วันศุกร์, มิถุนายน 28, 2567

เหตุใดนักรัฐศาสตร์ถึงชี้ว่า ผลการคัดเลือก สว.กระจุกอยู่ในจังหวัด “บ้านใหญ่” ฐานคะแนนเสียงภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ เปิดชื่อว่าที่ สว. เครือข่าย “บ้านใหญ่” ค่าย “สีน้ำเงิน”


พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาค 4 และ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่ม 1

สำรวจ ว่าที่ สว. 200 คน มีใครมาจากเครือข่าย “บ้านใหญ่” บ้างหรือไม่

เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทย

ผลการนับคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่าจังหวัดที่มีผู้สมัครได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ( สว.) ชุดใหม่มากที่สุด ได้แก่ บุรีรัมย์ ที่สามารถส่งผู้สมัคร สว. เข้าไปอยู่ในสภาสูงได้ถึง 14 คน และยังมีว่าที่ สว. จากหลายจังหวัดที่มีจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ที่พบว่าเป็นพื้นที่คะแนนเสียงของกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม

จากผลคะแนนและหน้าตาของว่าที่ สว. 200 คน ที่เลือกกันอย่าง "มาราธอน" เมื่อ 26-27 มิ.ย. ที่ผ่านมา บีบีซีไทยพูดคุยกับนักรัฐศาสตร์ที่สังเกตการณ์การเลือก สว. ที่ "ซับซ้อนที่สุดในโลก" พร้อมกับประมวลข้อมูลของรายชื่อว่าที่ สว. บางส่วนที่น่าสนใจในบทความนี้

บุรีรัมย์ เข้าวินสภาสูง ได้ สว. เยอะสุดในประเทศ

บุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่สามารถส่งผู้สมัคร สว. เข้าไปอยู่ในสภาสูงได้มากที่สุดในประเทศถึง 14 คน

สำหรับ 5 อันดับของจังหวัดที่มี สว. มากที่สุด (รวมจังหวัดที่มี สว. เท่ากัน) ได้แก่
  • บุรีรัมย์ 14 คน
  • กทม. 9 คน
  • พระนครศรีอยุธยา, สุรินทร์ จังหวัดละ 7 คน
  • สงขลา, สตูล และอ่างทอง จังหวัดละ 6 คน
  • นครศรีธรรมราช, เลย, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุทัยธานี จังหวัดละ 5 คน
เมื่อดูผู้ที่เป็น สว. ตัวจริง ตามประกาศผลคะแนนพบว่า จ.บุรีรัมย์ มีผู้ผ่านเข้าเป็น สว. จากทั้งสิ้น 11 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย (กลุ่ม 1) และกระทรวงสาธารณสุข (กลุ่ม 4) อดีตนายตำรวจ (กลุ่ม 2) อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน (กลุ่ม 17) ไปจนถึงเกษตรกร ผู้สื่อข่าว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และบุคคลที่ระบุว่ามีอาชีพรับจ้าง แต่ระบุประวัติบรรทัดเดียวว่าเป็น "นักกีฬาฟุตบอลอาวุโส"

รายชื่อของว่าที่ สว. จาก จ.บุรีรัมย์ ยกตัวอย่างเช่น
  • กลุ่ม 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ นายมงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง, นายอภิชาติ งามกมล อดีตรองผู้ว่าราชการหลายจังหวัด
  • กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์
  • กลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ ได้แก่ นางประไม หอมเทียม อาชีพเกษตรกรรม เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
สำหรับจังหวัดที่มี สว. มากเป็นอันดับต้น ๆ เหล่านี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้ตั้งข้อสังเกตต่อผลคะแนนในรอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ พบว่าผู้สมัครจาก จ.เลย, อ่างทอง และบุรีรัมย์ “กอดคอกันมาจากจังหวัดเดียวกันกลุ่มละ 2 คน และผลคะแนนรอบแรกก็ได้คะแนนนำห่าง โดยทั้งสองคนได้คะแนนเท่ากันเป๊ะ ๆ”

นักรัฐศาสตร์ชี้ สว.กระจุกอยู่ในจังหวัด “บ้านใหญ่” ฐานคะแนนเสียงภูมิใจไทย-พลังประชารัฐ

ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ บอกกับบีบีซีไทยว่า หากดูจากผลการคัดเลือก สว. ชุดล่าสุด จะพบว่าจำนวน สว. กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีฐานคะแนนของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เช่น บุรีรัมย์ และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เช่นใน จ.เลย

“อย่างบุรีรัมย์มี สว. ถึง 14 คน ซึ่งมันโดดกว่ากรุงเทพฯ โดดกว่าเชียงใหม่ โดดกว่าจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างนครราชสีมาที่มีประชากรเยอะ ๆ หากพูดในภาษาเรามันก็คือลักษณะจัดตั้ง เป็นการจัดตั้งที่เข้มแข็งมากเพราะทำข้ามจังหวัดด้วย ไม่ใช่เพียงจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง แต่มันคือเครือข่ายระดับประเทศที่พร้อมจะถ่ายโอนคะแนนที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน ให้ไปหากันได้”

อาจารย์สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง กล่าวต่อว่า หากดูการกระจุกตัวของว่าที่ สว. ในจังหวัดต่าง ๆ แล้วนำมาเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบแบ่งเขตในจังหวัดนั้น ก็จะทราบว่า สว.ที่ได้อาจมาจากพรรคการเมืองใด เช่น

จ.อุทัยธานี ได้ สว. 5 คน และเป็นพื้นที่ของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

จ.อ่างทอง ซึ่งได้ สว. มากถึง 6 คน ก็เป็นพื้นที่ฐานเสียงของตระกูลการเมือง “ปริศนานันทกุล” จากพรรคภูมิใจไทยด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับ จ.เลย ที่ได้ สว. จำนวน 5 คน ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐกร มองว่าเป็นพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ


“พูดง่าย ๆ ก็คือต้องปูพรมส่ง [ผู้สมัคร] ให้มากที่สุด เพราะเขาไม่สามารถบอกได้ว่าในรอบไขว้ เขาจะไปเจอกับใคร” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่าง จ.ศรีสะเกษ ที่ทำให้เห็นถึงการระดมผู้สมัครในช่วงวันท้าย ๆ

“จังหวัดอันดับหนึ่งที่คนสมัครมากที่สุดไม่ใช่กรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ แต่มันคือศรีสะเกษ ที่ยอดขึ้นมาแซงในวันท้าย ๆ” เขากล่าว “มันก็น่าจะเริ่มเห็นแล้วว่ามีกระบวนการที่ระดมคนลงสมัครในช่วงท้าย ๆ เพราะเริ่มมองสถานการณ์ออกแล้วว่ากลุ่มอาชีพไหนมีคนน้อย อำเภอไหนมีคนน้อย ทีนี้พอผ่านรอบอำเภอ มารอบจังหวัด พูดตรง ๆ เลยก็คือมันต้องจัดตั้งทั้งในแท่งอาชีพ และจัดตั้งข้ามกลุ่มอาชีพ”

ความพ่ายแพ้ของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” และชัยชนะของ “พ่อตา” ธรรมนัส

อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ วิเคราะห์ต่อว่า ความพ่ายแพ้ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีในรอบเลือกไขว้ระดับประเทศนั้น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าหากคะแนนผู้สนับสนุนแข็งแรงเพียงแค่ในกลุ่มของตัวเอง ก็ย่อมไปไม่ถึงฝั่งฝัน

“พอมาถึงรอบไขว้ ปรากฏว่ามันต้องลุ้น แล้วกลุ่มนายสมชายจับสลากได้ไปอยู่ร่วมสายกับกลุ่มทำสวน สาธารณสุข เอ็นจีโอ และกลุ่มสื่อ มันก็เห็นอยู่ว่ากลุ่มสื่อและเอ็นจีโอไม่น่ามาเทคะแนนให้ ก็ทำให้เห็นว่าหากมีการจัดตั้งแค่ในแท่งหรือกลุ่มของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้เชื่อมกับกลุ่มจังหวัดอื่น มันก็อาจจะไม่พอ”

ขณะเดียวกัน หากดูการได้มาของ สว. จากพะเยาเพียงหนึ่งเดียว คือ นายขจรศักดิ์ ศรีวิราช ที่มีดีกรีเป็นถึงพ่อตาของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นั้น

ผศ.ดร.ณัฐกร บอกว่า ท้ายที่สุดพบว่าผู้สมัคร สว. ในอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา มีมากกว่า อ.เมือง ซึ่งเขามองว่า “มันผิดปกติ” เพราะโดยทั่วไปคน อ.เมือง จะมีความตื่นตัวทางการเมืองมากกว่า


นายขจรศักดิ์ ศรีวิราช อดีตรองนายก อบจ.พะเยา, อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้ และพ่อตาของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ (พะเยา) ว่าที่ สว.จากกลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระฯ

“พอผ่านจาก อ.ดอกคำใต้ มารอบจังหวัด กลายเป็นว่า 25 จากจำนวนผู้สมัคร 40 คนของพะเยามาจากดอกคำใต้ เราก็สันนิษฐานว่าเขาส่งคนลงทุกอำเภอ แล้วพอถึงตอนรอบอำเภอ เขาก็บอกให้คนอำเภออื่นให้เทให้ดอกคำใต้ จากนั้นก็ขนคนจากดอกคำใต้เข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งสุดท้ายมันก็หลุดมาแค่คนเดียว แต่เป็นคนเดียวที่เขามุ่งหวัง” นักวิชาการจาก ม.เชียงใหม่ กล่าว “แต่ผมก็ไม่รู้ว่ากลวิธีเขาทำกันอย่างไร”

“มันต้องมีการวางโครงข่ายไว้ เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละรอบ คนที่ประสบความสำเร็จก็คือคนที่วางโครงข่ายไว้ได้กว้างขวาง ครอบคลุม และมีปริมาณของคนที่เป็นตัวเลือก ต้องตกรอบทีละชั้น ๆ จนสุดท้ายเหลือ [จำนวนผู้สมัคร] มากกว่าใครเพื่อน”

ยังเรียก “สภาล่างสีแดง-สภาบนสีน้ำเงิน” ไม่ได้

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มช. กล่าวต่อว่า ยังเร็วไปหากจะบอกว่าวุฒิสภาถูกครองโดยพรรคภูมิใจไทยซึ่งมีสีประจำพรรคเป็นสีน้ำเงิน และสภาล่างหรือรัฐสภาถูกครองโดยพรรคเพื่อไทย รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีสีประจำพรรคเป็นสีแดง เนื่องจากไม่ใช่ว่าที่ สว. ทุกคนที่ผูกพันกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเสมอไป และอาจมีบางคนที่ลงในนามอิสระ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และสามารถส่งคนเข้าไปยังวุฒิสภาได้นั้น จะส่งผลต่ออำนาจการต่อรองทางการเมืองของทั้งสองพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในรัฐสภา เขาอาจจะเป็นพรรคร่วม อำนาจต่อรองยังน้อย แต่พอเขามีพื้นที่ในสภาสูงก็ทำให้อำนาจต่อรองย่อมเพิ่มขึ้น แต่อำนาจของสภาสูงไม่ได้มากนัก เป็นเพียงแค่การผ่านกฎหมาย แต่งตั้งองค์กรอิสระ แต่ประเด็นใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องพึ่งเสียง สว. มากถึง 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 68 คน ก็แสดงว่าผู้ที่ต้องการจะแก้ ก็ต้องพึ่งพาเสียงพวกเขา ถ้าไม่คุยหรือต่อรองกับพวกเขาเอง พวกคุณก็ไม่มีทางทำได้สำเร็จ” ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าวกับบีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม อาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ บอกว่า ต่อจากนี้ต้องจับตาดูกันต่อว่าจะเกิดการล้มกระบวนการคัดเลือก สว. หรือไม่ โดยส่วนตัวเขาเห็นว่าการคัดเลือกยังมีจุดบกพร่อง แต่ก็ไม่ควรล้ม เพราะจะเป็นการยืดวาระให้ สว. ชุดเฉพาะกาล 250 คน ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก



เปิดชื่อว่าที่ สว. เครือข่าย “บ้านใหญ่” ค่าย “สีน้ำเงิน”


ในบรรดารายชื่อของว่าที่ สว. ยังมีอดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่สอบตกในอดีต โดยพวกเขาสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของเครือข่ายกลุ่มการเมืองภายในจังหวัด เช่น
  • ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.มาเรีย เผ่าประทาน ระบุอาชีพฟาร์มโคเนื้อ อดีตกำนัน และเคยเป็นผู้สมัคร สส. เขต 3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของพรรคภูมิใจไทย มีคะแนนสูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรือกลุ่ม 6
  • ที่ จ.ภูเก็ต นายนิพนธ์ เอกวานิช เคยดำรงตำแหน่งประธาน บ.ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และเคยลงสมัคร สส.เขต 1 จ.ภูเก็ต ของพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางขนาดย่อม หรือกลุ่ม 9
  • ที่ จ.พัทลุง นายประเทือง มนตรี เคยลงสมัคร ส.ส. 2 สมัย แต่สอบตกที่ จ.สตูล (2544) และพัทลุงซึ่งลงในนามพรรคภูมิใจไทย (2566) เขาได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการทุพพลภาพ ชาติพันธุ์
นอกจากนี้ยังมีอดีต สส. รวมถึงคนที่มีนามสกุลเดียวกับนักการเมือง ที่ปรากฏชื่อเป็นว่าที่ สว. ด้วย เช่น
  • นายโชคชัย กิตติธเนศวร ระบุอาชีพค้าขายวัตถุมงคล พระเครื่อง เป็นว่าที่ สว. ของกลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน เขาเป็นทายาทของวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส.นครนายก 5 สมัย พรรคภูมิใจไทย จ.นครนายก
ตระกูล "กิตติธเนศวร" ถือเป็นตระกูลการเมืองใหญ่ของ จ.นครนายก ซึ่งฐานที่มั่นของตระกูลนี้คือพรรคภูมิใจไทย โดยบุคคลสำคัญของเครือข่ายบ้านใหญ่กลุ่มนี้คือ "เสี่ยอ๋า" นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต สส. นครนายก หลายสมัย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก และอดีตประธานสภาจังหวัดนครนายก

นักการเมืองนามสกุล "กิตติธเนศวร" ยังมีคนอื่น ๆ อีก เช่น นายสิทธิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส., นายปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร หรือ "เสี่ยอ๋อง" บุตรของนายวุฒิชัย อดีตผู้สมัคร สส.นครนายก ของภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง 2566 สส.เพื่อไทย ล้มผู้สมัครจากภูมิใจไทย แชมป์เก่าหลายสมัยลงได้
  • นายสุพัตรชัย เตียวเจริญโสภา เจ้าของกิจการขายคอมพิวเตอร์ใน จ.สุรินทร์ เป็นว่าที่ สว. จากกลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม เขามีนามสกุลเดียวกับนายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา อดีต ส.ส.สุรินทร์ 3 สมัย ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว โดยสังกัดสุดท้ายคือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

การคัดเลือก สว. ในรอบสุดท้าย นับคะแนนเสร็จสิ้นตอนตีสี่วันรุ่งขึ้น (27 มิ.ย.)

พบ อสม. เป็นว่าที่ สว. 4 คน

ในรายชื่อของว่าที่ สว. ยังพบว่ามีบางส่วนที่ระบุประวัติและประสบการณ์ในสายอาชีพในเอกสารแนะนำตัวของ กกต. (สว. 3) ว่าเป็น "อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน" หรือ อสม. รวม 4 คน ใน 4 กลุ่มอาชีพโดยมาจาก จ.บุรีรัมย์ 2 คน ในกลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ และกลุ่มอื่น ๆ สตูล และน่าน จังหวัดละ 1 คน โดย อสม. จ.สตูล ลงสมัครในกลุ่ม 9 กลุ่มอาชีพผู้ประกอบการขนาดย่อม

รายชื่อที่น่าสนใจได้แก่ อสม. จาก จ.บุรีรัมย์ นางประไม หอมเทียม อาชีพเกษตรกรรม ซึ่งระบุประวัติว่าเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน และ อสม. ซึ่งเป็นหนึ่งใน อสม. อย่างน้อย 3 คน ที่ผ่านเข้ามาสู่รอบสุดท้ายของกลุ่ม 17 กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

นางประไม เบียดแซงนักเคลื่อนไหวและกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคม ผ่านรอบเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ และทะลุรอบสุดท้ายของระดับประเทศ จนได้เป็นว่าที่ สว. ที่มีคะแนนสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม 17 ด้วยคะแนน 57 คะแนน

เมื่อเทียบกับคะแนนของผู้สมัคร สว. คนดังในกลุ่มนี้ อย่าง นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (นครปฐม) และนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กทม.) ว่าที่ สว. ลำดับที่ 8 และ 9 ในกลุ่มประชาสังคม พบว่าได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ อสม. หญิงจากบุรีรัมย์รายนี้ คือได้คนละ 22 คะแนน

กลุ่มอาชีพประชาสังคม ยังพบว่าที่ สว. ที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง คือ ว่าที่ สว. จาก จ.อุทัยธานี ที่ระบุอาชีพเป็นพนักงานทำงานช่วยเหลือด้านการแพทย์ และประสบการณ์ปฏิบัติงานมูลนิธิกู้ภัยสำนักงานใหญ่หนองฉางตั้งแต่ปี 2554 โดยได้คะแนน 52 คะแนน มาเป็นอันดับ 6 ของกลุ่ม

สำหรับกลุ่ม 17 เมื่อดูรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านเข้าสู่การเลือกรอบไขว้ระดับประเทศ 40 คน พบว่า มี อสม. เข้ามาอย่างน้อย 3 คน และผ่านการเลือกจนเป็นว่าที่ สว. 1 คน

รวมอาชีพและประสบการณ์ของว่าที่ สว. ที่น่าสนใจ อาทิ "นักฟุตบอลอาวุโส"


บีบีซีไทยยังพบอาชีพและประวัติการทำงานของว่าที่ สว. ที่น่าสนใจ ในบางกลุ่มอาชีพ อาทิ
  • ว่าที่ สว. จาก จ.บุรีรัมย์ กลุ่ม 7 (กลุ่มพนักงาน หรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ) ระบุว่าประกอบอาชีพวิ่งน้ำและรับจ้าง
  • ว่าที่ สว. จาก จ.บุรีรัมย์ กลุ่ม 16 (กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ดนตรีการแสดง บันเทิง นักกีฬา) เขียนว่ามีอาชีพรับจ้าง แต่ระบุประวัติบรรทัดเดียวว่าเป็น "นักกีฬาฟุตบอลอาวุโส ปี 2527-2547" นอกจากนี้เขายังเป็นพลขับของนายชัย ชิดชอบ บิดาของนายเนวิน ชิดชอบ ในสมัยที่นายชัยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • ว่าที่ สว. จาก จ.สตูล กลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม) ระบุอาชีพเป็นพยาบาล มีประสบการณ์เป็นพิธีกรงานแต่งงาน งานเลี้ยงทั่วไป วิทยากรด้านแม่และเด็ก
  • ว่าที่ สว. จาก จ.อ่างทอง กลุ่ม 18 (กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม) ระบุอาชีพเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้า มีประสบการณ์เป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน ประชาสัมพันธ์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
  • ว่าที่ สว. จาก จ.อำนาจเจริญ 2 คน กลุ่ม 10 (กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9) ได้คะแนนสูงเป็นอันดับ 4 และ 5 โดยคนหนึ่งระบุอาชีพขายหมู ส่วนอีกรายระบุอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระในเขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญมากว่า 12 ปี
ส่วนทางด้านเครือข่ายวงการกีฬา พบว่าเข้าเส้นชัยเป็นว่าที่ สว. อย่างน้อย 3 คน ได้แก่
  • นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งสโมสรฟุตบอลเชียงใหม่ยูไนเต็ด (เชียงใหม่)
  • นายวิเชียร ชัยสถาพร ผู้ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลลำพูนวอริเออร์ (ลำพูน)
  • นายนิทัศน์ อารีย์วงศ์สกุล ผู้จัดการทั่วไปสโมสรฟุตบอลอ่างทอง เอฟซี (อ่างทอง)
https://www.bbc.com/thai/articles/c19k34yv3eyo