วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2567

ประธานรัฐสภาควรบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง พรรคก้าวไกล เรียกร้อง


พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
12h ·

[ ประธานรัฐสภาควรบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง ]
.
วันนี้ (17 เม.ย. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ไม่รับคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่าเป็นเพราะ “ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว” ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564
.
ต่อกรณีนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า ในภาพรวม มติดังกล่าวทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงตกอยู่ในสถานการณ์เดิมนับจากวันที่มีการตั้งรัฐบาล ดังนั้น สำหรับขั้นตอนถัดไปในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน ตนและพรรคก้าวไกลขอเสนอให้มีการดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ
.
1) ประธานรัฐสภาควรทบทวนการตัดสินใจ ที่ก่อนหน้านี้ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยหันมาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เพื่อเดินหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามสูตร “ประชามติ 2 ครั้ง”
.
พริษฐ์หวังว่ามติและคำอธิบายของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้จะทำให้ประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างได้อย่างสะดวกใจมากขึ้น ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ำวันนี้ว่า “ได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว” ในคำวินิจฉัยที่ 4/2564
.
อีกทั้งตนก็ได้เคยชี้ให้เห็นเหตุและผลผ่านการอภิปรายในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 67 ไปแล้ว ว่าหากเราศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายบุคคลจากคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เราจะเห็นว่าการที่ประธานรัฐสภาตัดสินใจบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาฯ จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมาก (อย่างน้อย 5 จาก 9 คน) ของศาลรัฐธรรมนูญ
.
2) หากในที่สุดมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มจำนวนประชามติขึ้นมา 1 ครั้งตอนต้นกระบวนการ (เช่น เพราะประธานรัฐสภายังคงไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร.) จนทำให้จำนวนประชามติเพิ่มจาก 2 ครั้ง เป็น 3 ครั้ง พริษฐ์หวังว่ารัฐบาลจะไม่เดินหน้าด้วยคำถามประชามติที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการศึกษาฯ ที่มีการ “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยในตัวคำถาม ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางคนที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม ไม่รู้ว่าจะลงมติเช่นไร
.
แทนที่จะทำเช่นนั้น รัฐบาลควรหันมาใช้คำถามหลักที่เปิดกว้างสำหรับการทำประชามติครั้งแรก (หากจำเป็นต้องจัด) เช่น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่?” เพื่อทำให้คนที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกคน ซึ่งอาจจะเห็นต่างกันในรายละเอียดบางส่วน ลงคะแนน “เห็นชอบ” เหมือนกันอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มโอกาสที่ประชามติครั้งแรกจะผ่านความเห็นชอบจากประชาชน
.
#ก้าวไกล #ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
.....
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
ย้อนดูการอภิปรายภาพรวมเรื่องข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน (ในการอภิปรายทั่วไป ม.152) (www.youtube.com/watch?v=jgB3xL-3Dgk)