เปิดเหตุผล พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทำไมต้องยื่นเรื่องร้องเรียนนายกฯ เศรษฐา และกรรมการ ป.ป.ช.
22 เมษายน 2024
บีบีซีไทย
ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) หรือ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการไว้ก่อน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งย้ายช่วยราชการ-ส่งกลับ ก่อนถูกให้ออกจากราชการ พร้อมปฏิเสธเป็นผู้ปล่อยเอกสารยื่นตรวจสอบการแทรกแซงแต่งตั้งหนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.
ศึกภายในวงการสีกากีลุกลามขยายวง เมื่อนายกฯ และกรรมการ ป.ป.ช. บางคน ตกอยู่ในวงการต่อสู้กันในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงแจกแจงสาเหตุการเข้ายื่นร้องทุกข์ต่อประธาน ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่ตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และกรณีสั่งย้ายช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และสั่งย้ายกลับโดยยังไม่มีการสอบสวนของคณะกรรมการ ก่อนตามมาด้วยคำสั่ง "ฟ้าผ่า" ให้ออกจากราชการไว้ก่อนในวันที่ 18 เม.ย.
"มันเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้ผมได้เป็น ผบ.ตร. แค่นั้น ถ้าผมเป็น รอง ผบ.ตร.เบอร์ 6 ไม่มีปัญหา วันนี้อยู่ได้สบาย แต่เนื่องจากมันเบอร์ 1" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว โดยเบอร์ 1 ที่เขาระบุ หมายถึงสถานะผู้มีอาวุโสลำดับที่ 1 ในการเป็นแคนดิเดตชิง ผบ.ตร. ในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของตัวเอง หลังจากถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมมา 6 เดือน จนถึงขั้นให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงต้องออกมาใช้สิทธิ์ในการต่อสู้อย่างถูกต้อง ซึ่งยืนยันว่าส่วนตัวไม่ได้กังวล เพราะเชื่อมั่นว่าอย่างไรจะได้กลับมา
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของเขาวันนี้ เป็นการ "มาขอความยุติธรรมนอกองค์กรตำรวจ" จากการถูก "รุมกินโต๊ะ" โดยบุคคลที่เขายื่นกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ซึ่งมีดังนี้
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน-พนักงานสอบสวน
การยื่นต่อ ป.ป.ช. ในวันนี้ เขายังกล่าวหาหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานสอบสวนที่ทำคดีเว็บพนันว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะไม่มีอำนาจในการสอบสวน โดยระบุว่า คดีที่เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจต้องมีหน้าที่เพียงรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น และส่งให้ ป.ป.ช. สอบสวน และบางคดีเป็นอำนาจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชี้ว่า แต่จากกระบวนการที่ผ่านมา 6 เดือน กลับปรากฏว่า พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ภายใต้การนำของหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนระดับนายพล ไม่ได้ส่งให้ ป.ป.ช. ภายใน 30 วันหลังจากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย ป.ป.ช. ปี 2561 จึงถือเป็นการสอบสวนโดยไม่มีอำนาจ โดยได้นำคำพิพากษาในอดีตที่ศาลเคยยกฟ้องมาเป็นหลักฐาน เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้รายงานต่อ ป.ป.ช. แล้วศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อธิบายว่า คดีนี้เริ่มต้นจากการดำเนินคดีกับลูกน้องของตน 8 คน ซึ่ง ป.ป.ช. ได้เรียกสำนวนดังกล่าว พร้อมสำนวนคดีของตน กับพวกรวม 5 คน กลับไปทำเอง เนื่องจากอยู่ในอำนาจหน้าที่ โดย 2 คดีนี้ได้แก่ คดีเว็บไซต์พนันออนไลน์มินนี่ และ เว็บไซต์พนันออนไลน์บีเอ็นเค มาสเตอร์ (BNK MASTER)
"เป็นการสอบสวนโดยมิชอบ เป็นอาญาเถื่อน" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว พร้อมบอกว่า ทั้งการออกหมายจับและการส่งฟ้องต่ออัยการ ไม่ได้มีการรายงานต่อ ป.ป.ช. ทราบ ทั้งที่อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน คือการสอบสวนแทน ป.ป.ช.
อดีตรอง ผบ.ตร. กล่าวต่อไปว่า กระบวนการดำเนินคดี ยังมีการแยกคดีสอบสวนออกมาเป็นคดีย่อย ๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งถือว่าผิดขั้นตอนทางกฎหมาย เนื่องจากคดีที่ปรากฏเส้นเงินเส้นเดียวกัน ผู้ต้องหากลุ่มเดียวกัน บัญชีม้า หรือเว็บพนันหลายเว็บ หากมีผู้ต้องหาคนเดียวต้องทำเป็นคดีเดียวกัน ไม่สามารถแยกคดีมาสอบสวนได้ ดังที่ทนายความของเขาเคยตั้งโต๊ะแถลงว่า พนักงานสอบสวนมีความพยายามในการตั้งคดีที่ซ้ำซ้อนขึ้นมาใหม่
"คดีนี้ไม่ได้หวังผลเรื่องคดี แต่หวังผลแค่ไม่ให้ผมเป็น ผบ.ตร."
นอกจากนี้ ในคดีที่สองซึ่งตำรวจตั้งเป็นคดีฟอกเงิน มีมูลค่าการกระทำความผิด 400 ล้านบาท ตามกฎหมายแล้วต้องส่งให้ดีเอสไอเป็นคนทำคดี แต่กลับไม่มีการส่งให้ดีเอสไอดำเนินการ
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังยื่นต่อ ป.ป.ช. กล่าวหานายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่ตนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และกรณีคำสั่งย้ายให้ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567
ตามการเปิดเผยของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า ตามคำสั่ง ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานสอบสวนภายใน 60 วัน ซึ่งเขาได้เตรียมการไปให้การต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่ทันเริ่มกระบวนการ กลับมีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน
"กรรมการยังไม่ได้สอบเลย แต่นายกฯ ส่งกลับแล้ว และให้ออกจากราชการแล้ว อย่างนี้ประชาชนและสังคมจะงงหรือไม่"
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผบ.ตร และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในงานแถลงข่าวเคลียร์ใจ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค. และในวันเดียวกัน นายกฯ ได้สั่งย้ายนายตำรวจทั้งคู่ช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ประเด็นที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แถลงวันนี้ ยังชี้ด้วยว่า การให้ออกจากราชการ มีผลต่อการพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ระหว่างการถูกกล่าวหาในคดีเว็บพนัน 6 เดือน ตั้งแต่การออกหมายเรียก จนถึงการออกหมายจับ พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. เนื่องจากหากเรื่องอยู่ในมือของ ป.ป.ช. แล้ว ตามกฎหมาย ผู้ถูกสอบสวนถือว่ามีสถานะเป็น "ผู้บริสุทธิ์" โดยตามกฎหมายของ ป.ป.ช. หากยังไม่มีการชี้มูลความผิด ห้ามนำกรณีดังกล่าวมาใช้พิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น รวมถึงขึ้นเงินเดือน
เขายังชี้ด้วยว่า เหตุที่รีบให้มีคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน ในวันที่ 18 เม.ย. และยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ในวันที่ 19 เม.ย. เพราะหากส่ง ป.ป.ช. ไปแล้ว จะมีคำสั่งให้ออกจากราชการไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ระบุว่า ตราบใดที่ไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติต่อบุคคล หรือจำเลย เสมือนเป็นผู้ต้องหาไม่ได้ และเขาเห็นว่า การกระทำแบบนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นความผิดตามมาตรา 157 เรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างแน่นอน
“การส่งผมกลับ และให้ผมออก มีการแบ่งงานกันทำ” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า วันนี้ ได้ยื่นร้องทุกข์กล่าวหานายเศรษฐาในกรณีแรก และจะมีการยื่นกล่าวหาอีกครั้งในอีก 3-4 วันข้างหน้า รวมทั้งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะยื่นฟ้องร้องผ่านช่องทางศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอีกทางหนึ่งด้วย
กรรมการ ป.ป.ช. รุ่นพี่หลักสูตร วปอ.
นอกจาก ป.ป.ช. จะกลายเป็นองค์กรที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มายื่นเรื่องขอความเป็นธรรมแล้ว ยังปรากฏเอกสารที่เปิดเผยเบื้องหลังการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผู้ยื่นเรื่อง
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อหลายสำนักได้เผยแพร่เอกสารที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อคัดค้านการการปฏิบัติหน้าที่และขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมไม่เหมาะสมของกรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง เกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และการขอความช่วยเหลือจากเรื่องที่ถูกร้องเรียนในวาระต่าง ๆ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นคนปล่อยเอกสารการแทรกแซงแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. รายนี้ ตามที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลมีเดีย ส่วนจะเป็นเอกสารจริงหรือไม่นั้น เขาระบุว่า "ผมไม่ขอพูดว่าเยสหรือโน ซึ่งสื่อต้องเข้าใจเอง ได้เห็นแล้วเอกสารก็จะรู้ว่าจริงหรือไม่ วันนี้ใครทำอะไรก็จะได้ตามนั้น"
สำหรับเนื้อหาในเอกสารดังกล่าว ระบุว่า กรรมการ ป.ป.ช. รายนี้ ซึ่งเป็นรุ่นพี่หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 58 (วปอ.58) มาขอความช่วยเหลือโดยให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ พาเข้าพบ "นายพล ป." เพื่อให้สนับสนุนให้ได้รับการคัดเลือกเป็น กรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงปลายปี 2562
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งในปี 2564 กรรมการ ป.ป.ช. คนดังกล่าวยังขอให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ช่วย "จัดการ" ปัญหาการร้องเรียนจากที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. รายหนึ่ง พร้อมอ้างว่าจะช่วยเหลือคดีใน ป.ป.ช. ของ "นายพล ป." แต่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ แจ้งว่า ไม่มีหลักฐานว่า ที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช. เป็นคนทำ กรรมการ ป.ป.ช. รายนี้จึงไม่พอใจ และพูดจาในลักษณะข่มขู่ว่า "พี่โจ๊ก อย่ามีเรื่องมาพึ่งผมบ้างก็แล้วกัน"
นอกจากนี้ ยังมีกรณีอื่นที่ปรากฏคำกล่าวถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าทั้งคู่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันว่า "อย่าให้มีเรื่องกล่าวหาพี่มาถึงผมนะ ผมฟันไม่เลี้ยง"
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุในหนังสือเพิ่มเติมว่า เป็นที่ชัดแจ้งว่า กรรมการ ป.ป.ช. คนดังกล่าว มีความขัดแย้งกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อย่างชัดแจ้ง จึงขอยื่นคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องกล่าวหา และคดีในกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และคณะตำรวจที่ถูกกล่าวหาทุกเรื่อง เนื่องจากเห็นว่า กรรมการ ป.ป.ช. รายนี้ มีสาเหตุโกรธเคืองกันโดยตรง
เอกสารดังกล่าวยังอ้างถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นพยานไว้ด้วย
ปฏิกิริยาทางฟากของ ป.ป.ช. ล่าสุด นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ได้รับหนังสือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนจะต้องถอนตัวกรรมการ ป.ป.ช. คนดังกล่าวออกจากการพิจารณาคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือไม่นั้น ต้องดูข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อน
จุดสำคัญของ ป.ป.ช. ในคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คือการพิจารณาปมการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการของเขาจากการถูกกล่าวหาพัวพันเว็บพนัน
สำหรับคดีเว็บพนัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ 4 ต่อ 1 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ให้รับคดีไว้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนเอง และยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาทำงานออกมา
ผลการตรวจสอบและการชี้มูลของ ป.ป.ช. อาจส่งผลต่อการเข้าชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในสมัยถัดไปของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นหลังเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้
https://www.bbc.com/thai/articles/cx8qxvnxj5eo