วันจันทร์, มกราคม 23, 2566

วางชีวิตเป็นเดิมพัน พลังของการอดอาหารประท้วง



วางชีวิตเป็นเดิมพัน: พลังของการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ผลลัพธ์และการตอบสนองจากรัฐ

01/06/2565
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์

ความหิวโหยเป็นประสบการณ์ร่วมจำนวนไม่มากที่มนุษย์มีแนวโน้มจะมีร่วมกัน มันก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน บ่อนเซาะศักยภาพ และส่งผลเปลี่ยนแปลงในเชิงอารมณ์ ซึ่งแน่นอนมันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา อย่างไรก็ดี ความหิวโหยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความยากจน ปัญหาสุขภาพ การปฏิบัติกิจทางศาสนา หรือแม้แต่สภาวะทุพภิกขภัย อย่างไรก็ดี สาเหตุเหล่านี้เป็นคนละอย่างกับความหิวโหยเพื่อการเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยหากเทียบกับวิธีการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ การอดอาหารประท้วงเป็นการต่อต้านที่พบได้ไม่บ่อยนักในสังคมไทย และดูเหมือนจะน้อยยิ่งกว่าในการถูกอภิปรายทำความเข้าใจเครื่องมือชนิดนี้อย่างจริงจัง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกล่าวถึงการอดอาหารประท้วงในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง โดยจะอภิปรายในเบื้องต้นเกี่ยวกับความหมายของการอดอาหารประท้วง โครงสร้างของโอกาสทางการเมืองกับการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานของการอดอาหารประท้วง และผลลัพธ์จากการอดอาหารประท้วง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการอดอาหารประท้วง

แม้ว่าการอดอาหารประท้วงจะเป็นวิธีการเคลื่อนไหวต่อต้านที่พบได้ไม่บ่อยนักในสังคมไทย และเพิ่งมีแนวโน้มถูกใช้เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเพื่อต่อต้านความอยุติธรรมของระบบตุลาการ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในระดับที่กว้างออกไป ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา การอดอาหารประท้วงมีแนวโน้มถูกใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก โดยเฉพาะหลังทศวรรษที่ 1950[1] การอดอาหารประท้วงถูกใช้อย่างแพร่หลายในการเคลื่อนไหวต่อต้านจากหลายกลุ่มอัตลักษณ์หลายอุดมการณ์ ปรากฏการณ์ที่โด่งดัง อาทิเช่น การอดอาหารโดยกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชชาวไอริส ในไอร์แลนด์เหนือ-อังกฤษ, การอดอาหารโดยผู้ต้องขังชาวปาเลสไตน์ ในอิสราเอล, การอดอาหารโดยกลุ่มชาวเคิร์ด ในตุรกี เป็นต้น

การอดอาหารเพื่อการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง สามารถจำแนกออกได้เป็นอย่างน้อย 2 ประเภท ซึ่งบางครั้งอาจไม่ได้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง ได้แก่

1) การอดอาหารในลักษณะ ‘การประท้วงแบบถือศีลอด’ (Fasting) ซึ่งมีลักษณะเป็นการอดอาหารเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงสำนึกภายในหรือทัศนะของผู้ที่ถูกเรียกร้อง โดยอาศัย ‘การโน้มน้าวชักจูง’ จากคุณค่าทางจริยธรรม-ศีลธรรม เช่น การอดอาหารแบบอหิงสาสัตยาเคราะห์ของมหาตมะคานธี (Satyagraha Fast), การอดอาหารกดดันเชิงศีลธรรม (Fasts of Moral Pressure)

2) การอดอาหารในลักษณะ ‘การอดอาหารประท้วง’ (Hunger Strike) ซึ่งมีลักษณะเป็นการปฏิเสธที่จะกินอาหารหรือสารอาหารที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตโดยสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันฝ่ายที่ถูกเรียกร้องให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยอำนาจเชิง ‘การกดดัน’ ซึ่งไม่จำเป็นว่าผู้ถูกเรียกร้องจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการเปลี่ยนความคิดภายในหรือไม่[2]

อย่างไรก็ดี บทความนี้จะขอกล่าวถึงการอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) เป็นหลัก เนื่องจากประเด็นการถือศีลอด โดยเฉพาะการอดอาหารแบบอหิงสาสัตยาเคราะห์ได้ถูกกล่าวถึงอย่างละเอียดแล้วในบทความของชัยวัฒน์ สถาอานันท์[3]



แค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นการอดอาหารประท้วง?

ทั้งนี้ ยังคงมีคำถามต่อไปอีกว่า แค่ไหนหรืออย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการอดอาหารประท้วง ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงไม่เพียงแต่เฉพาะในสังคมไทย ภายใต้นิยามข้างต้น ขอบเขตของการกินหรือไม่กินอะไรยังคงคลุมเครือ บางคนอาจเข้าใจว่าการอดอาหารประท้วง หมายถึง การไม่กินหรือดื่มอะไรเลย ขณะที่บางคนอาจเห็นว่าดื่มได้เพียงเฉพาะน้ำเปล่า แต่บางคนอาจเห็นว่าหมายถึงเฉพาะการปฏิเสธอาหารที่จำเป็นต้องเคี้ยว ความเข้าใจเหล่านี้ต่างมีส่วนถูก เนื่องจากการอดอาหารประท้วงครอบคลุมประเภทที่มีความหลากหลาย โดยสามารถจำแนกออกได้อย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่

1. การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย (Dry Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การอดอาหารที่ผู้ประท้วงจะไม่นำอะไรเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารเลย แม้แต่สารอาหารเหลว หรือน้ำเปล่า (Liquids) ซึ่งเป็นรูปแบบของการอดอาหารประท้วงที่พบได้น้อยที่สุด เนื่องจากผู้ประท้วงจะสามารถอยู่รอดได้เพียงไม่กี่วัน และมีแนวโน้มจะเสียชีวิตตั้งแต่สัปดาห์แรกของการประท้วง

2. การอดอาหารประท้วงทั้งหมด (Total Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การไม่ทานอาหาร (Solid Foods) หรือสารอาหารใด ๆ ที่ให้พลังงาน แต่จะรับประทานเพียงเครื่องดื่มที่อาจมีหรือไม่มีเกลือแร่

3. การอดอาหารประท้วงแบบไม่ทั้งหมด (Non-Total Hunger Strike/Fasting) หมายถึง การอดอาหารประเภทอื่นนอกเหนือจาก 2 ประเภทข้างต้น โดยอาจมีการดื่มน้ำหรือทานอาหารเหลวที่ให้พลังงานบ้าง รวมถึงอาหารแข็งบางประเภท เช่น เนย น้ำตาล เป็นต้น[4]

กระนั้นก็ดี การจำแนกดังกล่าวยังคงเป็นที่ถูกอภิปราย โดยเฉพาะประเด็นในทางกฎหมายและการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการจำแนกอย่างละเอียดเพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ประท้วงและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ทั้งนี้ ยังมีการแบ่งประเภทระหว่าง ‘การอดอาหารประท้วงที่แท้จริง’ (Genuine Hunger Strike) กับการอดอาหารที่ไม่เข้าข่าย ซึ่งจำแนกโดยนับเวลา 72 ชั่วโมง หลังจากอาหารมื้อท้ายสุด ร่วมกับการประเมินสุขภาพจิต โดยถือว่าการอดอาหารด้วยเวลาอันสั้น ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ไม่จัดว่าเป็นการอดอาหารประท้วง แต่จะจัดประเภทว่าเป็น ‘การปฏิเสธอาหาร’ (Food Refusal)[5] แทน

ในงานศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหว ยังมีการใช้เกณฑ์การจำแนกที่แตกต่างออกไป โดยจากงานศึกษาซึ่งรวบรวมข้อมูลการอดอาหารประท้วงกว่า 1,441 กรณี ตั้งแต่ปี 1906 ถึง 2004 พวกเขาถือว่า การอดอาหารประท้วงสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ใน 1 วัน ไปจนถึงการอดอาหารที่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดชัดเจน เรื่อยไปจนการอดอาหารประท้วงที่กินเวลายาวนานจนกว่าจะได้รับการตอบสนองหรือเสียชีวิต โดยไม่ได้ใช้เกณฑ์ในด้านความตั้งใจที่แท้จริงเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพ หรือความตั้งใจที่จะ ‘ประท้วงสละชีวิต’ (Suicide Protests)[6] มาพิจารณา

อย่างไรก็ดี เราพึงคำนึงเสมอว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอดอาหารประท้วงนั้นไม่ใช่เพื่อความตาย แต่คือเพื่อการบรรลุข้อเรียกร้อง ดังนั้นสำหรับผู้อาหารประท้วง พวกเขาไม่ได้กำลังเรียกร้องหรือปรารถนาลมหายใจสุดท้าย ในทางตรงกันข้าม พวกเขาปรารถนาชีวิตที่พวกเขาพึงจะได้รับ

“ผู้อาหารประท้วง พวกเขาไม่ได้กำลังเรียกร้องหรือปรารถนาลมหายใจสุดท้าย ในทางตรงกันข้าม พวกเขาปรารถนาชีวิต”



อ่านรายงาน “จากไผ่ถึงตะวัน” ทบทวนปฏิบัติการอดอาหารของนักกิจกรรมทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557

เหตุใดนักเคลื่อนไหวจึงเลือกอดอาหารประท้วง?

คำถามที่สำคัญประการต่อมาคือ เหตุใดผู้ต่อต้านจึงเลือกที่จะอดอาหารประท้วงแทนที่จะเลือกวิธีการอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อผลที่ตามมาคือความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส และเดิมพันที่ต้องจ่ายสูงถึงชีวิต เพื่อก้าวข้ามคำอธิบายที่บุคลิกลักษณะส่วนบุคคลของตัวแสดง การสำรวจคำอธิบายอย่างการตัดสินใจภายใต้โครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่จำกัด อาจให้คำตอบต่อคำถามดังกล่าว

จากงานศึกษาพบว่า การอดอาหารประท้วงจำนวนมากมักเกิดขึ้นภายใต้สภาวะโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่ปิด[7] ซึ่งในบรรดาการอดอาหารประท้วงทั่วโลกตั้งแต่ปี 1906 ถึง 2004 พบว่า ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มคนที่ใช้วิธีการอดอาหารประท้วงมากที่สุด โดยกว่า 69.9% ของการอดอาหารเกิดขึ้นในเรือนจำ[8] นอกจากนี้การอดอาหารประท้วงจำนวนมากยังเกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่ค่อนข้างเป็นเผด็จการ

ทั้งสองกรณีเป็นสถานการณ์ที่มีระดับการกดปราบและข้อจำกัดค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในเรือนจำที่การบังคับควบคุมดำรงอยู่ในแทบทุกอณู ภายใต้สถานการณ์นี้ ผู้ต่อต้านไม่เพียงแต่ปราศจากสิทธิเสรีภาพ แต่ทั้งทรัพยากร ช่องทางการสื่อสาร การสนับสนุน เหล่านี้ล้วนถูกจำกัด พวกเขาตกอยู่ในสถานะปราศจากอำนาจ อยู่ชายขอบ และไม่อาจเข้าถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง

ในสภาวะที่ความเป็นไปได้ทั้งหลายถูกจำกัด และบรรยากาศทั้งหมดปกคลุมไปด้วยการกดขี่ขัดขวาง แม้ว่าผู้ประท้วงจะมีเครื่องมือจำนวนไม่มากนักที่สามารถปรับใช้ได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เมื่อความปรารถนาของพวกเขายังคงไม่ได้รับการตอบสนอง ผู้ประท้วงจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกหนึ่งในเครื่องมือเท่าที่พวกเขาสามารถประเมินถึงมาใช้ และที่สำคัญ มันต้องเป็นเครื่องมือที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถส่งแรงกดดันได้เพียงพอและมีประสิทธิภาพเพื่อคัดง้างกับสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญ ในสถานการณ์นี้ ร่างกายสำหรับผู้ประท้วงเป็นทรัพยากรเพียงไม่กี่อย่างที่เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง ผู้ประท้วงดึงอำนาจในการตัดสินใจว่า จะกินหรือไม่กิน? มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต? กลับมาอยู่ในมือของพวกเขา และเปลี่ยนร่างกายในฐานะทรัพยากรที่หลงเหลืออยู่ให้กลายเป็นเครื่องมือแห่งการต่อต้าน ชีวิตของพวกเขาถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในสถานการณ์ที่พวกเขาแทบไม่เหลืออะไร เพื่อกดดันให้เกิดการเจรจาหรือการยอมรับข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้ประท้วงถูกจองจำ

ในแง่นี้ การอดอาหารประท้วงจึงเป็นความมุ่งมั่นอย่างสูงสุดของผู้ที่ปราศจากอำนาจ โดยเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้ร่างกายและความทุกข์ทรมานของตนให้กลายเป็นอาวุธแห่งการต่อต้าน อำนาจต่อรองของพวกเขาเกิดขึ้นจากเรือนร่างที่เจ็บปวด ความหิวโหยที่นานวันจะยิ่งกัดกินชีวิต กับการกดขี่ที่ไร้มนุษยธรรมในเรือนจำ ทั้งหมดล้วนส่งผลเพิ่มอำนาจกดดันให้แก่การอดอาหารประท้วง[9]

ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจอดอาหารประท้วงจึงไม่ใช่การตัดสินใจของพวกสุดโต่งที่ไร้เหตุผล หรือพวกไม่รักชีวิต แต่มันเป็นการตัดสินใจแปลงเปลี่ยนความเจ็บปวดและโครงสร้างโอกาสเลวร้ายที่พวกเขาเผชิญ ให้กลายเป็นโอกาสที่อำนวยต่อการเรียกร้องและสร้างอำนาจกดดันเพื่อการบรรลุสิ่งที่พวกเขาปรารถนา


รูปสุดท้ายของ Timtik จากห้องพยาบาลในเรือนจำ ทนายหญิงชาวตุรกีผู้ถูกรัฐจับกุมและอดอาหาร 238 วันจนตัวตาย เมื่อปี 2020

กลไกการทำงานของการอดอาหารประท้วง?

เมื่อเปรียบเทียบกับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งหลาย แม้การอดอาหารประท้วงจะมีชื่อเสียงในฐานะปฏิบัติการไร้ความรุนแรง แต่ตัวมันเองนั้นกลับไม่อาจขาดซึ่งองค์ประกอบของการทำร้ายทำลาย อย่างไรก็ดี แทนที่การอดอาหารประท้วงจะมุ่งทิศทางการทำร้ายทำลายไปยังฝ่ายตรงข้าม ผู้อดอาหารกลับหันเหทิศทางความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกลับเข้ามาที่ตนเอง ความกลับตาลปัตรดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามที่ว่า การแบกรับความทุกข์ของผู้อดอาหารประท้วง จะทำให้พวกเขาได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องได้อย่างไร? มันมีกลไกการทำงานอย่างไร? และเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้อดอาหารประท้วงได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปที่ความเข้าใจพื้นฐานที่สุดในช่วงต้นของบทความ ความหิวโหยเป็นประสบการณ์ร่วมเพียงไม่กี่อย่างที่มนุษย์มีแนวโน้มจะมีร่วมกัน เมื่อมีใครสักคนหนึ่งกำลังทนทุกข์ พวกเขาสามารถจินตนาการถึงมันได้โดยไม่จำเป็นต้องประจักษ์กับตา ผู้อดอาหารประท้วงเปลี่ยนเรือนร่างที่ซีดเซียวของตนให้กลายเป็นข้อความ (Textualisation)[10] มันทำหน้าที่ในการสื่อสารแทนคำพูดและดึงดูดความสนใจของผู้ที่ถูกเรียกร้องรวมทั้งสาธารณชน เมื่อกลไกของประสบการณ์ร่วมทำงาน การอดอาหารประท้วงได้กระทุ้งมโนสำนึกความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายในของผู้ชม การสวมบทบาทและความเห็นอกเห็นใจอาจทำให้ผู้ที่ถูกเรียกร้องยอมเปลี่ยนท่าทีและโอนอ่อนผ่อนตาม กระนั้นก็ดี แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้ถูกเรียกร้องทุกคนจะเปลี่ยนใจเมื่อถูกกระทุ้งมโนสำนึก มันจึงไม่ใช่กลไกเดียวที่ทรงพลังของการอดอาหารประท้วง

การอดอาหารประท้วงวางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้การอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นเป็นเวลานาน เนื่องจากรัฐมีพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศในการดูแลสุขภาพและการมีชีวิตอยู่ของพลเมือง ซึ่งรวมไปถึงผู้ต้องขัง[11] การที่รัฐไม่อาจปฏิบัติตามพันธะดังกล่าว ย่อมส่งผลให้รัฐเสี่ยงต่อความอับอาย รวมถึงอาจถูกประณามจากนานาอารยประเทศ[12] นอกจากนี้ หากการอดอาหารประท้วงเกิดขึ้นในเรือนจำ มันย่อมส่งผลบั่นทอนสมรรถภาพในดำเนินการต่างๆ รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรสูงขึ้นเพื่อการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้อดอาหารประท้วงมีจำนวนมาก ซึ่งนั่นจะส่งผลให้เกิดการชะงักงันในเรือนจำ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อรัฐ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เพื่อยุติการอดอาหารประท้วง การเปิดพื้นที่การเจรจาหรือการยอมตอบสนองข้อเรียกร้องจึงอาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี กลไกการทำงานของการอดอาหารประท้วงไม่เพียงเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อดอาหารประท้วงกับผู้ที่ถูกเรียกร้องเท่านั้น การอดอาหารประท้วงยังส่งอิทธิพลต่อผู้ชม ทั้งฝ่ายผู้สนับสนุน และฝ่ายที่สาม (Third Party) เนื่องจากในการอดอาหารประท้วงจำนวนมาก นักเคลื่อนไหวผู้หิวโหยเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่กว้างขวางออกไป ในแง่นี้ การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว มันไม่ใช่เพียงการต่อต้านที่หยุดอยู่ที่ตัวผู้อดอาหารประท้วง แต่มันเกี่ยวข้องกับขบวนการเคลื่อนไหวอื่นที่ดำรงอยู่โดยรอบ ดังนั้นอิทธิพลจากการอดอาหารประท้วงจึงถูกส่งไปยังฝ่ายเดียวกัน โดยเป็นการกดดันให้พวกเขาจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเพิ่มแรงกดดันไปยังเป้าหมาย

นอกจากนี้ การอดอาหารประท้วงยังส่งผลกระตุ้นสำนึกความเป็นพวกพ้องและเพิ่มความสามัคคีในฝ่ายเดียวกัน ซึ่งรวมไปถึงในหมู่ผู้ที่มีสายสัมพันธ์ร่วมกัน มันทำให้พวกเขาตระหนักว่า ผู้ที่กำลังอดอาหารประท้วงอยู่ เขาคือหนึ่งในพวกเรา ดังนั้นการเรียกร้องจึงไม่ใช่เพียงการกระทำของปัจเจก แต่มันคือพันธกิจของคนที่อยู่รอบตัวพวกเขา[13] ยิ่งไปกว่านั้น การอดอาหารประท้วงไม่เพียงส่งอิทธิพลไปยังฝ่ายเดียวกัน การอดอาหารยังสามารถส่งผลโน้มน้าวชักจูง กระตุ้นมโนสำนึกความเป็นมนุษย์ของฝ่ายที่สาม ทำให้พวกเขาเกิดความเห็นอกเห็นใจ และอาจหันมาร่วมส่งแรงกดดันไปยังผู้ที่ถูกเรียกร้อง

ในแง่นี้ ความสัมพันธ์ในกลไกของการอดอาหารประท้วงจึงไม่ใช่เพียงปฏิสัมพันธ์สองฝ่ายระหว่างผู้ประท้วงกับเป้าหมาย แต่ปฏิสัมพันธ์ในกลไกการอดอาหารมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ 3 ฝ่าย ระหว่างตัวแสดงหลัก (The Primary Actors) เป้าหมายหลัก (The Primary Targets) และเครือข่ายภายนอก หรือผู้สังเกตการณ์หลัก (The Primary Observers)[14] ซึ่งอย่างหลังถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มแรงกดดันไปยังเป้าหมายของการอดอาหารประท้วง

ทั้งนี้ อำนาจกดดันจากการอดอาหารประท้วงจะทรงพลังอย่างยิ่ง เมื่อผู้อดอาหารประท้วงเข้าใกล้สภาวะวิกฤต เนื่องจากในด้านหนึ่ง มันส่งผลให้เครือข่ายผู้สนับสนุนจำเป็นต้องพยายามใช้ทุกวิถีทางที่พวกเขาสามารถกระทำได้ในการเร่งเร้าแรงกดดันให้ถึงขีดสุด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้อดอาหารประท้วงจะได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง และสามารถยุติการอดอาหารประท้วงก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายจะมาถึง ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤตของผู้อดอาหารประท้วง จะผลักผู้มีอำนาจตัดสินใจให้เข้าสู่ ‘สภาวะทางแยกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ (Dilemma) ซึ่งพวกเขามีทางเลือกไม่มากระหว่างการตัดสินใจให้ในสิ่งที่ผู้อดอาหารต้องการ หรือปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิต หรือใช้กำลังยุติผ่านการบังคับป้อนอาหาร (Force Feeding)[15]

แม้โดยทั่วไป อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลสำหรับรัฐ หากจะมีใครสักคนถูกบังคับคุกคามหรือเสียชีวิตในเรือนจำ แต่นั่นไม่ใช่กับการอดอาหารประท้วงซึ่งอยู่ในสายตาสาธารณชน รัฐตระหนักดีว่าการปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิตหรือใช้กำลังรุนแรง อาจส่งผลตีกลับที่ไม่พึงปรารถนา (Backfire) อาจก่อให้เกิดโทสะทางศีลธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดการลุกฮือของประชาชน[16] บนทางแยกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผู้มีอำนาจจะเข้าสู่กระบวนการประเมินผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของผู้อดอาหาร รวมถึงการยุติด้วยกำลัง หากผู้มีอำนาจประเมินว่า ทางเลือกดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะก่อให้เกิดการปะทุของโทสะทางศีลธรรมในหมู่ผู้สนับสนุนและฝ่ายที่ 3 พวกเขาย่อมเลือกที่จะยอมประนีประนอมข้อเรียกร้อง ดีกว่าที่จะเสี่ยงกับการลุกฮือ แต่ในทางกลับกันหากผู้มีอำนาจประเมินว่า ภายหลังการเสียชีวิตหรือการยุติด้วยกำลัง จะไม่เพิ่มการปะทุของแรงกดดันในหมู่ผู้สนับสนุนและฝ่ายที่ 3 พวกเขาย่อมมีแนวโน้มจะไม่ประนีประนอม

ภายใต้กระบวนการประเมินดังกล่าว บทบาทของฝ่ายผู้สนับสนุนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหากพวกเขาสามารถสร้างแรงกดดันในพื้นที่สาธารณะจนทำให้ผู้มีอำนาจเชื่อว่า การตัดสินใจที่ผิดพลาดจะก่อให้เกิดผลตีกลับที่ไม่พึงปรารถนา ผู้มีอำนาจย่อมมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงมัน ด้วยการยอมประนีประนอมข้อเรียกร้องกับผู้อดอาหารประท้วงเพื่อหลีกเลี่ยงทางเลือกที่เลวร้ายยิ่งกว่า[17]


“ตะวัน” ได้รับการประกันตัว หลังถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางระหว่างพิจารณาคดี พร้อมกับอดอาหารประท้วง ทั้งสิ้น 37 วัน

ผลลัพธ์และการตอบสนองจากการอดอาหารประท้วง?

การอดอาหารประท้วงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกดดันเพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรอง และเร่งเร้าให้เกิดการตอบสนอง ทั้งนี้เมื่อผู้อดอาหารประท้วงตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางของการอดอาหาร ปลายทางมีผลลัพธ์อย่างน้อย 4 อย่างที่พวกเขาจะเผชิญ ประการแรก การได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง (Concession) คือการที่พวกเขายุติการอดอาหารหลังจากได้รับการตอบสนอง ประการที่ 2 การยอมจำนน (Surrender) คือการยุติการอดอาหารโดยไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ ประการที่ 3 การถูกบังคับให้ยุติ (Forced End) คือการถูกบังคับให้ยุติการอดอาหารโดยใช้กำลัง ซึ่งรวมไปถึงการบังคับป้อนอาหาร และ ประการสุดท้าย คือ การเสียชีวิต (Death)

แน่นอนว่า สำหรับผู้อดอาหารประท้วง ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดคือการได้รับการตอบสนองในสิ่งที่พวกเขาปรารถนา แต่นั่นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับรัฐ ในขณะที่ผู้อดอาหารสร้างแรงกดดันต่อผู้มีอำนาจและกระตุ้นเร้าให้เกิดการเคลื่อนไหวจากฝ่ายผู้สนับสนุน หน่วยงานของรัฐก็พยายามแทรกแซงและบั่นทอนการอดอาหารด้วยวิธีต่างๆ บนช่วงเวลาของการอดอาหารประท้วง ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดวงจรการเกลี้ยกล่อมและต่อรองที่ไม่สิ้นสุด[18] อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่ผู้อดอาหารประท้วงเริ่มเข้าใกล้สภาวะวิกฤต หากพวกเขายังคงไม่ยอมจำนนและรัฐเลือกที่จะไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง มีทางเลือกอย่างน้อย 2 ทางที่เป็นไปได้สำหรับรัฐ คือการปล่อยให้ผู้อดอาหารประท้วงเสียชีวิต กับการบังคับให้ยุติ

ในบรรดาทางเลือกทั้งสอง บ่อยครั้งรัฐเลือกที่จะเข้าแทรกแซงด้วยการใช้กำลังบังคับป้อนอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นฆาตกรจากการนิ่งเฉย ผู้ประท้วงจะถูกพันธนาการไว้อย่างแน่นหนาบนเก้าอี้ หลังจากนั้นท่ออาหารเหลว (Nasogastric Tube) จะถูกสอดลงไปตามช่องจมูกพวกเขาอย่างช้าๆ กระบวนการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่โหดร้ายทารุณ มันไม่เพียงทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน แต่ในหลายกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

อย่างไรก็ดี ไม่เสมอไปที่การบังคับป้อนอาหารจะมีแต่เพียงมิติของอำนาจที่ชั่วร้าย บ่อยครั้งมันเป็นจุดตัดระหว่างการกดขี่กับจริยธรรมทางการแพทย์ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยืนอยู่บนทางแยกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระหว่างการแทรกแซงไม่ให้ผู้ประท้วงเสียชีวิต หรือยืนยันในสิทธิ์ที่จะตายจากการอดอาหาร อีกทั้งไม่ใช่ทุกครั้งที่การให้อาหารเพื่อรักษาชีวิตของผู้ประท้วงจะมีสภาพที่รุนแรง รัฐตระหนักดีว่าการเลือกใช้วิธีการที่ถูกมองว่าไร้มนุษยธรรมจะก่อให้เกิดโทสะทางศีลธรรมและเพิ่มความสงสารในหมู่ประชาชนได้ด้วย[19]

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลตีกลับอันไม่พึงปรารถนา รัฐอาจมีการปรับรูปแบบการแทรกแซงการอดอาหารด้วยวิธีการที่ละมุนละม่อมขึ้น เช่น การหันมาให้สารอาหารทางหลอดเลือด หรือการปล่อยตัวนักโทษชั่วคราวเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น รัฐจำนวนมากเรียนรู้ว่า การยอมตอบสนองข้อเรียกร้องแม้เพียงเล็กน้อย แทนการยอมเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้เพียงพอต่อการให้ผู้ต่อต้านยุติการอดอาหาร เช่น ในกรณีของปาเลสไตน์ที่การอดอาหารประท้วงจำนวนมากสิ้นสุดลงเมื่อรัฐบาลอิสราเอลสัญญาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในบางประเด็น[20]

กราฟพื้นที่ ผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วง[21]

หากพิจารณาที่แนวโน้มผลลัพธ์ทั้ง 4 ของการอดอาหารประท้วง ตั้งแต่ปี 1906 ถึง 2004 พบว่า การบังคับยุติกับการเสียชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่การเสียชีวิตและการบังคับยุติการอดอาหารเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แต่ภายหลังปี 1930 เป็นต้นมา แนวโน้มการเสียชีวิตและการบังคับยุติมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิตที่เกิดเพียงไม่เกิน 10% นับตั้งแต่หลังปี 1940 และค่อนข้างคงที่เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ โดยในปัจจุบันการเสียชีวิตเป็นผลลัพธ์ที่พบได้น้อยที่สุดตามมาด้วยการบังคับยุติการอดอาหาร

อีกด้านหนึ่ง แนวโน้มการได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องซึ่งเคยต่ำอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลังปี 1960 เป็นต้นมา และขึ้นสู่ระดับสูงสุดในช่วงราวปี 1990 ซึ่งการอดอาหารประท้วงทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าวกว่าครึ่งหนึ่งได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้อง[22]

ในแง่ของการพิจารณาผลลัพธ์เชิงบวกของการอดอาหารประท้วงพบว่า จากกรณีการอดอาหารประท้วง 372 กรณี ที่มีการระบุผลลัพธ์เชิงลบหรือเชิงบวกอย่างชัดเจน แม้ผลลัพธ์ของการอดอาหารประท้วงจะไม่ได้สิ้นสุดลงที่การได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้องทุกประการ แต่การอดอาหารประท้วงส่วนใหญ่ก็ให้ผลลัพธ์ในเชิงบวก โดยมีจำนวนกว่า 75.5% ที่ได้รับการตอบสนองข้อเรียกร้องในบางส่วน, ได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขัง, ได้รับการนิรโทษกรรม หรือก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในบางระดับ[23]

นอกจากนี้ แม้การอดอาหารประท้วงในหลายกรณีจะจบลงที่การเสียชีวิตของผู้ประท้วง หรือการยอมจำนนของผู้ร่วมปฏิบัติการคนอื่น แต่การอดอาหารประท้วงเหล่านั้นก็ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนขนาดใหญ่ รวมถึงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาว เช่น การอดอาหารประท้วงของกลุ่มผู้นิยมเอกราชชาวไอริส ในปี 1981 ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเวลาต่อมาอีกหลายประการ[24]
.
อ้างอิงท้ายเรื่อง

[1] Scanlan, S. J., Stoll, L. C., & Lumm, K. (2008). Starving for change: The hunger strike and nonviolent action, 1906–2004. In Research in social movements, conflicts and change. Emerald Group Publishing Limited. pp.291-292

[2] การแบ่งเป็น 2 ประเภทนี้ ผู้เขียนแบ่งตามการจัดประเภทจากหนังสือ ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ โดยยุบรวมการแบ่งประเภท 2 ข้อ ของ Sharp เข้าเป็นข้อเดียว และเพิ่มรายละเอียดนิยามของ Scanlan และคณะ โปรดดูใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2557). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: Protestista. pp.147-148 และ Sharp, G. (1973). The politics of nonviolent action. Boston: Porter Sargent. pp.360-368 และอ้างแล้วใน 1 pp.278

[3] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2564). สันติวิธี อดอาหารประท้วง. เข้าถึงได้จาก http://www.polsci.tu.ac.th/direk/view.aspx?id=498

[4] Reyes, H., Allen, S. A., & Annas, G. J. (2013). Physicians and hunger strikes in prison: Confrontation, manipulation, medicalization and medical ethics. World Medical Journal, 59(1), 27–36

[5] Reeves, R., Tamburello, A. C., Platt, J., Tepper, D., & Edelman, K. (2017). Characteristics of inmates who initiate hunger strikes. J Am Acad Psychiatry Law, 45(3), 302-10.

[6] Hagesæter, M. (2014). Achieving justice by starvation: a quantitative analysis of hunger strike outcomes (Master’s thesis, The University of Bergen). pp.8-9

[7] อ้างแล้วใน 1 pp.303-304

[8] อ้างแล้วใน 1 pp.297

[9] Machin, A. (2016). Hunger Power: The embodied protest of the political hunger strike. Interface: a journal for and about social movements, 8(1), 157-180.

[10] Ellmann, Maud (1993) The Hunger Artists. London: Virago.

[11] Lines, R (2008) The right to health of prisoners in international human rights law. International Journal of Prison Health 4(1): 3–53.

[12] Norman, J. (2020). Beyond hunger strikes: The Palestinian prisoners’ movement and everyday resistance. Journal of Resistance Studies, 6(1). pp.59

[13] ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์. (2020). Paradox of Repression: ยิ่งกดขี่ปราบปราม ขบวนการประชาชนก็ยิ่งเด็ดเดี่ยวและเติบโต. เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/paradox-of-repression

[14] Norman, J. M. (2022). Negotiating detention: The radical pragmatism of prison-based resistance in protracted conflicts. Security Dialogue, 53(2), 95–111. pp.97-98

[15] Fierke, K. (2012). The Warden’s Dilemma: Self-Sacrifice and Compromise in Asymmetric Interactions. Government and Opposition, 47(3), 321-341. pp.327-330

[16] Vick, Karl. (2013). Why the Palestinian Prisoner Release Mattered. Time.

[17] Denny, B. S. (2021). The Warden’s Dilemma as Nested Game: Political Self-Sacrifice, Instrumental Rationality, and Third Parties. Government and Opposition, 56(1), 82-101. pp.4-5

[18] อ้างแล้วใน 14 pp.106

[19] อุเชนทร์ เชียงเสน. (2564). Book Review: ความย้อนแย้งของการปราบปรามกดขี่และขบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรง. เข้าถึงได้จาก https://djrctu.com/ความย้อนแย้งของการปราบ

[20] Thorns, B. (2018). Efficacy of Hunger Strikes: How Culture Determines Efficacy of Hunger Strikes. pp.47

[21] กราฟดังกล่าว อ้างถึงแล้วใน 6 pp. 23

[22] อ้างแล้วใน 6 pp.22-24

[23] Scanlan, S. J., Stoll, L. C., & Lumm, K. (2008). Starving for change: The hunger strike and nonviolent action, 1906–2004. In Research in social movements, conflicts and change. Emerald Group Publishing Limited. pp.299

[24] อ้างแล้วใน 9