28 เมษายน 2567
มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ห้องประชุมชั้น 1 หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศกิจกรรม ‘เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน’ โดยมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปี 2567 สายศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน
บรรยากาศเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. ว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.เดินทางเข้าร่วม พร้อมด้วยประชาชนที่ให้ความสนใจต่อประเด็นดังกล่าว รวมถึงนักวิชาการสาขาต่างๆ โดยมีการจับกลุ่มพูดคุยก่อนเริ่มต้นกิจกรรมซึ่งตามกำหนดการจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครในเวลา 16.00 น
สำหรับว่าที่ผู้สมัคร ส.ว. สายศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน ที่เข้าร่วม ได้แก่ นายศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ ศิลปิน, นายพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร, น.ส.นารากร ติยายน สื่อมวลชน, นายซะการีย์ยา อมตยา กวีชีไรต์, น.ส.ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ศิลปิน, นายธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์, นายประกิต กอบกิจวัฒนา ศิลปีน, นายถนัด ธรรมแก้ว หรือ ภู กระดาษ นักเขียน, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักโบราณคดี, น.ส.ชลณัฏฐ์ โกยกุล สื่อมวลชน, น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร สื่อมวลชน, นายธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปิน, นายประทีป คงสิบ สื่อมวลชน, น.ส.จารุนันท์ พันธ์ชาติ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง, น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ สื่อมวลชน, น.ส.ภาวินี ฟอฟิ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนหนึ่ง นายพนัส ทัศนียานนนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.ได้รับเชิญขึ้นบนเวที เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ กกต. ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว ซึ่งสามารถทำได้ แต่ห้ามหาเสียง
นายพนัสกล่าวว่า ตนขอตอบง่ายๆ สั้นๆ ว่า ไม่เห็นด้วย เห็นต่างอย่างแรงอยู่แล้ว คิดว่าความคิดที่นำมาทำเป็นระเบียบในครั้งนี้ มาจากกรอบความคิดที่เคยใช้ตอนที่มีการเลือก ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามบทเฉพาะกาล เป็นลักษณะดังที่ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติใช้ว่า ‘เลือกอย่างกุ๊กๆ กิ๊กๆ’ ไม่ต้องการให้ประชาชนส่วนใหญ่มารับทราบด้วย
ดังนั้น ตนคิดว่าการที่ยึดกรอบความคิดนั้นมาเป็นรูปแบบ หรือโมเดลในการออกระเบียบการแนะนำตัวในครั้งนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ ความสำคัญ อยู่ตรงที่ว่า การแนะนำตัว ตาม พรป. การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2561 การแนะนำตัวนั้น เจตนารมณ์ของผู้ร่าง ต้องการอะไรกันแน่ หลักใหญ่อยู่ตรงไหน สำหรับตน คิดว่า ต้องไปดูที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก และเจตนารมณ์ที่สำคัญที่สุดของการให้มี ส.ส.ก็ดี ส.ว.ก็ดี คือต้องการให้ทั้ง ส.ส, และ ส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยทุกคน ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ
“สำหรับ สว. โดยหลักการถือเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับ ส.ส. การออกแบบกระบวนการคัดเลือก ผมคิดว่ามันขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่ กกต. จะมาออกระเบียบซึ่งในที่สุดแล้วขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายแม่บทด้วยนั้น คำตอบของผมคือ ขัดแย้งแน่นอน 100% แสดงว่า กกต. ไม่มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวแบบนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 11 ที่กำหนดออกมาว่าเป็นข้อห้าม ห้ามไม่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และห้ามแนะนำตัวผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งขัดต่อหลักใหญ่อย่างที่กล่าวมาเมื่อสักครู่ ความเห็นผมคือ กตต.ไม่มีอำนาจที่จะออกได้ระเบียบนี้ได้ จึงไม่ควรถูกบังคับใช้ได้” นายพนัสกล่าว
นายพนัสกล่าวต่อไปว่า พวกตนจึงต้องการคัดค้าน และนำเรื่องนี้ไปให้ผู้มีอำนาจตัดสิน คือ การฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป
“ท่านเลขาธิการ กกต. อ้างคำพิพากษาศาลฎีกา 2 ฉบับ ในปี 2561 ส.ว.50 คน ตอนนั้นมีการฟ้องร้องกัน เรื่องไปถึงศาลฎีกา มีคำวินิจฉัยออกมา โดยมีการนำมาตีความว่า การตั้งกลุ่ม การโฆษณาตัวเองให้ใครต่อใครรู้ทั่วไป ไม่ได้” นายพนัสกล่าว
นายพนัสกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มีทีมงานที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่คงต้องข่วยกันดูอีกครั้งว่าในที่สุดแล้ว ที่ดีที่สุดควรออกมาเป็นอย่างไรสำหรับคำฟ้อง
https://www.matichon.co.th/politics/news_4549407