วันพุธ, มิถุนายน 26, 2567

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 53 คน มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่น้อยกว่า 104 คน ถูกบังคับสูญหายอย่างน้อย 7 ราย


Freedom Bridge
12 hours ago·

พวกเขาเป็นพ่อ
พวกเขาเป็นแม่
พวกเขาเป็นลูก
พวกเขาเป็นเพื่อน
พวกเขาเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และเสรีภาพของทุกคน
.....

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9 hours ago·

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยไทย: ยังมี 104 คนอยู่ต่างแดน เรียกร้องศาลให้ประกันคดีการเมืองเพื่อไม่เพิ่มผู้ลี้ภัย-รบ.เร่งนิรโทษไม่เว้น 112
.
.
“...เราจึงขอแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจศาลไทย โดยการละเมิดทุกเงื่อนไขที่ศาลตั้งไว้ และปฏิเสธอำนาจศาลไทยในทุกมิติ ด้วยการเดินทางมายื่นลี้ภัยการเมืองในประเทศที่ไม่ยอมรับกฏหมายมาตราดังกล่าว”
.
ส่วนหนึ่งของถ้อยคำในแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลของ “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” จำเลยคดีมาตรา 112 ที่โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 ภายหลังเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส และได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายจากศูนย์แรกรับผู้ลี้ภัยของฝรั่งเศสแล้ว
.
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเกือบ 20 ปี นอกจากส่งผลให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง 3 ฉบับ ประชาชนเสียชีวิตกว่า 100 ราย บาดเจ็บคาดว่าไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย และถูกดำเนินคดีอีกกว่า 6,000 ราย แล้ว ยังทำให้มากกว่า 100 คน ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง ทั้งด้วยความรู้สึกไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร ความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ถูกดำเนินคดี หรือเกรงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี ความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี ถูกคุมขัง กระทั่งความหวาดกลัวจากการคุกคามจนเกรงจะเกิดอันตรายถึงชีวิต
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทบทวนสถานการณ์และเรื่องราวของผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทย ผู้คนที่เป็นเพื่อนร่วมชาติแต่พวกเขาไม่สามารถอยู่ร่วมกับพวกเราด้วยเหตุจากสถานการณ์ทางการเมืองดังที่กล่าวมา เพื่อตระหนักถึงทั้งความเข้มแข็ง ความหวาดกลัว และความกล้าหาญของพวกเขา ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความขัดแย้งที่ดำรงอยู่เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษนี้ เพื่อให้พวกเขาทั้งหมดสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
.
ที่ก้าวแรกนั้นคือ การนิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงคดีมาตรา 112 และก่อนไปถึงจุดนั้นหากศาลให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จะทำให้ไม่เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก
.
ผู้ลี้ภัยใน 3 ช่วงสถานการณ์ทางการเมือง
1. ผู้ลี้ภัย ม.112 หลังรัฐประหาร 2549 อย่างน้อย 12 ราย
2. ผู้ลี้ภัยยุค คสช. ขั้นต่ำ 102 คน ทั้งเหตุ ม.112 - ไม่รายงานตัว - คดีอาวุธ
3. ผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ หลังยุค คสช. และการกลับมาของ 112 ไม่น้อยกว่า 30 ราย กว่าครึ่งเป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นครั้งแรกที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เลือกที่จะกลายเป็นผู้ลี้ภัย
.
ชะตากรรมของเหล่าผู้ลี้ภัย
- ถูกบังคับสูญหาย อย่างน้อย 7 ราย
- เสียชีวิต ไม่ต่ำกว่า 10 ราย
- ถูกจับกุม-นำตัวกลับมาดำเนินคดี 2 ราย
- เดินทางกลับหลายราย
.
ให้ประกัน-หยุดคุกคาม-นิรโทษกรรมไม่ยกเว้น 112: หนทางยุติความขัดแย้งเพื่อให้ 104 ผู้ลี้ภัย ได้กลับบ้าน
.
ผ่านชะตากรรมทั้งที่เลือกได้ ถูกบังคับเลือก หรือไม่ได้เลือก ทำให้ล่าสุด (25 มิ.ย. 2567) มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองของไทยที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 104 คน โดยมีเหตุจากคดีมาตรา 112 จำนวน 67 คน, คดีเกี่ยวกับอาวุธหรือระเบิด 14 คน, คดีมาตรา 116 จำนวน 5 คน, คดีไม่รายงานตัว คสช. 5 คน ที่เหลือ 13 คน มีเหตุจากคดีอื่น ๆ หรือถูกคุกคาม
.
พวกเขา… ไม่ใช่ทั้งหมดที่ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือพลเมืองที่ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการในประเทศใหม่ บางคนยังต้องรอหรือใช้ความพยายามเพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะดังกล่าว และอีกจำนวนหนึ่งยังคงต้องใช้ชีวิตหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นบุคคลที่ไม่ได้รับรองทางกฎหมายใด ๆ อยู่ในประเทศอื่น ขาดไร้ซึ่งความมั่นคง สวัสดิภาพ และสวัสดิการทั้งปวง
.
พวกเขา… ครั้งหนึ่งเพียงใฝ่ฝันอยากเห็นประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม คุณภาพชีวิตที่ดี งอกงามในสังคมไทย เป็นคุณค่าที่เขาและเราล้วนใฝ่ฝันเช่นเดียวกัน
.
พวกเขา… จึงมิใช่ “คนอื่น” ที่สังคมไทยจะหลงลืม หรือไม่นับเป็นพวก
.
ในวันที่พวกเขาเลือกที่จะไม่สยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเพื่อรักษาเสรีภาพและความฝันของตน พวกเขาต้องแลกด้วยการละทิ้งสิ่งอันเป็นที่รักและคุ้นเคย ตั้งแต่บ้าน ครอบครัว เพื่อนมิตร การงาน การเรียน หรือกระทั่งชีวิต ขณะเดียวกันสังคมไทยก็สูญเสีย “Active Citizen” หรือพลเมืองที่กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคม อันเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
.
ในวันนี้ที่ประเทศไทยกลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งอีกครั้ง และการพูดถึงการหาทางยุติหรือทางออกจากความขัดแย้งที่ทอดยาวมานานเกือบ 20 ปี เป็นประเด็นที่ได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง โดยรูปธรรมที่ทำได้เร็วที่สุดเพื่อเป็นก้าวแรกก็คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในห้วงดังกล่าว แต่กระนั้นก็ยังมีข้อถกเถียงว่าจะนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วยหรือไม่
.
แต่หากนับบุคคลผู้ลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากความขัดแย้งทางการเมือง และนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย การยุติความขัดแย้งเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้ที่ลี้ภัยมีเหตุมาจากคดี 112
.
แม้ว่าหลายคนของผู้ลี้ภัยไม่คิดจะกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกแล้ว แต่การกลับบ้านมาพบปะครอบครัวที่รอคอย เยี่ยมเยือนและใช้ชีวิตในแผ่นดินที่เกิดและเติบโต ควรเป็นสิทธิที่ทำได้โดยเสรีอย่างพลเมืองไทยโดยทั่วไป
.
การเร่งผลักดันให้มีและบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมถึงคดี 112 โดยเร็ว ระหว่างนั้นเรียกร้องให้ศาลพิจารณาให้ประกันผู้ถูกดำเนินคดีที่คดียังไม่ถึงที่สุด รวมถึงยุติการคุกคามนอกกฎหมาย เพื่อไม่กดดันให้เกิดผู้ลี้ภัยรายใหม่ จึงเป็นหน้าที่ที่จำเป็นของรัฐบาลปัจจุบันในอันที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อพลเมืองไทย และต่อประชาคมโลก เพื่อให้เป็นรัฐบาลที่มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ดังที่ประกาศไว้
.
.
อ่านรายละเอียดทั้งหมดบนเว็บไซต์: (https://tlhr2014.com/archives/68186)