วันอังคาร, มกราคม 17, 2566

‘ไทรแอลว้อทช์’ ของมูลนิธิคลูนี่ย์ฯ อีกองค์กรสิทธิมนุษยชน ส่งหนังสือถึงศาลอาญาไทย ต้องปล่อยผู้ต้องขังคดี ๑๑๒ เพราะขัดปฏิญญาสากล

ชาญชัย ณ พิกุล ผู้พิพากษาศาลอาญารีบจัดให้เร็วไว เมื่อ แบมและ ตะวัน ยื่นถอนประกันตนเองในคดี ม.๑๑๒ ส่งตัวเด็กสาวนักกิจกรรมกลับเข้าคุกทันใจผู้ที่ถูกอ้างว่า เสียหาย ตามคดีความนั้น มิพักที่จะตระหนักว่าทั้งสองทำอย่างนี้เพื่ออะไร

อรวรรณ ภู่พงษ์ –แบม กล่าวก่อนที่เข้ายื่นถอนประกันว่า “ถ้าคนในสังคมเอาแต่พูดว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง...แต่พวกคุณไม่ยอมที่จะแลกอะไรสักอย่าง พวกคุณจะไม่มีวันได้เห็นสิ่งที่พวกคุณอยากเห็น” อันได้แก่

๑.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ๒.ยุติการดำเนินคดีการเมือง ๓.ทุกพรรคการเมืองต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.๑๑๒ - ม.๑๑๖ โดยที่ ตะวัน –ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้องของเธอทั้งสอง ว่า “ให้เวลาศาลและพรรคการเมือง ๓ วัน

ไม่เช่นนั้นจะยกระดับจากทั้งในและนอกเรือนจำ” ก่อนหน้านี้ทั้งคู่แถลงถึงการถอนประกันตนเอง กลับเข้าสู่การจองจำนี้ เพื่อแลกกับอิสรภาพของเพื่อนๆ ซึ่งต้องหาคดีแบบเดียวกันและถูกปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราว ว่า “เลือดต้องแลกด้วยเลือด”

มิใยผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา ๑๑๒ และ ๑๑๖ ที่ยังต้องขังอยู่ขณะนี้ ๒๒ คน ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิคลูนี่ย์เพื่อความยุติธรรม (CFN) องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยจอร์จ คลูนี่ย์ และอามาล คลูนี่ย์ ให้ปล่อยตัวตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิ (ICCPR)

ทนายจูนศิริกาญจน์ เจริญศิริ เปิดเผยว่า ‘TrialWatch’ หน่วยงานติดตามคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกของมูลนิธิคลูนี่ย์ “ส่งหนังสือคำแนะนำทางกฎหมายถึงองค์คณะพิจารณาคดีชุมนุม ๑๙ กันยา นับเป็น Amicus curiae brief ประวัติศาสตร์”

ที่องค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้ พร้อมกับคลีนิคสิทธิมนุษยชนโรงเรียนกฎหมายโคลัมเบีย ร่วมด้วยอดีตผู้พิพากษาชาวออสเตรเลีย เควิน เบลล์ ซึ่งเชี่ยวชาญและติดตามคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน ของแกนนำนักกิจกรรมในประเทศไทย

โดยเฉพาะในคดีการปราศรัยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างฟุ่มเฟือยของกษัตริย์ไทย มีผู้ต้องหาประกอบด้วยนักกิจกรรมโดดเด่น เช่น พริษฐ์ ชีวารักษา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อานนท์ นำภา และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นต้น

ไทรแอลว้อทช์บอกว่าการที่ศาลไม่ยอมเรียกเอกสารงบประมาณและบัญชีการใช้จ่ายของกษัตริย์ไทย มาใช้เป็นหลักฐานประกอบคดีของฝ่ายจำเลย แล้วทำการกล่าวหาอย่างเหมารวมและคลุมเครือ โดยไม่มีการพิสูจน์ความถูกต้องของข้อกล่าวหาเช่นนี้

ไม่ต้องตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม แล้วยังกีดกันการต่อสู้คดีของผู้ถูกกล่าวหา ด้วยการมัดมือจำเลยเหล่านั้น ไม่ให้สามารถพิสูจน์ความจริงที่ระบุในการปราศรัยของพวกเขาได้ เท่ากับศาลประพฤติผิดกระบวนการยุติธรรมเสียเอง

(https://cfj.org/news_posts/thailand-should-dismiss-charges-against-22-protest-leaders/ และ https://twitter.com/JCharoensiri/status/1615167801592791040)