วันพุธ, มกราคม 11, 2566

#คอรัปชันทางวิชาการ มีทั้งเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียหาย


Cholnapa Anukul
20h

การ #คอรัปชันทางวิชาการ ขบวนการตีพิมพ์งานวิจัยด้อยคุณภาพ มีทั้งเหยื่อ ผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียหาย
.
1. #เหยื่อ คือผู้ไม่รู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมากคือ นักศึกษาที่ต้องส่งบทความตีพิมพ์หรือนำเสนอในงานประชุมวิชาการ เนื่องจากข้อบังคับมหาลัยว่าก่อนจบต้องให้นักศึกษาปอโทปอเอกเผยแพร่ผลงาน ผู้คนเหล่านี้คือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชั้นดีของ predatory journal และ predatory conference จ่ายแล้วจบ บางคนบินไปร่วมประชุมที่ต่างประเทศถึงยุโรปแล้วพบว่าไม่มีการจัดงานประชุมเหมือนที่แจ้งไว้ หรือไปเจอการจัดงานประชุมในห้องเช่าโรงแรมที่มีคนนำเหนองานไม่กี่คน มหาลัยมารู้ทีหลังก็ช่วยอะไรไม่ได้นอกจากยอมปล่อยผ่าน ทำแบล็กลิสต์พวก predatory ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนนักศึกษาส่งงานไปตีพิมพ์หรือเข้าร่วมประชุม บางแห่งก็เริ่มอบรมติดอาวุธทางปัญญาให้นักศึกษาและนักวิจัยหน้าใหม่รู้จักกับ ขบวนการที่ควรหลีกเลี่ยง
.
2. #ผู้ได้ประโยชน์ มีหลายระดับ การตีพิมพ์โดยมากเป็นเงื่อนไขในการต่อสัญญาจ้าง เพราะพ่วงกับการขอตำแหน่งวิชาการ อย่างไรก็ดี แม้จะมีสมมติฐานว่าคนที่ถูกกดดันจากสัญญาจ้างให้ขอตำแหน่งทางวิชาการก่อนต่อสัญญาจ้างก็ไม่จำเป็นต้องหนีตายขนาดนั้น ส่วนใหญ่พอผ่านกระบวนการฉ้อฉลดังกล่าวจะพบว่ามีผลประโยชน์รออยู่มากมาย เพราะการตีพิมพ์ผลงานวิชาการที่เปิดทางสู่การขอตำแหน่ง นอกจากตำแหน่งวิชาการ ยังมีตำแหน่งผู้บริหาร การขอทุนวิจัย ฯลฯ
สังเกตจากผู้บริหารมหาลัยราชภัฏทั้งหลายที่มีชื่อร่วมตีพิมพ์กับนักวิจัยต้องสงสัยได้ ตีพิมพ์เสร็จ เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการ ก็ขยับไปเป็นคณบดีบ้าง รองอธิการบ้าง และไม่มีงานตีพิมพ์อีก
การให้ทุนวิจัยโดยทั่วไปจากโปรไฟล์ผู้ขอทุนมากกว่าความน่าสนใจของข้อเสนอโครงการ เพราะคุยกันนอกรอบแล้วว่าจะทำงานตามยุทธศาสตร์ผู้ให้ทุนอย่างไร
บางคนไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการในระดับสูงขึ้น เพราะตระหนักว่าคุณภาพบทความตีพิมพ์ของตนเป็นอย่างไร ก็เก็บแต้มซื้อ authorship หรือปั๊มงานผ่าน paper mill เพื่อเพิ่ม h-index เป็นแต้มต่อในการขอทุน ทั้งทุนวิจัย หรือทุนหน่วยงานรัฐที่ไปทำงานกับชาวบ้าน และหาเสียงทางการเมืองได้อีก
สถาบันต้นสังกัดก็เป็นผู้ได้ประโยชน์ เพราะบรรลุ kpi ได้อยู่ใน ranking track ที่ดูดี ความชั่วร้ายบัดซบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนไม่กี่คน การที่งานของนักวิจัยผู้ต้องสงสัยถูกถอดถอน retract ก็ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าบุคลากรในสังกัดของตนที่มีชื่อในฐานะผู้เขียนร่วมในเปเปอร์ที่ถูกถอดถอน และนำมาใช้ขอตำแหน่งวิชาการไปแล้ว จะดำเนินการอย่างไร เคยเอาบทความนั้นมาเบิกเงินสนับสนุนการตีพิมพ์ไปแล้ว จะเรียกคืนเงินอย่างไร ฯลฯ
3. #ผู้เสียประโยชน์ โดยตรงก็คือ นักวิชาการที่ดำเนินการตามกฎกติกา play by the rule ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งทำวิจัยเอง หาทุนเอง เขียนบทความเอง ส่งตีพิมพ์เข้ากระบวนการเอง หยาดเหงื่อแรงงานแห่งความเหนื่อยยากนี้ เมื่อเทียบกับโมฆะบุรุษที่ต้นสังกัดปล่อยให้ลอยนวล ย่อมทำให้ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทวีความเข้มข้น บั่นทอนคนทำงานโดยรวม
โดยอ้อมก็คือ ประชาคมวิชาการเอง - กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะทำอย่างไรกับผู้ขอตำแหน่งวิชาการที่มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมกับโมฆะบุรุษ และคุณภาพงานห่วยเหมือนมาจาก paper mill เดียวกัน ฯลฯ
สำหรับผู้ที่รู้สึกกดดันจากสัญญาจ้างที่พ่วงเงื่อนไขขอตำแหน่งทางวิชาการ หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง หลายแห่งเป็นสัญญาจ้างคราวละ 7 ปี น่าจะเพียงพอกับการตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่เป็นภาษาไทยหรืออังกฤษอย่างน้อย 3 ชิ้น และหลายแห่งหลังจากขอครั้งเดียว (เป็น ผศ. ) ก็ได้สัญญาจ้างแบบไม่จำกัดเวลา - แน่ล่ะ ในยุคหนึ่ง คนเป็นอาจารย์มหาลัยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนมากกว่าวิจัย การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานก็ต้องการตัวช่วยมากขึ้น และการปรับตัวของคนทำงานก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ประเด็นเหล่านี้ต้องการพื้นที่พูดคุยหาข้อตกลงร่วมกัน มิฉะนั้นจะเกิด free rider หรือ dead wood ที่อยู่คนละฝั่งกับผู้ที่ทำงานได้ภายใต้กรอบกติกาปัจจุบัน