วันเสาร์, สิงหาคม 19, 2566

เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงถูกพาดพิงกับ Cult ใหม่ในเมืองไทย (ครูกายแก้ว) ชวนอ่านเรื่องความเชื่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7


Kornkit Disthan
August 11
·
เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงถูกพาดพิงกับ Cult ใหม่ในเมืองไทย แล้วผมกำลังค้นเรื่องเขมรโบราณพอดี จะชวนคุยเรื่องความเชื่อของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พอหอมปากหอมคอ
คนที่สนใจศิลปะน่าจะรู้ดีว่าพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มักจะถูกทำเป็นรูป "พระโลเกเศวร" (หรือ อวโลกิเตศวร) รูปพระมารดาทำเป็นรูป "ปรัชญาปารมิตา" (เพราะปรัชญาปารมิตาคือปัญญาอันเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าทุกองค์) ทั้ง 2 รูปขนาบข้างพระพุทธรูปตรงกลาง ซึ่งมักเป็นพระนาคปรก
พระนาคปรกนี้ไม่น่าจะใช่ปางนาคปรกแบบเถรวาท ซึ่งหมายถึงพญานาคมาบังฝนให้พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้ใหม่ๆ แต่ "นาค" น่าจะหมายถึงนัยด้านตันตระอะไรสักอย่าง นักวิชาการบางคนว่า "นาค" น่าจะหมายถึงแสงสว่าง พระพุทธรูปน่าจะหมายถึงพระไวโรจนพุทธเจ้า ที่แปลว่าพระพุทธเจ้าแห่งแสง อันเป็นพุทธะแห่งพุทธะทั้งปวง
เรื่องพระพุทธรูปต้องเถียงกันอีกนาน แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าพระรูปทั้ง 3 สะท้อนแนวคิดพุทธตันตระ
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้นทรงเป็นพระราชาที่ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างมาก ทรงสร้าง "โรงพยาบาล" ไว้คอยรักษาประชาชนทั่วดินแดน โรงพยาบาลเหล่านี้พบได้มากมายในดินแดนประเทศไทย
ในความเห็นของผม ทรงมีพระทัยกรุณายิ่ง ต่างจากกษัตริย์เขมรโบราณอื่นๆ ดังที่จารึกบอกว่า ทรงเห็นโรคของประชาชนเป็นดั่งโรคของพระองค์เอง เห็นประชาชนป่วยแล้วปวดใจ ดังจารึกว่า "โรคทางกายของประชาชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง เพราะว่าความทุกข์ของราษฎร แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์ แต่เป็นความทุกข์ของเจ้าเมือง (คือพระเจ้าแผ่นดิน)" จึงทรงสร้างโรงพยาบาลขึ้นมากมาย มีทั้งแพทย์ คนจัดยา คนดูแล ฯลฯ
นอกจากจะรักษาด้วยยาแล้ว ด้วยความทรงศรัทธาในพุทธตันตระ จึงยังทรงใช้บารมีพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต หรือพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีอิทธิฤทธิ์ในการเยียวยารักษาโรค โรงพยาบาลนี้จึงเป็นทั้งวัดพระไภษัชยและโรงหมอ ถ้ายารักษาไม่ได้ ก็ใช้พุทธบารมีรักษา
เรื่องพุทธบารมีของพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตนั้นผมเขียนและแปลไว้มาก ใครสนใจลองอ่านดูใน คลังพุทธศาสนา ใครถือศรัทธาใน "พระหมอ" ย่อมไม่คลางแคลงใจว่าทำไมพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถึงทรงเชื่อใน "พระหมอ"
ผมเพิ่งอ่านบทความวิชาการอีกชิ้น เสนอว่าพระเจ้าชัยวรมันน่าจะทรงมีความรู้เรื่องงานเขียนของนักปราชญ์ชาวพุทธในอินเดียที่ชื่อ "วากภฎะ" ซึ่งเขียนตำราเรื่องอายุรเวทไว้จำนวนหนึ่ง และมีชื่อเสียงโด่งดังมาก
ตำราของวากภฎะมีตัวยาที่ใช้คล้ายกับรายชื่อตัวยาที่พบในโรงพยาบาลต่างๆ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ วากภฎะนับถือ "พระไตรสรณะ" ที่ประกอบด้วย พระพุทธเจ้า (เรียกว่า ชินะ) พระอวโลกิเตศวร (เรียกว่า ชินสุตะ คือลูกของพระชินะ) และพระตารา (หรือพระปรัชญาปารมิตา) รวมถึงนับถือภาสกร คือพระสูรยะ (แสงสว่าง)
ฟังดูแล้วคล้ายส่วนผสมที่กลายเป็นรูปเคารพที่นิยมกันในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ถามว่าตำราของวากภฎะจะมาถึงมือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้หรือไม่ เพราะสุวรรณภูมิ (ไทยและเขมร) กับมัชฌิมประเทศ (อินเดีย) ไกลกันขนาดนั้น?
ตอบว่าย่อมได้ เพราะมีตัวอย่างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 มาแล้ว สมัยนั้นมีพระอาจารย์พุทธตันตระที่มีชื่อเสียงมาก ว่า "กีรติปัณฑิตะ" ท่านได้ตำราจาก "ต่างประเทศ" มากมาย โดยเฉพาะตำรามนตรยาน/ตันตระที่นิยมกันในทิเบตและต่อมาถ่ายทอดไปยังจีนและญี่ปุ่น ท่านยังรอบรู้ในวิชาศูนยตา (นิกายมาธยมิกะ) และวิชาจิตเท่านั้น (นิกายจิตตมาตราหรือโยคาจาร) โดยรวมแล้ว คนเขมรโบราณก็รู้ในปรัชญาที่แพร่หลายกันในอินเดีย
ปรัชญาคำสอนที่ลึกซึ้งของพุทธศาสนามหายาน รวมถึงการใช้พุทธมนตร์แบบตันตระยานจึงเป็นแก่นความเชื่อของพระราชาบางองค์ในสมัยนั้น เพราะว่าเข้าถึงครูบาอาจารย์และตำรับตำราจากอินเดีย
อันที่จริงแล้ว ครูพุทธตันตระที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์บางท่านมาแวะศึกษาวิชามนต์และแสวงบุญที่สุวรรณภูมิและสุวรรณทวีปด้วย เช่น พระอโมฆวัชระ (ชาวสะมาร์คันด์ในอุซเบกิสถาน) และพระอตีศะ (ชาวเบงกอล) เป็นบูรพาจารย์พุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานในอาณาจักรต้าถัง และในทิเบตตามลำดับ
ถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ท่านกีรติปัณฑิตนั้นหาไม่ไปเกือบ 200 ปีแล้ว แต่ยังมี "คุรุ" ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คนหนึ่งชื่อ "ศรี ชัยกีรติปัณฑิตะ วระหฺ คุรุ" คือ พระครูชัยกีรติปัณฑิตผู้ประเสริฐ
ชัยกีรติปัณฑิตสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่รู้ว่าเกี่ยวดองอย่างไรกับกีรติปัณฑิตสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ผมคิดเล่นๆ ว่า น่าจะเป็นตำแหน่งพระครูผู้สืบทอดวิชามนตรยานฝ่ายพุทธหรือเปล่า?
พระครูอีกคนนั้นชื่อ "ศรี ชัยมังคลารถะเทวะ" ซึ่งน่าจะเป็นพระครูฝ่ายวิษณุ เพราะชื่อไปเหมือนกับพระครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งทำลายพุทธศาสนา และหันมานับถือพระลัทธิเทวราช สร้างปราสาทหินหลังสุดท้ายในเมืองพระนคร มอบให้พระครูชื่อมังคลารถะ
เมืองพระนครนั้นเปลี่ยนศาสนาบ่อยตามพระราชศรัทธา แต่หลักๆ แล้ววนอยู่กับลัทธิไศวะกับมหายาน
เรื่องไศวะกับตันตระของพวกพราหมณ์ในเขมรโบราณนั้นสนุกมาก แต่กลัวว่าจะยาวไป เอาคร่าวๆ ก็คือ ผมลองค้นดูแล้ว สิ่งที่เรียกว่าไสย์ดำน่าจะตกทอดมาจากพวกนี้ แต่ก็เป็นพวกนี้เช่นกันที่ส่งเสริมแนวคิดเรื่องพระเทวราช ที่ค้ำชูราชบัลลังก์เอาไว้
สรุปก็คึอ พระเจ้าชัยวรมันทรงศรัทธาในพุทธศาสนายิ่งยวดมาก ผมสรุปเอาเองว่าทรงมีจริยาดั่งพระโพธิสัตว์ เข้าใจในหลักมหายานอันลึกซึ้งได้ และเข้าถึงแนวคิดที่ทันสมัยในอินเดียยุคนั้น ทรงแทบจะไม่ได้แตะต้องพวกมนต์ "ฝ่ายซ้าย" หรือที่ต่อมาเรียกว่าไสย์ดำ ด้วยทรงอยู่บนโพธิสัตวมรรค
ทรงวางพระองค์เป็นโลเกศวร มีครูคนเดียวและพ่อคนเดียวคือพระอมิตาภพุทธเจ้าที่ประดับเหนือพระเศียร (ดังในภาพ) ทรงอยู่ฝ่ายแสงสว่างอันเจิดจ้า ด้วยพระอมิตาภพุทธมีพระนามหมายถึงแสงอันไม่มีที่สิ้นสุด ดั่งพระรูปปางโลกิเศวร มีรูปพระพุทธเจ้าฉายแสงไปทั่วพระวรกาย
ระดับโพธิสัตวจรรยาวตารนี้ หาครูมาสอนได้ยาก ส่วนใหญ่จะรู้ตัวเอง แต่ต้องมีคนช่วยประคอง ส่วนใหญ่จะต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน
ป.ล.
1. แม้แต่แนวคิดปรัชญาปารมิตา ก็มีนัยด้านมนตรยานอยู่ด้วย แม้ว่าโดยภายนอกจะเป็นปรัชญาลึกซึ้งก็ตาม แต่หากท่องบ่นมนต์ของท่านก็จะมีเดชะได้ คือ มนต์ว่า "คะเต คะเต ปาระคะเต ปารสังคะเต โพธิ สวาหา" เคล็ดฝอยของมนต์นี้อยู่ในตำราปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร แต่ผมยังค้นไม่เจอว่าที่ปรัชญาปารมิตาแพร่หลายในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใช่เคล็ดมนตรยานด้วยหรือไม่ (ส่วนตัวคิดว่าใช้)
2. แนวคิดเรื่องพระไภษัชยฯ ต้องอาศัยการภาวนาพระนามและธารณีของพระองค์ในการขอบารมีเยียวยารักษา แต่ยังมีหลักฐานบางอย่างบ่งชี้ด้วยว่าอาจมีคติเรื่อง "สัปตพุทธ" ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บูชา เพราะพบรูปวัชรธรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ คตินี้อยู่ใน "ไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสัปตพุทธปูรวปณิธานวิเศษสูตร" มีธารณีและอานิสงส์อยู่ในพระสูตรนี้ ซึ่งมีแปลเป็นไทยแล้ว
.....

Kornkit Disthan
·
แม้แต่แนวคิดปรัชญาปารมิตา ก็มีนัยด้านมนตรยานอยู่ด้วย แม้ว่าโดยภายนอกจะเป็นปรัชญาลึกซึ้งก็ตาม แต่หากท่องบ่นมนต์ของท่านก็จะมีเดชะได้ คือ มนต์ว่า "คะเต คะเต ปาระคะเต ปารสังคะเต โพธิ สวาหา" เคล็ดฝอยของมนต์นี้อยู่ในตำราปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร แต่ผมยังค้นไม่เจอว่าที่ปรัชญาปารมิตาแพร่หลายในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ใช้เคล็ดมนตรยานด้วยหรือไม่ (ส่วนตัวคิดว่าใช้)

Tarakorn Kamolprempiyakul
รูปพระนางปรัชญาปารมิตา ใช่ไหมครับ มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายใช่ถือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาฯ ใช่ไหมครับ ?

Kornkit Disthan
ปรัชญาปารมิตาครับ ถือดอกบัวกับคัมภีร์