วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 03, 2566

หนทางเดียวที่เหลือในการ #ปิดสวิตช์สว คือ การยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ


Parit Wacharasindhu (Itim) @paritw92

[ หนทางเดียวที่เหลือในการ #ปิดสวิตช์สว คือ การยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ] 
“ปิดสวิตช์ สว.” เป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการเมืองไทยตั้งแต่มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจาก มาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ได้มีการกำหนดให้ สว. ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนมีอำนาจในการเลือกนายกฯร่วมกับ สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน ซึ่งทำให้มาตรานี้นับได้ว่าเป็นมาตราที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ที่ให้ประชาชนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าเทียมกันในการกำหนดอนาคตประเทศผ่านการเลือกตั้ง 
แม้คำนี้ถูกใช้เพื่อหมายความถึงหลายสิ่งหลายอย่าง แต่สำหรับผม หัวใจสำคัญของการ “ปิดสวิตช์ สว.” คือการไม่เปิดช่องให้อำนาจ สว. ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 เข้ามามีส่วนในการแทรกแซงหรือบิดเบือนกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกนายกรัฐมนตรี ให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดไปจาก “ผลลัพธ์ตามหลักประชาธิปไตยปกติ” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจอย่างเสรีของ สส. 500 คน และพรรคการเมืองหลังปรากฎผลการเลือกตั้ง ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมมือกับใครในการจัดตั้งรัฐบาล - การปิดสวิตช์ สว. จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่เป็นปฏิปักษ์กับ สว. รายบุคคล แต่เป็นการยืนยันหลักการขั้นพื้นฐาน ว่า สว. ที่มาจากการแต่งตั้งไม่ควรมีอำนาจเลือก นายกฯ 
ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจว่าฤทธิ์เดชของมาตรา 272 สามารถนำพาสังคมไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยปกติ ได้ถึง 2 ผลลัพธ์ 
ผลลัพธ์ที่ 1 ที่ชัดเจนที่สุด คือการมี “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ผ่านการเลือกนายกฯที่ได้รับความไว้วางใจจาก สส. น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ยืมมือ สว. ในการทำให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (เช่น 150/500 สส. + 250/250 สว. = 400/750 สมาชิกรัฐสภา) ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ทั้งขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง และไม่สามารถนำไปสู่การบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
.
ผลลัพธ์ที่ 2 คือการมี “รัฐบาลเสียงข้างมากสูตรพิสดาร” ที่อาจดูไม่ได้ขัดหลักประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้งเท่ากับ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” เพราะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองที่มี สส. รวมกันเกินหนึ่ง แต่เป็นสูตรผสมของพรรคการเมืองที่ไม่ได้รวมตัวกันเพราะเจตจำนงของตนเอง แต่รวมตัวกันเพราะปล่อยให้ สว. ใช้อำนาจของเขาผ่านมาตรา 272 มาเป็นเครื่องมือในการกำหนดแทนประชาชนและตัวแทนประชาชนว่าจะให้ส่วนผสมของรัฐบาลเสียงข้างมากประกอบไปด้วยพรรคอะไร และในการบีบให้พรรคการเมืองต่างๆให้ทำตามความต้องการของ สว. 
ดังนั้น หากเราอยู่บนความเข้าใจที่ตรงกันว่า ถ้าเราอยู่ในโลกที่ไม่มีมาตรา 272 (สว. ไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ) 8 พรรคการเมืองที่ได้เซ็น MOU ร่วมกันเพื่อตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 จะยังคงตัดสินใจร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเดิมเมื่อเห็นผลการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า “ผลลัพธ์ตามหลักประชาธิปไตยปกติ” ก็คือการมีรัฐบาลที่ประกอบไปด้วย 8 พรรคดังกล่าว และการปิดสวิตช์ สว. จึงไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการทำให้อำนาจเลือกนายกฯของ สว. ไม่บิดเบือนการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นอื่นใดได้ 
รูปธรรมหรือรูปแบบของการปิดสวิตช์ สว. จึงสามารถทำได้ผ่าน 3 กลไก '
กลไก #1 = ยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ 2560 
ตรงนี้นับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอ แต่จะกระทำได้ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1 ใน 3 ของ สว. (หรือ 85 คน) ซึ่งแม้เป็นเกณฑ์ที่ท้าทาย แต่เป็นข้อเสนอที่เคนมี สว. 63 คนที่เห็นชอบตอนมีการเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วง 2563-65 
กลไก #2 = สว. โหวตให้นายกฯ ของรัฐบาลเสียงข้างมาก 8 พรรค 
ตรงนี้คือการที่ สว พร้อม “ปิดสวิตช์” ตนเองในบริบทที่มาตรา 272 ยังคงมีอยู่ เพราะหมายความว่าถึงแม้ สว. จะยังมีอำนาจเลือกนายกฯตามมาตรา 272 แต่ สว. ตัดสินใจใช้อำนาจในลักษณะที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตาม “ผลลัพธ์ตามหลักประชาธปิไตยปกติ” (รัฐบาล 8 พรรค) 
กลไก #3 = สส. ซีกตรงข้าม 10 พรรค โหวตให้นายกฯของรัฐบาลเสียงข้างมาก 8 พรรค โดยที่ไม่ร่วมรัฐบาลและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน 
แม้ผมได้อภิปรายไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. ในรัฐสภา ว่าหากเราอยู่ในกติกาประชาธิปไตยปกติ เราคงไม่คาดหวังให้ สส. ซีกที่กำลังจะเป็นฝ่ายค้าน มาโหวตให้กับนายกฯของขั้วที่กำลังจะเป็นรัฐบาล แต่หากเราทุกพรรคต้องการร่วมกันยืนยันว่า สว. ไม่ควรมากำหนดว่าใครควรได้เป็นหรือไม่เป็นรัฐบาล วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ทำให้เรานำพาสังคมไปสู่ “ผลลัพธ์ตามหลักประชาธิปไตยปกติ” (รัฐบาล 8 พรรค) ได้อย่างสำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง สว. 
ดังนั้น ในเมื่อ 
(i) สว. ได้ปฏิเสธที่จะ “ปิดสวิตช์ สว.” ผ่านกลไก #2 ในการโหวตนายกฯเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และ 
(ii) สส. ซีก 10 พรรค ได้ปฏิเสธที่จะ “ปิดสวิตช์ สว.” ผ่านกลไก #3 ในการโหวตนายกฯเมื่อวันที่ 13 ก.ค. และ 
(iii) พรรคเพื่อไทยได้ตัดสินใจยุติความพยายามในการตั้งรัฐบาล 8 พรรค 
หนทางเดียวที่เหลือในการ “ปิดสวิตช์ สว.” เพื่อประคับประคองให้ประเทศเดินไปสู่ “ผลลัพธ์ตามหลักประชาธิปไตยปกติ” ที่เคารพเสียงของประชาชนทุกคนผ่านการเลือกตั้ง คือการทำทุกวิถีทางในการปิดสวิตช์ สว. ผ่านกลไก #1 นั่นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งมีโอกาสจะถูกพิจารณาในการประชุมรัฐสภาวันที่ 4 ส.ค. นี้ 
ไม่ว่าหลายคนจะมองว่าโอกาสในการยกเลิก 272 จะท้าทายหรือริบหรี่เท่าไหร่ แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เราหยุดทำเต็มที่จนถึงวินาทีสุดท้าย เพื่อตอกย้ำว่าการเคารพผลการเลือกตั้งคือการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่เป็นธรรมและสันติในสังคมที่มีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย และเพื่อยืนยันหลักการพื้นฐานว่าอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ควรเป็นของประชาชนทุกคนทุกชุดความคิดที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง