วันศุกร์, เมษายน 26, 2567

สินค้าไทย ทำไมโลกไม่ต้องการ


ส่งออกแบกไม่ไหว เศรษฐกิจไทยจะไม่โตเท่าในอดีต | KEY MESSAGES #132

THE STANDARD

Apr 20, 2024

ภาคการส่งออกคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย แต่วันนี้สินค้าชูโรงที่เคยทำให้ไทยโดดเด่น กำลังกลายเป็นสินค้าที่โลกไม่ต้องการ และอาจทำให้อนาคตของประเทศไม่สดใสอีกต่อไป 

Time Index 
0:00 Intro 
0:33 เริ่มเนื้อหา 
6:49 ไทยผู้ผลิตสินค้าที่กำลังจะตาย 
10:53 เวียดนาม-มาเลเซีย โตไม่รอไทย 
14:20 แค่รับจ้างผลิต จุดอ่อนของไทย 
17:17 เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ 

เรื่อง: สุธามาส ทวินันท์ 
ตัดต่อ: วชิระ มากทรัพย์

https://www.youtube.com/watch?v=HbO50lkYsWg
.....
Veerayooth Kanchoochat - วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร
· 2d

ถ้าไม่เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ได้หรือไม่?
.
เพิ่งไปคุยกับ KEY MESSAGES ของ The Standard เรื่องการส่งออกมา เลยถือโอกาสขยายความอีกทีครับ
https://www.youtube.com/watch?v=HbO50lkYsWg
#ทุนนิยมพวกพ้อง
.
ความทรงจำแรกของสังคมไทยที่มีต่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คงเป็นเรื่องการโจมตีค่าเงิน (currency attack) พาดหัวข่าวเต็มไปด้วยชื่อจอร์จ โซรอส ตามมาด้วยคำฝรั่งอย่าง IMF NPLs และ Haircut
.
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักฟันธงว่า ไทยประสบวิกฤตก็เพราะ “ทุนนิยมพวกพ้อง” (crony capitalism) ที่คอนเน็คชันระหว่างนักธุรกิจและนักการเมืองนำไปสู่การปล่อยกู้ที่ไร้ประสิทธิภาพและการเก็งกำไร
.
ทางออกเดียวคือการปฏิรูปเพื่อลดบทบาทของรัฐ ให้รัฐเข้ามาวุ่นวายกับ “กลไกตลาด” ให้น้อยที่สุด
.
ที่ว่ามาข้างต้นนี้ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว ปัญหาเฉพาะหน้าของไทยในตอนนั้นอยู่ที่ค่าเงินบาทและตลาดทุนจริง แต่พอทั้งสังคมพากันสนใจแต่การโจมตีค่าเงินและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ปัญหาใหญ่กว่านั้นจึงถูกลืมไป
.
คำถามที่จะทำให้เราตั้งหลักได้จริงๆ แล้วคือ หากไม่มีฟองสบู่อสังหาและการโจมตีค่าเงิน ไทยจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงเหมือนกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ได้หรือไม่
.
คำตอบค่อนไปทาง ไม่
.
เพราะกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วง 2520-2540 แตกต่างจากเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกอย่างสิ้นเชิง
.
#จะพัฒนาหรือเอาแค่โต
.
การเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) เป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (economic development)
.
หากวัดกันแค่ตัวเลขการเติบโต ประเทศไทยแทบไม่แพ้ใครในโลก บางปีเราโตสูงที่สุดในโลกด้วยซ้ำ
.
แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวล้วนต้องสร้างและต่อยอดความสามารถในการผลิตของประเทศเพื่อแข่งขันในตลาดโลก ต้องเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง ซึ่งมีทั้งเก่งด้านกระบวนการอย่างไต้หวัน หรือเก่งด้านผลิตภัณฑ์อย่างเกาหลีใต้
.
ในขณะที่ตัวเลขการเติบโตรายปีอาจเกิดจากวิธีที่ง่ายกว่านั้น เช่น เปิดเสรีให้กิจการต่างชาติมาลงทุน คลื่นนักท่องเที่ยวไหลเข้ามาฉับพลัน หรือแม้แต่โชคชะตาอำนวย เช่น บางประเทศในแอฟริกาเพียงขุดพบน้ำมันก็ทำให้รายได้ต่อหัวก้าวกระโดดชั่วข้ามคืน
.
เอเชียตะวันออกให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันสมัย จึงดำเนินมาตรการอย่างการปฏิรูปที่ดินอย่างกว้างขวาง เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตร โยกย้ายคนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ
.
จากนั้นก็มีนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายจริงจัง แต่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตามลำดับ จากแรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมไฮเทค บริษัทธุรกิจที่รัฐให้ความช่วยเหลือจะต้องทำผลงานในตลาดส่งออกให้ได้ตามเป้า
.
ถึงแม้จะมีความแตกต่างภายใน โดยเฉพาะหัวหอกเศรษฐกิจที่เกาหลีใต้ใช้กิจการขนาดใหญ่นำ ส่วนไต้หวันใช้บริษัทขนาดกลางและเล็กในขณะที่สิงคโปร์ใช้รัฐวิสาหกิจกับบรรษัทข้ามชาติ
.
แต่จุดร่วมกันของบรรดาเสือเอเชียตะวันออกคือ การให้ความสำคัญกับนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับเทคโนโลยีของประเทศให้ทันชาติตะวันตก
.
สิ่งนี้เองที่ไทยแตกต่างจากเอเชียตะวันออกมากที่สุด
.
เพราะเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกจนวิกฤตต้มยำกุ้งมีธนาคารพาณิชย์เป็นหัวหอกผู้จัดสรรเงินลงทุน รัฐบาลและเทคโนแครตไทยไม่สนใจการพัฒนาอุตสาหกรรม การยกระดับเทคโนโลยีไม่เคยอยู่ในวาระแห่งชาติ
.
เราเพิ่งจะมีแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างจริงจังก็เมื่อปี 2555 นี่เอง
.
#ส่งออกดีแต่ขาดดุลเทคโนโลยี
.
อันที่จริง ในสภาวะยากลำบากหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยยังมีโชคดีเช่นกัน เพราะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนลงเกือบเท่าตัว ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาถูกลงในตลาดโลก
.
ช่วงรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) ที่เรียกกันว่ายุค “โชติช่วงชัชวาล” ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกแค่ 25-30% ต่อจีดีพีเท่านั้น
.
การส่งออกกลายมาเป็น “เครื่องยนต์หลัก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็เมื่อหลังต้มยำกุ้งนี่เอง โดยสัดส่วนการส่งออกทะยานขึ้นไปแตะระดับ 60-70% ต่อจีดีพี
.
กลายเป็นความโชคดีในความโชคร้าย
การส่งออกกลายเป็น “ลมหนุน” ที่พาเศรษฐกิจไทยให้ลอยต่อไปได้อีกเฮือกหลังวิกฤตครั้งใหญ่
.
อย่างไรก็ดี ภายใต้ตัวเลขการส่งออกที่ทะยานสูง ตัวเลขที่ถีบตัวสูงขึ้นไปพร้อมๆ กัน คือ “การขาดดุลทางเทคโนโลยี” หรือ Technology deficit
.
แปลว่า การส่งออกของไทยนั้นพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก เราจึงต้องจ่ายค่ารอยัลตี้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ตลอดจนค่าธรรมเนียมความรู้ทางเทคนิค
.
จากที่เคยขาดดุลประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงต้นทศวรรษ 2550 ก็เพิ่มขึ้นเป็นการขาดดุลกว่า 250,000 ล้านบาท ตามข้อมูลล่าสุดในปี 2561
.
ในอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์และอินโดนีเซีย สองประเทศเท่านั้นที่สามารถส่งออกสูงและเกินดุลทางเทคโนโลยีได้
.
ส่วนมาเลเซียก็ขาดดุลทางเทคโลยีเช่นกัน แต่มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลให้น้อยลงในอนาคต
.
หากฟังข่าวเศรษฐกิจ เรามักจะได้ยินแต่เพียงการแกว่งขึ้นลงของตัวเลขการส่งออกนำเข้า รายเดือน รายปี
.
แต่หากเราอยากเรียนรู้จากอดีตของเราเอง บทเรียนสำคัญข้อหนึ่งคือ ต้องมองให้ทะลุตัวเลขระยะสั้น มองให้เห็นเนื้อแท้ของการเติบโตว่ามาจากไหนกันแน่
.
Technology deficit ควรได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นตัวสะท้อนเนื้อในของความสามารถ เป็นตัวเช็คสุขภาพภายในที่ต้องคอยจับตา
.
เพื่อให้ไทยเป็น "เสือ" ที่แข็งแรงจากภายใน