สหราชอาณาจักรให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อบ้านในประเทศได้เหมือนกับคนในประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไขกีดกันใด ๆ
ขายที่ให้ต่างชาติ : เป็นเจ้าของบ้านในสหราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
ขายที่ให้ต่างชาติ : เป็นเจ้าของบ้านในสหราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
20 ตุลาคม 2021
ปรับปรุงแล้ว 30 ตุลาคม 2022
เมื่อไม่นานนี้คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการของกฎกระทรวงเรื่องให้สิทธิต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม ถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท อย่างน้อย 3 ปี ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการซื้อที่ดินของต่างด้าว ฉบับที่ออกมาตั้งแต่ปี 2545
กระแสข่าวนี้มาพร้อมกับความรู้สึกของคนไทยส่วนหนึ่งที่กลัวว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจจะถูกยึดครองโดยต่างชาติได้ บางคนถึงขนาดกล่าวหาว่า การทำเช่นนี้คือ "การขายชาติ"
บีบีซีไทยได้พูดคุยกับประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วงเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว หลังจากที่ในช่วงกลางเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งผ่อนปรนเรื่องวีซ่าของชาวต่างชาติ และให้ศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน ซึ่งคาดกันว่า อาจจะมีการผ่อนปรนเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องการซื้อบ้านในประเทศด้วย
โดยก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.อาคารชุดแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 อนุญาตให้ต่างชาติสามารถซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมในประเทศไทยได้สูงสุด 49% ของพื้นที่ขายของโครงการนั้น ๆ และอีก 51% เป็นสิทธิ์ของคนไทยถือครอง ส่วนที่อยู่อาศัยในแนวราบยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติซื้อได้
ที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ การมีบ้านเป็นของตัวเองอาจเป็นเป้าหมายทั่วไปในชีวิตคนเราอย่างหนึ่ง แต่ใช่ว่า มีเงินแล้วจะสามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายของตัวเอง แต่สำหรับอังกฤษแล้ว อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ชาวต่างชาติ สามารถเข้ามาซื้อบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้เหมือนกับคนในประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไขกีดกันใด ๆ แล้วทำไมสหราชอาณาจักรจึงไม่กลัวว่า ต่างชาติจะเข้ามายึดครองประเทศ
ราคาบ้านในสหราชอาณาจักรสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะในกรุงลอนดอน CBRE ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใจกลางกรุงลอนดอน ได้ทำรายงานเปรียบเทียบราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยใน 35 เมืองใหญ่ทั่วโลกในปี 2019 ปรากฏว่า กรุงลอนดอน รั้งอันดับ 8 ราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 646,973 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 21.6 ล้านบาท)
ตามธรรมชาติของกลไกตลาด ของที่มีราคาแพง ผู้ที่มีอำนาจซื้อย่อมมีอยู่จำกัด หากมหาเศรษฐีระดับโลกต้องการกว้านซื้อบ้านในกรุงลอนดอนก็ย่อมจะทำได้ยากกว่าการกว้านซื้อบ้านในกรุงเทพฯ หลายเท่า แต่นอกจากปัจจัยเรื่องราคาแล้ว การเป็นเจ้าของบ้านในสหราชอาณาจักรยังต้องเสียภาษีอีกหลายอย่างซึ่งบางอย่างไม่มีในประเทศไทย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย วิเคราะห์ให้บีบีซีไทยฟังถึงเหตุผลที่ทำให้สหราชอาณาจักรไม่กลัวถูกต่างชาติยึดครอง
มีการเก็บภาษีหลายอย่างเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักร รวมถึง ภาษีอากรแสตมป์ที่ดิน (Stamp Duty Land Tax—SDLT)
ภาษี 5 อย่างเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ดร.โสภณ กล่าวว่า ในการซื้อบ้านที่สหราชอาณาจักรผู้ซื้อบ้านจะต้องจ่ายภาษีอากรที่ดิน (Stamp Duty Land Tax—SDLT) โดยยกตัวอย่างคร่าว ๆ ว่า ผู้ซื้อบ้านอาจต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของราคาซื้อขาย ขณะที่ "บ้านเรานี่ คนซื้อนี่ไม่ได้เสียนะ คนขายเสีย" นอกจากนี้หากเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังที่ 2 เพื่อการลงทุนหรือการนำไปให้คนอื่นเช่าต่ออาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็น 8%
เว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุรายละเอียดของอัตราภาษีนี้ไว้ว่า บ้านราคาไม่เกิน 125,000 ปอนด์ ไม่ต้องเสียภาษีนี้ แต่ราคาส่วนที่เกินจากนั้นต้องเสียภาษีตามระดับขั้น คือ
ดร.โสภณ ระบุว่า ในกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ (Income Tax) ตามอัตราระดับรายได้ที่ได้รับ
โดยตามกฎหมายปัจจุบัน ผู้อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรยกเว้นสกอตแลนด์ที่มีเงินได้ 12,570 ปอนด์ ไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินได้ในส่วนที่เกินจากนั้นตั้งแต่ 12,571-50,270 ปอนด์ ต้องเสียภาษีที่อัตรา 20%, 50,271-150,000 ปอนด์ เสียภาษี 40% และส่วนที่เกิน 150,000 ปอนด์ขึ้นไป เสียภาษี 45%
แต่ภาษีที่ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เน้นย้ำคือ ภาษีจากผลกำไรจากส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องจ่ายที่ระดับ 18%
"สมมุติ เราซื้อทรัพย์มาประมาณ 2 แสนปอนด์ แล้วทิ้งไว้ 10 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เราขายไป จาก 2 แสน ขึ้นมาเป็น 3 แสน สมมุติ ส่วนที่เกินมาเนี่ย ก็ต้องเสีย 18% โห เมืองไทยเราไม่มีอย่างนี้เลยนะ" ดร.โสภณ กล่าว
แต่ภาษีเหล่านี้ยังน้อยเมื่อเทียบกับภาษีมรดก (Inheritance Tax) ซึ่งผู้รับทรัพย์สินจากผู้เสียชีวิตต้องจ่าย โดยปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีในส่วนของทรัพย์สินมูลค่าไม่ถึง 325,000 ปอนด์ แต่ส่วนที่เกินนั้นต้องจ่ายภาษี 40%
ดร.โสภณ ระบุถึง ภาษีที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือภาษีบำรุงเทศบาล (Council Tax) ซึ่งผู้อยู่อาศัยต้องจ่ายให้กับเทศบาลในพื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่และบริการสาธารณะ ซึ่งอาจเทียบได้กับ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ในประเทศไทย
"Council tax เมืองไทยเราก็มีนะภาษีสิ่งปลูกสร้าง แต่เขาบอกว่า 50 ล้านแรกไม่ต้องเก็บ อย่างนี้ก็จบเลย ไม่ต้องเก็บอะไรแล้ว แล้วอย่างนี้ต่างชาติมาซื้อเมืองไทย ก็ไม่ต้องเสียเหมือนกัน" ดร.โสภณ กล่าว
โดยอัตราภาษีนี้มีการเรียกเก็บที่แตกต่างกันไปตามระดับราคาของที่อยู่อาศัยและตามเขตพื้นที่ในสหราชอาณาจักร ดร.โสภณ ยกตัวอย่างว่า "เฉลี่ยแล้วก็คาดว่า ราว ๆ สัก 1%"
ภาษี 5 อย่างเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ดร.โสภณ กล่าวว่า ในการซื้อบ้านที่สหราชอาณาจักรผู้ซื้อบ้านจะต้องจ่ายภาษีอากรที่ดิน (Stamp Duty Land Tax—SDLT) โดยยกตัวอย่างคร่าว ๆ ว่า ผู้ซื้อบ้านอาจต้องเสียภาษีในอัตรา 5% ของราคาซื้อขาย ขณะที่ "บ้านเรานี่ คนซื้อนี่ไม่ได้เสียนะ คนขายเสีย" นอกจากนี้หากเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังที่ 2 เพื่อการลงทุนหรือการนำไปให้คนอื่นเช่าต่ออาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเป็น 8%
เว็บไซต์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุรายละเอียดของอัตราภาษีนี้ไว้ว่า บ้านราคาไม่เกิน 125,000 ปอนด์ ไม่ต้องเสียภาษีนี้ แต่ราคาส่วนที่เกินจากนั้นต้องเสียภาษีตามระดับขั้น คือ
- 125,001-250,000 ปอนด์ เสียภาษี 2%
- 250,001-925,000 ปอนด์ เสียภาษี 5%
- 925,001-1.5 ล้านปอนด์ เสียภาษี 10%
- และส่วนที่เกิน 1.5 ล้านปอนด์ เสียภาษี 12%
- 0% ในส่วน 125,000 ปอนด์แรก = 0 ปอนด์
- 2% ในส่วน 125,000 ปอนด์ต่อมา = 2,500 ปอนด์
- 5% ในส่วน 45,000 ปอนด์ที่เหลือ = 2,250 ปอนด์
- รวม ต้องจ่ายภาษีอากรแสตมป์ที่ดิน = 4,750 ปอนด์
ดร.โสภณ ระบุว่า ในกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ (Income Tax) ตามอัตราระดับรายได้ที่ได้รับ
โดยตามกฎหมายปัจจุบัน ผู้อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรยกเว้นสกอตแลนด์ที่มีเงินได้ 12,570 ปอนด์ ไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินได้ในส่วนที่เกินจากนั้นตั้งแต่ 12,571-50,270 ปอนด์ ต้องเสียภาษีที่อัตรา 20%, 50,271-150,000 ปอนด์ เสียภาษี 40% และส่วนที่เกิน 150,000 ปอนด์ขึ้นไป เสียภาษี 45%
แต่ภาษีที่ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยได้เน้นย้ำคือ ภาษีจากผลกำไรจากส่วนต่างของราคาทรัพย์สิน (Capital Gains Tax) ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องจ่ายที่ระดับ 18%
"สมมุติ เราซื้อทรัพย์มาประมาณ 2 แสนปอนด์ แล้วทิ้งไว้ 10 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เราขายไป จาก 2 แสน ขึ้นมาเป็น 3 แสน สมมุติ ส่วนที่เกินมาเนี่ย ก็ต้องเสีย 18% โห เมืองไทยเราไม่มีอย่างนี้เลยนะ" ดร.โสภณ กล่าว
แต่ภาษีเหล่านี้ยังน้อยเมื่อเทียบกับภาษีมรดก (Inheritance Tax) ซึ่งผู้รับทรัพย์สินจากผู้เสียชีวิตต้องจ่าย โดยปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีในส่วนของทรัพย์สินมูลค่าไม่ถึง 325,000 ปอนด์ แต่ส่วนที่เกินนั้นต้องจ่ายภาษี 40%
ดร.โสภณ ระบุถึง ภาษีที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือภาษีบำรุงเทศบาล (Council Tax) ซึ่งผู้อยู่อาศัยต้องจ่ายให้กับเทศบาลในพื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่และบริการสาธารณะ ซึ่งอาจเทียบได้กับ "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ในประเทศไทย
"Council tax เมืองไทยเราก็มีนะภาษีสิ่งปลูกสร้าง แต่เขาบอกว่า 50 ล้านแรกไม่ต้องเก็บ อย่างนี้ก็จบเลย ไม่ต้องเก็บอะไรแล้ว แล้วอย่างนี้ต่างชาติมาซื้อเมืองไทย ก็ไม่ต้องเสียเหมือนกัน" ดร.โสภณ กล่าว
โดยอัตราภาษีนี้มีการเรียกเก็บที่แตกต่างกันไปตามระดับราคาของที่อยู่อาศัยและตามเขตพื้นที่ในสหราชอาณาจักร ดร.โสภณ ยกตัวอย่างว่า "เฉลี่ยแล้วก็คาดว่า ราว ๆ สัก 1%"
ทางการไทยต้องการดึงดูดชาวต่างชาติมั่งคั่ง 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศไทยได้ภายในเวลา 5 ปี
"ดึงดูดชาวต่างชาติมั่งคั่ง 1 ล้านคน"
นอกจากนี้ดร.โสภณ ยังระบุว่า ระบบการบังคับใช้กฎหมายในสหราชอาณาจักรดีกว่าในประเทศไทยมาก ทำให้โอกาสที่ชาวต่างชาติใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อหาประโยชน์จากการเข้ามาซื้อบ้านทำได้ยากกว่า
"เมืองไทยเราเนี่ย มันสวมบัตรประชาชน แปลงจากคนจีนมาเป็นคนไทยเยอะแยะ ไม่เคยจับมันได้เลยอะ กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือว่า นอมินี (nominee)" ดร.โสภณ กล่าว
แผนการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้กับชาวต่างชาติในประเทศไทยเหล่านี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคาร 14 กันยายน 2564 ซึ่งเห็นชอบ "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย" โดยคาดหวังว่า จะดึงดูดชาวต่างชาติมั่งคั่ง 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักอาศัยในประเทศไทยได้ภายในเวลา 5 ปี เพื่อเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เงินลงทุน และรายได้จากภาษี
ดร.โสภณ เห็นว่า เป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก "ในสหรัฐอเมริกาเนี่ย ปีที่แล้วต่างชาติซื้อไป 107,000 หลัง นี่ขนาดอเมริกาที่ใครต่อใครจะไปซื้อบ้านนะ เมืองไทยเนี่ย บางคนในโลกนี้ยังไม่รู้จักเลยนะ Where is Thailand? เนี่ยนะ มันจะมาซื้อล้านคน มาอยู่กันเป็นล้านคนภายในเวลา 5 ปีเนี่ย มันฝันหวานไปแล้ว"
นอกจากนี้ ดร.โสภณยังได้อ้างข้อมูลในปี 2561 ว่า ชาวต่างชาติที่เป็นแรงงานมีฝีมือในประเทศไทยมีอยู่เพียง 112,834 คน เท่านั้น
"เราจะไประดมพวกที่เป็นแรงงานมีฝีมือและผู้ชำนาญการให้มาอยู่เมืองไทยได้อย่างไร ให้เป็นล้านคนได้อย่างไร ในเมื่อตลอดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาเนี่ย จนถึงปี 2018 เนี่ยนะครับ มันมี 112,834 คนเท่านั้น" ดร.โสภณ กล่าว
ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า จากกฎเกณฑ์ปัจจุบันที่ให้ชาวต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียมได้ 49% ของพื้นที่โครงการ ปรากฏว่า ช่วงปี 2561-2562 มีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อเพียง 7% เท่านั้น การขยายสิทธิ์ให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโดนิเนียมได้ 100% ของพื้นที่ จึงไม่สมเหตุสมผล และไทยเองก็เคยอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโดนิเนียมได้ 100% ช่วงระหว่างปี 2543-2547 แต่ได้ยกเลิกไป เพราะไม่มีคนเข้ามา
5 ชาติ ซื้อห้องชุดในไทยมากที่สุด
เว็บไซต์ Think of Living ได้อ้างศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รวบรวมสถิติข้อมูลการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561-2563 ระบุว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้อห้องชุดในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 คือ สัญชาติจีน โดยส่วนใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสมุทรปราการ
อันดับ 2 คือ สัญชาติรัสเซีย โดยส่วนใหญ่จะถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์
อันดับ 3 สัญชาติสหราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่
อันดับ 4 สัญชาติฝรั่งเศส โดยส่วนใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดชลบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดภูเก็ต
อันดับที่ 5 สัญชาติญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่ถือครองกรรมสิทธิ์ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ชลบุรี และสมุทรปราการ
หากพิจารณาถึงอัตราส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในภาพรวมทั้งประเทศ ระหว่างปี 2561-2563 มีคนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่คอนโดมิเนียมเฉลี่ยทั้งประเทศเพียง 10.7% ของพื้นที่ทั้งหมด
บทเรียนจากสหราชอาณาจักร
เอกสารสรุปเรื่อง การลงทุนของต่างชาติในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร (Foreign Investment in UK Residential Property) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 17 ก.ค. 2017 ทางเว็บไซต์ของรัฐสภา สหราชอาณาจักร ระบุว่า ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อจากต่างชาติ แต่มีการประเมินตัวเลขนี้ โดยมุ่งเน้นเฉพาะในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน
Savills ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ได้ทำวิจัยการตลาดเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างชาติในปี 2013-2014 พบว่า สัดส่วนผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มราคาสูงในกรุงลอนดอนที่มาจากสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 68% ส่วนผู้ซื้อที่มาจากต่างประเทศอยู่ที่ 32%
นอกจากนี้เอกสารนี้ยังระบุถึงปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการที่ชาวต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักร 2 ประการคือ ความสามารถในการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์และความสามารถในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้ซื้อภายในประเทศ
โดยมีการอ้างอิงรายงานจากสถาบันสมิธ (Smith Institute) ในปี 2013 ที่ชี้ให้เห็นว่า การลงทุนจากต่างชาติเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาบ้านในกรุงลอนดอนมีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถในการซื้อบ้านของคนในประเทศ รายงานได้อ้างว่า โอกาสในการลงทุนประกอบกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนเป็นเหตุผลให้ปริมาณความต้องการซื้อบ้านในกรุงลอนดอนสูง ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานผลักดันให้ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงลอนดอนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และยิ่งมีความน่าดึงดูดใจในการลงทุนมากขึ้น กลายเป็นวัฏจักรที่ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาและผลักดันให้ราคาสูงขึ้นต่อไปอีก คนในประเทศที่มีรายได้น้อยจึงได้รับผลกระทบ
รายงานนี้จึงได้แนะนำให้มีการเก็บภาษีเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ (property speculation tax) ซึ่งจะมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงถ้าอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกขายต่ออย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเก็งกำไรในตลาด
แต่ผู้ไม่เห็นด้วยบางส่วนเชื่อว่า การลงทุนจากต่างชาติเป็นผลดีและช่วยกระตุ้นการสร้างบ้านและการลงทุนเพิ่มขึ้น โดย เบิร์กลีย์ โฮมส์ (Berkley Homes) บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า การขายบ้านให้นักลงทุนต่างชาติช่วยให้การพัฒนาโครงการเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงที่ขาดแหล่งเงินสนับสนุนจากธนาคาร ราคาบ้านที่สูงขึ้นน่าจะมาจากการขาดอุปทานโดยรวม
รายงานของลอนดอน เฟิร์สต์ (London First) ในปี 2016 ได้ระบุเช่นกันว่า การขาดอุปทานโดยรวม เป็นสาเหตุหลักต่อความสามารถในการซื้อและความสามารถในการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอน การจำกัดการลงทุนจะยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น
ประเทศต่าง ๆ มีกฎเกณฑ์อย่างไร
เอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรฉบับนี้ ยังได้มีการเปรียบเทียบกฎเกณฑ์ที่หลายประเทศใช้ในการจำกัดชาวต่างชาติในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
ออสเตรเลีย ชาวต่างชาติจำเป็นต้องสมัครขออนุมัติการลงทุนต่างชาติก่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย มีรายงานว่า รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิกตอเรีย และรัฐควีนส์แลนด์ เก็บอากรแสตมป์สำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติเพิ่ม อยู่ระหว่าง 3-7%
สวิตเซอร์แลนด์ บุคคลในต่างประเทศ จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยรัฐบาลจำกัดใบอนุญาตการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัยไว้ที่ 1,440 ใบต่อปี
เดนมาร์ก ระบุว่า ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเดนมาร์ก หรือไม่ได้อาศัยอยู่ในเดนมาร์กนาน 5 ปี จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมก่อนการซื้ออสังหาริมทรัพย์
แคนาดา มีการเก็บภาษีผู้ซื้อบ้านทุกคนในเขตมหานครแวนคูเวอร์ที่ไม่ใช่พลเมืองแคนาดาหรือผู้พำนักถาวรในแคนาดาเพิ่ม 15%
รายงานที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2017 ระบุว่า สิงคโปร์ เก็บอากรแสตมป์เพิ่ม 15% สำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติ
สิงคโปร์ เก็บอากรแสตมป์เพิ่ม 15% สำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ สำหรับชาวต่างชาติ เช่น บ้านพร้อมที่ดินและคอนโดมิเนียม ในบางกรณีต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล
ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน เก็บอากรแสตมป์สำหรับผู้ซื้อชาวต่างชาติเพิ่ม 15% เช่นกัน
จีน อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากเท่าที่ต้องการ แต่ต้องเป็นไปตามข้อจำกัดของการซื้อบ้านในแต่ละท้องที่ ยกตัวอย่าง คนในเซี่ยงไฮ้ที่ไม่มีทะเบียนบ้านอยู่ในเซี่ยงไฮ้ สามารถซื้อบ้านได้เพียง 1 หลัง
อินเดีย ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่นอกอินเดียครอบครอง "ทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ไม่ได้ทุกประเภท" ยกเว้นได้รับมรดก
นิวซีแลนด์ เก็บภาษีบ้านหลังที่สองที่มีการซื้อขายภายในสองปี ผู้ซื้อชาวต่างชาติยังต้องสมัครขอเลขประจำตัวจากรัฐบาลเพื่อใช้ในการเสียภาษีด้วย มีรายงานว่า ธนาคารนิวซีแลนด์บางแห่ง ปฏิเสธที่จะมอบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้ที่ไม่ได้พำนักอยู่ในนิวซีแลนด์
สำนักงานนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอนขึ้นป้ายหน้าร้านเป็นภาษาอังกฤษและจีนเพื่อดึงดูดลูกค้าจีน
ข้อแนะนำต่อทางการไทย
เว็บไซต์ Think of Living รายงานโดยอ้าง ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ว่า ควรขยายการถือครองพื้นที่ห้องชุดสำหรับชาวต่างชาติมากกว่า 49% เฉพาะในพื้นที่ที่มีความต้องการสูงเท่านั้น และจะต้องเป็นห้องชุดที่มีราคารวมเกินกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้น
"ควรมีข้อกำหนดให้สิทธิในการออกเสียงของคนต่างชาติได้ไม่เกิน 49% ของอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในเรื่องการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ ของนิติบุคคล เพื่อสงวนสิทธิ์การบริหารนิติบุคคลให้ผู้ถือครองคนไทยยังเป็นเสียงส่วนใหญ่" ดร. วิชัย กล่าว
ด้าน ดร.โสภณ ได้แนะนำว่า ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของอสังหาริมทรัพย์ที่จะทำการซื้อขายไว้ที่ 10-15 ล้านบาท และควรมีการเก็บภาษีบางประเภทด้วย
"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บกันไปเลยปีละ 1% ก็พอ อเมริกาเก็บ 2%, 2.5%, 3% ก็มี เราเก็บแค่ 1% ก็พอ เอามาพัฒนาท้องถิ่น เอามาบำรุงท้องถิ่น หรือว่าภาษีมรดก ภาษีอะไรต่าง ๆ เนี่ย ต้องเก็บ" ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าว "อย่างนี้ เราสามารถที่จะให้เขามาอยู่ได้ แต่ว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็เสียเปรียบมาก"