วันจันทร์, พฤศจิกายน 21, 2565

อะไรทำให้คนดีเปลี่ยนเป็นคนเลว ?



ลูซิเฟอร์เอฟเฟ็กต์ (Lucifer effect) เปลี่ยนคนเป็นปีศาจร้ายด้วยการให้อำนาจ

12 ก.ย. 2022
NGThai

สิ่งใดกันที่ทำให้คนดีประพฤติชั่ว? หนึ่งในการทดลองด้านจิตวิทยาสังคมอันมีชื่อเสียงและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด ให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้

แม้แต่เจ้าผู้ปกครองนรกเอง ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นชาวสวรรค์มาก่อน ลูซิเฟอร์ผู้กบฎต่อพระผู้เป็นเจ้าถูกเนรเทศเพราะอัตตาของตน ฑูตสวรรค์ ‘ผู้ส่องสว่าง’ องค์นี้ตกดิ่งลงไปสู่ดินแดนแห่งความมืดมิด อันเป็นที่ที่เขาอุทิศตัวเองเข้าสู่ด้านมืดอย่างสมบูรณ์

เส้นแบ่งระหว่างความดีและความชั่วร้ายอยู่ตรงไหนกัน? คนที่ดูจริงใจจะถูกล่อลวงให้ทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือแม้กระทั่งแสดงออกว่าชื่นชอบความทุกข์ยากของผู้อื่นแบบไม่รู้ตัวได้อย่างไรกัน? คำตอบหนึ่งที่เป็นไปได้มาจากการทดลองอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในปี 1971 ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo) ต้องการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการถูกจองจำอันรุนแรง เพื่อจะวิจัยเรื่องนี้ ซิมบาร์โดได้ดัดแปลงห้องใต้ดินของมหาวิทยาลัยบางส่วนให้กลายเป็นคุกจำลองที่มีทั้ง ห้องขังลูกกรง ลานเรือนจำ และห้องอาบน้ำรวม

“พวกเราต้องการสำรวจผลกระทบทางจิตวิทยาของการเป็นนักโทษหรือเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ดู” ซิมบาร์โดกล่าว “ดังนั้น เราจึงตัดสินใจจำลองเรือนจำขึ้นมาและเฝ้าสังเกตอย่างระมัดระวังว่าการจัดสิ่งต่าง ๆ ภายในเรือนจำนั้นส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ภายในพื้นที่นั้นอย่างไร”


คีห์ล นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก พบความผิดปกติที่โดดเด่นในสมองของพวกจิตใจอันธพาล เขาทำการสแกนสมองของนักโทษกว่า 4,000 คน เพื่อวัดกิจกรรมในสมองและขนาดของสมองในบริเวณต่างๆ เขากล่าวว่า พวกจิตใจอันธพาลมีความบกพร่องในการเชื่อมต่อของโครงสร้างต่างๆภายในสมองซึ่งช่วยในการประมวลผลด้านอารมณ์ ตัดสินใจ ควบคุมแรงกระตุ้น และตั้งเป้าหมาย

ธรรมชาติของความชั่วร้าย

ด้วยวิธีการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ฟิลิปประกาศรับอาสาสมัครนักศึกษาจำนวน 25 คนมาเป็นผู้ทดลองอยู่ในห้องขังเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์ พร้อมค่าตอบแทนจำนวน 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมจะถูกสุ่มให้รับบทเป็นนักโทษและอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้คุม

“การศึกษาชีวิตในเรือนจำของเรานี้เริ่มจากกลุ่มเฉลี่ยของชายหนุ่มชนชั้นกลางที่มีสุขภาพดีและฉลาด” นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าว “สิ่งสำคัญที่เราต้องพึงตระหนักไว้คือ ตอนเริ่มทำการวิจัยนั้นทั้งนักโทษและผู้คุมนั้นไม่แตกต่างกันเลย”

นักโทษต้องสวมชุดคลุมสั้นแบบที่ใช้ในโรงพยาบาล สวมถุงน่องไว้เป็นหมวกและล่ามโซ่ที่ข้อเท้า นอกจากนี้พวกเขาจะถูกเรียกด้วยหมายเลขแทนการเรียกชื่อ ในทางกลับกันทางฝั่งผู้คุมกลับได้สวมชุดเครื่องแบบสีกากีเงางาม แว่นกันแดดแสนเท่และไม้พลองยาง ส่วนซิมบาร์โดนั้นก็ได้รับบทเป็นหัวหน้าพนักงานราชทัณฑ์


ศูนย์การบำบัดเยาวชนเมนโดตาในรัฐวิสคอนซินเป็นที่รองรับผู้กระทำความผิดร้ายแรงที่ยังเป็นวัยรุ่น โปรแกรมบำบัด ช่วยวัยรุ่นหลายคนจากการกลายเป็นอาชญากรไปตลอดชีวิต เยาวชนจะได้รับหรือเสียสิทธิพิเศษสำหรับวันต่อไปอย่างการได้รับอนุญาตให้เล่นวิดีโอเกมโดยอ้างอิงจากความประพฤติในแต่ละวัน วิธีนี้ยอมให้พวกเขาไถ่บาปตัวเองทุกๆ 24 ชั่วโมง เด็กชายในภาพนี้ถือกราฟคะแนนเฉลี่ยแต่ละสัปดาห์ของเขาในช่วงเวลาหนึ่งปี

เมื่อด้านมืดตื่นขึ้นมา

นักศึกษาทุกคนรู้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่การทดลอง แม้กระนั้นพวกเขาเองก็เริ่มเปลี่ยนไป ตอนแรกแต่ละคนต่างก็ลองใช้ชีวิตประจำวันในคุก แต่ไม่นานพวกเขาก็ทิ้งตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไปแล้วจดจ่ออยู่กับบทบาทใหม่โดยสมบูรณ์ ผู้คุมเริ่มก่อกวนผู้ต้องขัง มีการดำเนินการลงโทษผู้ต้องขังตามอำเภอใจ เป็นการแสดงอำนาจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง แค่ถึงวันที่สองพวกนักโทษก็เริ่มต่อต้านแล้ว ผู้คุมจึงปราบการลุกฮือนี้ด้วยการใช้ถังดับเพลิงฉีดสารดับเพลิงเข้าไปในกรงขัง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การข่มขู่และทรมานผู้ต้องขังก็เข้าครอบงำการทดลองนี้ ผู้คุมทั้งบุกห้องขัง จับนักโทษเปลื้องผ้าจนเปลือย เอาเตียงออกจากห้องขังและแยกขังผู้นำการลุกฮือไว้ในห้องขังเดี่ยว แม้นักโทษจะเข้าห้องน้ำก็ยังทำไม่ได้ มีเพียงนักโทษที่ให้ความร่วมมือดีเท่านั้นที่ได้รับการปฏิบัติที่ดี จุดนี้เองที่ทำให้ความสามัคคีในหมู่นักโทษพังทลายลง

ซิมบาร์โดคอยถ่ายทำเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านรูเล็ก ๆ ในกำแพง การทำเช่นนี้ทำให้เขาค้นพบเรื่องน่ากลัวอีกประการหนึ่งคือ ผู้คุมบางคนจะแสดงพฤติกรรมโหดเหี้ยมขึ้นโดยเฉพาะในตอนกลางคืนทันทีที่พวกเขาคิดว่ากล้องวงจรปิดไม่ทำงานแล้ว สองสามวันหลังจากนั้นซิมบาร์โดต้องหยุดการทดลองนี้ลง ภายในระยะเวลาสั้น ๆ กลับเปลี่ยนให้นักศึกษาชนชั้นกลางกลายเป็นผู้คุมหัวรุนแรงไปได้


เทวดาตกสวรรค์ – ลูซิเฟอร์ถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ ภาพจาก Adobe Stock

ปีศาจร้ายในคราบมนุษย์

ในปี 2007 ซิมบาร์โดสรุปผลการทดลองของเขารวมไว้ในหนังสือ “The Lucifer Effect” สมมติฐานของเขาคือ คนเราสามารถทำชั่วได้ไม่ใช่เพราะนิสัยแต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาชั่วร้ายแต่อำนาจของสภาพแวดล้อมก่อให้เกิด “ผู้กระทำ” และ “เหยื่อ” ไม่ว่าใครก็กลายร่างเป็นปีศาจร้ายในคราบมนุษย์ได้ทั้งนั้น ดังเช่นตัวอย่างมากมายในหน้าประวัติศาสตร์

ซิมบาร์โด กล่าวถึงปัจจัยทางจิตวิทยาหลายประการที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงที่มากเกินพอดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคาม พลังของกฎระเบียบ แรงกดดันจากกลุ่ม การไม่เปิดเผยตัวตนและการลดทอนตัวตนในบทบาทของตัวเองลง ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนน้อยจากทั้งหมด

จวบจนวันนี้“การทดลองเรือนจำสแตนฟอร์ด” (The Stanford Prison Experiment) เป็นที่ถกเถียงกันว่าวิธีการและจริยธรรมในการทำวิจัยเหมาะสมหรือไม่ ซิมบาร์โดเองยังตกใจกับผลลัพธ์ที่ได้และพฤติกรรมของเขาในการทดลอง ในภายหลังเขาก็ได้ตระหนักว่าบทบาทของเขาเองลึกซึ้งเพียงใด “ฉันคิดเหมือนหัวหน้าสถานทัณฑ์ไปแล้ว ไม่ได้เหมือนกันกับนักจิตวิทยาที่ทำงานทางวิชาการอยู่”

ในเวลาเดียวกัน ซิมบาร์โดเองก็ออกมาตำหนิระบบยุติธรรมทางอาญาที่ใช้กันอยู่ “หลังจากที่เราสังเกตเรือนจำจำลองของพวกเรามาหกวัน เราก็เข้าใจได้ทันทีเลยว่าเรือนจำลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปได้อย่างไร ปฏิบัติกับนักโทษราวกับเป็นสิ่งของได้อย่างไร และปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความสิ้นหวังลงไปในตัวพวกเขาได้อย่างไร อีกทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คุมทำให้เราเห็นได้ว่าคนธรรมดาเปลี่ยนจาก ดร.เจเคิลผู้แสนดี เป็น มิสเตอร์ไฮด์ผู้ชั่วร้ายได้ง่าย ๆ เลย”

เรื่อง เยนส์ วอส (Jens Voss)
แปล กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย