วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 27, 2567

สว.๖๗ เสร็จสิ้น ผลคือพวกจัดตั้งมาวิน ทั้ง ‘สีน้ำเงิน’ และ ‘มินเนี่ยน’ เดินเรียงแถวเข้า ๗๐%

สว.๖๗ เสร็จสิ้นไปด้วยวิธีเลือกกันเองอย่างพิสดาร และผลออกมาน่าจะสมใจผู้สั่งการให้ออกแบบ เพราะดูแล้วคงถึง ๗๐% เป็นกลุ่มจัดตั้ง ‘สีน้ำเงิน’ และ ‘มินเนี่ยน’ ตามคำบอกเล่าของผู้สมัครภาคประชาชนหลายคน บ้างสามารถสอดแทรกเข้าไปได้ บ้างไม่ผ่าน

นันทนา นันทวโรภาส ซึ่งได้เป็น สว.ในกลุ่ม ๑๘ “สื่อสารมวลชนผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม” ประกาศทันทีที่ทราบผลและเดินออกมาจากห้องนับคะแนน ว่า “จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบของการบล็อกโหวต” เตรียมยื่นคำร้องต่อ กกต.

“ทุกกลุ่มจะมีคนจองอันดับที่ ๑-๗ และ ๘ ไปแล้ว” รองศาสตรจารย์ด้านสื่อสารมวลชนกล่าวว่า “วิธีการของเขาจะมาเป็นกลุ่ม ไม่พูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ และรวมตัวกันเฉพาะกลุ่มตัวเอง และก็มีคะแนนที่ออกมาในลักษณะที่เหมือนๆ กัน” ข้อสังเกตุที่ ทีมบุรีรัมย์

การร้องเรียนต่อ กกต.จะเจาะจงเป็นรายๆ ไป ได้จดรายชื่อผู้กระทำการลักษณะบล็อคโหวตเหล่านั้นไว้แล้ว แต่จะไม่ร้องเรียนทั้งกระบวนการเลือกพิสดารนี้ หรือล้มกระดาน เพราะนั่นจะทำให้ สว.ชุดปัจจุบันอันมาจากผลพวงรัฐประหารได้อยู่ต่อรักษาการ

สำหรับ เทวฤทธิ์ มณีฉาย ซึ่งได้รับเลือกจากการจับฉลากตอนสุดท้ายในกลุ่ม ๑๘ สื่อมวลชน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการบล็อคโหวตว่า ปัญหาอยู่ที่วิธีการเลือกที่กำหนดมาให้กลุ่มอาชีพเลือกกันเอง “มันไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชน...มั่วไปหมด”

เขาบอกด้วยว่ามีภาคประชาสังคมได้เข้ามาเป็น สว.เพียง ๑๐% ของทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าความคาดหมายมาก “เราต้องการ ๖๗ เสียง (หรือ ๑ ใน ๓) เพื่อการันตีสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่กระนั้น ๑๐% นี้จะรณรงค์กันอย่างเต็มที่เพื่อโน้มน้าวคนอื่นๆ

เป็นที่น่ายินดีว่าในกลุ่ม ๑๗ องค์การสาธารณประโยชน์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง และ อังคณา นีรไพจิตร สองนักกิจกรรมภาคประชาสังคมได้รับเลือก เช่นเดียวกับ แล ดิลกวิทยรัตน์ กลุ่ม ๗ ด้านแรงงาน และ กัลยา ใหญ่ประสาน กลุ่ม ๕ อาชีพทำนา

ตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายคนประกาศอย่างมุ่งมั่นว่า ภารกิจข้างหน้าอยู่ที่การแก้ไขระบบเลือกตั้ง สว.นี้ต่อไป ผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเลือกตั้ง สว.โดยตรงจากประชาชน ให้ได้ในที่สุด

(https://x.com/oonginlavender/status/1806111437498323386, https://prachatai.com/journal/2024/06/109721 และ https://prachatai.com/journal/2024/06/109719)