วันพุธ, สิงหาคม 02, 2566

นพพร ศุภพิพัฒน์: ผู้ลี้ภัยคดี 112 ชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า ได้ค่าชดใช้กว่า 3 หมื่นล้านบาท นายนพพร เคยให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทยเมื่อ 2557 ว่า เขาตกเป็นเหยื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี และคดีมาตรา 112 เป็นเหตุผลสำคัญให้เขาตัดสินลี้ภัยทางการเมือง เพราะคดีนี้ไม่สามารถประกันตัวได้ ซึ่งเขาเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต

นพพร ศุภพิพัฒน์ ปฏิเสธคำขอสัมภาษณ์ของบีบีซีไทย

นพพร ศุภพิพัฒน์: ผู้ลี้ภัยคดี 112 ชนะคดีโกงหุ้นโรงไฟฟ้า ได้ค่าชดใช้กว่า 3 หมื่นล้านบาท

1 สิงหาคม 2023
บีบีซีไทย

ศาลอังกฤษตัดสินเมื่อ 31 ก.ค. ให้ นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) หลังถูกนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH

ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำเลยที่ 10 และ นายอาทิตย์ นันทวิทยา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จำเลยที่ 11 รวมทั้งนางคาดีจา บิลาล ซิดดีกี จำเลยที่ 5 รอด

ผู้ถูกฟ้องสำคัญคนอื่น ๆ ในคดี ได้แก่ นายณพ ณรงค์เดช ลูกชายคนกลางของ นายเกษม ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนนายเกษม ผู้เป็นบิดา ตกเป็นจำเลยที่ 14 และจำเลยที่ 15 คือ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ และภรรยาของ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับ

ส่วนนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของ SCB และเจ้าของสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศ Weerawong, Chinnavat & Partners (WCP) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของนายณพ เป็นจำเลยที่ 13 และ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการของ WEH เป็นจำเลยที่ 16

นีล แคลเวอร์ (Neil Calver) ผู้พิพากษาแห่งศาลพาณิชย์ (Commercial Court) ของอังกฤษ มีคำตัดสินเมื่อ 31 ก.ค. 2566 ว่านายณพและพวก (ยกเว้น จำเลยที่ 5, 10, และ 11) ร่วมกันกระทำละเมิดโดยมิชอบและต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 432 ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย และสั่งให้ชดใช้ความเสียหายรวมกันทั้งเงินค้างชำระและดอกเบี้ยรวมกันเป็นมูลค่าราว 900 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่นายนพพรฟ้องเรียกไป 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

*อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 27 ก.ค. จากเว็บ SCB อยู่ที่ 34.41 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 432 ระบุว่า “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่า ในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย

ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

บีบีซีไทยได้เดินทางไปที่ศาลแพ่งอังกฤษ ในกรุงลอนดอน เพื่อติดตามผลการตัดสิน และพยายามขอสัมภาษณ์นายนพพร ศุภพิพัฒน์ เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ


ไล่จากซ้ายไปขวา ดร.เกษม ณรงค์เดช จำเลยที่ 14, ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 1 และ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา จำเลยที่ 15

โจทก์ 4 จำเลย 17

ฝ่ายโจทก์ มี 4 ราย (นายนพพร และบริษัทของเขา) ได้แก่

1) นายนพพร ศุภพิพัฒน์

2) บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด

3) บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด

4) บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จำกัด

จำเลย มี 17 ราย (ผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร WEH, SCB และผู้บริหาร SCB) ได้แก่

1) นายณพ ณรงค์เดช

2) นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ อดีต CEO ของ WEH

3) นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหาร WEH และ REC

4) นายอามาน ลาคานี อดีตผู้บริหาร WEH

5) นางคาดีจา บิลาล ซิดดิกี ภรรยานายลาคานี

6) บริษัท คอลัมม์ อินเวสต์เมนท์ส จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก

7) บริษัทเคเลสตัน โฮลดิงส์ จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก

8) บริษัท เอแอลเคบีเอส จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนที่สหรัฐอเมริกา มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก

9) บริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด บริษัทที่จดทะเบียนในฮ๋องกง

10) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

11) นายอาทิตย์ นันทวิทยา

12) บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด

13) นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ

14) ดร.เกษม ณรงค์เดช

15) คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา

16) นายประเดช กิตติอิสรานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง WEH
17) นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ อดีต CFO ของ KPN Group ของตระกูลณรงค์เดช


นพพร ศุภพิพัฒน์ (ซ้าย), ณพ ณรงค์เดช (กลาง), อาทิตย์ นันทวิทยา (ขวา)

นอกจากนี้ ผู้พิพากษาแคลเวอร์ยังเห็นว่า นายณพ, นายณัฐวุฒิ, นายวีระวงค์ และบรรดาผู้บริหารของ WEH มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่ระบุว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“ในประเด็นการเคลื่อนย้าย ปกปิด หรือโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นด้วยความจงใจที่จะสกัดกั้นไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้นั้น ศาลเห็นว่า เรื่องนี้เป็นแผนการยักยอกทรัพย์สินที่ดำเนินการโดยจำเลยที่เกี่ยวข้องซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการขัดขวางไม่ให้บริษัทต่าง ๆ ของนายนพพร ได้รับการชำระเงินในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทต่าง ๆ ของนายณพ จากข้อเท็จจริงที่ศาลพบ เป็นมุมที่ตื้นเขินเกินไปที่มองว่าการโอนหุ้นกรณีเกษมเป็นเรื่องแยกส่วนจากการโอนต่อ ๆ มา” ผู้พิพากษา ระบุ

ปิดม่าน 9 ปีคดีความ ?

คำตัดสินดังกล่าวเป็นความคืบหน้าสำคัญในข้อพิพาททางธุรกิจที่กินเวลา 9 ปี นับจากที่นายนพพร นักธุรกิจหนุ่มดาวรุ่ง เศรษฐีด้านโรงไฟฟ้าพลังลม หนีออกนอกประเทศหลังตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปลายปี 2557 แล้วหาตัวแทนอำพราง (nominee) มาถือหุ้นในบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้ง

จนนำมาสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากนายณพ ณรงค์เดช ผู้ซื้อหุ้น, ธนาคารไทยพาณิชย์ผู้ปล่อยกู้ให้นายณพ และการฟ้องร้องระหว่าง ครอบครัวณรงค์เดช กับ นายณพ ในเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และเรื่องอื่น ๆ

ข้อพิพาทนี้ทำให้ WEH ต้องเลื่อนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ไปจนกว่าคดีความจะสิ้นสุด โดยนายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ CEO คนปัจจุบัน ของ WEH ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์ เมื่อ ต.ค. ปีที่แล้ว (2565) คาดว่าคดีความทั้งหมดจะคลี่คลายได้ภายในปลายปี 2566 และทำ IPO ได้ภายในปี 2567-2568


ณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 1

ในคดีที่อังกฤษ นายนพพรกล่าวหาจำเลยทั้ง 17 ว่าสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่า โดยศาลพาณิชย์ ซึ่งเป็น 1 ในศาลชำนัญพิเศษ ภายใต้ศาลธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ (Business and Property Courts) ของอังกฤษ กำหนดเวลาสืบพยานทั้งสิ้น 17 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่กลาง ต.ค. 2565 และสิ้นสุดเมื่อต้น มี.ค. ปีนี้


หลังจากนั้น เมื่อ 24 ก.ค. 2566 ศาลได้ส่งร่างคำตัดสินให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนออกคำพิพากษาเป็นทางการในวันที่ 31 ก.ค. 2566

ลำดับคดีผู้ลี้ภัย ม. 112 ฟ้อง SCB, ณพ ณรงค์เดช และพวก
อาทิตย์ นันทวิทยา นำทีม SCB X ชี้แจงศาลอังกฤษ
นพพร ศุภพิพัฒน์ VS ณพ ณรงค์เดช + SCB ลุ้นคำตัดสินศาลอังกฤษ

การที่ศาลอังกฤษสามารถพิจารณาคดีที่โจทก์เป็นคนไทย และมีจำเลยเป็นชาวไทยและอังกฤษได้ เนื่องจาก จำเลยที่ 2 คือ นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ (Emma Louise Collins) อดีตซีอีโอของ WEH มีสัญชาติอังกฤษ ซึ่งกฎหมายของอังกฤษอนุญาตให้ศาลอังกฤษมีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดนอกประเทศได้ และจำเลยอื่น ๆ ในคดีนี้ที่ไม่มีสัญชาติอังกฤษก็ไม่ปฏิเสธขอบเขตอำนาจของศาลอังกฤษ

การพิจารณาคดีนี้ ศาลอังกฤษนำกฎหมายไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง เบลิทซ์ และ หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน (BVI) และกฎหมายล้มละลายของอังกฤษ (Insolvency Act 1986) มาประกอบการพิจารณาคดี

ในตอนหนึ่งของคำตัดสินความยาว 419 หน้า ผู้พิพากษาแคลเวอร์ระบุว่า ไม่เชื่อในสิ่งที่นายณพ จำเลยที่ 1 ให้การที่ศาลในกรุงลอนดอนระหว่าง 21-24 พ.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งนายณพให้การว่า “มีความหวังและตั้งใจทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับ” นายนพพร ในการชำระหนี้

“เขาอ้างว่าเขาหวังว่ามรดกที่วาดหวังว่าจะได้รับ และ ‘อีกแหล่งรายได้’ จะเพียงพอ ศาลไม่ถือว่าสิ่งนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้”

สรุปคดีหลัก

ช่วงปี 2552 - 2557 นายนพพรถือหุ้น WEH เป็นจำนวน 59.46% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัท รีนิวเอเบิล เอนเนอยี คอร์เปอร์เรชั่น จํากัด (REC) โดยบริษัท REC มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด, บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จำกัด และบริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ซึ่งทั้ง 3 บริษัทก็เป็นบริษัทของนายนพพรเอง ถือหุ้น REC รวม 97.94% ของทั้งหมด

จนปลายปี 2557 นายนพพรถูกกล่าวหาด้วยคดีอาญาหลายคดี รวมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีการกดดันจาก SCB และกรรมการของ WEH ให้นายนพพร ขายหุ้น WEH เพื่อรับการสนับสนุนทางการเงินจาก SCB สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้า และในปี 2558 นายณพ ได้ขอซื้อหุ้นจากนายนพพร โดยนายณพได้จัดตั้ง 2 บริษัทขึ้นมาทำสัญญาซื้อหุ้น จากกลุ่มบริษัทของนายนพพร คือ
  • บริษัท ฟูลเลอร์ตัน เบย์ อิน เวสต์เมนต์ ลิมิเต็ด ซึ่งนายณพ มีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์เพียงผู้เดียว
  • บริษัท เคพีเอ็นเอนเนอยี โฮลดิ้ง จํากัด (KPNEH) ซึ่งนายณพถือหุ้น 40%, บริษัทฟูลเลอร์ตัน ถือ 20% โดยหุ้นส่วนที่เหลือมี นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ และ นายธันว์ เหรียญสุวรรณ อดีตผู้บริหารและกรรมการของบริษัท WEH ถือคนละ 20%
การทำสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท REC ของ นายนพพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ใน WEH ให้นายณพ แบ่งเป็นสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่
  • สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท ซิมโฟนี่ พาร์ตเนอร์ส จํากัด ขายหุ้น 49% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด ให้กับบริษัท ฟูลเลอร์ตัน ของนายณพ
  • สัญญาซื้อขายหุ้น REC ที่บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสต์เมนท์ส จํากัด และบริษัทไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ส จํากัด ของนายนพพร ขายหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้กับ KPNEH ของ นายณพ

SCB หยุดปล่อยสินเชื่อ จนกว่าจะมั่นใจว่า WEH ไม่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112

ต่อมา นายนพพร ได้ยื่นฟ้อง SCB ผู้บริหาร SCB และผู้บริหารและกรรมการของ WEH รวม 17 ราย เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะไม่ได้รับการชำระเงินส่วนที่เหลือจากนายณพ และหุ้นที่ได้ขายไปนั้น ได้มีการโอนไปให้ผู้อื่น จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคดีหลักต่อศาลอังกฤษ

ทนายความของนายนพพร ระบุว่า ฝ่ายจำเลยสมคบกันใช้อำนาจในการจัดการเอกสารสำคัญ ในช่วงปี 2557–2561 จูงใจให้นายนพพรและบริษัทในเครือของเขาขายหุ้น REC ในราคาต่ำกว่าราคายุติธรรมให้กับบริษัทของนายณพ โดยในช่วงที่มีการซื้อขาย หุ้นมีมูลค่า 872 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นายนพพรกลับได้รับเงินเพียง 176 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฝ่ายโจทก์ระบุว่า จำเลยบางรายบิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจูงใจให้ตนขายหุ้น REC ให้กับบริษัทของ นายณพก่อน โดยหลอกว่าตนจะมีสิทธิในการซื้อหุ้น WEH คืนได้ด้วยสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง (call options) แต่หลังจากที่นายนพพรโอนหุ้น REC ไปยังบริษัทของนายณพแล้ว กลับมีการโอนหุ้น WEH ออกจาก REC ให้จำเลยหลายราย ซึ่งเป็นการกีดกันไม่ให้นายนพพรสามารถเข้าถึงหุ้น WEH ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นบริษัท WEH และผู้บริหาร SCB ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ใครเป็นนอมินีใคร

ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลอังกฤษ โจทก์นำเอกสารจากประเทศเบลิทซ์ มาแสดงต่อศาลว่า มีคำสั่งระงับการโอนหุ้นของ WEH จำนวน 800,000 หุ้น ซึ่งอยู่ที่ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด (Cornwallis) จำเลยที่ 12 ซึ่งจดทะเบียนในประเทศเบลิทซ์ โดยบุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือใช้ศัพท์เทคนิคว่า Ultimate Beneficial Owner (UBO) คือ นายอาจ เสรีนิยม

โจทก์กล่าวหาต่อศาลว่า นายอาจ คือ ตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี ของนายอาทิตย์ การโอนหุ้นครั้งนี้คือการที่นายณพติดสินบนนายอาทิตย์ นอกจากนี้ ทนายโจทก์ยังได้นำพยานโจทก์ปากหนึ่งมาเบิกความต่อศาลว่านายอาจเป็นเพื่อนสนิทของนายอาทิตย์ ซึ่งผู้บริหารของ SCB ต่างก็ทราบเรื่องนี้

“นี่ไม่ใช่ข่าวลือนะครับ... ผมได้ยินเรื่องว่าเป็นนอมินีของคุณอาทิตย์ไม่ใช่จากแหล่งเดียวนะ แต่หลายแหล่งทีเดียว ผมว่าประมาณ 4-5 แหล่งที่น่าเชื่อถือทีเดียว” ศรีสันต์ จิตรวรนันท์ พยานโจทก์ ตอบคำถามทนายจำเลยในศาลว่าสิ่งที่เขาได้ยินมานั้นเป็นข่าวลือหรือไม่


นาย อาทิตย์ นันทวิทยา

ในเอกสารสรุปคำให้การต่อศาลของนายอาทิตย์ และนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ลงวันที่ 17 ก.พ. 2566 จำเลยทั้งสองชี้แจงเรื่องนี้ว่า “ข้ออ้างเรื่องสินบนที่เกี่ยวกับคอร์นวอลลิสเป็นเรื่องที่ก็ยอมรับแล้วว่าคาดเดากันไปเอง (และโจทก์ไม่เคยพิสูจน์ข้ออ้างนั้น)”

ในเอกสารคำให้การปิดคดีของฝ่ายโจทก์ ลงวันที่ 10 ก.พ. 2566 ระบุว่า เมื่อ 5 ก.ค. 2561 นายนพพรได้เขียนจดหมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ร้องเรียนข้อกังวลหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสินบนที่นายอาทิตย์ได้รับในรูปของหุ้น WEH ที่โอนไปที่คอร์นวอลลิส โดยมีเจ้าของบัญชีที่แท้จริง คือ นายอาจ ที่ทำหน้าที่เป็นนอมินีของนายอาทิตย์

ต่อมา นายณพทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 17 ก.ค. 2561 อธิบายว่านายอาจ เป็นนอมินีแทนของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ไม่ใช่นายอาทิตย์

“เนื่องจากคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ไม่ประสงค์จะเปิดเผยต่อผู้อื่นว่าตัวเองเป็นเจ้าของหุ้นหรือผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด ข้าพเจ้าจึงแนะนำนายอาจ ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าพเจ้าและเป็นคนที่ข้าพเจ้าไว้วางใจ เป็นเจ้าของผลประโยชน์ของ บริษัท คอร์นวอลลิส จำกัด ในนามของคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา คุณอาจ เสรีนิยม และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา ทำสัญญาตัวแทนลงวันที่ 19 ก.พ. 2561 รายละเอียดตามเอกสารแนบ นายอาจ เสรีนิยม ไม่มีผลประโยชน์และส่วนได้เสียใน คอร์นวอลลิส และ WEH แต่อย่างใด”

เอกสารของฝ่ายโจทก์ต่อศาลยังอ้างคำให้การของนายอาทิตย์ในศาลอังกฤษว่า เขาเป็นคนบอกนายณพให้เป็นผู้ทำหนังสือชี้แจงไปที่แบงก์ชาติ

SCB ว่าอย่างไร

เมื่อ 13-14 ธ.ค. ปีที่แล้ว นายอาทิตย์ให้การที่ศาลธุรกิจในลอนดอนว่า ธนาคารมี “ความกังวลอย่างมากที่ต้องกลายเป็นผู้ปล่อยกู้ให้แก่โครงการที่มีเจ้าของถูกดำเนินคดีอาญา”

นายนพพร ถูกตั้งข้อหาในคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เมื่อ 1 ธ.ค. 2557 เป็นช่วงที่ SCB อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติสนับสนุนทางการเงินให้กับ WEH ทาง SCB จึงตัดสินใจระงับการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งการขาดสินเชื่อจาก SCB ส่งผลกระทบกับโครงการผลิตไฟฟ้าที่ยังต้องผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟผ. ตามสัญญา ไม่เช่นนั้นบริษัทจะถูกปรับ และอาจถูกบอกเลิกสัญญาได้

ช่วงที่ WEH ได้ลงทุนในโครงการพลังงานลมวะตะแบก ที่ จ.ชัยภูมิ ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และกำลังรอการอนุมัติเงินกู้อีก 2,500 ล้านบาทจาก SCB เป็นช่วงที่นายนพพรได้ฟ้องนายณพต่ออนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น REC หมายความว่านายนพพรมีโอกาสจะเข้ามาอยู่ในโครงสร้างผู้ถือหุ้น WEH ได้ SCB จึงหยุดปล่อยสินเชื่อ จนกว่าจะมั่นใจว่า WEH ไม่เกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112

ด้วยเหตุนี้ นายณพจึงตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัท WEH โดยให้บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KPNET (เมื่อ นายณพ ซื้อบริษัท REC แล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย)) ขายหุ้น WEH ออกไป เพื่อไม่ให้นายนพพรกลับเข้ามาอยู่ในโครงสร้างของบริษัท WEH

ในเอกสารคำให้การปิดคดีของฝ่ายจำเลยความยาว 11 หน้า ลงวันที่ 17 ก.พ. 2566 นายณพ และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดของนายนพพร ในเรื่องสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่า บิดเบือนข้อเท็จจริง แล้วจูงใจให้โจทก์ขายหุ้น REC ให้กับบริษัทของนายณพก่อน โดยหลอกนายนพพรว่าจะมีสิทธิในการซื้อหุ้น WEH คืนได้ด้วยสิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิง (call options)

“แม้เรื่อง call options เป็นความประสงค์ของนายนพพร ที่เสนอเรื่องนี้ในหลายโอกาส แต่นายณพ ณรงค์เดช หรือ นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ ไม่เคยเห็นพ้องด้วย” เอกสารระบุ

จากคดีความกับนพพร สู่ ศึกในตระกูล ณรงค์เดช

ณพ ณรงค์เดช เป็นลูกชายคนกลางของ ดร.เกษม ณรงค์เดช และคุณหญิงพรทิพย์ (พรประภา) ผู้ก่อตั้งบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยครอบครัวณรงค์เดช-เคพีเอ็นกรุ๊ปมีธุรกิจในหลายประเทศรวมมากกว่า 50 บริษัท รวมถึงสถาบันสอนร้องเพลง KPN โดยนายณพเป็นกรรมการอยู่ถึง 35 บริษัท

ช่วงต้นปี 2558 นายณพสนใจเข้าลงทุนในบริษัท WEH จึงได้ชักชวน นายเกษม ณรงค์เดช บิดา, นายกฤษณ์ ณรงค์เดช พี่ชาย และ นายกรณ์ ณรงค์เดช น้องคนเล็ก ให้เข้าซื้อหุ้นด้วย ซึ่งครอบครัวณรงค์เดชได้ตัดสินใจลงทุนใน WEH โดยให้นายณพเป็นตัวแทนดำเนินการเจรจาซื้อหุ้น

ความขัดแย้งภายในครอบครัวเกิดขึ้นทันทีเมื่อครอบครัวณรงค์เดช และบริษัทต่าง ๆ ในเครือถูก นายนพพร ฟ้องร้องในข้อหาโกงเจ้าหนี้ ในช่วงต้นปี 2561 จึงทำให้ครอบครัวเพิ่งรับรู้เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการซื้อหุ้น WEH มาจากนายนพพร

ต่อมา นายเกษมก็เพิ่งรู้ว่านายณพ ได้โอนหุ้น WEH ต่อมาเป็นทอด ๆ มาถึงบริษัท โกลเด้น มิวสิค จํากัด (GML) ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง ตอนที่ได้รับหนังสือจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายว่าถูกฟ้องร้อง


จากซ้ายไปขวา นายกฤษณ์ ณรงค์เดช พี่ชาย, นายเกษม ณรงค์เดช บิดา (จำเลยที่ 14) นายกรณ์ ณรงค์เดช น้องคนเล็ก และขวาสุด คือ คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา (จำเลยที่ 15)

ครอบครัวณรงค์เดช กล่าวหาว่า นายณพใช้เอกสารที่มาจากการ “ปลอมลายมือชื่อ” ของนายเกษม เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัท GML ให้ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ภรรยาของนายณพ มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ GML แทนนายเกษม เกิดเป็นศึกระหว่างตระกูล ณรงค์เดช และ บุณยะจินดา ถึงขั้นครอบครัวณรงค์เดชออกแถลงการณ์ตัดขาดความสัมพันธ์กับนายณพ

เมื่อเดือน ส.ค. 2563 นายณพได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายสำนัก รวมถึง InfoquestNews ในหลายประเด็น ยืนกรานว่าตน "ยังรักพ่อเหมือนเดิม"

"ครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน การที่คุณพ่อ ต้องมารับแบบนี้ มันเป็นบทหนัก คนที่วางเกมแบบนี้ผมว่ามันโหดร้ายมาก ณ เวลาที่เหมาะสม เรื่องของขบวนการยุติธรรม ถึงจุดหนึ่งมันก็คงออกมา มันก็จะพิสูจน์ว่าอะไรเป็นอะไร" นายณพกล่าว

"เขาบอกว่าครอบครัวเป็นคนลงทุนซื้อบริษัทนี้ (WEH) มา ซึ่งมันไม่เป็นความจริงเลย ผมเป็นคนหาเงินทุนมาซื้อ ผมเป็นคนรับภาระหนี้ คนเดียวเลย เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด"

ลูกชาย-พ่อ-แม่ยาย-มือกฎหมายชั้นนำของไทย

ก่อนหน้านี้ ในการสืบพยานในชั้นศาล มีการนำสืบในเรื่องของ “ข้อตกลงตัวแทนเกษม” หรือ Kasem Agency Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่าง ดร.เกษม ณรงค์เดช บิดาของนายณพ และคุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา แม่ยาย ที่มีผลเมื่อ 25 เม.ย. 2559 ในคำตัดสินของศาลบรรยายว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ คุณหญิงกอแก้ว ทำเสมือนว่าแต่งตั้ง ดร.เกษมให้เป็นผู้ทำการแทนเธอในการทำข้อตกลงกับ REC เพื่อซื้อหุ้น WEH แล้วโอนหุ้นไปยังบริษัทหนึ่งในต่างประเทศ แล้วถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศแห่งนั้นในนามของเธอ

ผู้พิพากษาแคลเวอร์บรรยายว่าคุณหญิงกอแก้วให้การในศาล “แสร้งอธิบาย” ถึงความจำเป็นของการมีข้อตกลงตัวแทนและเพื่อความลับ “เนื่องจากคดีอาญามาตรา 112 และเพราะครอบครัวของเราเป็นข้าราชการ และขณะนั้นสามีของดิฉัน (พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา) ป่วย และพวกเรามีความเทิดทูน – พวกเรามีความเทิดทูนต่อราชวงศ์ และพวกเราไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทำนองนี้ได้”


คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา (จำเลยที่ 15)

ผู้พิพากษาแคลเวอร์เสริมว่าคุณหญิงกอแก้วให้การในศาลว่าเธอเลือก ดร.เกษม ให้เป็นตัวแทนของเธอก็เพราะ “ความเร่งด่วนของสถานการณ์ และ… เพราะ ดร.เกษม คือพ่อของนายณพ และเพราะกระบวนการของธนาคาร (ไทยพาณิชย์) ในเรื่อง KYC (กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า)”

ศาลเห็นว่าคำอธิบายของคุณหญิงกอแก้ว ถูกหักล้างทันทีด้วยข้อเท็จจริงที่นายณพยอมรับในศาล ระหว่างการซักค้านว่า เขาไม่ได้แม้แต่แจ้งบรรดาทนายของเขาว่าคุณหญิงกอแก้วเป็นผู้ถือหุ้นตัวจริงในการโอนหุ้นให้นายเกษม แม้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่านายณพ “รู้ว่าทีมทนาย (ของเขา) แจ้งต่อ SCB ว่าผู้ซื้อคือ ดร.เกษม”

“ข้อตกลงตัวแทนเกษม ซึ่งนายวีรวงค์เป็นผู้ร่าง ศาลเห็นว่ามันถูกร่างขึ้นมาจากเหตุผลที่ไม่สุจริต”

วีระวงษ์ลาออกบอร์ด BJC

นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ เป็นนักกฎหมายธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศ ดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยมากมาย ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่ง กรรมการ และกรรมการสรรหา ค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล ของ SCBX บริษัทแม่ของ SCB


เว็บไซต์ประชาชาชาติธุรกิจรายงานเมื่อ 31 ก.ค. 2566 อ้างรายงานข่าวว่า นายวีระวงค์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในด้านการกำกับดูแลกิจการ โดยเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจในเครือของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

อาทิ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน), กรรมการอิสระ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด ประเทศสิงคโปร์, กรรมการ และกรรมการกำกับดูแลกิจการของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน), กรรมการอิสระ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ กรรมการ กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และกรรมการอิสระ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น


นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการ และกรรมการสรรหา ค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล ของ SCBX

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 31 ก.ค. ว่า นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ได้แจ้งขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ โดยมีผลตั้งแต่ 27 ก.ค. 2566

ประมาทเลินเล่อ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอบอกว่าไม่สุจริต

ในเอกสารคำตัดสินของศาล ผู้พิพากษาแคลเวอร์ลำดับคำให้การในฐานะพยานของนายอาทิตย์ และผู้บริหารระดับสูงของ SCB อีกหลายคน แล้วตั้งข้อสังเกตว่ามีหลายกรณีที่ควรดำเนินการตรวจสอบ หรือทำตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ไม่ได้ทำ

“อาจมีผู้มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในส่วนของ SCB อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานไม่เพียงพอที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต”

“โจทก์เองก็ยอมรับในจดหมายลงวันที่ 4 พ.ย. 2565 ว่า ไม่ได้กล่าวหา SCB ‘ควรดำเนินมาตรการด้าน due diligence ให้มากกว่าที่ควรทำ และข้อเท็จจริงที่ว่าธนาคารไม่ได้ทำเช่นนั้น นำไปสู่การประพฤติมิชอบ การกระทำผิด หรือ ไม่สุจริต’”


ทางเข้าศาลแพ่ง ในกรุงลอนดอน

จากนักธุรกิจอนาคตไกล สู่ ผู้ลี้ภัย คดี 112

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ก่อตั้งในปี 2552 โดยนายนพพร ศุภพิพัฒน์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานลมรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครองสัดส่วนมากกว่า 42% ของโควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ

นายนพพร ขึ้นมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าในวงการธุรกิจพลังงานภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี จนติดอันดับ 31 มหาเศรษฐีของประเทศไทยในนิตยสารฟอร์บสเมื่อปี 2557 โดยนายนพพรในวัย 43 ปีถือเป็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่อายุน้อยที่สุดของปีนั้น (เกิด 30 มี.ค. 2514)

แต่ชีวิตของเขากลับพลิกผันอย่างมาก หลังจากวันที่ 1 ธ.ค. 2557 เมื่อนายนพพร ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จ้างวาน 3 พี่น้องตระกูล อัครพงศ์ปรีชา ขู่บังคับนายบัณฑิต โชติวิทยะกุล อดีตหุ้นส่วนธุรกิจ ให้ลดหนี้ให้ โดยแอบอ้างเบื้องสูง

นายบัณฑิต เคยร่วมหุ้นกับนายนพพร ในบริษัท กริฟฟอน อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด มีความขัดแย้งกรณีที่นายนพพรเคยยืมเงินบริษัท แล้วถูกนายบัณฑิตฟ้องข้อหายักยอกทรัพย์ จึงต้องมีการเจรจากับนายบัณฑิตให้ลดหนี้จาก 120 ล้านบาท เหลือ 20 ล้านบาท ซึ่งนายบัณฑิต อ้างว่า นายนพพรมีการแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อข่มขู่เขาด้วย

การกล่าวหานายนพพร เกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่สืบสวนขยายผลที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติกับ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ รวมไปถึงกฎหมายฟอกเงิน โดยที่มี 3 พี่น้องตระกูล อัครพงศ์ปรีชา พี่น้องของ พล.ต.หญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ อยู่ในเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ที่ปัจจุบันถูกถอดยศแล้ว

นายนพพร ถูกศาลทหารออกหมายจับ และถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงข้อหา “ร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ผู้กระทำ หรือบุคคลอื่น และร่วมกันลักทรัพย์” นายนพพร จึงตัดสินใจไปฝรั่งเศสเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

นายนพพร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทยเมื่อ ธ.ค. 2557 ว่า เขาตกเป็นเหยื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี และคดีมาตรา 112 เป็นเหตุผลสำคัญให้เขาตัดสินลี้ภัยทางการเมือง เพราะคดีนี้ไม่สามารถประกันตัวได้ ซึ่งเขาเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยระบุว่า “พอไม่ให้ประกัน (ตัว) เนี่ย ผมก็คิดว่าเขาคงฆ่าผมในคุกเพื่อปิดปากแน่ ๆ”

ในหน้า 419 หน้าสุดท้ายของคำตัดสิน ผู้พิพากษาแคลเวอร์ใส่ปัจฉิมลิขิตไว้ว่า “แม้ภาระหนักหน่วงที่ศาลและทนายความได้รับจากคดีนี้ รวมทั้งความกดดันที่ถาโถมใส่ การพิจารณาคดีดำเนินไปได้อย่างมีชั้นเชิงและมีอารมณ์ขันซึ่งจบได้ในเวลา 20 สัปดาห์ที่ตั้งไว้ ซึ่งทุกคนสมควรได้รับคำชม”