วันพุธ, สิงหาคม 02, 2566

ทักษิณ ชินวัตร : 17 ปีในต่างแดน “ผู้นำรีโมท” ผู้ไม่เคยหยุดกดปุ่มการเมืองไทย



ทักษิณ ชินวัตร: 17 ปีในต่างแดน “ผู้นำรีโมท” ผู้ไม่เคยหยุดกดปุ่มการเมืองไทย

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว

ทักษิณ ชินวัตร วัย 74 ปี เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองไทยหลายครั้งหลายบทในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

เขาเป็นมหาเศรษฐีระดับ “หมื่นล้าน” คนแรกของไทยที่กระโจนเข้าสู่การเมืองแบบเต็มตัว ก่อนทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ภายหลังก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ได้เพียง 2 ปี 7 เดือน

เขาเป็นผู้นำพรรคการเมืองคนแรกที่มีประชาชนถึง 19 ล้านเสียงเดินตามหลัง สะท้อนผ่านคะแนนมหาชนของพรรค ทรท. ในการเลือกตั้งปี 2548

เขาเป็นผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก-คนเดียวที่อยู่ในตำแหน่งครบเทอม และยังชนะการเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 377 เสียง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

ทว่าจุดจบทางการเมืองของนายกฯ คนที่ 23 ไม่ต่างจากผู้นำการเมืองหลายคนที่ถูกประชาชนชุมนุมขับไล่ ก่อนลงท้ายด้วยการยึดอำนาจโดยกองทัพเมื่อปี 2549 ถูกตั้งสารพัดข้อหาคดีทุจริต ต้อง “ลี้ภัย” ไปใช้ชีวิตในต่างแดน

ตลอด 17 ปีที่อยู่นอกประเทศ ชื่อทักษิณไม่เคยห่างหายไปจากการเมืองไทย บ่อยครั้งที่เขาช่วยคิด-บัญชาการการเมืองจาก "แดนไกล" แต่บางครั้งก็มีคนการเมืองอ้างตัวเป็น “สายตรง” อ้างคำของทักษิณมาขับเคลื่อนวาระส่วนตนโดยที่เจ้าตัวไม่ได้สั่ง

ต่อไปนี้คือฉากสำคัญในสนามเลือกตั้งที่มี “ร่องรอยความคิด” “เงา” และ “ลายเซ็น” ของทักษิณปรากฏอยู่

ทาบ สมัคร สุนทรเวช ถือธงนำพลังประชาชน-พิสูจน์ความจงรักภักดี

พรรคไทยรักไทยที่ทักษิณก่อร่าง-สร้างมากับมือ ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อ 30 พ.ค. 2550 ด้วยข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) 111 คน เป็นเวลา 5 ปี

สิ่งที่อดีตหัวหน้าพรรค ทรท. ทำ หาใช่การ “หยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง” ตามคำสั่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ องค์กรที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 หากแต่เป็นการหา “บ้านหลังใหม่” และ “ทายาททางการเมืองคนใหม่”


สมัคร สุนทรเวช ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ คนที่ 25 เมื่อ 29 ม.ค. 2551

“นายกฯ ทักษิณก็โทรศัพท์มาบอกว่าเสียคนไปแล้ว 270 คน (สส.ทรท. ที่เหลืออยู่) จะถูกสับเป็นท่อน ๆ ก็จบกันพอดี คนเหล่านี้ไม่มีหนทางจะต่อสู้อะไรเลย” สมัคร สุนทรเวช เล่านาทีที่ได้รับเทียบเชิญจาก “คนแดนไกล” ให้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

คำพูดจากทักษิณที่เรียกความสนใจ-กระทบใจชายวัย 72 ปี (ขณะนั้น) ซึ่งอยู่ปลายสายเข้าอย่างจังคือ “จะเอาให้สูญพันธุ์”

“ผมเห็นว่าสัตว์โลกเนี่ย เวลาหาไม่ได้ เรายังไม่ให้สูญพันธุ์เลย นี่คนแท้ ๆ จะให้สูญพันธุ์ พรรคการเมืองแท้ ๆ จะให้สูญพันธุ์ ก็แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ ผมก็พิจารณา” เขากล่าวกับมติชน

ในครั้งแรก นักการเมืองอาวุโสยังไม่ได้ตกปากรับคำ-ยอมเป็นหัวหน้าใหม่ให้ลูกพรรคทักษิณ เพียงแต่รับปากว่าจะช่วยทำเวทีให้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้แทนฯ 270 ชีวิต

สมัคร ผู้เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชากรไทย เสนอให้ใช้ “บ้านหลังเก่า” ของเขาเป็นพรรคใหม่ แต่ทักษิณตรวจสอบแล้วพบว่ามีคดีความคาอยู่ในศาล เกรงเกิดปัญหาซ้ำ จึงมองหาทางเลือกอื่น ก่อนส่งคนมาพบเขาที่บ้านพักเพื่อยืนยันว่า “พรรคพลังประชาชนปลอดภัยที่สุด” เพราะอยู่ในบัญชีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองได้

สุดท้ายก็เป็นสมัครที่รับถือธงนำให้พรรคพลังประชาชน (พปช.)


ในวันได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค พปช. เมื่อ 24 ส.ค. 2550 เขาประกาศอย่างไม่ปิดบังว่า “ผมจะเป็นนอมินีให้นายกฯ ทักษิณ”


สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรค พปช. (ขวา) กับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค พปช. เป็นผู้ร่วมตำนาน "แก๊งออฟโฟร์"

เกือบ 40 ปีในโลกการเมือง สมัครผ่านมาหลายตำแหน่งแห่งที่ ไม่ว่าจะเป็น สส., รัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, ผู้ว่าราชการ กทม. ที่ได้คะแนนเสียง “ทะลุล้าน” และเป็นว่าที่ สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ทันได้เข้าสภาสูงก็ต้องพ้นจากเก้าอี้เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 ทว่าบทใหญ่ที่ไม่เคยเล่น และทักษิณคือผู้หยิบยื่นโอกาสใหม่ให้แก่เขาคือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 25

ภายหลังนำพรรค พปช. ชนะศึกเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 หอบหิ้ว สส. เข้าสภาได้ 233 ที่นั่ง จากทั้งหมด 480 ที่นั่ง ได้คะแนนมหาชน 14 ล้านเสียง พปช. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค โดยมีสมัครนั่งเก้าอี้นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม

แม้เป็นประมุขฝ่ายบริหาร แต่เขาถูกวิจารณ์ว่าไม่มีบทบาทในการจัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของตัวเอง เพราะอำนาจแท้จริงอยู่ในมือ “คนแดนไกล”

“ผมยอมรับว่าไม่พอใจตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา พูดกันง่าย ๆ ว่าบางครั้งผมรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยให้โอกาสผม แต่ผมก็พูดไม่ได้” สมัครระบายความรู้สึก พร้อมยอมรับว่าโฉมหน้าของ ครม. “ขี้เหร่นิดหน่อย”

แต่ถึงกระนั้น นักการเมืองอาวุโส ผู้มีอุดมการณ์ “ขวาจัด” ยังเดินหน้าทำภารกิจตามที่ตกลงไว้ นั่นคือ การพิสูจน์ความจงรักภักดีให้แก่อดีตนายกฯ ที่ถูกรัฐประหาร

นายกฯ คนที่ 25 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายครั้งว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ทักษิณถูกเหยียบย่ำ และจะฉุดมือขึ้นมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องไม่จงรักภักดี และการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง

“สิ่งที่ผมจะทำคุณให้นายกฯ ทักษิณ ก็คือไม่ให้เขาตายลงไปเท่านั้นเอง ผมบอกได้เลยว่าเขาไม่คิดจะกลับมาเป็นใหญ่ทางการเมือง แต่เขาต้องได้รับความเป็นธรรม คดีทุกคดีต้องขึ้นศาล” นักการเมืองฝีปากกล้ากล่าวกับมติชน

1 เดือนหลัง “นายกฯ นอมินี” เข้าทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ “ผู้นำพเนจร” ก็มีโอกาสกลับบ้านเกิดเป็นครั้งแรก-ครั้งเดียวหลังถูกยึดอำนาจ ปรากฏภาพ “กราบแผ่นดิน” เมื่อ 28 ก.พ. 2551 ซึ่งในเวลานั้น ทักษิณมีคดีความติดตัวอยู่ 2 คดี ก่อนที่ในอีก 6 เดือนต่อมา ทักษิณจะเดินทางออกนอกประเทศและไม่หวนกลับมาอีก


ทักษิณ ชินวัตร ก้ม “กราบแผ่นดิน” หลังเดินทางกลับเข้าประเทศครั้งแรกเมื่อ 28 ก.พ. 2551 นับจากรัฐประหารปี 2549

ขณะที่สมัครต้องเผชิญกับศึก 2 ด้าน ทั้ง “ศึกนอก” จากการชุมนุมต่อต้าน “นายกฯ นอมินี” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ “ศึกใน” จากก๊กก๊วนการเมืองภายใน พปช. ที่เปิดฉากช่วงชิงอำนาจคืนจากสมัครและคนใกล้ชิดอีก 3 คน ซึ่งถูกเรียกขานว่า “แก๊งออฟโฟร์” ประกอบด้วย นายกฯ สมัคร, ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค พปช. และ เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน

9 ก.ย. 2551 สมัครพ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัวตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีเป็นพิธีกรจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ส่งผลให้ฝ่ายบริหารทั้งคณะกลายสภาพเป็น ครม. รักษาการ

แม้มีความพยายามจาก “แก๊งออฟโฟร์” ในการอุ้ม “หัวหน้าสมัคร” กลับคืนทำเนียบฯ อีกครั้ง แต่ต้องเพลี่ยงพล้ำให้แก่การเดินเกมใต้ดินของ “3 ประสาน” ได้แก่ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์, ยงยุทธ ติยะไพรัช และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่นำไปสู่เหตุสภาล่มในวันนัดโหวตสมัครกลับมาเป็นนายกฯ สร้างความเจ็บปวดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตการเมืองของสมัคร

ก่อนที่ สส. จะพร้อมใจกันโหวตเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีเยาวภา และน้องเขยทักษิณ ให้เป็นนายกฯ คนที่ 26 ทว่าทำหน้าที่ได้ไม่ถึง 3 เดือนก็ถูกสอยลงจากอำนาจ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรค พปช. จากกรณี กก.บห. ทุจริตเลือกตั้ง พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิการเมือง กก.บห. 37 คน


สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค พปช. และน้องเขยทักษิณ ได้รับเลือกจากสภาเมื่อ 17 ก.ย. 2551 ให้เป็นนายกฯ คนที่ 26

ผลจากการยุบพรรค พปช. ได้นำไปสู่การพลิกขั้วการเมือง โดยกลุ่มเพื่อนเนวินได้ประกาศ “ย้ายข้าง-แยกทาง” จากพรรค-พวกทักษิณ แล้วหันไปโหวตสนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขึ้นเป็นนายกฯ คนใหม่

ทิ้งวาทะอันลือลั่น “ทุกอย่างจบแล้วครับนาย” จากปากเนวิน ในขณะที่ “นายใหญ่” ต่อสายตรง-กรอกคำต่อว่าลูกน้องคนสนิทว่า “ไม่สำนึกบุญคุณ”

ส่ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรก

พลันที่พรรคทายาทอันดับที่ 2 ของไทยรักไทยถูกยุบไป พลพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชนจึงต้องหาบ้านหลังใหม่ เพื่อรักษาสมาชิกภาพ สส. เอาไว้ คราวนี้ได้พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นพรรคทายาทอันดับที่ 3 แต่จงใจให้ “โนเนม” นั่งเก้าอี้ กก.บห. ชุดแรก เพื่อความปลอดภัยในการถูกยุบพรรคเป็นหนที่ 3

เมื่อฤดูเลือกตั้งใกล้มาถึง ทักษิณ “งัดไม้ตายทางการเมือง” ส่งเลือดแท้ชินวัตรลงสนาม ทั้งในฐานะผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับ 1 และแคนดิเดตนายกฯ หญิง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้อง วัย 44 ปี (ขณะนั้น) คือคนที่ถูกเลือกโดยที่ประชุมพรรค พท. เมื่อ 16 พ.ค. 2554

ทักษิณซึ่งพำนักอยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นส่วนใหญ่ จนได้ฉายาใหม่ว่า “นายห้างตราดูไบ” การันตีในความรู้และความสามารถของน้องสาวรายนี้

เขาบอกใครต่อใครว่า ยิ่งลักษณ์ “โคลนนิง” เขามาตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดแม่เหมือนกัน, โตมาด้วยกัน ประหนึ่งเป็น “ลูกสาวคนโต” ของเขาก็ว่าได้ และเมื่อเรียนจบ น้องปูก็มาทำงานที่ชินคอร์ปฯ ด้วยกัน โดยมีพี่ษิณคอยสอน

อดีตนายกฯ ผู้พี่เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ในพรรค พท. เลือกยิ่งลักษณ์โดยให้เหตุผลว่า “เหมาะสมที่สุด” แม้ตอนแรก ๆ เธอจะออกอาการแบ่งรับ-แบ่งสู้ เพราะไม่สนใจการเมือง และอยากทำงานในภาคธุรกิจมากกว่า

“แต่พอบอกว่ามันเป็นจังหวะเวลาเหมาะสมที่สุดแล้วที่จะเป็น เขาก็ยอม” ทักษิณเล่าเบื้องหลัง


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอตัวเป็นนายกฯ ในนามพรรคเพื่อไทย ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554 โดยประกาศว่า “พรรคเพื่อไทยพร้อมสร้างความปรองดอง และไม่คิดจะแก้แค้น แต่จะแก้ไข”

เมื่อน้องคนเล็กยอมเดินตามรอยเท้าพี่ ทักษิณซึ่งเป็น “ต้นตำรับนโยบายประชานิยม” และ “ผู้นำในตำนานไทยรักไทย” จึงทั้งออกแรงดัน-แรงหนุน คอยประคับประคองอย่างเต็มที่

ในวันประกาศนโยบายหาเสียงของพรค พท. ภายใต้คำขวัญ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เมื่อ 23 เม.ย. 2554 ทักษิณปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ขอบคุณขุนพลเศรษฐกิจที่ช่วยกันคิดนโยบายแล้ว "รวบรวมมาในวันนี้ เพื่อประทับตรานายห้างตราดูไบห่อ” นอกจากนี้ยังโฟนอินและวิดีโอลิงก์ไปช่วยปราศรัยในหลายเวที อาทิ เชียงใหม่, สุรินทร์ ฯลฯ

หลังเดินสายหาเสียง 49 วัน ยิ่งลักษณ์ เจ้าของคำขวัญ “แก้ไข ไม่แก้แค้น” นำพรรค พท. ชนะศึกเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ด้วยยอด ส.ส. 265 ที่นั่ง ได้คะแนนมหาชน 15.7 ล้านเสียง

ในคืนก่อน-หลังวันเลือกตั้ง “นายห้าง” ปักหลักอยู่ที่ดูไบ โดยมีสื่อมวลชนทั้งเทศและไทยไปรอสัมภาษณ์เขาเป็นจำนวนมาก

ทักษิณเล่าว่า พรรค พท. ทำโพลหลายร้อยรอบและเป็นระบบ ทำให้เชื่อมั่นเกินร้อย

“โพลที่พรรคทำออกมาทุกครั้ง จ้างบริษัทฝรั่งเดิมกับที่พรรคไทยรักไทยเคยจ้างนั่นแหละ ออกมา 300 กว่าทุกครั้ง แต่ที่เพื่อไทยต้องประกาศออกไปว่าจะได้ สส. 260-270 เสียง เป็นเพราะต้องลดระดับลงมา เผื่อค่าความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ที่สำคัญคือหากเพื่อไทยประกาศตัวเลขเยอะ ๆ ออกไป จะทำให้มีการโกงการเลือกตั้งเยอะขึ้นด้วย”

เมื่อตัวเลขจริงออกมาผิดไปจากโพลภายในของพรรคถึง 40 ที่นั่ง ทักษิณบอกเพียงว่า “ไม่เป็นไร จบเป็นจบ วันนี้ชนะแล้ว”

“วันนี้เลือกมาไม่ผิดหรอกครับ ชนะการเลือกตั้ง ก็ถือว่าถูกไปเกินครึ่งแล้ว จะเหลือก็แค่ทำงานให้ได้เท่านั้น” ทักษิณกล่าวกับมติชน


ผู้สนับสนุนให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ขณะเดินทางไปศาลเพื่อต่อสู้คดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เมื่อ 5 ส.ค. 2559

อดีต “นายกฯ ผู้พี่” ยังพูดถึงภารกิจของรัฐบาล “นายกฯ ผู้น้อง” ว่ามี 2 เรื่องหลักคือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความปรองดอง ซึ่งเขามองว่าความรุนแรงในการต่อต้านตัวเขาลดลงมาก และยืนยันว่าไม่คิดล้างแค้นฝ่ายตรงข้าม

“หากรัฐบาลหรือคุณยิ่งลักษณ์อยากปรึกษา ผมก็จะให้คำปรึกษา ถ้าไม่อยากปรึกษา ผมก็จะเดินทางและทำงานไปเรื่อย ๆ”

ส่วนการจัด ครม. “เขาอาจจะตั้งกันแล้วมาถามผม เพราะผมรู้จักคนเยอะกว่า ก็อาจจะให้ข้อมูลไป แต่การตัดสินใจเป็นของคุณยิ่งลักษณ์และคณะกรรมการบริหารพรรค ผมไม่เกี่ยวแล้ว”

ในค่ำคืนแห่งการฉลองชัยชนะของเพื่อไทย ทักษิณยอมรับกลางวงสื่อมวลชนว่า “การกลับประเทศไทย เป็นความฝันอย่างหนึ่งของผม” แต่ “การจะเอาผมกลับไป ต้องไม่เป็นการเติมไฟแห่งความขัดแย้ง แต่ต้องไปดับไฟมากกว่า”

ทว่าในอีก 2 ปีต่อมา ความพยายามเอาทักษิณกลับบ้านด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่เมื่อ 31 ต.ค. 2566 ก่อนยกระดับเป็นขบวนการขับไล่รัฐบาลน้องสาวโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กปปส.

เส้นทางการเมืองของนายกฯ หญิงจึงซ้ำรอยทักษิณ ถูกชุมนุมประท้วงขับไล่ ต้องพ้นจากอำนาจไปด้วยรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 หนีคดีทุจริต-ไปใช้ชีวิตในต่างแดนตั้งแต่ ส.ค. 2560 เส้นทางของ 2 พี่น้องจึงเดินมาบรรจบกันอีกครั้ง


การชุมนุม กปปส. นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยุติลงด้วยรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ลายเซ็นทักษิณในปรากฏการณ์ “แผ่นดินไหวทางการเมือง” ของ ทษช.

สนามเลือกตั้งเป็นจุดขาย-จุดแข็งของ “ผู้เล่น” อย่างทักษิณ ไม่ว่ากติกาเป็นอย่างไร เขาสามารถปรับตัว มองหาช่องว่าง-ช่องโหว่ แล้วพลิกมาเป็น “ผู้กำหนดเกม” ให้คนอื่นเล่นตามได้เสมอ

เฉกเช่นการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กติกาที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 โดยมีการนำระบบจัดสรรปันส่วนผสมมาใช้เป็นครั้งแรกของไทยและของโลก กำหนดสูตรคำนวณ “สส.พึงมี” เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคใดครองเสียงข้างมากในสภาได้

ระดับนำของเพื่อไทยประเมินว่า แม้พวกเขาชนะในเขตเลือกตั้ง แต่อาจไม่ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว กลายเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ย่อย” โดยให้อดีต สส.เขตเกรดเอ ในภาคเหนือและภาคอีสานลงสนามภายใต้ชื่อเพื่อไทย ส่วนอดีตผู้สมัครเกรดบีไปเก็บกวาดคะแนนที่เคยเป็นเสียงตกน้ำในภาคใต้ กลาง และตะวันออก กลับมาให้ “พรรคน้อง” ที่ชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โดยมีบรรดา “คนดัง” ทั้งอดีตรัฐมนตรีและอดีตแกนนำคนเสื้อแดง “แตกทัพ” ออกจากเพื่อไทยไปเป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ของ ทษช.

การแบ่งบทระหว่าง พรรคเขต-พรรคปาร์ตี้ลิสต์ น่าจะดำเนินไปด้วยดี และทำให้ 2 พรรคได้ที่นั่งในสภาเป็นกอบเป็นกำ หากไม่เกิด “แผ่นดินไหวทางการเมืองไทย” ขึ้นเสียก่อน จากการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค ทษช. เมื่อ 8 ก.พ. 2562

ในวันนั้น ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช. กล่าวเพียงว่า “สมาชิกคนหนึ่งเสนอพระนาม ซึ่งกรรมการบริหารพรรคเห็นพ้องต้องกัน มีมติว่าเป็นรายชื่อที่มีความเหมาะสมที่สุด หลังจากนั้นเราได้ติดต่อประสาน พระองค์เองก็มีพระเมตตาตอบรับและยินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามพระองค์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ ในนามของพรรค”


ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช. เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค ต่อสำนักงาน กกต. เมื่อเวลา 09.10 น. ของวันที่ 8 ก.พ. 2562

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครคือเจ้าของข้อเสนอ “สะเทือนแผ่นดิน” แต่นักรัฐศาสตร์และสื่อต่างประเทศวิเคราะห์ตรงกันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของทักษิณในการเล่นเกมการเมืองแบบชนชั้นนำที่เชื่อว่าทุกอย่างจะสงบราบเรียบได้หากอีลีทมาเจรจาต่อรองกัน

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า “ซูเปอร์ดีล” นี้มีลายเซ็นของทักษิณประทับอยู่

"ในที่สุดการเดินหมากที่อันตรายนี้ก็ชี้ให้เห็นว่ามันเกิดผลลัพธ์อย่างไร โดยเฉพาะถ้าไทยรักษาชาติถูกยุบขึ้นมา ก็ต้องถือว่าเป็นการเดินหมากที่เสียหายของคุณทักษิณ" รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวกับบีบีซีไทย

ขณะที่ทักษิณปฏิเสธว่า ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเสนอชื่อ "เป็นเรื่องของพรรค ไม่ใช่ของผม ผมอยู่เมืองนอกในฐานะผู้สังเกตการณ์ เป็นกองเชียร์เฉย ๆ"

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดข้อห้ามมิให้คนนอกก้าวก่ายแทรกแซงกิจการของพรรคการเมือง และมีโทษถึงขั้นยุบพรรค

ในระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษบีบีซีไทยเดือน มี.ค. 2562 ทักษิณบอกว่า "เราไม่เคยคิดดึงฟ้าต่ำ เรามีแต่ยกฟ้าสูง”

อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า "ผมเป็นเพื่อนกับท่านมาสามสิบปี ตั้งแต่สมัยท่านยังอยู่กับปีเตอร์ เจนเซ่น และก็คบกัน ท่านให้เกียรติกับผมเหมือนเป็นเพื่อนคนหนึ่ง เป็นลักษณะใกล้ชิดกันเหมือนเพื่อน ผมรู้อุปนิสัยท่านดีว่าขยัน ชอบทำงาน และอยากเห็นบ้านเมืองดี"

ทูลกระหม่อมหญิงฯ ทรงอาสาทำหน้าที่นายกฯ ในบัญชี ทษช.
พระราชโองการ ร.10 "พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์...ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดใดในทางการเมืองได้"
สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันฯ


ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เสด็จร่วมงานฉลองมงคลสมรส ระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร กับ ปิฎก สุขสวัสดิ์ ที่ รร. ในเกาะฮ่องกง เมื่อ 22 มี.ค. 2562 โดยมีทักษิณถวายการต้อนรับ

“อาฟเตอร์ช็อก” ที่ตามมาหลังแผ่นดินไหวทางการเมืองคือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทษช. เมื่อ 7 มี.ค. 2562 ทำให้ 100 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัคร สส. ไม่ว่าในนาม ทษช. หรือ พท. ที่หลีกทางให้ตามยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์ย่อย” ซึ่งวางกันไว้ก่อนหน้านี้

“พรรคพี่” อย่างเพื่อไทยลุยเดี่ยวในสนามเลือกตั้ง แม้ยังรักษาสถานะ “พรรคอันดับ 1” ในสนามเลือกตั้งเอาไว้ได้ แต่ก็เหลือ สส. เพียง 136 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และต้องประสบความปราชัยในศึกชิงเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้แก่ฝ่าย “นายกฯ หน้าเดิม” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาวามสงบแห่งชาติ (คสช.) และแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

“เดิมพัน” กับ “ดีลลับ”

กับการเลือกตั้งล่าสุด 14 พ.ค. 2566 ถือได้ว่าทักษิณวาง “เดิมพัน” สูงสุด ทั้งจากการเปิดตัว แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” บุตรสาวคนสุดท้อง ในฐานะผู้สืบทอดกิจการการเมือง และการเปิดปาก-ประกาศ “ขออนุญาต” กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน โดยไม่มีใครคาดคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายทักษิณเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี

ในวันตัดสินใจเข้าสู่การเมือง ประเดิมจากตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม แพทองธารประกาศบนเวทีประชุมใหญ่ของพรรคเมื่อ 28 ต.ค. 2564 ว่า “พ่อไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทย” และ “ปรารถนาอย่างมากที่จะได้กลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง”

ต่อมา ลูกทักษิณมีบทบาทเพิ่มเป็น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรค พท.

“ผู้นำครอบครัวเพื่อไทยเป็นสายเลือด เป็นดีเอ็นเอของคนที่มีเจตนาที่จะสร้างบ้าน สร้างเมืองนี้ในนามของพรรคไทยรักไทย” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค พท. กล่าวเมื่อ 20 มี.ค. 2565 ในงานเปิดตัวหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

คำว่า “ดีเอ็นเอทักษิณ” กลายเป็นจุดขายของพรรคสีแดงในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้อุ๊งอิ๊งต้องตอบคำถามสื่ออยู่เนือง ๆ เรื่อง “พรรคชินวัตร”, การขอคำปรึกษาพ่อเรื่อง “จับขั้วรัฐบาล” รวมถึงแผน “พาพ่อกลับบ้าน”


แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยมี 3 คนคือ ชัยเกษม นิติสิริ, แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน (จากซ้ายไปขวา) แต่ทักษิณบอกกับลูกพรรคเมื่อ 26 ก.ค. ว่า “เศรษฐาน่าจะไปอยู่ทำเนียบฯ”

ท้ายที่สุดผลเลือกตั้งออกมาว่า พรรค พท. ได้ สส. 141 ที่นั่ง ห่างไกลจากเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” 310 ที่นั่ง ไปกว่าเท่าตัว และตามหลังพรรคอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อยู่ 10 ที่นั่ง แต่แผนกลับบ้านของทักษิณ ซึ่งต้องคำพิพากษาศาลให้จำคุก 12 ปี จาก 4 คดี (คดีขาดอายุความไปแล้ว 1 คดี เหลือโทษจำคุกรวม 10 ปี) ยังเดินหน้าตามเดิมแบบเงียบ ๆ

กระทั่งพรรค ก.ก. ประกาศ “ปล่อยมือ” ให้พรรค พท. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 21 ก.ค. หลัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคสีส้ม แพ้โหวตกลางรัฐสภา ได้เสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่คอการเมืองหลายคนไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นในช่วง 22-23 ก.ค. ระหว่างพรรค พท. เปิดบ้านต้อนรับแกนนำ 5 พรรคการเมืองที่อยู่ “ต่างขั้ว” เพื่อพูดคุยหาทางออกประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นภาพ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กลับไป “บ้านหลังเก่า” หรือภาพ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ควงเลขาธิการพรรค เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตแกนนำ กปปส. เดินอยู่ในพรรค พท. เพื่อตอกย้ำจุดยืน-คำสำคัญที่ว่า “ไม่แก้มาตรา 112” และ “ไม่เอาพรรคก้าวไกล”


อนุทิน ชาญวีรกูล เหลียวหลังดูหนังสือ “นายเก่า” ที่วางอยู่บนชั้นในระหว่างพบปะพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. เมื่อ 21 ก.ค.


แกนนำพรรค พท. และ รทสช. ตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันที่ พท. เมื่อ 21 ก.ค.

ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับสลับขั้ว” โดยมีคนการเมืองมากหน้าหลายตาบินไปพบทักษิณที่เกาะฮ่องกง มีภาพและข้อมูลปรากฏทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์ ยังไม่มีคำปฏิเสธใด ๆ จากอดีตนายกฯ ที่ถูกพาดพิง

คำยืนยันเดียวที่หลุดจากปากบุตรสาวคือ วัน ว. เวลา น. ในการกลับบ้านของทักษิณ 10 ส.ค. พร้อมยืนยันว่า “ไม่ใช่เรื่องการเมืองแน่นอน”



หมายเหตุ: ข้อมูลบางส่วน บีบีซีไทยเรียบเรียงจาก 1. หนังสือ “ฉะแฉฉาว 2 เล่ห์…ลมปากการเมืองไทย” (สำนักพิมพ์มติชน, 2551) 2. หนังสือ “ฉะแฉฉาว 3 สะกดรอยความขัดแย้ง” (สำนักพิมพ์มติชน, 2552) 3. หนังสือ “กลการเมือง เกมอำนาจ ยุคไพร่ผงาด อำมาตย์ซ่อนเล็บ” (สำนักพิมพ์มติชน, 2555)