Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
14 hours ago ·
[สู้กับนิติสงคราม/ยุบพรรค ต้องใช้ทั้งการเมืองและกฎหมาย]
นับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ผ่านรัฐประหาร 2557 มาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” แปลงสภาพเป็น “นิติสงคราม” เต็มรูปแบบ
การยุบพรรคการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ “นิติสงคราม”
เมื่อไรก็ตามที่พรรคใดได้รับคะแนนนิยมสูง หรือมีความคิด อุดมการณ์ แนวนโยบาย ที่ทำให้ “ชนชั้นนำดั้งเดิม” ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ก็เป็นไปได้ว่า เหล่าบรรดากลไกรัฐที่รับใช้ชนชั้นนำดั้งเดิมก็จะสนธิกำลัง แปร “กฎหมาย” ให้เป็น “อาวุธ” ก่อสงครามทำลายพรรคที่พวกตนเห็นเป็นศัตรู
เมื่อประสบการณ์การยุบพรรคในประเทศไทยเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ ผู้คนทั้งหลายและสื่อมวลชนจะประเมินกันว่าพรรคก้าวไกล โดนแน่ จะช้าจะเร็วก็ต้องโดน
บรรดาเกจิอาจารย์กูรูการเมืองผู้ตั้งตนเป็นนักยุทธศาสตร์ ออกรายการเมื่อไร ก็หมกมุ่นใช้เวลาอภิปรายกันแต่ประเด็นที่ว่า “ยุบแน่ ยุบแล้วอย่างไรต่อ พรรคใหม่ใครเป็นแกนนำ มี “งูเห่า” หรือไม่” โดยไม่สนใจเรื่องการสู้คดี หรือหลักการทางกฎหมายเลย
แน่นอนที่สุด การยุบพรรคในบริบทแบบนี้สัมพันธ์กับเรื่องการเมือง เรื่องดุลอำนาจทางการเมืองของแต่ละฝักฝ่าย
แต่เราก็ไม่อาจละทิ้งประเด็นทางกฎหมายได้
รัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ การเมือง อีกด้านหนี่ง คือ กฎหมาย
วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ ความพยายามจัดระเบียบการเมืองโดยใช้หลักเกณฑ์ทางกฎหมาย ทำให้ “การเมือง” กลายเป็น “กฎหมาย” ให้มากที่สุด แต่จนแล้วจนรอด บรรดานักกฎหมายรัฐธรรมนูญผู้เพียรพยายามจะทำให้การเมืองเป็นกฎหมายให้มากที่สุด ก็พบว่า ในท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญก่อตั้งจาก “การเมือง” การเมืองจะเป็นตัวกำหนดว่ารัฐธรรมนูญหน้าตาเป็นอย่างไร และต่อให้เขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ก็จะถูก “การเมือง” บงการกำกับให้ ตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญสามารถถูกเล่นแร่แปรธาตุไปได้ตามการเมือง
ถึงกระนั้น “การเมือง” ก็ไม่อาจยึดกุมชะตากรรมของรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด
เพราะ ขึ้นชื่อว่าการเมือง ย่อมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างคน ระหว่างองค์กร เมื่อสัมพันธ์กัน ก็ต้องขัดแย้งกัน โต้กัน สู้กัน เมื่อรบพุ่งใส่กัน ก็เลือดสาด บาดเจ็บ ล้มตาย ได้รับความเสียหายกันทุกฝักฝ่าย อย่ากระนั้นเลย การสร้างกฎกติกาบางอย่างขึ้นมา อาจช่วยให้ความเสียหายจากการสู้กันทางการเมืองลดลง อย่างน้อยๆ ก็สร้างความแน่นอนชัดเจนให้แต่ละฝักฝ่ายพอคาดการณ์ได้บ้างว่า การกระทำเช่นนี้จะนำมาซึ่งผลเช่นไร
ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญกำเนิดจากการเมือง และองค์กรในรัฐธรรมนูญใช้รัฐธรรมนูญ ก็ถูกควบคุมชี้นำด้วยการเมือง ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกสิ่งอย่าง จะกลายเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ อำเภอใจล้วนๆ อำนาจล้วนๆ อย่างน้อย สถาบันการเมืองทั้งหลายก็พร้อมจะยอมให้มีกฎเกณฑ์อยู่บ้าง และเมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่แต่ละฝักฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกันแล้ว อธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว กฎเกณฑ์นั้นก็มีความชอบธรรมขึ้นมา หากใครละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้ ก็ต้องแบกรับต้นทุนไว้
การยุบพรรคก็เช่นกัน แม้ “การเมือง” จะเป็นตัวกำหนดเรื่องการยุบพรรค แม้คดียุบพรรคจะกลายสภาพเป็นเรื่องการเมือง แต่อย่างน้อยๆ การจะยุบพรรคใดพรรคหนึ่งได้ ก็ไม่อาจใช้ “ปืน” กระหน่ำยิงเข้าตรงๆได้ตามอำเภอใจโดยสัมบูรณ์ พวกเขาต้องหาเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ชื่อ ”กฎหมาย“ มาห่อหุ้ม ”ปืน“ เอาไว้
เช่นว่า ต้องดำเนินการโดยองค์กรนั้น องค์กรนี้ ต้องเคารพกระบวนการขั้นตอน ต้องให้หลักประกันแก่คู่กรณีได้สู้คดีในศาล ต้องหามาตรานั้น มาตรานี้ มาประกอบสร้างเป็นฐานอำนาจในการยุบพรรค
เมื่อมีมิติทางกฎหมายเช่นนี้ เราจึงไม่อาจต่อสู้กับการยุบพรรคได้ด้วยการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว
การแสดงพลังทางการเมืองเพื่อกดดันไม่ให้เกิดการยุบพรรค
การยอมรับว่าอย่างไรก็ถูกยุบพรรค แล้วเตรียมพร้อมสร้างพรรคใหม่
การพูดบลัฟว่า “ยุบได้ ยุบไป ยุบแล้ว ตั้งใหม่” หรือ “เชิญเลย ยิ่งยุบ ยิ่งโต”
ทำเพียงเท่านี้ ไม่เพียงพอ และออกจะเป็นการประเมิน “นิติสงคราม” ที่ง่ายดายไปเสียหน่อย
การสู้กับนิติสงคราม ต้องใช้ทั้ง การเมือง และกฎหมาย
ต้องสู้คดีให้ถึงที่สุด
ตอบโต้ทุกประเด็นทางกฎหมายให้กระจ่างแจ้งดังแสงตะวัน
ให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของแผ่นดินเห็นพ้องต้องกันเห็นว่า ที่ทำๆกันโดยอ้าง ”กฎหมาย“ แต่แท้จริงแล้ว ไม่เป็นไปตาม ”กฎหมาย“ เป็นเพียงเอา ”กฎหมาย“ มาห่อ ”ปืน“ เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้พวกเขาสูญเสียความชอบธรรมให้มากที่สุด
เมื่อไรก็ตามเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ชื่อ “กฎหมาย” หลุดออกหมด
เมื่อนั้น ก็วัดกันที่ ”การเมือง“
แล้ววันหนึ่ง หากชนะทางความคิด ชนะทางการเมืองได้
คราวนี้แหละ… “การเมือง” จะให้คำตอบว่า องค์กรเหล่านี้ต้องปลาสนาการไป
See less
(https://www.facebook.com/photo/?fbid=1085745782911479&set=a.553423646143698)