วันศุกร์, เมษายน 26, 2567

ยิ่งตั้งคำถามประชามติแบบนี้ ยิ่งทำให้คนคิดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
15h
·
[ยิ่งตั้งคำถามประชามติแบบนี้ ยิ่งทำให้คนคิดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์]
คณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาล ต้องการให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แตะต้อง หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
พวกเขาจึงต้องตั้งคำถามประชามติแบบนี้ เพื่อประกาศให้ “ผู้มีอำนาจทั้งหลาย” ในระบอบนี้รู้ว่า ตราบใดที่พวกเขายังอยู่ในอำนาจรัฐ จะไม่มีการแตะต้อง แก้ไข เปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้สบายใจว่ากฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และ หมวด 2 จะเป็นแบบเดิมทุกประการ
แต่โดยไม่คาดคิด ยิ่งประกาศผ่านการตั้งคำถามประชามติแบบนี้ ก็กลับทำให้คนคิดถึงประเด็นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมา
ฝ่ายที่ต้องการปรับปรุง ก็แสดงความไม่เห็นด้วย ยืนยันว่า หมวด 1 หมวด 2 แก้ไขปรับปรุงได้
ฝ่ายที่ไม่อยากแตะ ก็ไชโย ดีใจ และถล่มด่าฝ่ายที่ต้องการปรับปรุง
ฝ่ายที่ไม่สนใจ อย่างไรก็ได้ ก็รับรู้ถึงประเด็นนี้ขึ้นมา อาจไต่ถามฝ่ายอยากแก้ว่า จะแก้อะไร
กลายเป็นว่า เรื่องหมวด 1 หมวด 2 กลับขึ้นมาเป็นประเด็นอีกในช่วงรณรงค์ประชามติ
หากพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 แทนที่จะไปประกาศผ่านคำถามประชามติ จนเป็นประเด็น ควรหันมาใช้กลไกแก้รายมาตราในหมวดอืนๆที่ต้องการแก้ไปเลย เสนอร่างแก้ไขเข้าไปในรัฐสภา
เช่นนี้ บรรยากาศการทำรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีประเด็นเรื่อง หมวด 1 หมวด 2 นักการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ ประชาชน ก็ถูกบังคับโดยปริยายให้ถกเถียงกันในร่างแก้ไขในรัฐสภาที่ไม่มีเรื่องหมวด 1 หมวด 2 แล้ว
การตั้งคำถามประชามติแบบนี้ คือ อาการไฮเปอร์ตระหนกตกใจพะวง ต้องแสดงออกให้มากๆ ให้ชนชั้นนำผู้ปกครองสบายใจ
เดินไปตามปกติครรลองไม่ได้ ต้องประกาศดังๆแสดงตัวชัดๆ
ก็เลยกลายเป็นเรื่องยอกย้อนว่า… ไม่อยากทำ ไม่อยากให้พูด แต่ทำไปทำมา กลายเป็นคนยิ่งพูด ยิ่งตั้งคำถาม ยิ่งสนใจ
“อย่าคิดถึงช้าง”
“ยิ่งคิดถึงช้าง”



(https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/1048288076657250?ref=embed_post)
.....

Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
1d
·
[ถ้ารัฐบาลอยากทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แตะหมวด 1,2 ก็ไม่ควรเสี่ยงกับประชามติ 3 ครั้ง]
จุดยืนผม สนับสนุนการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
การทำใหม่ทั้งฉบับ ก็คือ การทำใหม่ทุกหมวด ทุกมาตราอยู่แล้ว มีข้อห้ามแค่เพียงห้ามเปลี่ยนรูปของรัฐและระบอบการปกครองเท่านั้น
ในอดีต 40 50 60 ก็มีการปรับปรุงสองหมวดนี้มาโดยตลอด
ผมเองก็เห็นว่า ในหมวด 1 และหมวด 2 มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุง และเคยยกร่างเป็นแบบไว้แล้ว
เอาล่ะ แต่ถ้าพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาล ประสงค์จะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ก็ไม่ควรเดิน “เกมเสี่ยง” ใช้ประชามติ 3 ครั้ง
แต่ควรเลือกทางที่ปลอดภัยกว่า ทางใด ทางหนึ่ง ดังนี้
1. ดำเนินการตามมติคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงที่สภาเมื่อวันที่ 22 ม.ค.67 ที่ยืนยันทำประชามติ 2 ครั้ง กล่าวคือ ส.ส.เสนอร่างแก้ไข รธน กำหนดให้มีการจัดทำ รธน ใหม่ เมื่อผ่านรัฐสภา ก็ต้องมาประชามติ (ครั้งที่ 1) เมื่อผ่าน ก็เลือก สสร มาทำใหม่ เมื่อได้ร่างใหม่ ก็เอามาประชามติ (ครั้งที่ 2)
หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ให้ดี ศาลไม่ได้บอกว่าต้องทำ 3 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง
หากแก้ในรัฐสภา เพื่อเปิดทางให้ มี สสร ก่อน ก็ต้องไปจบที่ประชามติ ตามมาตรา 256 อยู่แล้ว เมื่อมี สสร มาร่างใหม่โดย สสร นี้ ก็ต้องไปจบที่ประชามติ เช่นนี้ ก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ
แต่ถ้ายังกังวลกันอีก ก็สามารถอธิบายได้ว่า การทำใหม่แบบไม่แก้ หมวด 1,2 ย่อมไม่ใช่การทำ รธน ใหม่ทั้งฉบับ ในความหมายที่ปรากฏในคำวินิจฉัย 4/64
หรือ
2. ใช้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่ มาตรา 25-มาตรา 279 ไปเลย เว้น มาตรา 1-24 ในหมวด 1 และ 2 ไว้
อาจบอกกันว่า แก้รายมาตรา จะไปติด สว อีก แต่สภาพดุลอำนาจตอนนี้ พรรคเพื่อไทยน่าจะคุยกับ สว รู้เรื่องกว่าแต่ก่อน และ เดือนหน้า สว 250 คน ก็จะพ้นไปแล้ว
การใช้วิธีนี้ จะเป็นการไม่แก้ หมวด 1,2 โดยไม่ต้องพูดชัดแจ้งว่าจะไม่แก้หมวด 1,2 ให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา
การใช้วิธีนี้ เป็นการยกประเด็นการแก้เรื่องหมวด 1 หมวด 2 ออกไปจากรัฐสภาโดยปริยาย สมาชิกและประชาชน ก็ต้องมาโฟกัสหมวดอื่นๆแทน

ทั้ง 2 วิธีนี้ ทำให้ได้ผลลัพธ์ตามที่รัฐบาลต้องการ (ไม่แตะหมวด 1,2)
โดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับประชามติรอบแรกว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน (เพราะ ถ้าไม่ผ่าน พวกสนับสนุน รธน 60 จะยิ่งอ้างความชอบธรรมมากขึ้น)
ไม่ต้องเสียเวลา
และประหยัดเงิน 3200 ล้านบาท