วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 06, 2565

‘ทนาย’ ถามเกินไปไหม? ทั้งประกันทั้งติดอีเอ็ม ‘แอมเนสตี้’ ชี้โดนคุกคามเหมือนกัน – ทวง รบ.เซ็นอะไรไว้ ทำไมไม่ทำตาม?



‘ทนาย’ ถามเกินไปไหม? ทั้งประกันทั้งติดอีเอ็ม ‘แอมเนสตี้’ ชี้โดนคุกคามเหมือนกัน – ทวง รบ.เซ็นอะไรไว้ไม่ทำ?

5 พฤศจิกายน 2565
มติชนออนไลน์

‘ทนาย’ ถามเกินไปไหม ทั้งประกัน ทั้งติดอีเอ็ม ‘ตัวแทนแอมเนสตี้’ ทวงปฏิญญาสากล ชี้โดนคุกคามเหมือนกัน ยังยืนหยัดเคียงข้างนักสู้ ทวงรัฐไทย เซ็นอะไรไว้ไม่ทำตาม?

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ Cartel Artspace ภายใน The Jam Factory เขตคลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, พรรคไฟเย็น, สถาบันปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และเครือข่าย จัดนิทรรศการ คืนยุติธรรม : Dawn Of Justice ระหว่างวันที่ 3-6 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นคน ให้ผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและผู้สูญหายจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการคืนความยุติธรรม ตามกระบวนการทางกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

โดยเวลา 12.30 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย : การดำเนินคดี” โดยมี น.ส.กุณฑิกา นุตจรัส ทนายความ ที่ว่าความในคดีซึ่งประชาชนและนักกิจกรรมถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญา, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ถูกดำเนินคดีจากการติดสติ๊กเกอร์บนโพลสำรวจ, มนูญ วงษ์มะเซาะห์ เจ้าหน้าที่ฝ้ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในแคมเปญ ปล่อยเพื่อนเรา FREERATSADON และหิน ทะลุแก๊ซ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ถูกดำเนินคดี


กุณฑิกา นุตจรัส

ในตอนหนึ่ง น.ส.กุณฑิกา หรือ ทราย ทนายความจากสำนักงานกฎหมายบัญชีกฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่ากำไลอีเอ็ม สำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย เริ่มเอามาใช้เมื่อไม่นานมานี้ในรอบ 10 ปี ซึ่งเราคาดหวังอยากเห็นกฎหมายไทยดีขึ้น เชื่อว่ามีนักกฎหมายไทยหลายคนไม่คิดว่าคนไทยยากจน หลายอย่างทำไมเราต้องมาติดคุก จึงมีลักษณะให้ใช้กำไลอีเอ็มแทนหลักประกันเงินสด หรืออื่นๆ

“แต่ถูกนำมาใช้ในคดีแบบนี้ ซึ่งเรากำลังพูดถึงคดีที่ไม่ใช่เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ ฆ่าคนตาย มันไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ เรากำลังพูดถึงคดี 112 คดีทางการเมือง คดีจากการไปติดสติ๊กเกอร์ ถ้าผิดไม่เป็นไร วันหนึ่งจะถูกตัดสินแล้วเราก็สู้กันไป แต่พอเป็นคดีที่เป็นความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งไม่รุนแรง เราตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมาติดอีเอ็มเขา”

“ก็ต้องขอบคุณตรงนี้ ทนายทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีกองทุนราษฎรประสงค์ (มูลนิธิสิทธิอิสรา) เราก็มีเงินประกัน ไม่ใช่ว่าจะหนี ตอนนี้กลายเป็นลาม เอาเงินด้วย ติดอีเอ็มด้วย เผลอๆ มีเงื่อนไข บางคนออกจากบ้านไม่ได้ ต้องอยู่บ้าน 24 ชม. คือคุณเอาเขาออกจากคุก ไปไว้ในบ้าน 24 ชม. เอาเงินเป็นหลักแสนแล้วติดอีเอ็มด้วย เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าลิดรอนสิทธิหรือไม่ นักกฎหมายไทยอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน เราสนับสนุนความเห็นต่าง แต่เกินไป เกินสัดส่วนในทางกฎหมาย” น.ส.กุณฑิกากล่าว



ด้าน มนูญ เจ้าหน้าที่ฝ้ายรณรงค์ แอมเนสตี้ กล่าวว่า ช่วงที่ทำแคมเปญ “ปล่อยเพื่อนเรา” ตอนนั้นพยายามดึงนักกิจกรรมหลายๆ คน ซึ่ง ณ เวลานั้นคือเซต เพนกวิน รุ้ง ทนายอานนท์ โดยเริ่มแคมเปญเดือนมีนาคม 2564 เกิดจากปัญหาที่มีนักกิจกรรมโดนคุมขังมากขึ้น สิ่งที่มองเห็นลึกไปกว่านั้น คือการอดอาหารประท้วงในเรือนจำที่กระทบกับชีวิต และการรักษาพยาบาลในเรือนจำด้วย จึงเริ่มทำแคมเปญนี้เพื่อสื่อสารองค์กรระหว่างประเทศและประชาคมโลก ว่ารัฐไทยกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่

“เมื่อมีแคมเปญได้สักพัก ก็โดนถล่มและคุกคามอย่างหนักในรูปแบบออนไลน์ ทั้งโดนโจมตีในเฟซบุ๊ก โดนว่าเป็นองค์กรชังชาติบ้าง ใส่ความว่า พวกอเมริกา แต่ขอโทษ องค์กรอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เราโดนทั้งเชิงอำนาจภาครัฐกดดัน ส่งจดหมายให้แอมเนสตี้ไปให้คำตอบ ว่าทำอะไร ร่วมขบวนการกับกลุ่มคนเหล่านี้หรือไม่ แต่เรายังคงยืนยันและยืนหยัดว่า การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลต้องยอมรับ เซ็นไว้ก็ต้องปฏิบัติตามพันธกิจเหล่านั้น” มนูญกล่าว


มนูญ วงษ์มะเซาะห์

มนูญกล่าวต่อว่า เราอยากเน้นย้ำให้สังคมได้รับรู้ว่า เราคือ 40 ประเทศแรกๆ ที่เข้าไปนั่งร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ด้วยซ้ำ ดังนั้น มันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมากๆ

“แต่ในทางกลับกัน คนอีกฝั่งกลับมองว่า เอ๊ะ คุณกำลังเอาอะไรมาใส่หัวเด็กในปัจจุบัน มันเป็นการตั้งคำถามจากอีกฝั่ง การคุกคามมาหลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่รับมือในออนไลน์ ตอนนั้นถึงขั้นมือขวาของรัฐบาล คือคุณแรมโบ้ (เสกสกล อัตถาวงศ์) ประกาศว่า ถ้าแอมเนสตี้ไม่ออก เขาจะออกเอง ล่ารายชื่อให้แอมเนสตี้ออกไปจากประเทศ

ท้ายที่สุด เรายังยืนยันทำงานเคียงข้างนักกิจกรรมที่ใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ขอบคุณทุกคน เพราะเรายังคงยึดหลักการทำงานตามปฏิญญาสากลระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอยู่” มนูญกล่าว



ก่อนฝากแคมเปญ “ปล่อยเพื่อนเรา FREERATSADON” ซึ่งมีการเชิญชวนเขียนจดหมายถึงนักโทษในเรือนจำภายในงานนี้ เพื่อกดดันเชิงนโยบายให้มีการปรับปรุงกฎหมาย และต้องการกดดันให้รัฐบาลคืนสิทธิต่างๆ ให้กับประชาชนและนักกิจกรรมที่กำลังถูกคุมขัง รวมถึงนักโทษทางความคิดที่ถูกจำคุกจากการใช้เสรีภาพ

มนูญกล่าวอีกว่า เรายังคงใช้ข้อเรียกร้องเหล่านี้กดดันเชิงนโยบาย เรามองเห็นเรื่องความสำคัญของจดหมาย หลายคนที่เคยเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็ได้รับจดหมายจากเรา ซึ่งเราได้สะท้อนกลับมาว่า พลังจากปลายปากกามีความหมายแค่ไหน ทำให้คนในนั้นได้อ่านจดหมายวนซ้ำๆ

“ขอบคุณทุกคนที่ร่วมเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ทำให้เขารู้สึกว่า การมีชีวิตต่อเพื่อรออิสรภาพ มีความหมายแค่ไหน” มนูญกล่าว



🔴[LIVE] เสวนา เสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย : การดำเนินคดีนักเคลื่อนไหว ผู้ถูกอุ้มหายและถูกฆาตกรรม


Streamed live 12 hours ago

UDD News Thailand
.....


โมกหลวงริมน้ำ
3h

ตามกฎหมายสากลถือว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นการทำลายตัวตน ทำลายอัตลักษณ์ ทำลายคุณค่าของคนคนนั้นไปทั้งยังการละเมิดสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน…

ซึ่งปัจจุบันเกิดมากขึ้นกับปัญหาภายใน โดยเฉพาะเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง เเล้วเหตุใดผู้ที่ออกเสียงเเละเห็นต่างทางการเมืองจึงหายไป เรื่องนี้มีนัยสำคัญอย่างไร
พบกับ

วงสเสวนาเสรีภาพกับราคาที่ต้องจ่าย
ในหัวข้อ : ผู้ถูกบังคับสูญหายและผู้ถูกฆาตรกรรม

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน 2565
เวลา 15.30-17.30น.
The Jam Factory

เเล้วพบกัน…
#คืนยุติธรรม #DawnOfJustice