วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2567

เสียงจากคนใน-นอกสนามสว.67 ระบบเลือกเอื้อฮั้ว กกต.ปิดกั้นสังเกตการณ์


iLaw
12 hours ago
·
เสียงจากคนใน-นอกสนามสว.67 ระบบเลือกเอื้อฮั้ว กกต.ปิดกั้นสังเกตการณ์
.
28 มิถุนายน 2567 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ iLaw และ We Watch จัดงานเสวนา “เห็นกับตากับบทเรียนในระดับประเทศ” เวลา 09.00 น. ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เสวนาประกอบด้วย นุชนารถ แท่นทอง รายชื่อสำรอง สว. กลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าที่ สว. กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน กฤต แสงสุรินทร์ We Watch และบุศรินทร์ แปแนะ iLaw พูดคุยและบอกเล่าเรื่องราวสมรภูมิการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 2567 ในฐานะผู้สมัครที่เป็นผู้เล่นในสนาม และแลกเปลี่ยนมุมมองฝั่งผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. ที่ติดตามกระบวนการเลือก สว.
.
นุชนารถ: ผู้สมัครมีคนในใจแต่แรก บางคนภารกิจเสร็จสิ้นเมื่อลงคะแนน
.
นุชนารถ แท่นทอง รายชื่อสำรอง สว. กลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะการเป็นผู้สมัคร สว. เมื่อตนได้รับเลือกในระดับอำเภอ เข้าสู่รอบระดับจังหวัด ได้รับเสียงครหาว่าถูกจ้างมาเลือก สว. ทำให้รู้สึกว่าต้องเข้าไปสู่รอบประเทศให้ได้ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสว.ประชาชนจริงๆ ในวันเลือกระดับประเทศ จากการอยู่ในสถานที่เลือกข้ามวันข้ามคืนจนนับคะแนนเสร็จสิ้น ก็พบว่ามีผู้คนหลากหลายประเภท พออยู่ในสถานที่เลือกนานเข้า ก็เริ่มคิดว่าผู้สมัครส่วนใหญ่รู้จักกันหมดอยู่แล้ว หากใครมาเป็นกลุ่มก็จะจับกลุ่มกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ที่เธอรู้จักต่างตกรอบเลือกกันเองกันไปเกือบหมด เมื่อนุชนารถต้องไปลงคะแนนรอบไขว้จึงหวั่นใจมากขึ้น
.
กลุ่ม 17 ที่นุชนารถสมัคร จับสลากได้อยู่ในสาย ข. ประกอบด้วยผู้สมัครกลุ่มอื่นอีกสี่กลุ่มได้แก่ กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่ม 4 กลุ่มการสาธารณสุข กลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม นุชนารถระบุว่าไม่มีโอกาสจะรู้จักกับใครในกลุ่มนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าจะลงคะแนนให้ใคร จึงรู้สึกหมดหวังกับการไปต่อ
.
ช่วงนับคะแนน นุชนารถสังเกตว่ามีผู้สมัครหลายคนไม่สนใจช่วงนับคะแนนเลย ทิ้งเอกสารสว.3 หรือเดินไปเดินมา ไปนอนพัก ไปห้องน้ำ ไม่ได้สนใจกระบวนการนับคะแนน หลังนับคะแนนแล้ว เธอพบว่าคะแนนผู้สมัครหลายคนนำโด่งมาก จึงตั้งข้อสังเกตว่าผู้สมัครหลายคนมีผู้สมัครที่จะเลือกมาในใจตั้งแต่แรกแล้ว
.
นุชนารถปิดท้ายว่า หลังจากนี้แม้ไม่ได้มีโอกาสในการเข้าไปทำงานในรัฐสภาก็จะทำงานข้างนอกต่อไป โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน
.
เทวฤทธิ์: กระบวนการเลือกไม่ยึดโยง แต่สว. ชุดใหม่ยังมีหวังแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
เทวฤทธิ์ มณีฉาย ว่าที่ สว. กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ระบุว่าในการจัดการเลือก สว. ระดับประเทศ กกต. ไม่ได้เปิดพื้นที่หรือให้เวลาผู้สมัคร สว. พูดคุยแนะนำตัวก่อนลงคะแนนรอบเลือกไขว้ ทำให้ผู้สมัครต้องตัดสินใจเลือก สว. ผ่านเอกสารสว. 3 ที่มีพื้นที่ให้ระบุประสบการณ์ทำงานไม่เกินห้าบรรทัดเพียงอย่างเดียว ปัญหานี้เทวฤทธิ์ชี้ว่าเป็นความไม่สม่ำเสมอของกระบวนการ เนื่องจากในการเลือกระดับอำเภอหรือระดับจังหวัดบางสถานที่เลือกยังสามารถพูดคุยแนะนำตัวกันข้ามกลุ่มได้
.
วันเลือกระดับประเทศ 26 มิถุนายน 2567 เทวฤทธิ์ไปดักสังเกตการณ์กระบวนการเลือกในรอบเช้า พบว่ามีรถตู้มาส่งผู้สมัครแบบ “เป็นทีม”
.
หากได้เป็น สว. เทวฤทธิ์ระบุว่าจะไม่ใช้อำนาจบางประการ คือ การลงคะแนนเห็นชอบผู้จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เพราะถือว่ารูปแบบการได้มาของ สว. ไม่สามารถพูดได้ว่ามีความชอบธรรมในฐานะผู้แทนของกลุ่มอาชีพจริง ขณะเดียวกันกระบวนการนี้ก็จำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน บุคคลทั่วไป อีกด้วย
.
จุดขายสำคัญของเทวฤทธิ์ในการเลือก สว. คือ จุดยืนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ทำให้เขาได้มี “เพื่อนร่วมทาง” มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเขาก็ยังพูดคุยกับเขาได้เพราะเทวฤทธิ์ใช้ความจริงใจในการพูดคุย จุดนี้เขาระบุว่าเขาทำสำเร็จในระดับอำเภอและระดับจังหวัด นอกจากนี้เขากล่าวว่ายังมีหวังที่สว. ชุดใหม่จะมีบางส่วนที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ การพูดคุยกันอาจจะทำให้ใครหลายคนเปลี่ยนใจได้
.
สิ่งที่เทวฤทธิ์กังวล คือ การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาจจะต้องให้ สว. ชุดใหม่ช่วยกันหาทางออกอื่นๆ มากขึ้นเพื่อไม่ให้สภาวะ “ติดล็อก” เกิดขึ้นในสังคม ประชาชนและผู้สมัคร สว. ที่ไม่ผ่านการรับเลือกยังสามารถติดตามการทำงานของสว. ชุดใหม่ได้ คอยกำกับดูแลให้สว. ชุดใหม่เดินไปอย่างถูกทาง
.
เสียงจากผู้สังเกตการณ์ เรียกร้อง กกต. เผยแพร่เอกสารผลคะแนนผู้สมัครทุกราย-คลิปการเลือก
.
มาที่ฝั่งมุมผู้สังเกตการณ์ กฤต แสงสุรินทร์ We Watch และบุศรินทร์ แปแนะ iLaw เล่าว่าก่อนการเลือกสว. ระดับประเทศได้พูดคุยกับ กกต. เพื่อขอเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกในสถานที่เลือก ซึ่ง We Watch ได้ส่งรายชื่อไปให้กกต. ผู้สังเกตการณ์จำนวน 20 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเมื่อถึงวันเลือกจริงนั้น กกต. กลับให้โควตาผู้สังเกตการณ์การเลือกสว. ระดับประเทศทั้งหมดเพียง 15 ที่นั่ง จากทั้งหมดห้าองค์กร ได้แก่ We Watch iLaw สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากสถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศ และสภาชุมชน จำนวนรวมทั้งหมดถึง 45 คน ทำให้แต่ละองค์กรต้องแบ่งและจัดสรรโควตาผู้สังเกตการณ์กันเอง ขณะเดียวกันสว. มีทั้งหมด 20 กลุ่มแต่กกต. ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปได้เพียง 15 ที่นั่ง และต้องคอยเวียนสลับกับองค์กรอื่นจนไม่มีความต่อเนื่องในการสังเกตการณ์
.
การเข้าไปสังเกตการณ์ก็ไม่สามารถเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพได้เลยเพราะที่นั่งของผู้สังเกตการณ์อยู่ในชั้นลอยด้านบน เห็นภาพมุมกว้างๆ ไม่สามารถมองลงไปเห็นการนับคะแนนหรือเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมดต้องพยายามเข้าไปสังเกตการณ์ให้ใกล้ชิดมากที่สุดด้วยตัวเอง ขณะที่พื้นที่สถานที่เลือกกว้างขวาง จำนวนผู้สังเกตการณ์ไม่ได้รบกวนกระบวนการเลือก กกต. สามารถให้ผู้สังเกตการณ์ ประชาชน หรือสื่อมวลชนสามารถเข้าไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดโดยไม่เกิดความวุ่นวายต่อกระบวนการเลือกได้ เพราะในวันเลือกสว. ระดับประเทศกกต. ก็เชิญ กกต. ต่างประเทศมาสังเกตการณ์เช่นเดียวกัน แต่กกต. ต่างประเทศกลับสามารถเดินสังเกตการณ์ภายในสถานที่เลือกได้มากกว่าผู้สังเกตการณ์คนไทย
.
การเลือกระดับประเทศที่สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างห่างไกล ไม่สม่ำเสมอ ขัดแย้งกับหนังสือราชการของกกต. ที่อนุญาตให้สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ทั้งที่ผู้จัดเป็นกกต. เอง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนสามารถเข้าไปถ่ายภาพได้แค่เพียงรอบละ 10 นาที เป้าหมายของกกต. เหมือนไม่ต้องการให้เข้าไปเพื่อเพิ่มความโปร่งใสแต่ให้เข้าไปเพื่อเก็บภาพสำหรับการทำข่าวมากกว่า
.
อย่างไรก็ตาม คามเข้มงวดของกกต. ในการจัดการงานกลับค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาลากยาวมาขึ้น กระบวนการเลือกเริ่มตั้งแต่ 09.00 น. ไปจบเวลา 04.52 น. ซึ่งช่วงแรกของการเลือกกันเอง การเข้าห้องน้ำของผู้สมัครต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม แต่เมื่อเริ่มการเลือกไขว้ผู้สมัครกลับเดินกันได้ค่อนข้างอิสระ ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแล แทบไม่เหลือนั่งในกลุ่มเหมือนช่วงเช้าเลย
.
ขณะเดียวกันการสังเกตการณ์ผ่านกล้อง CCTV ข้างนอกห้องสถานที่เลือก ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ครบถ้วนจนสามารถสร้างความโปร่งใสให้กระบวนการเลือกได้ เพราะไม่ได้แช่จอไว้ทุกกลุ่มแต่เป็นการตัดสลับ ประชาชนจึงต้องตามแคปภาพหน้าจอจากอินเตอร์เน็ตช่วย กกต. ตรวจสอบในภายหลัง ส่วนกระดานคะแนนที่มีความสำคัญมากกลับไม่สามารถเข้าถึงหรือมองเห็นได้ง่าย หากไม่มีผู้สมัครจดข้อมูลสำคัญทั้งหมดออกมาคนภายนอกสถานที่เลือกก็แทบจะไม่ทราบได้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในห้องดังกล่าว
.
ประเด็นสุดท้าย ผู้สังเกตการณ์พบว่ามีผู้สมัครหลายคนที่สวมเสื้อลักษณะเหมือนกัน สีเหลืองเดียวกัน มีรอยยับบนเสื้อลักษณะของการเพิ่งออกจากโรงงานแบบเดียวกัน และมีแฟ้มแบบเดียวกัน ผู้สมัครกลุ่มนี้จะไม่พูดคุยกับผู้สมัครคนอื่นแต่นั่งรวมตัวอยู่กันเองเพราะมาจากจังหวัดเดียวกัน อย่างไรก็ตามผู้สมัครกลุ่มนี้ออกมาจากสถานที่เลือกขณะการนับคะแนนรอบไขว้ทั้งที่กฎหมายไม่ได้อนุญาตและรีบกลับเข้าไปเมื่อถูกทักท้วง ผู้สมัครกลุ่มนี้เดินทางกลับที่ตึกประชุมอีกตึกหนึ่งโดยมีบุคคลที่อาจไม่ใช่ญาติมารับ เป็นรถทะเบียนกรุงเทพมหานครและบุรีรัมย์
.
ผู้สังเกตการณ์เรียกร้องต่อกกต. ดังนี้
.
1. เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวทั้งหมดของการเลือกทุกระดับ เพราะตามกฎหมาย กกต. ต้องบันทึกภาพและเสียงเอาไว้อยู่แล้ว
.
2. เผยแพร่เอกสารผลคะแนนของทุกคนผู้สมัครทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ที่ผ่านการเลือกเป็น สว.
.
3. เผยแพร่รายงานการตรวจสอบข้อร้องเรียนของ กกต. ทุกกรณี เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของสาธารณะไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครหรือ กกต. เพียงฝ่ายเดียว
.

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/871950931645194?ref=embed_post