียวใหม่ ใน ค.ศ. 901 โดยเลือกชัยภูมิที่เคยเป็นของโกกุเรียว ทำให้มีชื่อเรียกกันว่า “หู โกกุเรียว” (Hu Goguryeo) หรือ “โกกุเรียว ยุคหลัง” จากนั้นก็เปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็น “มาจิน” (Majin) และในค.ศ. 911 อาณาจักรเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “แทบอง” (Taebong) นักวิชาการส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนความไม่มั่นคงทางจิตของกุงเย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนไปได้สำหรับกุงเย นั่นคือความเกลียดชังต่อซิลลา

กุงเย

กุงเย เป็นบุตรที่ไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายของกษัตริย์เฮียนกัง (Heongang) (นักประวัติศาสตร์บางสายมองว่ากุงเย เป็นเชื้อพระวงศ์แห่งซิลลา แต่ไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นโอรสของกษัตริย์ซิลลา) และพระเชษฐาของราชินีจินซอง แห่งซิลลา พระนางไม่มีทายาทสืบทอดจึงทำให้องค์ชายทั้งหลายไม่พอใจ ขณะที่กุงเย เองก็มีความเคียดแค้นฝังลึก จากที่ถูกขับออกจากวังตั้งแต่เล็ก ครั้นเติบโตแล้วจึงส่งผลต่อความคิด เมื่อกลับมารับราชการได้ก็สมคบกับกลุ่มขุนนางจนกุมอำนาจทางการทหาร มีแนวคิดตั้งอาณาจักรใหม่ของตัวเอง

กุงเย เริ่มต้นจากการปราบปรามชาวโกกุเรียวเดิมก่อน เมื่อชนท้องถิ่นเดิมสนับสนุนแล้วจึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ “หูโกกุเรียว” หรือ “โกกุเรียว ยุคหลัง” กุงเย มีที่ปรึกษาชื่อ วัง กอน (Wang Geon) จากตระกูลวัง ซึ่งเป็นสกุลพ่อค้าที่กว้างขวางในท้องถิ่น วัง กอน ได้รับความไว้วางใจจากกุงเย อย่างมาก เนื่องด้วยผลงานการปกครอง เป็นผู้คุมกองทัพเรือและรบชนะหลายครั้ง ขยายดินแดนให้อาณาจักรได้

ถูกคนสนิทโค่นล้ม

ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 918-927 เป็นช่วงที่อาณาจักรต่างๆ ในเกาหลีสับสนวุ่นวายจากความพยายามควบคุมอำนาจ เกียน ฮวอน ยกทัพเข้าตีเมืองหลวงของซิลลา ในค.ศ. 927 ขณะที่ปี ค.ศ. 918 กุงเย ถูกโค่นล้มโดยผู้ใต้บังคับบัญชาคนสนิทเอง

รายงานทางนักวิชาการหลายแห่งอ้างถึงสาเหตุที่ทำให้กุงเย ถูกโค่นล้มใกล้เคียงกันคือสืบเนื่องมาจากความฟั่นเฟือน หรือความบกพร่องของพระสติจนถูกคนของตัวเองโค่นล้ม

ข้อมูลโดยทั่วไปว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้กุงเย ถูกโค่นล้มนั้นเอ่ยถึงเรื่องความมัวเมาในอำนาจ และยังมีพระอาการพระสติฟั่นเฟือน บางแห่งระบุว่า กุงเย อ้างว่าเป็นพระศรีอาริย์ (Maitreya) ใช้เวลาเขียนพระสูตร แต่งกายพระองค์เองและเชื้อพระวงศ์ด้วยเครื่องทรงหรูหรา ต้องมีพระผู้ติดตามจำนวนนับร้อยอยู่ด้วย มาร์ก คาร์ทไรท์ จากเว็บไซต์ Ancient History ระบุว่า พระองค์ยังกล่าวอ้างว่า สามารถอ่านใจคนได้ และใช้ “ทักษะ” ที่พระองค์มีกำจัดคนที่พระองค์คิดว่าไม่น่าไว้วางใจ

ย้อนกลับไปในช่วงที่กุงเย ถูกขับออกจากวัง เป็นช่วงที่ไปบวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธ และเลื่อมใสในศาสนาพุทธนับแต่นั้นมา แต่ในช่วงที่ขึ้นปกครองอาณาจักร “รงรอง วงศ์โอบอ้อม” บรรยายว่า พระองค์คิดว่าบรรลุโสดาบัน เป็นพระอรหันต์โดยสมบูรณ์ ผู้ที่สงสัยในความเป็นอรหันต์ จะถูกสั่งประหาร

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนในพระสติยังไปถึงการสั่งประหารพระภิกษุซึ่งเป็นที่เคารพ และบังคับให้ผู้คนมากราบไหว้พระองค์แทน ความไม่แน่นอนในพระสติทำให้อาณาจักรตกอยู่ในสภาพระส่ำระส่าย หนังสือประวัติศาสตร์เกาหลียังอ้างว่า พระอาการพระสติวิปลาสยังส่งผลให้สั่งประหารพระชายาและโอรสหลายพระองค์เพียงเพราะขัดใจเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเรื่องพระอาการและรายละเอียดเรื่องการรับสั่งแตกต่างกันออกไป โดยรวมแล้วพระองค์ถูกบันทึกว่ามีพระสติฟั่นเฟือน ไม่มั่นคง ภายหลังจึงถูกทหารกลุ่มหนึ่งเข้าปลงพระชนม์ วัง กอน ได้ขึ้นสืบทอดการปกครองแทน ทรงพระนามว่า แทโจ (Taejo) เปลี่ยนชื่ออาณาจักรใหม่เป็น “โกเรียว” (Goryeo) ซึ่งมาร์ก คาร์ทไรท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่แน่ว่าวัง กอน อาจมีส่วนร่วมกับการลอบปลงพระชนม์ เพื่อให้ตัวเองขึ้นสืบทอดแทน

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์บางรายมองว่า เบื้องหลังเหตุผลที่กุงเย อ้างว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้านั้น เพื่อเป็นฐานเสริมอำนาจ เนื่องจากพระองค์ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของซิลลา ยังไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือขาใหญ่ในท้องถิ่นและกลุ่มพ่อค้าที่กว้างขวาง จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลทางจิตวิญญาณเพื่อหนุนอำนาจในการปกครอง และแน่นอนว่า วิธีนี้ไม่ได้ผล

บริบทแวดล้อมในคาบสมุทรเกาหลีช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ซิลลา ตกต่ำถึงขีดสุด “หู แพคเจ” ก็มีแย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างเกียน ฮวอน กับซิน กอม (Singeom) โอรสองค์โต เป็นโอกาสอันดีในการรวบรวมอาณาจักร

เมื่อ ค.ศ. 935 กษัตริย์แทโจ (วังกอน) ปิดล้อมซิลลา และบีบให้กษัตริย์ซิลลาสละราชสมบัติ นับเป็นการสิ้นสุดยุคซิลลา

ขณะที่เกียน ฮวอน สุดท้ายถูกโอรสจับกุมตัวไปคุมขัง แต่หลบหนีออกมาได้ในภายหลังและขอพึ่งวัง กอน ศัตรูเก่าให้ช่วยเหลือ เกียน ฮวอน ได้นำทัพโกเรียวไปที่แพคเจ สุดท้ายเกิดสงครามกลางเมืองเมื่อ ค.ศ. 936 เกียน ฮวอน และซินกอม สิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ส่วนแพคเจ ก็โดนโกเรียว ตีแตก

นั่นหมายความว่า โกเรียว ควบคุมแพคเจ และซิลลา รวบรวมอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งภายใต้ชื่อโกเรียว และต่อมากลายเป็นชื่อของประเทศ “เกาหลี” ในทุกวันนี้ โดยวัง กอน เป็นที่รู้จักในนาม “ผู้รวบรวมอาณาจักร” ในฐานะกษัตริย์แทโจแห่งโกเรียว และสถาปนาราชวงศ์ปกครองเกาหลีต่อมาอีก 500 ปี

อ่านจากต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_27708