วันจันทร์, เมษายน 29, 2567

มติชนสุดสัปดาห์ สรุปประเด็นเรื่องร้องเรียนสอบสวนวิทยานิพนธ์ "ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี" ของณัฐพล ใจจริง ไว้ละเอียดชัดเจน

https://www.matichonweekly.com/scoop/article_764732

Atukkit Sawangsuk
13 hours ago
·
มติชนสุดสัปดาห์ สรุปประเด็นเรื่องร้องเรียนสอบสวนวิทยานิพนธ์ "ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี" ของณัฐพล ใจจริง ไว้ละเอียดชัดเจน ชวนอ่าน
:
คือพวกขวาคลั่งสุดโต่งแม่-เข้าใจว่า ณัฐพลแย่แล้ว โดนสภามหาวิทยาลัยสั่งริบปริญญา เรียกร้องให้เปิดเผยมติสภามหาวิทยาลัย
ซึ่งณัฐพลก็ทำหนังสือจี้ให้สภาตอบว่า มีมติจริงหรือไม่ ทำไมข่าวรั่วไปให้พวกนี้โพสต์ แล้วเพจตบดื้นก็เอาไปปลุกเกลียดชัง
:
ถ้ามีมติจริง ก็จะเอาผิดได้ทั้งสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี กรรมการสอบสวน ที่มีบวรศักดิ์เป็นประธาน
:
เพราะกรรมการตั้งผู้เชี่ยวชาญมาสอบ 4 คน 3 ใน 4 เห็นว่าไม่ผิด 2 คนชื่นชมด้วยซ้ำ
ยิ่งไปกว่านั้น กรรมการยังไปคว้าเอาหลักฐานผิดๆ ของไชยันต์ ไชยพร
ซึ่งอ้างว่า หนังสือพิมพ์เอกราช ที่ณัฐพลอ้างในวิทยานิพนธ์ ไม่มีอยู่จริง เอกราชเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปาง ตั้งเมื่อ 2500
ปรากฏว่าเงิบ ทะเร่อทะร่า เพราะเอกราชเป็นหนังสือพิมพ์ที่ร่วมก่อตั้งโดยอิศรา อมันตกุล มีมาตั้งแต่ 2490 มีหนังสือรับรองของอธิบดีกรมศิลปากร ว่ามีจริง
สำหรับกรรมการ ไม่ใช่แค่เงิบ ยังถือเป็นกระบวนการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ไม่อยู่ในข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้น กรรมการเพิ่มเข้ามาในภายหลัง และสรุปตามไชยันต์ โดยไม่ได้สอบถามณัฐพล ไม่ได้เปิดให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่าหนังสือพิมพ์เอกราชมีจริง
:
จุฬาโดนยันก็เลยดองเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปี จู่ๆ จะมีข่าวลงโทษ ทั้งที่ยังไม่ตอบเรื่องกรรมการสอบสวนใช้หลักฐานเท็จ
.....

10 เรื่องต้องรู้ ที่มา-ที่ไป กรณีวิทยานิพนธ์ “ณัฐพล ใจจริง” หลังล่าสุด ทวงถามมติผลสอบข้อเท็จจริง จากสภา จุฬาฯ.

26 เมษายน พ.ศ.2567
มติชนสุดสัปดาห์

10 เรื่องต้องรู้ ที่มา-ที่ไป “ณัฐพล ใจจริง” ถูกร้องเรียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เจ้าตัวข้องใจไม่ยุติธรรม

1.  เป็นวิวาทะต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ปี 2561 เริ่มจาก นายณัฐพล ใจจริง อดีตนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สำเร็จการศึกษา ในปี 2553 และทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ซึ่งคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ประกอบด้วย ศ.ดร.ไชยวัฒน์ คํ้าชู เป็นประธาน รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ รศ.ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นกรรมการ ดุษฎีนิพนธ์ของนายณัฐพลได้รับการประเมินอย่างเป็นเอกฉันท์ให้อยู่ในระดับดีมากเมื่อเดือนเมษายน 2561 ต่อมา ดุษฎีนิพนธ์ของนายณัฐพลถูกไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำหนังสือทักท้วงดุษฎีนิพนธ์ระบุเฉพาะหน้า 105 ในประเด็นกรมขุนชัยนาท ไปยังคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ที่คณะรัฐศาสตร์ ว่า มีความผิดพลาด ทำให้ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ คํ้าชู ประธานได้เรียกณัฐพลมาสอบถามและให้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งณัฐพลยอมรับว่า ต้นฉบับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post วันที่ 18 December 1950 ที่อ่านจากไมโครฟิล์มที่หอสมุดแห่งชาตินั้นซึ่งเป็นคนละสำเนากับที่ศ.ดร.ไชยันต์ใช้กล่าวหา แต่ฉบับหนังสือพิมพ์ที่ตนเองอ่านจากสมุดแห่งชาตินั้น มีข้อความไม่ชัดเจน ตัวพิมพ์แตกหักและเลอะเลือน ณัฐพลยอมรับว่าต้นฉบับที่ไม่ชัดเจนทำให้อ่านคลาดเคลื่อนและตีความผิดพลาด จึงแจ้งกับคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ ยินดีปรับแก้ไขข้อความในดุษฎีนิพนธ์หน้า 105 ตามที่ไชยันต์ทักท้วง ซึ่งเรื่องนี้ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ประธานสอบ เห็นว่า ณัฐพลได้รีบตรวจสอบและยอมรับความผิดพลาดในหน้า 105 โดยไม่ได้โต้แย้งและพยายามหาทางแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว แสดงให้เห็นว่าเป็นความผิดพลาดโดยบริสุทธิ์ใจมากกว่าจะเป็นความตั้งใจบิดเบือนข้อมูล

2.  แม้ยอมรับความผิดพลาดไปแล้ว แต่เรื่องไม่จบ ต่อมา ไชยันต์ ได้ยื่นข้อร้องเรียนมา 31 จุดมายังคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งณัฐพลก็ตรวจสอบข้อผิดทั้ง 31 จุดตามที่ไชยันต์กล่าวหาแล้ว เห็นว่าข้อกล่าวเหล่านี้เป็นข้อบกพร่องในการใช้เอกสารของไชยันต์เอง เช่น ไชยันต์ใช้เอกสารผิดแผ่น ผิดวันที่เดือนปี ผิดเรื่อง และกล่าวหาโดยใช้เอกสารอ้างอิงไม่ครบตามที่ณัฐพลระบุไว้เชิงอรรถดุษฎีนิพนธ์ ต่อมา ณัฐพลได้แสดงหลักฐานชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์จนเป็นที่พอใจของคณะกรรมการฯในระดับคณะแล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่ติดใจและแนะนำให้ณัฐพลดำเนินการแก้ไขเพียง 1 ประเด็น คือ เฉพาะที่หน้า 105 เท่านั้นณัฐพลจึงทำเรื่องขอปรับปรุงแก้ไขข้อความตามคำแนะนำผ่าน ศ.ดร.ไชยวัฒน์ คํ้าชู ประธานสอบดุษฎีนิพนธ์ไปยังบัณฑิตวิทยาลัยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ศ.ดร.ไชยวัฒน์แจ้งให้ณัฐพลทราบว่า ศ.ดร.ไชยวัฒน์ และไชยยันต์(ผู้ร้องเรียน)ได้ไปติดต่อที่บัณฑิตวิทยาลัยด้วยกัน แต่ปรากฏว่า บัณฑิตวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ปรับแก้ไขข้อความในหน้า 105 ด้วยเหตุที่กระบวนการทางวิทยานิพนธ์สิ้นสุดไปแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้แก้ไข เรื่องนี้ไชยันต์ในฐานะผู้ร้องเรียนก็ได้รับทราบร่วมกัน

3.  แล้วเรื่องนี้ก็เงียบลง จนผ่านไป 4 ปี กระทั่งปี 2564 ไชยันต์ ได้ร้องเรียนไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในประเด็นเดิมอีกครั้ง สำนักข่าวท๊อปนิวส์ และเพจ รายการสนธิ Talk รายงานข่าวนี้ต่อเนื่อง จนสุดท้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการชุด ศ.ดร.ไชยวัฒน์ คํ้าชู เมื่อปี พ.ศ. 2561ไปแล้วก็ตาม โดยคณะกรรมการฯชุดใหม่นี้ มีศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 เป็นประธาน และมีศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์เป็นเลขานุการ ต่อมาคณะกรรมการฯชุดนี้ได้แต่งตั้ง ผู้เชี่ยวชาญ 4 คน ให้ดำเนินการตรวจสอบดุษฎีนิพนธ์ของณัฐพล ในช่วงปีเดียวกัน จู่ๆ ม.ร.ว.ปรียานันทนา รังสิต ฟ้อง ก็แจ้งความดำเนินคดีแพ่งต่อดุษฎีนิพนธ์ของณัฐพล เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน จนเป็นข่าวดังในคำฟ้องของ ม.ร.ว.ปรียานันทนา ได้ระบุว่า ไชยันต์เป็นผู้มาแจ้งให้โจทก์ฟ้องดุษฎีนิพนธ์ของณัฐพลในหน้า 105 ซึ่งณัฐพลก็ตั้งคำถามว่า ไชยันต์ก็ทราบอยู่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ว่าณัฐพลแสดงเจตนาขอแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ที่หน้า 105 ด้วยการทําเรื่องขอแก้ไขไปยังบัณฑิตวิทยาลัยแล้ว แต่จุฬาฯไม่อนุญาตให้แก้ไขเองเพราะกระบวนการทำวิทยานิพนธ์มันสิ้นสุดไปแล้ว แต่ทำไมยังนำเรื่องมากระตุ้นโจทก์ให้ฟ้องร้องตนเองและอาจารย์ที่ปรึกษาอีก 

4.  ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ ซึ่งมีศ.ดร.บวรศักดิ์และศ.ดร.ปาริชาต เป็นประธานและเลขานุการฯได้เรียกณัฐพลมาทำการสอบสวนแต่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ว่าคู่กรณีย่อมมีสิทธิ์ที่จะมีทนายความในระหว่างการสอบสวน ณัฐพลจึงทำหนังสือโต้แย้งความไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ จากนั้น วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงส่งเอกสารความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คนให้ณัฐพลพิจารณาและสั่งให้ณัฐพลตอบคำถามต่างๆกลับไป ณัฐพลจึงทำหนังสือตอบกลับข้อซักถามผู้เชี่ยวชาญ ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 

5.  ไม่มีใครรู้ว่าผู้เชี่ยวชาญ 4 คนที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดใหม่ ตั้งขึ้นมามีใครบ้าง แต่จากคำชี้แจงของณัฐพล เล่าว่า ผู้เชี่ยวชาญคนที่ 1 วิจารณ์ณัฐพลอย่างมาก ซึ่งณัฐพลได้ชี้แจงกลับไปพร้อมแนบหลักฐานว่า ข้อความในหลักฐานมีอยู่จริง ส่วนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านที่ 2 มองว่า วิทยานิพนธ์ของณัฐพลมีข้อเด่น คือการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและการต่างประเทศนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี พ.ศ. 2500 เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีคุณูปการได้บุกเบิกความรู้ใหม่ในทางวิชาการสำหรับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญคนที่ 3 นั้นเห็นว่าณัฐพลตระหนักดีว่าการสร้างองค์ความรู้ในวิทยานิพนธ์เปรียบเหมือนแบบจำลองทางความรู้ที่รอการยืนยันหรือหักล้างต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นวิถีปกติแห่งโลกทางวิชาการ โดยสรุปผู้เชี่ยวชาญคนที่ 2 และ 3 ชื่นชมวิทยานิพนธ์ของณัฐพลในภาพรวม เพียงมีคำแนะนำเรื่องการค้นคว้าเอกสารมากขึ้่น ทั้ง 2 คน ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาณัฐพลอย่างรุนแรงเหมือนผู้เชี่ยวชาญคนแรกแต่ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคนที่ 4 ระบุว่า เขาดำเนินการตรวจสอบอย่างไม่มีอคติและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทั้งสิ้น พร้อมตรวจสอบงานณัฐพลอย่างละเอียด และเขาสรุปว่า ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้การอ้างอิงอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ และอ้างอิงเหมาะสมดีแล้ว จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คนที่คณะกรรมการสอบเท็จจริงตั้งขึ้น สรุปว่า ผู้เชี่ยวชาญมิได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน และมิได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ณัฐพลมีความผิด ละเมิดจริยธรรมทางวิชาการ โดยหลังณัฐพลตอบคำถามผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านเป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้เชี่ยวชาญท่านใดติดใจสงสัย หรือแสดงความเห็นโต้แย้งกลับมาอีกเลย



6.  เวลาผ่านไปราว 1 ปี หลังจากที่ณัฐพลชี้แจงผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คนที่จุฬาฯตั้งขึ้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มี ศ.ดร.บวรศักดิ์ เป็นประธาน ได้ตั้งข้อกล่าวหาณัฐพลราวกลางเดือนสิงหาคม 2565 ว่า อ้างอิงเอกสาร “หนังสือพิมพ์เอกราช” ที่ไม่มีอยู่จริงเพราะหนังสือพิมพ์เอกราชเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2500 ซึ่งข้อกล่าวหาเรื่อง “หนังสือพิมพ์เอกราช” เป็นข้อกล่าวหาที่ปรากฎขึ้นใหม่ ไม่ได้อยู่ในข้อร้องเรียน 31 จุดของไชยันต์ตั้งแต่ 2561 มาก่อนเลย เป็นการตั้งข้อกล่าวหาขึ้นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯเอง โดยณัฐพลได้สืบค้นไปพบว่าไชยันต์ เป็นบุคคลแรกที่กล่าวหาตนเองในเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชไม่มีอยู่จริง ด้วยการโพสต์เฟสบุ๊คของเขาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ว่า หนังสือพิมพ์เอกราชปี 2490 ที่ณัฐพลอ้างอิงในดุษฎีนิพนธ์นั้นไม่มีอยู่จริงในบรรณพิภพ เพราะหนังสือพิมพ์เอกราชนั้นก่อตั้งขึ้นในปี 2500 ต่างหาก จนมีคนแชร์ต่อกันไปเป็นจำนวนมากหลังถูกกล่าวหาด้วยข้อหาใหม่ ณัฐพลจึงได้ส่งหนังสือแสดงหลักฐานต่อ นายกสภาฯ กรรมการสภาฯและอธิการบดีจุฬาฯไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ว่าหนังสือพิมพ์เอกราชที่อ้างถึงในดุษฎีนิพนธ์นั้นมีอยู่จริงก่อตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกในราวปี พ.ศ. 2490 การมีอยู่จริงของหนังสือพิมพ์เอกราชปรากฏอยู่ทั่วไป มีคนรับรู้อย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยก็เขียนประวัติของนายอิศรา อมันตกุล นักข่าวดัง นายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยก็คือผู้ร่วมก่อตั้งและเคยทำงานหนังสือพิมพ์เอกราชด้วย และกระทรวงวัฒนธรรมเขียนเชิดชูเกียรติคุณ นายสุวัฒน์ วรดิลก นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และศิลปินแห่งชาติก็เคยทำงานที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วย ในทางกลับกัน ไชยันต์ต่างหากที่เข้าใจผิดไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าหนังสือพิมพ์เอกราชนั้นมีอยู่จริงแต่กลับโพสต์เฟสบุ๊คกล่าวหาณัฐพล เพราะหนังสือพิมพ์เอกราชที่ตั้งเมื่อปี 2500 ที่ไชยันต์อ้าง เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง เป็นคนละฉบับกับหนังสือพิมพ์เอกราชที่ณัฐพลใช้ ไม่แต่เพียงเท่านั้น ข้อกล่าวหาเรื่องหนังสือพิมพ์เอกราชไม่มีอยู่จริงในบรรณพิภพนี้กลับถูกนำเข้ามาไว้ในการรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเสนอให้มีมติลงโทษ ทั้งที่ไม่เคยสอบถามเรื่องนี้กับณัฐพลมาก่อนเลย


7.  ทำให้การประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งนั้น เกิดการร้องเรียนขึ้นของ รศ.ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย อยู่ในที่ประชุม เห็นความผิดปกติ จึงทำหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยเพื่อแย้งผลการสอบสวนและเห็นว่ากระบวนการสอบสวนนายณัฐพลของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากต้องพิจารณาถึงศาลก็จะถูกให้สอบสวนใหม่เพราะกระบวนการไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฏหมายเช่นเดียวกับ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ของณัฐพลได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงความไม่สุจริตในการดำเนินการสอบข้อเท็จจริงที่มีศ.ดร.บวรศักดิ์ เป็นประธาน ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเช่นกัน รวมถึง ณัฐพลเองก็ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมตั้งคำถามถึงการดำเนินการฯของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเวลาผ่านไป 10 เดือน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีหนังสือถึงณัฐพล พร้อมส่งสำเนาหลักฐานหนังสือพิมพ์เอกราชฉบับวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 มาให้ โดยเป็นสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีประทับตราสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พร้อมมีลายมือชื่อของนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามรับรองเอกสารถูกต้องว่า หนังสือพิมพ์เอกราชมีอยู่จริง สะท้อนว่ากรรมการสอบข้อเท็จจริงบางคนใช้ข้อกล่าวหาเท็จนี้เสนอต่อสภามหาวิทยาลัย


8.  นอกจากข้อกล่าวหาหนังสือพิมพ์เอกราช ณัฐพลยังเจอข้อกล่าวหา บิดเบือนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสอบฯบางคนกล่าวหาว่า ณัฐพลบิดเบือนประวัติศาสตร์ ด้วยการใช้ ปี ค.ศ. สลับกับปี พ.ศ. ซึ่งณัฐพลชี้แจงว่า การทำดุษฎีนิพนธ์ต้องอ่านเอกสารจดหมายเหตุจำนวนมาก มีทั้งเอกสารของไทยที่ใช้พุทธศักราช และเอกสารทางการทูตของสหรัฐฯที่ใช้คริสต์ศักราช การต้องอ่านเอกสารจำนวนมาก ความเหนื่อยล้าก็ส่งผลทำให้จึงพิมพ์ผิดศักราชผิดพลาดเพียงเท่านั้น มิได้มีเจตนาบิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด และที่สำคัญ ปีค.ศ.ที่พิมพ์ไปนั้นก็คือปีเดียวกับปี พ.ศ.นั่นเอง ดังนั้น การพิมพ์ผิดศักราชผิดนั้น มิได้ทำให้สาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่ใช่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ตามที่กล่าวหาไม่แต่เพียงเท่านั้น คณะกรรมการฯยังคง กล่าวหาณัฐพลต่อไปว่าบิดเบือนข้อมูลในประเด็นกฎหมายที่ดิน (พ.ศ. 2497) ซึ่งผู้กล่าวหาได้ส่งเอกสารจดหมายเหตุจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ส.ล.ค.) ปึกใหญ่รวม 130 แผ่น มาให้ณัฐพลและสั่งให้ณัฐพลเขียนเรื่องราวจำนวนมากในเอกสารลงไปในวิทยานิพนธ์ ซึ่งณัฐพลปฏิเสธทำตามที่คณะกรรมการบางท่านต้องการ เพราะไม่เกี่ยวกับหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่ณัฐพลทำเรื่องนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯที่มีต่อการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.และไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของดุษฎีที่ตกลงไว้กับคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์เมื่อครั้งนั้นแต่อย่างใด ทั้งนี้เรื่องกฏหมายที่ดินที่ณัฐพลเขียนถึงมีจำนวนเพียงไม่กี่บรรทัดอันสรุปมาจากข้อเสนอหนังสือของนักวิชาการไทย คือ ศ.ดร.กอบเกื้อ สุวรรณทัต เพียร ซึ่งใช้หลักฐานและตรวจสอบข้อมูลกว้างขวางมากกว่าเอกสารที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่งมา ดังนั้น คำสั่งของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงบังคับให้เขียนเพิ่มเข้าไป คือ การทำเกินหน้าที่หาข้อเท็จจริง ณัฐพลมองว่าเป็นการใช้อำนาจก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ที่สอบดุษฎีนิพนธ์ของณัฐพลให้ผ่านไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 และเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพทางวิชาการที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้อีกด้วย

9.  ด้วยกระบวนการสอบข้อเท็จจริงที่ผิดพลาดหลายประการ รวมทั้งความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ณัฐพลจึงได้ร้องเรียนสอบถามความรับผิดชอบในกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่นานแล้วก็ไม่ได้รับคำตอบณัฐพลจึงทำหนังสือถามไปยังจุฬาฯต่อว่า ทำไมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงละทิ้งผลการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ท่านที่ตนแต่งตั้งขึ้นมาเอง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ถึง 3 ใน 4 ท่าน ไม่เห็นว่าณัฐพลทำผิดจริยธรรมทางวิชาการ จึงขอถามจุฬาฯว่า มหาวิทยาลัยจะยึดถือมติของผู้เชี่ยวชาญ 3 ใน 4 ท่านหรือไม่ หรือจะอนุญาตให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหาทางลงโทษนายณัฐพลให้ได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใช้สิทธิอะไรในการเพิ่มข้อกล่าวหาใหม่เข้ามาเรื่อยๆ และยังเรียกหาหลักฐานที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียน 31 ข้อเดิม อันที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสอบสวนนี้ คณะกรรมการฯสามารถตั้งคำถาม จับผิด และแสวงหาข้อกล่าวหาใหม่ๆ ขึ้นมาได้เองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดใช่หรือไม่? อะไรคือขอบเขตของการสอบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้?

10.  เกิดตัวละครใหม่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 วิรังรอง ทัพพะรังสี ศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ยื่นหนังสือกดดันให้จุฬาฯเปิดเผยผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมโพสต์ข้อความพร้อมแท็กเฟสบุ๊กของ นายไชยันต์ ไชยพร ผู้ร้องเรียน โดยนายไชยันต์เข้ามาตอบขอบคุณการกระทำดังกล่าวของวิรังรองไม่กี่ชั่วโมงถัดมาในวันเดียวกันนั้นเอง “เพจตบดิ้น” ซึ่งมีผู้ติดตามหลายหมื่นคนได้โพสต์ข้อความว่าได้รับรู้ผลการสอบข้อเท็จจริงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยังไม่เปิดเผยแล้ว พร้อมเขียนข้อความประนามนายณัฐพลและเรียกร้องให้จุฬาฯยึดคืนปริญญาเอก ทั้งยังเรียกร้องให้เปิดเผยชื่อและลงโทษอาจารย์ที่ปรึกษา และยังชื่นชมการกระทำของนายไชยันต์แต่แล้วในโพสต์นั้นก็มีผู้มาแสดงความเห็นคนหนึ่งใช้ชื่อว่า “Thee Suvarnajata” ในเชิงข่มขู่ ให้ลอบสังหารก็คงดี ตรวจสอบไปพบว่า เจ้าของเฟสบุ๊กคือ คือเจ้าหน้าที่บริการการศึกษา กลุ่มภารกิจบริการบัณฑิตศึกษา ฝ่ายวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นทำให้เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา นายณัฐพลได้ยื่นหนังสือขอทราบมติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งที่ 883 มีมติเช่นไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเอง เพราะตั้งแต่เขายื่นคำชี้แจงต่อประธานกรรมการฯ ไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมิได้แจ้งผลการสอบสวนนายณัฐพลเลย แต่กลับปรากฏข่าวว่า มีผู้ไม่เกี่ยวข้อง มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไปยื่นขอผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และมติของสภาจุฬาลงกรณ์อย่างต่อเนื่อง

https://www.matichonweekly.com/scoop/article_764732