เป็นที่ยอมรับไปทั่วแล้วว่าคนไทยสมัยนี้ ใช้การสื่อสารออนไลน์และสื่อสังคมดิจิทัลกันมาก ติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่นนี้ทำให้การเผยแพร่เนื้อหา ‘ดราม่า’ ตามมาด้วยจนจะล้นปรี่ ท่ามกลางความหลากหลายอย่างไร้มาตรฐาน
ช่วงสองสามวันมานี้เราได้เห็นดราม่าว่ายข้ามโขง ดราม่าหมอ “ต้องกินต้องใช้” มาถึงดราม่า ‘สันธนะปะทะชูวิทย์’ ที่ล่าสุด สำนักข่าวไทย Online บอกว่า “ตำรวจเข้าตรวจสอบโรงแรมในซอยสุขุมวิท ๒๔ ของ ‘ชูวิทย์’ ไม่พบสิ่งผิดปกติ”
เรื่องมาจากการที่ ‘สันธนะ’ ไป “แจ้งตำรวจว่ามีการเปิดเป็นสถานบันเทิงให้กลุ่มนักเที่ยวเขาไปมั่วสุม” (@TNAMCOT) แต่ในที่นี้ขอเจาะเฉพาะดราม่าแพทย์หญิงโรงพยาบาลเชียงแสน เพื่อแสดงให้เห็นว่าดราม่าออนไลน์ ทำให้เพี้ยนประเด็นไปได้ง่ายๆ
แรกเมื่อมีคลิปเหตุการวิวาทะระหว่างญาติผู้ป่วยรายหนึ่งกับแพทย์หญิงซึ่ง “นั่งกระดิกเท้าเล่น (โทรศัพท์) มือถือ” ตอบโต้คำต่อว่าต่อขานจากญาติและ รปภ.ของโรงพยาบาล ด้วยท่าทีไม่ยี่หระอะไร ใช้ถ้อยคำห้วนๆ และคำสบประมาทว่า “โง่”
ใครดูคลิปย่อมของขึ้น ถึงขนาดผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเม้นต์ว่า “ถ้าเป็นกูอยู่ตรงนั้น นังนี่ล้มคว่ำไปแล้ว” ทว่าข้อเท็จจริงเบื้องหลังเหตุการณ์เป็นโคนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำ กว่ารายละเอียดต่างๆ จะปรากฏให้เห็นภาพรวมได้ชัดก็เข้าไปวันรุ่งขึ้น
ข่าวสด @KhaosodOnline รายงานข้อมูลที่ได้มาจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า “ปกติแพทย์คนนี้เป็นคนจิตอาสา มีงานบริการที่ไหนก็จะอาสาไปและปกติก็ทำหน้าที่ได้ดี แต่เป็นคนที่มีอารมณ์ค่อนข้างแปรปวน บางครั้งก็เป็นลักษณะนี้ จนเคยเกิดกรณีคล้ายกันนี้ไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง”
ต้นเหตุครั้งนี้เป็นอย่างไร เฟชบุ๊คของ Kamthon Tongkundum อธิบายไว้ชัดเจนที่สุด เรื่องมีอยู่ว่าหญิงคนหนึ่งเกิดอาการแพ้ท้องหนัก ญาติไม่สามารถพาไปโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกได้ เพราะ รพ.ปิดในวันนั้น จึงพามาโรงพยาบาลรัฐ
หมอคนที่ปรากฏในคลิปก็จะทำการฉีดยาแก้แพ้ให้ แต่คนไข้ไม่ยอม อ้างว่าเคยฉีดแล้วเกิดอาการข้างเคียง กลัวว่าจะไปกระทบถึงเด็กในท้อง เมื่อไม่ยอมฉีดหมอก็ไม่ฉีด แต่คนไข้ขอให้น้ำเกลือแทน หมอไม่ยอมให้จึงเกิดการโต้เถียง
หมอบอกคนไข้กลับไปแล้วตนไปนั่งเล่นมือถือ กลุ่มญาติก็ตามไปต่อว่าต่อขาน จนไปถึงจุดที่หมอย้อนเอาว่า “ถ้าโง่อย่างนี้ไม่ทำให้หรอก” นี่เองเป็นเหตุให้หมอโดนพักงาน ๕ วัน ดูเหมือนจะมีการตั้งกรรมการสอบสวนพฤติกรรมอีกด้วย
คุณกำธรเขียนเล่ากรณีคล้ายคลึงต่างๆ รายล้อม อ่านสนุกเชียว ซึ่งไปลงที่ประเด็นเดียวกันว่า ‘คนไข้รู้ดีกว่าหมอ’ รายหญิงแพ้ท้องนี่คิดว่าการรับน้ำเกลือจะทำให้ “มีแรง” อาการแพ้จะหายไป แต่ข้อเท็จจริงทางแพทย์การฉีดน้ำเกลือโดยมิควรอาจทำให้ถึงตายได้
@moui ผู้นำข้อเขียนคุณกำธรมาทวี้ตแถมว่า “คนไข้มีสิทธิปฏิเสธการรักษาที่หมอจะทำให้ แต่ไม่มีสิทธิบังคับหมอให้ทำการรักษาตามวิธีที่ตนเองต้องการ - อ. พนัส” ก็เป็นความจริงลบล้างดราม่า พร้อมคำเสนอแนะของคุณกำธร
“ควรปรับหลักสูตรในโรงเรียน ให้พลเมืองไทยเข้าใจระบบสาธารณสุขมากขึ้น...คนไข้มีสิทธิและหน้าที่อะไรบ้าง คุณหมอมีสิทธิมีหน้าที่อะไรบ้าง ทุกคนจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”
(https://www.facebook.com/kamthon.tong/posts/pfbid02KkZK และ https://www.matichon.co.th/region/news_3655817)