วันพฤหัสบดี, เมษายน 25, 2567

กลุ่ม “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” แสดงความผิดหวังต่อรัฐบาล โดยประกาศ “ไม่สามารถที่จะลงประชามติ ‘เห็นชอบ’ หรือ Vote YES กับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้”


บีบีซีไทย - BBC Thai
10h·

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ Con for All แสดงความผิดหวังต่อรัฐบาล โดยประกาศ “ไม่สามารถที่จะลงประชามติ ‘เห็นชอบ’ หรือ Vote YES กับคำถามประชามติที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้”
.
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจัดให้มีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่การทำประชามติยกแรกจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นี้ ซึ่งโฆษกรัฐบาลเรียกว่าเป็นการ “คิกออฟ” กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
คำถามที่รัฐบาลจะใช้สอบถามประชาชนคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”
.
สำหรับสาระสำคัญของแถลงการณ์ Con for All สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
.
1. วิจารณ์รัฐบาลว่า “กำลังพายเรืออยู่ในอ่าง” หลังเสียเวลาไปกว่า 200 วัน ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็กลับมาเริ่มต้นที่จุดเดิม โดยไม่มีการนำคำถามประชามติที่ประชาชนกว่า 2 แสนคนร่วมกันเข้าชื่อกันเสนอ โดยใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาพิจารณา “ไม่แม้แต่แยแสคำถามที่ประชาชนต้องลงแรง” นอกจากนี้ในคำถามประชามติครั้งแรก ไม่มีการระบุถึงที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
.
2. ชี้ให้เห็น 3 ปัญหาของคําถามประชามติที่รัฐบาลประกาศไว้ ได้แก่
- ตั้งคำถามซ้อนกันในคำถามเดียว ทำให้ประชาชนเผชิญกับ “สภาวะไร้ทางเลือก” หากต้องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ก็ไม่มีทางเลือกว่าจะออกเสียงประชามติอย่างไร
- การล็อกหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ทําให้เกิดการจัดทํารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และทำให้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง
- คําถามประชามติที่ตั้งเงื่อนไขในหมวดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ “จะทำให้สถาบันฯ ถูกนํามาใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระราชอำนาจในระหว่างการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ”
.
ย้อนไปเมื่อเดือน ส.ค. 2566 กลุ่ม Con for All ได้ออกมารณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนเพื่อร่วมกันเสนอคำถามประชามติต่อรัฐบาล โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” โดยมีประชาชนกว่า 2 แสนคนร่วมลงลายมือชื่อ
.
เมื่อรัฐบาลไม่รับคำถามของพวกเขา และตั้งคำถามที่มีหลักการแตกต่างจากคำถามของประชาชนอย่างชัดเจน จึงมีคำประกาศว่า “ไม่สามารถที่จะลงประชามติ ‘เห็นชอบ’ หรือ Vote YES กับคำถามที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ เราไม่สามารถ ‘รับ ๆ ไปก่อน’ และซ้ำรอยบทเรียนในอดีตได้อีกแล้ว”
.
3. ชิงดักคอ โดยคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยไปลงคะแนน “ไม่เห็นชอบ” หรือ Vote NO ซึ่งไม่ได้หมายความว่านั่นคือเสียงที่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 “หากแต่เสียง Vote NO ยังเป็นเสียงของประชาชนที่ต้องการจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ‘ทั้งฉบับ’ โดยไม่มีเนื้อหาของเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ถูกงดเว้นไม่ให้แตะต้อง”
.
4. เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญระบุด้วยว่า รัฐบาลดึงดันที่จะใช้คำถามสร้างเงื่อนไข สร้างความขัดแย้ง และสร้างการถกเถียงให้กับหมวด 1 และหมวด 2 โดยไม่จำเป็น รัฐบาลได้จุดไฟให้สังคมเกิดคำถามว่าหมวด 1 และหมวด 2 คืออะไร มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องห้ามแก้ไข และกำลังใช้ประเด็นนี้มาเป็นปัจจัยชี้ขาดอนาคตการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
.
“เมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของคำถามนี้ จึงต้องเป็นเจ้าของผลลัพธ์ที่ตามมาด้วย หากผลลัพธ์จากการทำประชามติครั้งนี้ทำให้การเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องหยุดชะงัก ก็คือความพ่ายแพ้ของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ได้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะถือว่าไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไป” แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่ง
.
อย่างไรก็ตามเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มนี้ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนไป “Vote NO” (ไม่เห็นชอบ)” หรือ “No Vote” (ไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง) โดยย้ำเพียงว่า “เราไม่สามารถโหวตเยสได้แน่ ๆ ถ้าโหวตเยสแปลว่ากลืนเลือด กัดลิ้นตัวเอง” สำหรับสาเหตุที่ยังบอกไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติหรือไม่และแก้อย่างไร และจำเป็นต้องใช้เวลาปรึกษาหารือกับเครือข่าย
.
“ขออภัยพี่น้องประชาชนที่คาดหวังว่าเราจะตอบว่าเราจะโหวตอะไร เราถกเถียงกันทั้งคืน แล้วเราตอบว่าเราไม่โหวตเยส” นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ กล่าว
.
ดูมติ ครม. “คิกออฟ” แก้รัฐธรรมนูญ ที่นี่
https://bbc.in/3QiInvc
.....
https://www.facebook.com/photo?fbid=860762019417297&set=a.627743042719197