วันอังคาร, มกราคม 10, 2566

“กอดอำนาจไว้ให้แน่น กอดให้แน่นสุดชีวิต วันที่เสียมันไปจะได้ไม่เสียใจ เพราะวันของประชาชนจะมาถึงแน่”


ทะลุแก๊ซ - Thalugaz
9h

“กอดอำนาจไว้ให้แน่น กอดให้แน่นสุดชีวิต วันที่เสียมันไปจะได้ไม่เสียใจ เพราะวันของประชาชนจะมาถึงแน่”
เก็ท โสภณ นักกิจกรรมทางการเมือง กลุ่ม โมกหลวงริมน้ำ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และถูกศาลถอนประกันเนื่องจากเข้าร่วมชุมนุมม็อบ APEC โดยก่อนหน้านั้นเขาถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน 24 ชั่วโมง และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ที่เก็ท โสภณให้สัมภาษณ์กับทะลุแก๊ซ ก่อนที่เขาจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอีกครั้ง
เริ่มเป็นนักกิจกรรมเมื่อไหร่ เหตุผลอะไรที่ทำให้เลือกออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
“การเริ่มเป็นนักกิจกรรมของเรานี่โคตรตลกเลย เมื่อก่อนเรามองว่าถ้าจะเปลี่ยนสังคมได้ จำเป็นต้องมีอำนาจ มีองค์ความรู้ มีหลาย ๆ อย่าง คือเราเห็นปัญหาสังคมมาโดยตลอดแหละ แต่เรายังหาช่องทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาไม่ได้ บวกกับสถานะทางบ้านที่มันค่อนไปได้ดี ‘ดี’ ในที่นี้เราวัดจากทรัพยากรและโอกาสที่เรามีหรือสามารถเข้าหาได้ ก่อนจะมาเคลื่อนไหวนี่เรามี mindset ที่บิดเบี้ยวอย่างหนึ่ง คือ ‘คนที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือคนที่ยังพยายามไม่พอ’ วันที่มันเปลี่ยนจริง ๆ เราให้ 2 วัน
วันแรก เราเดินอยู่ที่สยาม วันนั้นจะไปกินเหล้าที่โคโค่วอล์ค วันนั้น BTS คนเยอะ เราเลยตัดสินใจเดินจากสยามไปราชเทวี ระหว่างทางที่เราเห็นตามถนนคือ คนหาบเร่ คนนั่งขายของตามฟุตบาท คนไร้บ้าน ในขณะเดียวกัน เราเห็นคนรีบเร่งทำงาน ใช้ชีวิต สิ่งที่เราเกิดคำถามที่กระเทาะเปลือกเราคือ ‘คนที่เขาไม่ประสบความสำเร็จ เขาไม่พยายามจริงหรอ’ เราเกิดคำถามในใจ แล้วตกผลึกได้ว่า บางคนพยายามมากกว่าเราด้วยซ้ำ แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลจริง ๆ มันไม่ใช่แค่ความพยายาม มันอยู่ที่ต้นทุนชีวิตที่ไม่เท่ากัน ที่มาของความไม่เท่ากัน ส่วนสำคัญคือโครงสร้างสังคมที่มันไม่ได้ให้ค่าของคนแต่ละชีวิตเท่ากัน
อีกวันคือวันที่เราได้ไปประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เป็นการส่งตัวแทนสภานิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าประชุม เราได้พบกับการแก้ไขปัญหาของตัวแทนนักศึกษานิสิตหลายที่ที่น่าสนใจ จนเรากลับไปย้อนคิดว่า จริง ๆ เราก็อายุเท่าเขานะ แต่เขาเริ่มสู้แล้วอ่ะ ทำไมเราต้องรอวันที่เรามีอำนาจวะ แล้ววันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ วันนั้นจะเหลือคนอีกซักกี่คนที่ร่วมเดินไปกับเรา พอคิดทบทวนแล้วเราก็ลุยเลย เคลื่อนไหวจากในมหาวิทยาลัย ผ่านสภานักศึกษา สร้างนโยบายเรื่องการรับมือการคุกคามทางเพศ การปลดล็อคเครื่องแต่งกายตามเพศกำเนิด การพูดเรื่องการเมืองในมหาวิทยาลัย จากนั้นก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนนอกมหาวิทยาลัย โดยเรามองว่า ใคร ๆ ก็พูดถึงประชาธิปไตย แต่รากฐานสำคัญอยากการให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ยังไม่มีคนทำ เราก็เลยเริ่มเคลื่อนจากตรงนั้นแหละ”
การเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำมีลักษณะเด่นอย่างไร กิจกรรมอะไรที่ทำให้ภาคภูมิใจที่สุด
“ลักษณะของการเคลื่อนไหวของโมกหลวงคือ ไม่มีแพทเทิร์นตายตัว เราเคลื่อนไหวโดยต้องการสื่อสารว่าทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำม็อบ พยายามทำให้การเคลื่อนไหวเป็นอะไรก็ได้ บนพื้นฐานของอุดมการณ์กลุ่มคือสิทธมนุษยชนและสวัสดิการในสังคมที่เท่าเทียม แต่จะเน้นด้านสิทธิ เพราะหลายประเด็นยังไม่มีคนทำ ซึ่งประเด็นสิทธิที่ไม่ค่อยมีคนทำ โมกหลวงก็จะทำเลย ส่วนด้านไหนที่มีแล้ว เราก็จะไปร่วมช่วยผลักดัน ส่วนกิจกรรมที่ภูมิใจมาก ๆ มีหลายงานนะ เช่น งานนิทรรศการคืนยุติธรรม งานนี้เราตั้งโจทย์ว่า จะเคลื่อนไหวผ่านศิลปะ โดยมีกลิ่นของม็อบ แต่ไม่ใช่ม็อบ และถูกกฎหมาย โมกหลวงไม่ใช่กลุ่มที่มีเงินถุงเงินถัง ทำอะไรก็ยาก งานนี้เลยมีความละเอียดอ่อนเยอะมาก มันมีเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงความทุลักทุเลในการทำงาน เพราะทรัพยากรบุคคลเราก็ไม่พอ เงินก็ไม่พอ ทำอะไรก็ติดขัด แต่งานนี้ก็ผ่านไปได้ เพราะการร่วมมือจากเครือข่าย จริง ๆ งานนี้มันเรียกไม่ได้ว่างานโมกหลวงเพียว ๆ แต่พูดได้ว่าเป็นผลงานของกลุ่มการเคลื่อนไหวรุ่นใหม่หลายกลุ่มร่วมด้วยช่วยกัน แล้วประเด็นที่เล่นก็ ค่อนข้างตรงไปตรงมาคือ ‘เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย’ พยายามทำให้เรื่องนี้มันจับต้องได้ ไม่โหดเกินจนคนทั่วไปรับไม่ไหว, กิจกรรมเดินชมวัง ก็เป็นกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ว่า สถานะของกษัตริย์ในปัจจุบันมันสร้างปัญหาให้ประชาชน ทั้งกฎหมายที่ปกป้องกษัตริย์ งบสถาบัน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ กิจกรรมนี้ทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกทำที่บริเวณวังศุโขทัย รอบสองทำที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง รอบแรกโดนล้อม รอบสองโดนจับ แต่ก็สะท้อนให้สังคมเห็นว่าปัญหาในการพูดถึงสถาบันมันมีอยู่จริง, ม็อบคืนยุติธรรม ม็อบนี้เป็นม็อบแรกของโมกหลวง พูดเรื่องคนถูกบังคับศูนย์หาย ม็อบนี้เหนื่อยมาก เราใหม่มาก เงินก็ไม่มีประสบการณ์ก็น้อย แต่ก็เพราะทุกคนช่วยกัน เลยผ่านมาได้ นอกจากนี้ก็มีการทำงานหลังบ้าน ไปช่วยเหลือสหายในที่ต่าง ๆ, การเข้าร่วมประชุมกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้พื้นที่กับประชาชนและคนชายขอบได้มีสิทธิ์มีเสียง เช่น พาเยาวชนไปคุยกับ UNICEF การคุยในวง Milk tea alliance, วง Asia pacific, วง ASEAN ภาคประชาชน งานพวกนี้สื่อไม่ค่อยจับ สังคมไม่ค่อยเห็น แต่ในเชิงนโยบายสังคม มันทำให้เรารู้ว่าภาครัฐพูดอะไรในเวทีโลกบ้าง เป็นการคานอำนาจเชิงข้อมูลกันได้ ผลที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้ใหญ่โตในทีเดียว แต่ในระยะหนึ่งมันมีผลต่อการกดดันผู้มีอำนาจนะ
จริง ๆ งานกิจกรรมต่าง ๆ มันไม่ได้เกิดจากเราคนเดียวหรอก เพื่อน ๆ ช่วยกันทั้งนั้น เราก็แค่คนที่พร้อมโดนคดี ยอมเปิดหน้าเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่มีเพื่อน ๆ หลังบ้านนี่มาไม่ไกลขนาดนี้หรอก”
อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้เลือกต่อสู้ต่อไป ถึงแม้จะมีอุปสรรคมากมายขัดขวางไม่ให้สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อีก
“ความห้าวมั้ง จริง ๆ เราเห็นแก่ตัวว่ะ เราไม่เคยมองตัวเองเป็นนักบุญหรือฮีโร่เลย เราเคลื่อนไหวเพื่อความต้องการของเรา แล้วความต้องการของเรามันคือการอยากให้คนในสังคมมีความสุข ลืมตาอ้าปากได้ เรามองว่าชีวิตในสังคมนี้มันดีกว่านี้ได้ เราอยากใช้ชีวิตในสังคมที่แบบ ทักทายกัน What’s up bro? ใคร ๆ ก็มีสิทธิ์มีชีวิตดี ๆ ได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างทางสิทธิและสวัสดิการที่แข็งแรง ต้นทุนชีวิตขั้นพื้นฐานต้องมี แต่ก็นั่นแหละ ใครจะไปรู้ บางคนอาจจะไม่ต้องการชีวิตที่เราหวังดีกับเขาก็ได้ แล้วก็อีกอย่างที่ทำให้สู้มาถึงจุดนี้ ก็เพราะเรามีเพื่อนพ้องที่พึ่งพาได้อยู่และเรามั่นใจว่าเราจะชนะแน่ อันนี้ไม่ได้หวังลม ๆ แล้ง ๆ แต่ดูจากสภาวะสังคมไทยและสังคมโลกเลย ‘พวกเขา’ เสื่อมอำนาจไปเยอะแล้ว”
อยากเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางไหน อะไรคือสิ่งที่คาดหวัง
“สังคมที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิต มีสิทธิ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดี สังคมที่ถ้าใครพยายามก็ไปถึงเป้าหมายได้ ไม่ใช่พยายามแทบตาย สุดท้ายก็ยังจมอยู่กับที่”
สิ่งที่อยากฝากบอกกับประชาชน
“เชื่อในศักยภาพของคุณเถอะ ทุกการเปลี่ยนแปลงมีความหมายเสมอ แค่คุณขับเคลื่อน คุณพูด คุณแสดงความคิดเห็นสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว สังเกตง่าย ๆ คุณคุยกับเพื่อน คุยกับครอบครัว ถ้าเขาเข้าใจ เขาก็ไปพูดต่อ ไปขยายแนวคิดต่อ การตื่นรู้ก็จะกว้างขึ้น แล้วคน ๆ หนึ่งมีสัมพันธ์กับใครบ้าง ทั้งพ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา เพื่อน แล้วลองคิดในรูปแบบการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ถ้าทำไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้น? เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา มันเดินไปเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติของมัน การกระทำของเราต่างหากที่มันขับเคลื่อนสังคม เชื่อในอิสระที่ตนมีแต่กำเนิด เชื่อในศักยภาพของตนเอง แต่ถ้าวันไหนเหนื่อยก็พักผ่อน เราสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นคน เราก็อย่าลืมดูแลเราในฐานะคน ๆ หนึ่งด้วย คุณก็เป็นคนไม่ต่างจากผู้มีอำนาจหรอก ศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ก็ไม่ได้ต่างกัน”
#saveเก็ท
#ยกเลิก112
#ปล่อยเพื่อนกู