วันพุธ, มกราคม 11, 2566

ยิ่งจริงยิ่งผิด #ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ทุกคนรู้ดี #ไปไหนก็เป็นภาระ


Pipob Udomittipong
9h
อัยการบรรยายฟ้องตะโกน #ไปไหนก็เป็นภาระ ทำให้เข้าใจผิดว่า #ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อ ร.10-ราชินี ผิดตาม #มาตรา112
ยิ่งจริงยิ่งผิด ถามว่า #ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ผมว่าทุกคนตอบได้ตรงกัน จริงมั้ย?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ “#อติรุจ” (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กรณีถูกกล่าวหาว่าตะโกนวิจารณ์ว่า “#ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จขากลับของรัชกาลที่ 10 และราชินี ขณะเคลื่อนผ่านออกจากศูนย์การประชุมสิริกิติ์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 15 ต.ค. 2565
.
ในคดีนี้ อติรุจถูกกล่าวหาว่าตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ หลังเกิดเหตุเพียงชั่วครู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณนั้นประมาณ 10 นาย ได้เข้าจับกุมเขาทันทีโดยไม่มีหมายจับ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รีบวิ่งเข้ามาอุ้มจับอติรุจและพาตัวออกไปให้ห่างจากขบวนเสด็จ พร้อมกับใช้มือปิดปากไม่ให้อติรุจส่งเสียง แล้วจึงบังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นพร้อมกับใส่กุญแจมือทันที
.
ต่อมาอติรุจถูกพาตัวไป สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการจัดทำบันทึกจับกุมและตรวจปัสสาวะ วันถัดมา (16 ต.ค. 2565) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังได้นำหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 ไปขอตรวจค้นบ้านพักของอติรุจ ที่ จ.ปทุมธานี อีกด้วย ทว่าไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
.
จากนั้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอติรุจต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง หลังศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องจนแล้วเสร็จ ศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากความช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต
.
.
อัยการบรรยายฟ้องตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ทำให้เข้าใจผิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อน #ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อ ร.10-ราชินี ผิดตาม ม.112
.
สำหรับคดีนี้ วรวัตร สีหะ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นผู้ฟ้องคดี
.
โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเปิดอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
.
ขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของทั้งสองพระองค์เสด็จกลับออกไป มีประชาชนต่างพร้อมใจนั่งเฝ้ารับเสด็จตรงบริเวณเส้นทางเข้าและเส้นทางออกอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และต่างพากันเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” จําเลยซึ่งยืนอยู่บริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนขบวนผ่านได้ตะโกนเสียงดังหันหน้าไปทางขบวนเสด็จว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ”
.
อัยการบรรยายฟ้องว่าประโยคข้างต้นที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่าการเสด็จพระราชดําเนินนั้นเป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน เอาแต่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
.
ทําให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี อันเป็นการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
.
นอกจากนี้ อัยการยังได้บรรยายฟ้องอีกว่า หลังจากที่จำเลยได้ตะโกนประโยคดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในบริเวณนั้นประมาณ 5 นาย ได้เข้าจับกุมจำเลยทันที เพื่อให้จําเลยหยุดการกระทําดังกล่าว แต่จําเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานตํารวจผู้จับกุมถูกบริเวณแขนของ ร.ต.อ.อรรถพร คนไหวพริบ อย่างแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผลถลอกบริเวณแขนซ้าย และทำให้ ร.ต.อ.ชิณกรณ์ ภูพันนา ได้รับบาดเจ็บฟกช้ําบริเวณกลางหลังช่วงเอว
.
พนักงานอัยการจึงได้สั่งฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหาแก่อติรุจ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138
.
ในส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว อัยการได้ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
.
ภายหลังศาลรับฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอติรุจ โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน จำนวน 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 13 ก.พ. 2566
.
.
อติรุจเผย ระหว่างถูกคุมตัวอยู่ สน.ถูก ตร.พาไป รพ.จิตเวช ถูกมัดมือ-เท้าติดเก้าอี้ ก่อนถูกเค้นถามด้วยชุดคำถามประหลาด #ซ้ำถูกเจาะเลือดโดยไม่ยินยอม
.
อติรุจเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังถูกจับกุมเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด
.
อติรุจบอกอีกว่า ขณะถูกจับกุมเขาไม่ทราบเลยว่าเหล่าบุคคลที่เข้าถึงตัวเขานั้นเป็นใครบ้าง เพราะทุกคนแต่งกายด้วยชุดธรรมดา ไม่ใช่ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร ไม่มีบัตรประจำตัว และไม่มีการแสดงตัวหรือแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
.
อติรุจเผยว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี และยังไม่ได้พบกับทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเขาไปตรวจเช็คสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยไม่รอให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจมาถึงและเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวด้วย
.
เมื่อถึงโรงพยาบาลจิตเวช อติรุจถูกมัดมือและเท้าติดกับเก้าอี้และถูกเจ้าหน้าที่พยาบาลถามคำถามคัดกรองผู้ป่วยทางจิตเบื้องต้น แม้อติรุจจะพยายามทัดทานแล้วว่าไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตเวชหรือจะสร้างอันตรายกับใครได้ และไม่จำเป็นต้องมัดเขาไว้กับเก้าอี้ แต่ก็ไม่เป็นผล หลังพยายามอธิบายเหมือนว่าพยาบาลจะยิ่งรัดเชือกให้แน่นยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
.
พยาบาลถามคำถามคัดกรองเบื้องต้นไปเรื่อยๆ แต่อติรุจรู้สึกว่าคำถามช่วงหลังนั้นจะดูไม่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองผู้มีอาการป่วยทางจิต เนื่องจากมีการใช้คำถามที่เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายคำถาม เช่น “รู้สึกอย่างไรบ้างกับสถาบันฯ” “เคยไปม็อบมาก่อนหรือเปล่า” เป็นต้น
.
นอกจากนี้พยาบาลยังได้ทำการเจาะเลือดไปโดยที่อติรุจไม่ให้ความยินยอมอีกด้วย
.
.
อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/52090
.
ย้อนอ่านข่าวขณะถูกจับกุม: https://tlhr2014.com/archives/49650