วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2567

“THE KING CAN DO NO WRONG” ผ่านปากคำในคดี 112 คดีที่ 4 ของ อานนท์ นำภา


28/06/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนัษยชน

วันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่ศาลอาญา มีนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จาก 2 โพสต์ในเฟซบุ๊กของอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนอ่านคำเบิกความของอานนท์ที่ยืนยันหลักการ The king can do no wrong หรือ “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และยืนยันว่า ข้อความที่โพสต์และถูกฟ้องเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด

คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 ที่อานนท์ได้เข้าเบิกความต่อศาลเป็นพยานให้ตนเอง

.

อานนท์ นำภา จำเลย อ้างตัวเองเป็นพยานในคดีนี้เบิกความว่า พยานจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ ประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน เคยทำคดีที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชนในหลายพื้นที่ ตลอดการทำงานพยานได้รับรางวัลจากนิตยสาร Time ในการจัดอันดับ 100 Next 2021 ในหมวดผู้นำ (Leaders) ผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในสังคม และรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู จากประเทศเกาหลีใต้

ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ พยานได้เสนอข้อเรียกร้อง และเข้าร่วมการชุมนุมหลายพื้นที่ในปี 2563 โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวคือ การขอให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือการแสดงข้อกังวลต่อบทบาทของกษัตริย์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง

การชุมนุมของพยานและกลุ่มคนรุ่นใหม่มีคำถามถึงบทบาทของรัชกาลที่ 10 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และการที่ไม่ได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์

ทั้งนี้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขใช้อำนาจนั้นผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล นั่นหมายความว่าพระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจโดยตรงไม่ได้ แต่ต้องใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยเปลี่ยนให้พระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีหลักการว่า The king can do no wrong หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง” ดังนั้น สถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองนี้ ย่อมเป็นการจัดวางให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง หรือกษัตริย์ไม่สามารถกระทำความผิดได้

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ชั่วคราว) มาตรา 3 บทบาทของกษัตริย์ได้ถูกบัญญัติไว้ให้ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งคำว่า “ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” หมายความว่า ใครจะไปฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ และมาตรา 6 บัญญัติว่า หากกษัตริย์ทำผิดอาญาจะไม่สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะวินิจฉัยความผิดนั้นเอง

แต่หลังจากนั้นมีการแก้บทบัญญัตินี้หลายครั้ง ในรัฐธรรมนูญ 2492 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยข้อความว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ให้บุคคลฟ้องร้องพระมหากษัตริย์

ซึ่งต่อมาเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 การฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้จึงหมายถึง กษัตริย์จะทำผิดไม่ได้ การกระทำหรือการใช้พระราชอำนาจจะต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการ

อานนท์เห็นว่า การตีความมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีผลบังคับประชาชนเพียงฝ่ายเดียว แต่บังคับโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ที่ต้องดำรงตนให้เป็นที่เคารพสักการะด้วย ที่พยานคิดแบบนี้ก็เพราะในมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของพยาน ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ เพราะตราบใดที่พระมหากษัตริย์ดำรงตนอยู่ในที่เคารพสักการะ ผู้ใดก็จะล่วงละเมิดมิได้ แต่ถ้าหากกษัตริย์ไม่สามารถดำรงตนอยู่ในสถานะดังกล่าวได้แล้ว ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ สามารถติเตียนได้

.
การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หากกระทำโดยสุจริตใจก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้

อานนท์เบิกความต่ออีกว่า เมื่อถามถึงการติเตียนกษัตริย์ว่า เราจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เราต้องตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ซึ่งได้รับรองเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นไว้ ซึ่ง ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ได้เสนอแนวทางการพิจารณาประเด็นดังกล่าวไว้ว่า รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย นอกเหนือจากเสรีภาพของมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ไม่มีคุณค่าใดที่สูงสุดหรือเป็นคุณค่าที่แตะต้องไม่ได้ ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์หากกระทำโดยสุจริตใจก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้

ส่วนการแสดงความคิดเห็นที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อานนท์เห็นว่า การแสดงความคิดเห็นที่เสนอให้ล้มล้างการปกครอง ไม่ถือว่าอยู่ในหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

สำหรับข้อความในคดีนี้ อานนท์กล่าวว่า ตนได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กของตัวเองภายหลังช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ซึ่งมีการออกมาตั้งคำถามถึงบทบาทของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในทางอ้อมโดยใช้พื้นที่การชุมนุมสาธารณะ

อานนท์กล่าวต่อศาลว่า คำพูดทางอ้อมที่หมายถึงรัชกาลที่ 10 เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงเวลานั้น พยานเองได้ยินจากกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคำ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า การสื่อสารเช่นนี้ไม่เหมาะสม พยานจึงได้ริเริ่มการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในพื้นที่การชุมนุมสาธารณะอย่างม็อบแฮรี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

การปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของเขาในวันนั้น อานนท์ได้กล่าวต่อศาลว่า ไม่มีการกล่าวคำหยาบคายต่อกษัตริย์แม้แต่คำเดียว

อานนท์เบิกความต่อไปว่า ในการชุมนุมวันดังกล่าว เขาได้อภิปรายบทบาทของกษัตริย์ที่เขามีข้อห่วงกังวลว่าพระองค์ไม่ได้กำลังดำรงอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักการ The king can do no wrong

.
ข้อความตามฟ้องเป็นข้อเท็จจริงจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

อานนท์บอกว่า การพูดของเขาทั้งหมดเป็นความจริง และข้อเท็จจริงก็มีให้เห็นกระจ่างชัด โดยเริ่มตั้งแต่ภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยทำเสร็จสิ้นในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และได้นำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าถวายต่อรัชกาลที่ 9 แต่ไม่ทันได้ลงพระปรมาภิไธย เนื่องจากพระองค์สวรรคตไปเสียก่อน

ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกแช่แข็งไว้จนกระทั่งการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งพระองค์ไม่ลงพระปรมาภิไธย โดยประยุทธ์ได้แถลงข่าวว่า รัชกาลที่ 10 ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้ผ่านการลงประชามติของประชาชนไปแล้ว

ซึ่งประเด็นที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระประสงค์ให้แก้ไขคือ มาตรา 16 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะต้องแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกแก้ไขโดยให้อำนาจกษัตริย์จะแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ ก็ได้

การรับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติของประชาชนเช่นนี้ ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่าอำนาจอธิปไตย และอำนาจในการสถาปนากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน การกระทำเช่นนี้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนเคยทำมาก่อน

นอกจากนี้ ตามหลักการทางกฎหมายแล้ว การรับสั่งให้แก้มาตรา 16 ย่อมเป็นการแก้เพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกษัตริย์ ซึ่งทรงประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และไม่ประสงค์ที่ต้องการให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย

อานนท์ยังได้แสดงหลักฐานยืนยันจากข่าวว่า รัฐสภาประเทศเยอรมนีมีการอภิปรายถึงความกังวลต่อการใช้พระราชอำนาจทางการเมืองของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในแผ่นดินเยอรมัน

และข้อห่วงกังวลที่ 2 คือ การเสด็จประทับประเทศเยอรมนีของพระองค์ ได้นำข้าราชบริพารติดตามไปเป็นจำนวนมาก และมีการเช่าโรงแรมในแคว้นบาวาเรียให้ข้าราชบริพารและพระองค์ใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นการใช้งบประมาณโดยสิ้นเปลือง

นอกจากนี้ ในปี 2563 ซึ่งยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 แต่พระมหากษัตริย์กลับไม่ทรงประทับอยู่ในประเทศไทย และสร้างความกังวลให้กับประชาชนและคนรุ่นใหม่ไม่สบายใจ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตส่วนตัวของพระองค์ที่ต่างประเทศ และมีภาพไม่เหมาะสมหลายประการ จนถูกนำไปล้อเลียนและกลายเป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลายคดี

อานนท์ยังได้หยิบยกตัวอย่างการออกข้อกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายอีกหลายประการ รวมถึงการออกพระบรมราชโองการที่เขาเห็นว่าแปลกประหลาด กล่าวคือ การถอดยศเจ้าคุณพระสินีนาฏ และลงโทษให้ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ก่อนภายหลังมีการรับสั่งแต่งตั้งยศให้ใหม่ โดยไม่มีการลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

และในปี 2564 ก็ได้มีการออกพระบรมราชโองการโอนย้ายข้าราชการอัยการ คือองค์ภาฯ ซึ่งเป็นลูกสาวของพระองค์เอง ไปเป็นข้าราชการทหารส่วนพระองค์ โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดิม

หรือในปี 2566 ก็ได้มีการแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานนท์กล่าวว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เขาต้องการจะอธิบายและยืนยันข้อเท็จจริงเพื่อปฏิเสธข้อกล่าวหาตามที่อัยการฟ้องมา สิ่งที่เขาโพสต์เพียงแค่ต้องการส่งข้อความบอกกับสังคมว่า หากไม่มีใครหยุดการกระทำเช่นนี้ พระองค์ก็จะทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเขาเชื่อว่าหากรัชกาลที่ 9 ยังมีชีวิตอยู่ก็จะไม่ทำแบบนี้ โดยเฉพาะการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว

นอกจากนี้ การโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้อง อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของการเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามที่รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่ง รวม 2 ฉบับ ได้แก่ 1. พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ ของกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งพยานเห็นว่า กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะมีกองกำลังส่วนตัวเช่นนี้

2. การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้กษัตริย์มีอำนาจถ่ายโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไปเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย โดยไม่อยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลังอีกต่อไป พยานเห็นว่าสิ่งนี้สร้างความคลุมเครือและไม่ชัดเจน

.
ทรัพย์สินของราชบัลลังก์คือทรัพย์สมบัติของประเทศที่ต้องปกป้องไว้ – หวังกษัตริย์ดำรงตนอยู่ในหลักการประชาธิปไตย ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ

อานนท์กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นี้มีความน่ากังวลและเป็นเรื่องใหญ่ โดยเขาได้อธิบายให้ศาลเห็นภาพว่า ทรัพย์สินที่เป็นส่วนพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น วัดพระแก้ว หากที่ดินดังกล่าวอยู่การครอบครองส่วนพระองค์แล้ว เมื่อมีการสวรรคตของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรัพย์สินที่ควรจะเป็นสมบัติสาธารณแผ่นดินก็จะถูกโอนย้ายไปตามกฎหมายมรดก ซึ่งสามารถตกทอดสู่ลูกหลานหรือบุคคลใดก็ได้ที่อยู่ในพินัยกรรม

ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ โดยล่าสุด “ท่านอ้น” ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ได้แสดงตัวและเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังไม่สามารถเดินทางกลับมาได้กว่า 20 ปี

อีกประการหนึ่ง หากทรัพย์สินของราชบัลลังก์ตกทอดสู่รัชทายาทอย่างเช่น เจ้าฟ้าทีปังกร ซึ่งขณะนี้ศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หากพระองค์ได้รับมรดกไปก็จะต้องมีการเสียภาษีมรดกตามกฎหมายของประเทศที่อยู่ ซึ่งหากไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินหรือจ่ายภาษีตามกฎหมายได้ เจ้าหนี้ก็สามารถยึดทรัพย์สินดังกล่าวไปได้

การวิพากษ์วิจารณ์ของเขาเพียงต้องการแสดงความห่วงกังวลเรื่องทรัพย์สินที่เป็นของราชบัลลังก์ว่า มีความเป็นได้สูงมากที่จะถูกส่งต่อให้กับบุคคลอื่น และเขาไม่ต้องการให้ทรัพย์สินเหล่านี้สูญหายไปจากประเทศของเรา นอกจากนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ ที่เขาพูดในที่สาธารณะก็เพียงอยากให้กษัตริย์ดำรงตนอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

.
ไทยมีพันธะตามกฎหมายระหว่างประเทศรับรองเสรีภาพในการวิจารณ์ของประชาชน – ขอศาลอย่าสถาปนาคำพิพากษาที่ไม่สอดคล้องหลักประชาธิปไตย

ก่อนจบการพิจารณาคดี อานนท์ได้ทิ้งท้ายโดยกล่าวถึงการตีความมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ว่า การที่อัยการฟ้องโดยระบุข้อกฎหมายข้างต้นมาด้วยกันนั้น เป็นคนละเรื่องเดียวกัน การที่ระบุว่า เราไม่สามารถติชมหรือฟ้องร้องกษัตริย์ได้นั้น ขัดต่อหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้สัตยาบันและเข้าร่วมเป็นสมาชิกกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ จึงมีพันธะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 เพื่อรองรับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ในการพูดหรือแสดงความเห็นของตนทุกครั้งก็แสดงออกไปด้วยความสุจริตใจ อานนท์บอกกับศาลว่า แล้วแต่ท่านว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ย่อมต้องมีหน่วยกล้าตายเช่นนี้ เพื่อให้สังคมมันก้าวต่อไปข้างหน้าได้

“ผมขอต่อท่านทั้งหลายว่า ในการพิพากษาคดี ม.112 ขอท่านอย่าได้สถาปนาคำพิพากษาเช่นในคดีที่ผ่านมาต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเมื่อสังคมอารยประเทศเขามองเข้ามา มันน่าละอาย การพิพากษาเช่นนี้ไม่ได้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อารยประเทศเขาใช้กัน”

https://tlhr2014.com/archives/68306