วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2567

สส.ก้าวไกล เผยหนังสือ สตช.ส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว เปิดใจญาติผู้ตายฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 20 ปี ก่อนคดีหมดอายุความ นัดไต่สวนมูลฟ้อง 24 มิ.ย. 2567 ย้ำจะต่อสู้จนชนะเพื่อพี่น้องผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรม นำคนผิดมาลงโทษ เปิดทางสู่การแก้ปัญหาความแย้ง



เผยตำรวจส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว เปิดใจญาติผู้ตาย เกือบ 20 ปีก่อนคดีหมดอายุความ

2024-04-27
ประชาไท
มูฮำหมัด ดือราแม รายงาน

สส.ก้าวไกล เผยหนังสือ สตช.ส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว เปิดใจญาติผู้ตายฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 20 ปี ก่อนคดีหมดอายุความ นัดไต่สวนมูลฟ้อง 24 มิ.ย. 2567 ย้ำจะต่อสู้จนชนะเพื่อพี่น้องผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรม นำคนผิดมาลงโทษ เปิดทางสู่การแก้ปัญหาความแย้ง

เผย สตช.ส่งสำนวนคดีตากใบให้อัยการแล้ว

นายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คชื่อ Romadon Panjor เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า สรุปคือ #คดีตากใบ สำนวนของตำรวจ #สั่งไม่ฟ้อง เจ้าหน้าที่ในเหตุ #โศกนาฏกรรมตากใบ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนครับ รอดูว่าอัยการว่าอย่างไร

พร้อมทั้งโพสต์ ภาพหนังสือด่วนที่สุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ตช.0011.22/1538 เรื่องส่งสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ถึงสำนักอัยการสูงสุด ลงวันที่ 25 เมษายน 2567 ว่า ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คนเนื่องจากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนเป็นการกระทำตามสมควรแก่กรณีและเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่าไม่ประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าจะมีความตายของผู้ชุมนุมเกิดขึ้นในระหว่างการขนย้าย



ในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ทาง สตช.ได้แนบ สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 13/2567 ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี จำนวน 4 แฟ้ม สำนวนขันสูตรพลิกศพที่ ช.27-104/2547 ของสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จ.ปัตตานี และ สำนวนการไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 จำนวน 4 แฟ้มด้วย

เปิดใจญาติผู้ตายฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ เกือบ 20 ปีก่อนคดีหมดอายุความ


ขณะที่ นางสาวบุสรอ น้องสาวของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาสเมื่อ 25 ต.ค. 2547 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนี้เธอยังเล็กอยู่ แต่วันนี้เธอคือ 1 ใน 48 คนที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 9 รายในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมครั้งนั้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 คน

บุสรอเข้าใจว่าคดีนี้จบไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายรัฐได้จ่ายเงินเยียวยามาให้แล้ว จึงเข้าใจว่าคดีชนะแล้ว ซึ่งจริงๆ ที่จบไปแล้วนั้นคือคดีไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากคดีนี้ถูกโอนไปพิจารณาที่ศาลจังหวัดสงขลา ไม่ใช่คดีอาญาซึ่งเป็นหน้าที่ของอัยการที่จะต้องยื่นฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“ตอนหลังจึงรู้ว่าคดียังไม่ไปถึงไหน จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและคนที่บาดเจ็บได้นัดคุยกันใหม่ว่าจะไม่ยอมให้คดีจบลงแบบนี้ โดยไม่มีการดำเนินคดีหรือเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงต้องการที่จะต่อสู้คดีกันใหม่”

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่คดีจะครบอายุความ 20 ปีในเดือนตุลาคม 2567 นี้ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ 48 คน จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเองโดยตรงตามที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ ต่อศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อ 25 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความดำเนินการ
นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 มิ.ย. 2567



คดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 มิ.ย. 2567 นี้ โดยโจทก์ทั้ง 48 คน มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนที่หน้าโรงพักตากใบ ญาติผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล และญาติผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย ส่วนจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย ตามมาตรา 288 และ289 (5) ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพฯ ตามมาตรา 309 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามมาตรา 310 และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

จะต่อสู้จนชนะเพื่อพี่น้องผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรม

นางสาวบุสรอ กล่าวว่า เมื่อคดียังไม่จบ ก็หมายความว่าชาวบ้านยังไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะยังไม่มีลงโทษใคร ยิ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าสำนวนคดีหายไปแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นความตั้งใจทำให้หายไปหรือเปล่า ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำถึงการที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

“เราไม่กลัว แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีคนมาห้ามไว้ไม่ให้ฟ้อง มีตำรวจมาเรียกตัวให้ไปพบ แต่เราก็ไม่ได้ไป เพราะเรารู้แล้วว่านั่นไม่ใช่ของจริง และไม่ใช่เรื่องที่สามารถให้ช่วยเราได้รับความยุติธรรมได้”

บุสรอ หวังว่า จะต่อสู้จนได้ชนะคดีเพื่อให้พี่น้องผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรม โดยต้องการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 9 คนตามที่ระบุไว้ในคำฟ้องได้รับโทษ ยิ่งบางคนก็เติบโตเป็นใหญ่ในราชการก็ยิ่งทำให้รู้สึกเจ็บใจและเกิดเป็นแผลในใจว่า คนที่ทำกับเราอย่างนี้ ทำไมจึงยิ่งมีตำแหน่งใหญ่โตขึ้นในประเทศนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องการความยุติธรรม

บุสรอ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมที่กระทบกับประชาชนในพื้นที่จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเหมือนไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ที่ทำกับมนุษย์ด้วยกัน หากญาติยอมความหรือเพิกเฉยไม่ให้ความสำคัญ ก็หมายความว่า อาจจะมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกซึ่งเราไม่รู้

“ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเกิดขึ้นอีก คดีนี้ก็จะไม่สามารถเอาไปเป็นคดีตัวอย่างในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้ ไม่สามารถเป็นตัวอย่างให้กรณีอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำได้ และไม่ทำให้เห็นว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ได้ ดังนั้นจึงต้องฟ้องเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกข่มขู่ไปตลอด ถ้าคดีนี้ชนะอย่างน้อย ก็แสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีความยุติธรรมอยู่” บุสรอ กล่าว

หนึ่งในปฐมเหตุของความขัดแย้ง ที่ส่งต่อเรื่องเล่าไม่สิ้นสุด

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการและทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องเอง เป็นคดีที่มีแรงขับจากชาวบ้านเอง เพราะชาวบ้านได้มีการคุยกันมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่าคดีกำลังจะครบ 20 ปี ซึ่งจะหมดอายุความ ซึ่งศาลจะไต่สวนมูลฟ้องว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับบุคคลอื่นนั้นไม่เป็นการกลั่นแกล้ง และต้องตรวจสอบว่ามีมูลความจริงที่เชื่อว่าพวกเขาอาจทำความผิดจริง แต่ขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องมักใช้เวลาไม่นาน แต่ก็อยู่ที่จำเลยว่าจะได้รับหมายทันตามวันนัดไต่สวนหรือไม่

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นหนึ่งในปฐมเหตุของความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงทางอาวุธเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ความรุนแรงของปัตตานีที่มีการพูดถึงมาก มีการค้นหาความจริงเยอะ มีเรื่องเล่าที่ผ่านกระบวนการทางสังคม และมีการส่งต่อไปโดยไม่สิ้นสุด

“เรามีความหวังจากคดีไต่สวนการตายเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดก็คือสภาพศพ ที่บอกทุกอย่าง มีรูปภาพต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นว่าถูกทรมานก่อนการเสียชีวิต มีแพทย์นิติเวชระดับประเทศมาตรวจสอบ แต่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและขั้นตอนการไต่สวนการตายกลับระบุแค่เพียงการขาดอากาศหายใจ จึงกลายเป็นคำที่ทุกคนเสื่อมความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”
 
ทำความจริงให้ปรากฏในชั้นศาล เปิดทางสู่การแก้ปัญหาความแย้ง

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ในมุมมองของทนายคำสั่งไต่สวนการตายควรจะต้องระบุพฤติกรรมการตายด้วยว่า ไม่มีอากาศหายใจเกิดจากอะไร ซึ่งก็ทัศนคติของผู้พิพากษาบางส่วนที่ไม่ระบุรายละเอียดพฤติกรรมการตาย แต่บางคนก็ระบุ แต่สำหรับสำนวนคดีนี้ผิดจากการคาดหมายของประชาชน จึงทำให้เป็นประเด็นความขัดแย้งขึ้นมากับหลายๆ บันทึกข้อเท็จจริงที่มาจากผู้ถูกจับ ผู้ถูกทรมาน ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต กลายเป็นบาดแผลทางใจ แม้ได้รับเงินเยียวยาแล้วก็ตาม จึงไม่แปลกที่ ชาวบ้านกล้าที่จะลุกขึ้นมาฟ้องร้องเองเพื่อสู้คดีอีกครั้ง

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า การพิจารณาคดีจะต้องมีการสืบพยานใหม่ เป็นขั้นตอนการสืบหาความจริง โดยใช้กลไกทางศาลอย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ผ่านมาเราค้นหาความจริงโดยใช้กลไกนอกระบบมามากแล้ว เช่นการเขียนหนังสือ ส่งหนังสือการสัมภาษณ์ ซึ่งคำพิพากษาควรต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานที่นำเสนอต่อศาล

“คดีนี้จะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะศักยภาพของตุลาการในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยการทำความจริงให้ปรากฏในชั้นศาล อีกทั้งการรับฟ้องคดีนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานและยืนยันในหลักนิติธรรมของไทย” นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

https://prachatai.com/journal/2024/04/109009