วันจันทร์, มิถุนายน 10, 2567

ก้าวไกลเปิด 9 ข้อต่อสู้ ชี้จะยุบพรรคต้องระวัง “ล้มล้างการปกครองฯ เสียเอง”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า การแถลงข่าวในวันนี้ “ไม่มีเจตนากดดันศาลหรือชี้นำสังคมแต่อย่างใด”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
9 มิถุนายน 2024

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิด 9 ข้อต่อสู้หนีคดียุบพรรค ชี้ไม่สามารถใช้คำวินิจฉัย “คดีล้มล้างการปกครอง” มาเป็นฐานสั่งยุบพรรคได้ “แม้เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่ข้อหาต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นต่างกัน”

หากพรรค ก.ก. ถูกสั่งยุบพรรค จะมีคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ถึง 3 ชุด รวม 11 คน ถูกสั่งเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 10 ปี ในจำนวนนี้มี 7 คนที่เป็น สส. ในปัจจุบัน

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดียุบพรรค ก.ก. ไว้พิจารณาเมื่อ 3 เม.ย. และนัดประชุมเพื่อพิจารณาคดีนี้ในวันพุธหน้า (12 มิ.ย.) ภายหลังได้รับเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากพรรค ก.ก.

คดีนี้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง หลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรค ก.ก. มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

กกต. นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีล้มล้างการปกครอง” จากกรณีพรรค ก.ก. เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มาใช้เป็น “สารตั้งต้น” ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ก.ก. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห. รวม 10 ปี

แม้ศาลรัฐธรรมนูญเตือนคู่กรณี “ไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล” แต่พรรค ก.ก. โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ยังเดินหน้าเปิดแถลงแนวทางต่อสู้คดียุบพรรค ในวันนี้ (9 มิ.ย.)

เขายืนยันว่า ไม่มีเจตนากดดันศาลหรือชี้นำสังคมแต่อย่างใด แต่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการอธิบายสิ่งที่พรรคเผชิญอยู่



สำหรับข้อต่อสู้ของพรรคสีส้มแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ โดยมี 9 ประเด็นหลัก ทั้งหมดนี้อยู่ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่พรรคยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อ 4 มิ.ย. โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงนี้รวมไว้ในสำนวนแล้ว

บีบีซีไทยขอสรุปสาระสำคัญเอาไว้ ดังนี้

ข้อกฎหมาย

หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่เคยใช้ในคราวต่อสู้คดียุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยชี้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้เพียง 3 ข้อ และไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ออกกฎหมายอื่นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เมื่อ “ไม่มีบ่อเกิดให้อำนาจหน้าที่เกินจากนั้น จึงไม่มีตรงไหนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรค”

สอง กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะไม่เปิดโอกาสให้พรรค ก.ก. รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานของตน ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องยุบพรรคต้องดำเนินการตามมาตรา 92 ประกอบมาตรา 93 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

นอกจากนี้ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 ข้อ 7 ระบุว่า ต้องให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงหลักฐานของตน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) พิจารณา และข้อ 9 ระบุว่า เมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้เสนอ กกต. พิจารณา

พิธา ชี้ว่า นี่คือความต่างระหว่างการยุบพรรค อนค. และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กับพรรค ก.ก. เพราะกรณี 2 พรรคแรก เป็นการอนุโลม แต่กรณีพรรค ก.ก. มีระเบียบที่เขียนไว้ชัดเจนแล้ว “การยื่นคำร้องจึงขัดต่อระเบียบที่ กกต. ตราขึ้นเอง วัตถุพยานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย”


ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารข่าวเมื่อ 5 มิ.ย. เตือนคู่กรณี “ไม่สมควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีที่เป็นการชี้นำสังคมอันอาจกระทบต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล”

ข้อเท็จจริง

สาม คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อ 31 ม.ค. ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดียุบพรรค ก.ก. “หลายคนอาจคิดว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ได้รับการวินิจฉัยในคดี 3/2567 ได้ข้อยุติแล้ว และด่วนสรุปว่าคำวินิจฉัยคดีก่อนมีผลผูกพันคดีนี้ พรรค ก.ก. จะถูกยุบ ขนาด กกต. ยังใช้คำวินิจฉัยคดีนั้นเป็นหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคคดีนี้”

แต่ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ก.ก. อธิบายว่า คำพิพากษาคดีหนึ่งจะผูกพันอีกคดี ก็ต่อเมื่อ 1. เป็นข้อหาเดียวกัน เพราะต่างข้อหาก็จะต่างวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย และ 2. ระดับโทษใกล้เคียงกัน ซึ่งในคดีล้มล้างการปกครองฯ เป็นโทษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 คือเตือนให้หยุดและเลิกการกระทำ ส่วนคดียุบพรรค เป็นโทษตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 คือยุบพรรคและตัดสิทธิ กก.บห. ต่างกันมหาศาล

“แม้เป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่ข้อหาต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นต่างกัน... ดังนั้นคดีเมื่อ 31 ม.ค. จึงไม่มีผลผูกพันมาถึงคดีปัจจุบัน จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ทั้งหมดด้วยมาตรฐานที่สูงกว่า เพื่อความเป็นนิติธรรมนิติรัฐ” พิธา กล่าว

สี่ การกระที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ ทั้งนี้พรรคได้หักล้าง 4 การกระทำที่ถูกร้อง สรุปได้ว่า
  • เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112: เป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาที่เสนอแก้ไข ก็ไม่ได้เป็นการล้มล้าง “แต่เรามีความรู้สึกอยากรักษาพระราชอำนาจ และพระราชสถานะให้พระองค์ท่านให้อยู่เหนือการเมือง ไม่ได้ทำให้ระยะห่างกับประชาชนห่างขึ้น และไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายล้างซึ่งกันและกัน”
  • นำนโยบายแก้มาตรา 112 ไปหาเสียง: กกต. ไม่เคยสั่งห้าม หรือขอให้มีการแก้ไข เมื่อมีผู้ร้อง กกต. ก็ยกคำร้อง และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งห้าม
  • แสดงความเห็นในที่สาธารณะให้แก้ไข/ยกเลิก: เป็นการไปสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน, เป็นการกระทำของ สส. ไม่ใช่ในนามพรรค
  • เป็นนายประกัน/ผู้ต้องหาคดี 112: ต้องยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ “การที่ สส. ไปเป็นนายประกัน เช่น ไปประกันคดียาเสพติด ไม่ได้แปลว่าเราเจตนาจะค้ายา แต่เป็นหลักกฎหมายที่ที่ให้สันนิษฐานไวก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์”
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งวันอ่านคำตัดสินคดีก้าวไกล "ล้มล้างการปกครองฯ" เมื่อ 31 ม.ค.

ห้า การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. ไม่ได้เป็นมติพรรค “ไม่ได้เป็นเรื่องนิติบุคคล แต่เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล” เป็นการทำหน้าที่และตัดสินใจของ สส. จึงอยากให้แยกตรงนี้ สิ่งเดียวที่ออกมาตามมติพรรคคือ การบรรจุการแก้ไข มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง แต่ก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์

สัดส่วนโทษ

หก โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย “เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น” แม้โทษยุบพรรคมีได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย

พิธา ชี้ว่า ที่ผ่านมา กกต. ได้ยกคำร้องยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด จากกรณีบรรจุการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียง, แสดงความเห็นในที่สาธารณะ, เป็นนายประกัน/ผู้ต้องหาคดี 112 โดย กกต. ไม่เคยทักท้วงและได้ยกคำร้องอย่างน้อย 2 กรณี ต่างจากอีกพรรคหนึ่งไปหาเสียงที่ จ.นครราชสีมา เกี่ยวกับสถาบันฯ กกต. ได้ทำหนังสือเตือนไป อีกทั้งกรณีที่การเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เป็นเรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติยังยับยั้งได้

นักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านรายนี้ยังอ้างถึงคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันในปี 2017 (ปี 2560) ที่ตัดสินให้พรรคเอ็นพีดี “ล้มล้างการปกครอง” จากการแสดงออกด้วยอุดมการณ์นาซี แต่ไม่สั่งยุบพรรค เพราะไม่มีหลักฐานอันเป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ว่าแนวคิดของเอ็นพีดีมีโอกาสประสบความสำเร็จ

เขากล่าวต่อว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อ ม.ค. พรรค ก.ก. ก็ได้หยุดการกระทำโดยถอดข้อมูลออกจากเว็บไซด์ของพรรค จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการสุดท้ายนี้ ต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ของพรรคการเมือง “มิเช่นนั้น การยุบพรรคจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียเอง”

เจ็ด ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ กก.บห.

แปด จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด

เก้า การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุด กก.บห. ในช่วงที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ พิธา เปิดเผยว่า กก.บห. ที่ กกต. ขอให้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมี 3 ชุด ตั้งแต่ชุดที่เขาเป็นหัวหน้าพรรค, ชุดที่มีการเปลี่ยนแปลงให้ ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรค และชุดที่มีการเปลี่ยนแปลง กก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ ที่เพิ่งรับหน้าที่เมื่อ 6 เดือนก่อน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สวมกอด ชัยธวัช ตุลาธน หลังได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่เมื่อ 23 ก.ย. 2566 เพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาต่อไป เนื่องจากขณะนั้นพิธาต้อง “เว้นวรรค” การทำหน้าที่ สส. ระหว่างรอศาลพิจารณาคดีถือหุ้นไอทีวี

จะเกิดอะไรขึ้นหากก้าวไกลถูกยุบพรรค

ย้อนไปในคราวศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ซึ่งมี สส. 80 คน เมื่อ 21 ก.พ. 2563 ได้เกิดปรากฏการณ์ “แฟลชม็อบ” ของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ บีบีซีไทยจึงขอให้แกนนำพรรคทายาทลำดับที่ 2 ของอนาคตใหม่ ประเมินว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากก้าวไกลถูกสั่งยุบพรรค

“ไม่มีใครพูดได้ ก็เป็นการยุบ 2 พรรคในรอบ 5 ปี และยุบ 5 ครั้งในรอบ 20 ปี ตรงนี้ผมไม่กล้าเดาและคิดว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรกับการเมืองไทยในช่วงที่เศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทยเปราะบางขนาดนี้ ก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น”

แต่ถ้าเกิดขึ้นจะ “กระทบความเชื่อมั่นของประเทศ กระทบต่อระบอบประชาธิปไตย กระทบต่อพรรคการเมือง” พิธา กล่าว

ส่วนปฏิทินการตัดสินคดีจะเร็ว-ช้าอย่างไรนั้น โดยความคาดหวังของเขาคือ อยากให้มีการสืบพยาน โดยพรรค ก.ก. ได้เตรียมพยานเชี่ยวชาญไว้มากกว่า 10 คน ซึ่งถ้าศาลเปิดให้มีการไต่สวน ก็จะใช้เวลานานตามสมควรในการทำให้สิ้นกระแสสงสัยว่าการกระทำล้มล้างจริง อาจเป็นปฏิปักษ์จริง


สส.ก้าวไกล หลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ เมื่อ 4 เม.ย.

เมื่อถูกถามถึงแผนสำรองหลังจากนี้ เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียด โดยบอกเพียงว่า “ต้องเตรียมตัวในทุกสถานการณ์” และไม่ว่าผลออกมาอย่างไร “จะมีพวกเราอยู่ในสารบบการเมืองไทยแน่นอน”

พิธา ยังแสดงความมั่นใจด้วยว่า สมาชิกพรรคสีส้มจะยังเหนียวแน่นอย่างแน่นอน เพราะ “การเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% ไม่มีโอกาสกลับมาเป็น สส. ได้เลย”

“ผมไม่ไร้เดียงสาขนาดที่จะไม่รู้ว่าอาจมีบางพรรคอยากได้ สส. เพิ่ม ไปต่อรองรัฐมนตรี เรื่องนี้ผมรู้ทัน แต่ผมไม่ได้หูเบาขนาดฟังแล้วเชื่อ ก็ต้องให้โอกาสเขาชี้แจง เชื่อมั่นในระบบ เชื่อในอุดมการณ์ของพวกเขา เชื่อในเหตุผลว่าทำไม่มาเป็นนักการเมือง เชื่อว่าเขายังเชื่อในตัวเอง ไม่ปล่อยให้ข่าวแบบนี้เป็นการยุแยงตะแคงรั่ว ลดเอกภาพพรรค” เขากล่าวทิ้งท้าย

https://www.bbc.com/thai/articles/cy775lvggjeo