โอกาส ๒๔ มิถุนา ‘วันมหาสวัสดิ์’ Prachatai.com จัดทำรายการ “มรดกคณะราษฎรที่หายไป” ออกเผยแพร่ เนื่องจากมี อนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ และวัสดุที่เกี่ยวพันกับคณะราษฎร และการปฏิวัติ ๒๔๗๕ อันตรธานหายสาบสูญไปมากมาย
หลายอย่างหายไปโดยไร้ร่องรอย ไม่สามารถค้นหาเบาะแสได้ เนื่องจากถูกปกปิดและอำพราง เพื่อไม่ให้ประชาชนรำลึกถึงหรือได้รู้จัก แม้แต่ค่ายทหารสองค่ายก็ถูกเปลี่ยนชื่อ เอาชื่อดั้งเดิมที่เป็นชื่อบุคคลสำคัญของคณะราษฎรออกไป
#ค่ายพหลโยธิน และ #ค่ายพิบูลสงคราม ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดลพบุรี ที่มาจากชื่อของพลเอก พจน์ พหลโยธิน และ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ค่ายภูมิพล’ และ ‘ค่ายสิริกิติ์’ เมื่อ ๒๔ มีนา ๒๕๖๓ โดยราชกิจจานุเบกษา
เช่นกันกับอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในศูนย์การทหารปืนใหญ่ (ค่ายพหลโยธิน) กับอนุสารีย์จอมพล ป. ซึ่งเคยตั้งอยู่ภายในสถาบันวิชาการป้องกันประทศมาช้านาน ถูกถอนย้ายออกไปพร้อมกัน เมื่อ ๒๖ มกรา ๖๓ โดยไม่ทราบเลยว่าถูกนำไปเก็บไว้ที่ใด
#บ้านจอมพล ป.ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำเป็นพิพิธภัณฑ์มานมนานกาเล จู่ๆ ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อป้ายหน้าบ้านหลังนี้ไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่าเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์’ และประหลาดที่สุดก็คือการหายไปของ ‘หมุดคณะราษฎร’
หมุดเหล็กหล่อดังกล่าว ซึ่งคณะราษฎรฝังไว้บนบริเวณลานพระรูปทรงม้าฯ เพื่อบอกตำแหน่งที่พระยาพหลฯ ยืนอ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ เมื่อ ๒๔๗๕ ได้ถูกรื้อถอนออกไปในยามดึกคืนใดคืนหนึ่ง ระหว่าง ๑ ถึง ๘ เมษา ๒๕๖๐
เป็นปริศนาอย่างยิ่งเมื่อมีการนำหมุดเหล็กขนาดเดียวกัน แต่เปลี่ยนข้อความบนหมุดเป็น ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ มาแทนที่ จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นการกระทำของใคร หรือใครสั่งหน่วยงานใดมาขุดเปลี่ยน
ยังมีอนุสาวสรีย์อีกสองแห่งอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ได้แก่ #อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์ เดิมตั้งอยู่ในวงเวียนหน้าทางเข้าศาลากลางจังหวัดเดิม เดือนพฤศจิกาปี ๒๕๕๗ ถูกย้ายไปอยู่หน้าศาลกกลางหลังเก่า
ต่อมาถูกรื้อถอนออกไปอีกครั้งเมื่อ “มีการสร้างพระเมรุจำลอง ในช่วงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๙” เสร็จงานไม่มีการนำกลับมาตั้งหรือสร้างใหม่ แต่ตัวพานรัฐธรรมนูญถูกนำไปเก็บไว้ที่กองช่างของเทศบาล
สำหรับอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรสร้างขึ้นฉลองชัยชนะการปราบกบฏบวรเดช ตรงวงเวียนหลักสี่ บางเขน จู่ๆ ก็หายไปไร้ร่องรอย จนมาทราบภายหลังว่ามีการรื้อถอนเมื่อตอนดึกคืนวันที่ ๒๘ ธันวา ๒๕๖๑ มีภาพยืนยัน
แต่ก็ไม่มีเบาะแสว่าใครทำ ใครสั่ง มีแต่หลักฐานภาพปั้นจั่นประทับตรา ช.การช่าง ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องเป็น ‘ขาใหญ่’ พอ จึงสั่งดำนินการเรื่องมโหฬารขนาดนี้ได้ ส่วนสถานที่เดียวซึ่งรู้ที่มาที่ไปแน่นอนก็คือ โรงหนัง #ศาลาเฉลิมไทย
คณะราษฎรจัดสร้างตั้งใจจะไว้ใช้เป็นโรงละครแห่งชาติ ตามประสงค์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เปิดตัวทางการเมื่อ ๑๐ กุมภา ๒๔๘๓ ภายหลังเปิดเป็นโรงภาพยนตร์สาธารณะ มาถูกรื้อถอนเอาเมื่อปี ๒๕๓๒ โดยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
เหตุผลครั้งนั้นว่า เพื่อเปิดภาพทัศน์ให้เห็น ‘โลหะปราสาท’ วัดราชนัดดาราม ซึ่งตอนนั้นบูรณะเสร็จใหม่ๆ ให้มองเห็นความงามได้จากถนนราชดำเนิน