วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2567

"มันพิสูจน์ให้เห็นว่า สุดท้ายคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่ได้มีเส้นสาย มันไม่ง่ายเลย” อังคณา ละไพจิตร บอกบีบีซีไทยหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเลือก สว. แบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืน เปิดชื่อว่าที่ 23 “สว. ประชาชน” หลุดเข้าสภาสูง

ที่มา บีบีซีไทย

“พื้นที่นี้มีการจองไว้ให้กับคนบางกลุ่ม”

“เหนื่อย เราลุ้นทุกคะแนนว่า คนธรรมดาอย่างเราจะได้ไหม” คือความรู้สึกของ อังคณา นีละไพจิตร หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเลือก สว. แบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืน


หญิงวัย 68 ปี เป็นว่าที่ สว. จากกลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ โดยสั่งสมประสบการณ์มาหลากหลาย ทั้งในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อดีตสมาชิกสภาร่าง

รัฐธรรมนูญ (สสร.) ปี 2550 และยังเป็นเจ้าของรางวัลแมกไซไซปี 2019 (พ.ศ. 2562)

ด้วยบทบาทโดดเด่นในด้านสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรม ทำให้ชื่อชั้นของ อังคณา เป็นที่รู้จัก-ยอมรับในหมู่เครือข่ายภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) และมีชื่อติด 5 อันดับแรกใน “โผ สว. ประชาชน” ก่อนกลายเป็นว่าที่ สว. ตัวจริงในวันนี้

แม้ผ่านการแข่งขันในสนามโหด-หินที่สุดอย่าง กทม. ที่มียอดผู้สมัครสูงสุดของประเทศมาได้ เนื่องจากเธอเลือกลงสมัคร สว. ที่เขตธนบุรี ก่อนผ่านเข้ารอบจังหวัด และมาจบที่รอบประเทศ แต่ว่าที่ สว.หญิง รู้สึก “ผิดหวังกับระบบการเลือก” โดยเฉพาะเมื่อเห็นบางคนในตำแหน่ง “หัวตาราง” มีคะแนนสูงลิ่ว ขณะที่ภาคประชาชนที่กระจายอยู่ตามกลุ่มต่าง ๆ ได้เข้าวุฒิสภาน้อยมาก


ข้อสังเกตจาก อังคณา หลังพิจารณาคะแนนในชาร์ตนับคะแนนคือ บางคนมีคะแนนสูง และเป็นการสูงแบบเกาะกลุ่มเป็นแท่งนำโด่งขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากในหมู่ผู้สมัครที่เข้ารอบสุดท้าย 40 คน

...

“แก้ระบบเพื่อให้ สว. สะท้อนการเป็นตัวแทนประชาชน”

เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) สำนักข่าวประชาไท เป็นอีกคนที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อคะแนนของว่าที่ สว. กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม โดยบอกว่า คนที่ได้อันดับ 1 คะแนนพุ่งกระฉูด “ถ้ามองโลกในแง่ดีคือเขาอาจได้รับความนิยม แต่ความนิยมมันเป็นแบบแผน”

เขาขยายความ “ความนิยมเป็นแบบแผน” ว่าหมายถึง การมีคะแนนนิยมเป็นหมู่คณะ และลงคะแนนเลือกในรูปแบบคล้าย ๆ กัน

บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า ว่าที่ สว. ในกลุ่ม 18 ที่มีผลโหวตเป็นลำดับ 1 ในรอบ “เลือกไขว้” ได้คะแนนไป 67 คะแนน (จ.อุทัยธานี) ส่วน 5 คนถัดมา มีคะแนนตั้งแต่ 61-57 คะแนน (จ.สงขลา, สุรินทร์, อ่างทอง, บุรีรัมย์, และสตูล)

ขณะที่กลุ่มที่มีชื่อในบัญชี “สว.ประชาชน” ยึดพื้นที่ 3 ลำดับท้ายตาราง (ลำดับ 8-10) โดยมีคะแนนลดหลั่นกันไป ดังนี้ ชิบ จิตรนิยม พิธีกรรายการโทรทัศน์ได้ 34 คะแนน, ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ได้ 33 คะแนน และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ได้ 21 คะแนนเท่ากับผู้สมัครอีกคน แต่จับสลากชนะ จึงได้เป็นว่าที่ สว.

“ผมเป็น สว. จับฉลากตัวจริงเลย” อดีต บก.บห.ประชาไท กล่าวทีเล่นทีจริง

แม้ผู้สมัครหลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีกระบวนการ “บล็อกโหวต” ในการเลือก สว. ชุดใหม่ แต่ เทวฤทธิ์ ชี้ชวนให้มองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบ บรรดากลุ่มผู้เล่นต่าง ๆ พยายามหาช่องทางในการเล่นให้ตัวเองได้เปรียบในระบบ ดังนั้นอยากให้ไปโทษที่ระบบ

ภารกิจสำคัญที่สุดสำหรับว่าที่ สว. สายสื่อมวลชนรายนี้จึงอยู่ที่การแก้ไขระบบเพื่อให้ สว. สะท้อนการเป็นตัวแทนประชาชน โดยเขามองว่ากระบวนการเลือก 3 ระดับ และการเลือกในกลุ่มอาชีพและไขว้กลุ่มอาชีพ ไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชน “จนเราไม่รู้ว่ามันเป็นตัวแทนของอะไร มั่วไปหมด จึงมีปัญหาเรื่องความเป็นตัวแทนแน่นอน”

เทวฤทธิ์ มีชื่อเป็นอันดับ 1 ตามโผ “สว. ประชาชน” ในกลุ่มสื่อสารมวลชนฯ แต่วันนี้เขาคือผู้ถือตั๋วใบสุดท้ายในตำแหน่งท้ายสุดในรอบเลือกไขว้กลุ่ม

เขาคาดการณ์ว่า สัดส่วน สว. ประชาชน จะมีราว 10% ของวุฒิสภาทั้งหมด ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายขั้นต่ำที่ตั้งกันไว้ 67 คน หรือ 1 ใน 3 ของ สว. ทั้งหมดเพื่อให้มีเสียงเพียงพอในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ถึงกระนั้น ว่าที่ สว. วัย 40 ปี ย้ำจุดยืนเรื่องการผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการล็อกเนื้อหาในหมวดใด และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% และถือเอาประเด็นนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการเข้าสภาสูงที่ “แบกความคาดหวัง” ของเพื่อนร่วมทางไปด้วย พร้อมระบุว่า “ตำแหน่งนี้เป็นของพวกคุณ”


เทวฤทธิ์ มณีฉาย เป็นหนึ่งในผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. จนนำไปสู่การผ่อนคลายให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้เกินกระดาษขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น

เปิดชื่อว่าที่ 23 “สว. ประชาชน” หลุดเข้าสภาสูง

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกระดับประเทศ ปรากฏความเคลื่อนไหวในการพยายามเกาะกลุ่มรวมตัวของผู้สมัครจากหลากหลายกลุ่ม ซึ่งมีทั้งการนัดประชุมตามโรงแรมและสถานที่ปิดลับอื่น ๆ ทั้งเพื่อแนะนำตัวอย่างใกล้ชิด และเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการเลือกว่าใครจะเป็นแคนดิเดต และใครจะเป็นโหวตเตอร์

หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สว. ภาคประชาชน” ซึ่งนัดประชุมเมื่อ 25 มิ.ย. ที่ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก่อนที่เย็นวันเดียวกัน จะมี “โผ สว. ประชาชน” จำนวน 19 กลุ่ม จากทั้งหมด 20 กลุ่มอาชีพ ถูกส่งต่อตามสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายชื่อของบุคคลรวม 10 คน

บีบีซีไทยนำบัญชีรายชื่อที่ถูกระบุว่าเป็น “โผ สว. ประชาชน” มาเปรียบเทียบกับบัญชีว่าที่ สว. ที่ผ่านการเลือกในระดับประเทศ พบว่า มีผู้สมัครในโผ “สว. ประชาชน” จำนวน 23 คน ได้รับเลือกให้เป็น สว. ตัวจริง กระจายอยู่ใน 15 กลุ่มอาชีพ และมีอีก 8 คนที่ติดบัญชีสำรองของกลุ่ม ดังนี้
  • กลุ่ม 3 ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ (จ.สมุทรสาคร)
  • กลุ่ม 4 วีระพันธ์ สุวรรณามัย (จ.พิษณุโลก) ส่วนสำรอง คือ ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย (กทม.), ประชา กัญญาประสิทธิ์ (จ.เชียงใหม่)
  • กลุ่ม 5 นิชาภา สุวรรณนาค (จ.ประจวบคีรีขันธ์), กัลยา ใหญ่ประสาน (จ.ลำพูน)
  • กลุ่ม 6 โชติชัย บัวดิษ (จ.ระยอง)
  • กลุ่ม 7 แล ดิลกวิทยรัตน์ (กทม.), ปิยพัฒน์ สุภาวรรณ (จ.นนทบุรี)
  • กลุ่ม 8 เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ (จ.สมุทรปราการ) ส่วนสำรอง คือ เพียรพร ดีเทศน์ (จ.แม่ฮ่องสอน) และ ปัญญา โตกทอง (จ.สมุทรสงคราม)
  • กลุ่ม 9 นรเศรษฐ์ ปรัชญากร (กทม.), มณีรัฐ เขมะวงค์ (จ.เชียงราย)
  • กลุ่ม 11 ณภพ ลายวิเศษกุล (จ.อุบลราชธานี) ส่วนสำรอง คือ ชโลมใจ ชยพันธนาการ (จ.น่าน), กฤษฏนันต์ ทองวิภาวรรณ์ (จ.แพร่)
  • กลุ่ม 12 วีรยุทธ สร้อยทอง (จ.ฉะเชิงเทรา) ส่วนสำรอง คือ ชัชชัย ชินธรรมมิตร (จ.กาญจนบุรี)
  • กลุ่ม 15 ศรายุทธ ยิ้มยวน (จ.สุพรรณบุรี)
  • กลุ่ม 16 รัชนีกร ทองทิพย์ (จ.พังงา), ชวพล วัฒนพรมงคล (จ.สมุทรสาคร)
  • กลุ่ม 17 ประภาส ปิ่นตบแต่ง (จ.นครปฐม), อังคณา นีละไพจิตร (กทม.)
  • กลุ่ม 18 นันทนา นันทวโรภาส (กทม.), ชิบ จิตรนิยม (จ.กาญจนบุรี), เทวฤทธิ์ มณีฉาย (จ.สมุทรสงคราม) ส่วนสำรอง คือ ประทีป คงสิบ (จ.เพชรบูรณ์)
  • กลุ่ม 19 สุนทร พฤกษพิพัฒน์ (จ.นนทบุรี), พรชัย วิทยเลิศพันธุ์ (กทม.)
  • กลุ่ม 20 วราวุธ ตีระนันทน์ (กทม.)
ที่มา บีบีซีไทย
(https://www.bbc.com/thai/articles/c0krwq17218o)