วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 03, 2565

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น ‘เป็นของ’ ราษฎรทั้งหลาย แต่โดนเลี่ยงบาลีกลายเป็น 'มาจาก'


“มาจาก” หรือ “เป็นของ” : ร่องรอยแห่งการรับรองอำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญไทย

โดย กล้า สมุทวณิช
1 พฤศจิกายน 2565
สถาบนปรีดี พนมยงค์

“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พุทธศักราช 2475

หน้าที่ประการแรกและเป็นประการสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ คือการเป็น “บทบัญญัติแห่งการจัดตั้งรัฐ” ดังนั้น ในมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญ มักจะกำหนดรูปแบบของรัฐ และกล่าวอ้างถึงที่มาแห่ง “อำนาจสูงสุด” ของประเทศนั้น

เช่นในมาตรา 3 วรรคหนี่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้า (ค.ศ. 1958) บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน ซึ่งใช้อำนาจนั้นผ่านทางตัวแทน หรือโดยการออกเสียงประชามติ”[1] หรือในรัฐธรรมนูญอิหร่าน บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์อัลเลาะห์ โดยอำนาจสูงสุดและอำนาจนิติบัญญัติล้วนแต่น้อมจำนนต่อบัญชาแห่งพระองค์”[2]

สำหรับในรัฐธรรมนูญไทย ยกเว้นแต่ฉบับแรกของคณะราษฎรที่เป็นฉบับชั่วคราวแล้ว การกล่าวถึงอำนาจสูงสุดนี้จะอยู่ในมาตรา 2 และต่อมาก็อยู่ในมาตรา 3

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน (2560) บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคหนึ่งว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

แต่หากใครช่างสังเกตและมีโอกาสได้อ่านรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบระหว่างรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆ จะพบว่า มาตราที่กล่าวถึงอำนาจอธิปไตยนี้ จะมีวิธีการเขียนอยู่สองรูปแบบแตกต่างกัน ได้แก่รูปแบบประโยคที่เขียนว่า “อำนาจอธิปไตย ‘เป็นของ’ ปวงชนชาวไทย” และ “อำนาจอธิปไตย ‘มาจาก’ ปวงชนชาวไทย”

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุดของคณะราษฎร แม้จะไม่ได้ใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย” แต่ก็ใช้คำว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศ” และอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นก็ “เป็นของ” ราษฎรทั้งหลาย ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1

จึงถือว่าเป็น “ปฐมรัฐธรรมนูญ” ที่รับรองว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งเป็นประชาชน หรือปวงชนชาวไทย แล้วแต่บริบทการใช้

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญถาวร และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกด้วยที่ใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย ‘มาจาก’ ปวงชน” คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ว่า

“อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ก็ใช้ข้อความนี้ตรงกัน เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร

หลังจากนั้น ถ้าไม่นับรัฐธรรมนูญชั่วคราวจากคณะรัฐประหารที่มักเรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” แล้ว ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือฉบับปี 2492 ก็ยังคงใช้ถ้อยคำลักษณะนี้ เพียงแต่ไปบัญญัติอยู่ในมาตรา 3

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ในทางปฏิบัติถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญปี 2495 นั้น เป็นการให้นำรัฐธรรมนูญ 2475 ที่ถูกคณะรัฐประหาร “ตุ่มแดง” ฉีกไป กลับมาใช้ใหม่ โดยมีการแก้ไขเกือบทั้งฉบับ แต่ยกเว้นมาตราใดที่ไม่มีการแก้ไขก็จะมีข้อความเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2475 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องนามประเทศ ปี 2482 ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2495 จึงเป็นรัฐธรรมนูญในกลุ่ม “มาจาก” เช่นกัน ซึ่งต่อมาในรัฐธรรมนูญปี 2502 ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 1 ว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย”

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ใช้คำว่า “เป็นของ” คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 แต่รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้กลับไปใช้คำว่า “มาจาก” อีกครั้ง เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญปี 2521 และรัฐธรรมนูญปี 2534

จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้ใช้คำว่า “เป็นของ” อีกครั้ง และใช้มาเรื่อยๆ จนถึงรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า ก่อนการปฏิรูปการเมือง 2540 นั้น ยกเว้นก็แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกสุด และรัฐธรรมนูญปี 2517 แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ใช้คำว่า “มาจาก” ทั้งสิ้น

ถ้อยคำที่แตกต่างกันนี้มีนัยอย่างไรหรือไม่

แท้จริงแล้วตัวบทของรัฐธรรมนูญว่าด้วย “อำนาจสูงสุดของประเทศ” นี้ ไม่ใช่บทบัญญัติที่มีลักษณะบังคับหรือกำหนดหลักเกณฑ์อะไร เป็นเหมือนบทประกาศหลักการพื้นฐานหรืออุดมการณ์แห่งรัฐเท่านั้น ดังนั้นข้อความในมาตรานี้ จะ “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย

กระนั้นถ้าจะกล่าวว่าการใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกันระหว่างคำว่า “เป็นของ” หรือ “มาจาก” นั้น เป็นเพียงการใช้ถ้อยคำวิธีเขียนที่แตกต่างกันโดยไม่มีนัยอะไรเลยก็มีข้อที่ไม่สนิทใจอยู่ว่า ถ้าเช่นนั้นเหตุใดต้องมีการ “เปลี่ยนไป” แล้ว “เปลี่ยนกลับ” สลับกันไปมาด้วย

หลักการตีความกฎหมายทั่วไปจะมีวิธีการหยั่งทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีหนึ่ง ที่จะถือว่าถ้ากฎหมายฉบับใหม่นั้นยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงข้อความใดในกฎหมายฉบับเดิม ย่อมหมายถึงว่ากฎหมายใหม่นั้นประสงค์อย่างชัดแจ้งที่จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหลักการของกฎหมายฉบับเดิม ที่ถ้าข้อความนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็มักจะใช้ถ้อยคำเดียวกันกับที่เคยใช้ในกฎหมายฉบับเดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการผิดพลาดคลาดเคลื่อนหากไปพบข้อความนั้นปรากฏที่อื่นในกฎหมายนั้น หรือในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

เมื่อพิจารณาถึง “ที่มา” ของรัฐธรรมนูญบางฉบับ ก็อาจจะทำให้ตั้งสมมติฐานถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ถ้อยคำ “เป็นของ” หรือ “มาจาก” นี้ได้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่คณะผู้อภิวัฒน์ ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่างขึ้นนั้น แต่เดิมไม่ได้มีเจตนารมณ์จะให้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” แต่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ที่คณะราษฎรได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” (เพียงเท่านี้ไม่มีอะไรต่อท้าย) ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์ได้ทรงขอร่างรัฐธรรมนูญไว้ดูก่อน ต่อมาจึงได้ลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานคืนมาในวันที่ 27 มิถุนายน ปีเดียวกัน เวลา 17.00 น. และได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช 2475” แทน ทั้งนี้ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ให้ร่างขึ้นใหม่ให้ครบถ้วนบริบูรณ์เป็นฉบับถาวรในภายหลัง[3]

เรื่องนี้หลวงประดิษฐ์ฯ เองก็ยอมรับโดยแถลงต่อสภาในภายหลังว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้นเป็นฉบับชั่วคราวที่ร่างในเวลาฉุกละหุก อาจมีข้อบกพร่อง จึงเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 7 คน โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน และกรรมการอื่นๆ อีก 5 คน ซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นกรรมการและเลขาธิการ ต่อมาจึงได้มีการตั้งอนุกรรมการเพิ่มอีก 2 คน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานเป็นรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นฉบับแรกที่ใช้คำว่า “อำนาจอธิปไตย ‘มาจาก’ ปวงชน...” ที่ใช้กันในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา

การรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หรือที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” วงจรอุบาทว์ของการฉีกทิ้งและเขียนใหม่ของรัฐธรรมนูญไทยก็เริ่มต้นขึ้นและต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จนกระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517

หลังจากที่ จอมพล ถนอม กิตติขจร ลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศไทย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลของนายสัญญาซึ่งเป็นเหมือนรัฐบาลรักษาการหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีภารกิจประการสำคัญในการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของมหาชนที่เป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

นายสัญญาจึงตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญโดยมี ศาสตราจารย์ ประกอบ หุตะสิงห์ อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้เวลาสามเดือน แล้วจึงส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และได้รับการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ของประเทศไทย[4] และถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้รูปประโยคว่า “อำนาจอธิปไตย ‘เป็นของ’ ปวงชนชาวไทย...”

แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ถูกฉีกไปโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และกลับไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างขึ้นมาใหม่ รอให้อีกคณะมาฉีกรัฐธรรมนูญนั้น วนซ้ำไปจนกระทั่งเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมที่นำไปสู่การกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540[5]

ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น เดิมทีเดียว เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้ยกร่างมาตรา 3 ด้วยข้อความว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ...ฯลฯ...”

แต่เมื่อพิจารณามาตรานี้ในชั้นกรรมาธิการ ก็มีกรรมาธิการบางท่านเสนอความเห็นว่า ควรแก้จากคำว่า อำนาจอธิปไตย “มาจาก” ปวงชนชาวไทย เป็น อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ปวงชนชาวไทย ด้วยเหตุผลว่า การใช้คำว่า “มาจาก” บางครั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมักกล่าวอ้างว่า ได้รับอำนาจ “มาจาก” ประชาชนแล้ว ประชาชนย่อมไม่มีอำนาจอีกต่อไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน และอยู่ห่างไกลจากประชาชน

นอกจากนี้ คำว่า “มาจาก” นั้นก็มีความหมายแตกต่างจาก “เป็นของ” เช่น นาย ก. เดินทางมาจากบ้านหลังคาแดง บ้านหลังคาแดงอาจจะไม่ใช่ของนาย ก. ก็ได้ แต่หากกล่าวว่า นาย ก. เป็นเจ้าของบ้านหลังคาแดง ก็ไม่มีข้อสงสัย

ซึ่งคณะทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่าบทบัญญัติของมาตรานี้ เป็นเรื่องรูปแบบการปกครองไม่ใช่บทบัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตย และที่ใช้ว่า “มาจาก” ก็เนื่องจากด้วยเหตุลผลสองประการ

ประการแรก คือ โดยประวัติศาสตร์ชาติไทยถือมาตลอดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกัน และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านองค์กรของรัฐ และ

ประการที่สอง เป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ที่ประชาชนจะใช้เองได้ผ่านกลไกการเสนอกฎหมาย และสามารถถอดถอนผู้แทนของตนได้ กับทฤษฎีอำนาจอธิปไตยเป็นของ “ชาติ” ที่คณะทำงานดังกล่าวอ้างว่าประเทศไทยยึดถือทฤษฎีนี้มาตลอด คือให้ประชาชนเลือกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยมาใช้อำนาจนั้นแทนตน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า เมื่อให้ที่ประชุมตัดสินกันด้วยการออกเสียง คณะกรรมาธิการมีมติ 13 ต่อ 11 ให้แก้ไขข้อความจากร่างของคณะทำงานของกรรมาธิการ จากรูปประโยคว่า “อำนาจอธิปไตย ‘มาจาก’ ปวงชนชาวไทย...” เป็น “อำนาจอธิปไตย ‘เป็นของ’ ปวงชนชาวไทย...”

เช่นนี้จึงทำให้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ข้อความที่ประกาศความเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ ก็ใช้คำว่า อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ปวงชนชาวไทย โดยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่า แม้ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้จะถูกฉีกลง แต่ก็ด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนยอมรับกันมากที่สุด ดังนั้นหลักการสำคัญต่างๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้าไม่ใช่จุดที่คณะผู้ร่าง (และผู้สั่งให้ร่าง) นั้นเห็นว่าเป็นปัญหาก็จะไม่มีการแตะต้อง รวมถึงมาตรานี้ด้วย

อีกทั้งการจะไปแก้ถ้อยคำ “เป็นของ” ที่เคยใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ให้กลับเป็น “มาจาก” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ฟังขึ้นก็ยาก อีกทั้งถ้าจะกล่าวตามจริง มาตรานี้ไม่ใช่มาตราที่มีผลใช้บังคับโดยชัดเจน แต่เป็นเสมือน “คำประกาศ” ว่าด้วยที่มาของอำนาจสูงสุดของรัฐเท่านั้น ดังนั้นจะใช้ “มาจาก” หรือ “เป็นของ” ก็คงจะไม่เป็นสาระเท่ากับบทมาตราอื่นที่ว่าด้วยการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจรัฐระดับสูง

จากประวัติศาสตร์แห่งการกำเนิดรัฐธรรมนูญ มีข้อสังเกตว่านับแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะผู้อภิวัฒน์ รัฐธรรมนูญที่ประกาศข้อความอันเป็นสัจจะว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ก็ทำให้อำนาจนั้นกลายเป็นเพียง “มาจาก” ราษฎรหรือปวงชนทั้งหลาย เว้นแต่รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากความต้องการโดยแท้จริงของประชาชน ทั้งฉบับปี 2517 ที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ที่ได้กลับมารับรองว่า “อำนาจอธิปไตย” คืออำนาจสูงสุดของประเทศนั้น “เป็นของ” ปวงชนชาวไทยผู้เป็นราษฎรทั้งหลาย

ความแตกต่างระหว่างข้อความว่า “มาจาก” หรือ “เป็นของ” ที่ใช้ประกาศเรื่องที่มาแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐธรรมนูญไทยนี้ อาจจะเป็นไปตามหลักวิชาการที่เชื่อในแนวทางว่า อำนาจอธิปไตยอาจจะมาจากประชาชนแต่ก็เป็นของชาติ ตามแนวความคิดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติอย่างแท้จริง หรืออาจเป็นเหตุผลที่แฝงอยู่ในความพยายามเล่นคำของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่ละสมัยเพื่อบอกนัยให้ประชาชนรู้ “ตำแหน่งแห่งที่” อันแท้จริงของตัวเองในประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่ารูปประโยคว่า “อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุด ‘มาจาก’ ปวงชน” นั้นจะแสดงถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือประชาชนไม่ได้มีอำนาจสูงสุดแล้วก็มิได้ เพราะอย่างเช่นในรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหพันธรัฐเยอรมนี มาตรา 20 (2) ก็มีใช้คำว่า “อำนาจรัฐทั้งปวงมาจากประชาชน...”[6] อยู่เช่นกัน

หากแต่ถ้าพิจารณาถ้อยคำและหากเชื่อว่าถ้อยคำดังกล่าวมีนัยอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า “เป็นของ” นั้น บ่งถึงความเป็นเจ้าของ ความเป็นผู้มีสิทธิอันแท้จริงของสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น ส่วนความหมายของคำว่า “มาจาก” คือการที่สิ่งหนึ่งย้ายที่จากสถานที่หนึ่งไปยังสถานที่อื่น และเมื่อสิ่งนั้น “มาจาก” ที่ใด ก็เท่ากับสิ่งนั้น “ไปจาก” โดยไม่ได้อยู่ในสถานที่เดิมที่ได้จากมาแล้ว ดังนั้นหากอำนาจอธิปไตย “มาจาก” ปวงชนแล้ว ย่อมหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหรือไม่ แต่อำนาจนั้นไม่ได้อยู่ที่ปวงชนผู้เป็นราษฎรทั้งหลายแล้ว

แต่กับถ้อยคำว่า อำนาจอธิปไตย “เป็นของ” ปวงชนชาวไทย แม้อำนาจอธิปไตยนั้นจะยึดถือไว้โดยใครก็ตาม แต่ด้วยอำนาจแห่งความเป็นเจ้าของที่แท้จริงแล้ว ผู้เป็นเจ้าของนั้นสามารถเรียกคืนสิ่งหนึ่งสิ่งนั้นกลับมาได้ โดยชอบธรรม ด้วยเป็นการพาเอาสิ่งที่ปวงชนนั้นเป็นเจ้าของกลับมาสู่เจ้าของเดิม ดังที่ควรจะเป็นและต้องเป็นเท่านั้นเอง.

[1] la Constitution du 4 octobre 1958. “Article 3. La souveraineté nationale appartient au peuple qui l'exerce par ses représentants et par la voie du référendum.”

สืบค้นจาก : https://www.conseil-constitutionnel.fr/sites/default/files/as/root/bank_mm/anglais/constiution_anglais_oct2009.pdf

[2] Islamic republic of Iran “Article 2 The Islamic Republic is a system based on belief in: 1. the One God (as stated in the phrase "There is no god except Allah"), His exclusive sovereignty and the right to legislate, and the necessity of submission to His commands;...” สืบค้นจาก : https://www.constituteproject.org/constitution/Iran_1989.pdf

[3] ไพโรจน์ ชัยนาม, รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสำคัญในทางการเมืองของประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519), หน้า 111 - 112.

[4] จันทนา ไชยนาเคนทร์. “สภาสนามม้า”. สืบค้นจาก : http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภาสนามม้า

[5] รายละเอียดของการกำเนิดรัฐธรรมนูญ 2540 อยู่ในบทความ. รัฐธรรมนูญ 2540 : รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในความทรงจำ. ของผู้เขียน https://pridi.or.th/th/content/2022/10/1305

[6] The Basic law for the Federal Republic of Germany. “Article 20 … (2) All state authority emanates from the people. It shall be exercised by the people in elections and plebiscites and by means of separate legislative, executive and judicial organs.” สืบค้นจาก : https://www.btg-bestellservice.de/pdf/80201000.pdf.