วันพุธ, พฤศจิกายน 02, 2565

ภายใต้คำขวัญสวยหรู APEC 2022 และแผนปฏิบัติการ BCG เค้าทำเพื่อผลประโยชน์ใคร ?



APEC 2022 และแผนปฏิบัติการ BCG เพื่อผลประโยชน์ใคร ?

2022-10-26
โดย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
ที่มา ประชาไท

1. คำโฆษณา

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้คำขวัญ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ถูกโหมประโคมโฆษณาด้วยข้อความสวยหรูว่าเป็นการประชุมซึ่ง “สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม” “ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร” “การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” โดย “ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปค”[1]

แต่ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือ ?

2. เอเปคคืออะไร ?

เอเปค ไม่เป็น ไม่เคยเป็น และไม่เคยแสดงให้เห็นว่า เป็นพื้นที่สำหรับ “การค้าและการพัฒนา” “การค้าที่เป็นธรรม” และ “การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม” ดังคำกล่าวอ้างเลย เพราะเอเปคมีเป้าหมายหลักคือ “ส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน” เรื่องอื่นๆที่ถูกกล่าวถึงว่าจะมีอยู่ในการประชุมเช่น “การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ” “การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” และ “การพัฒนาด้านสาธารณสุข” เป็นเพียงประเด็นไม้ประดับเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลและกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าเท่านั้น

3. วาระ(Agenda) ของการประชุมมาจากกลุ่มอุตสาหกรรม

วาระหลักของการประชุมเอเปคที่กรุงเทพ แม้จะพยายามกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การรับมือกับเรื่องโลกร้อน การส่งเสริมบทบาทสตรี แต่ที่จริงแล้ว เป็นเพียงวาทะสวยหรูที่แอบเป้าหมายหลักสำคัญ คือการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น และลดทอนข้อจำกัดต่างๆทางการค้าทั้งๆที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนเล็กคนน้อย เช่น การระบุถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารจากการจำกัดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ (ซึ่งในหลายกรณีเป็นการปกป้องไม่ให้ราคาอาหารในประเทศมีราคาแพง ดังกรณีที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลีเพื่อสำรองให้กับประชาชน 800 ล้านคน หรือประเทศไทยห้ามส่งออกหมูเมื่อเกิดโรคระบาด ASF) และ รวมทั้งการเร่งเปิดเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) เป็นต้น

เนื้อหาในการประชุมของเอเปคส่วนใหญ่จึงเป็นการรับลูก-ส่งลูกจากข้อเสนอของ ABAC หรือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจเอเปค (The APEC Business Advisory Council) นั่นเอง เพราะสารัตถะในการประชุมแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับข้อเสนอของ ABAC ซึ่งมีการประชุมที่ฮาลอง ประเทศเวียดนาม ก่อนหน้า[2] วาระและสารัตถะของการประชุมเอเปคจึงมาจากลุ่มทุนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ไม่ได้มาจากประชาชนหรือตัวแทนภาคประชาชนแต่อย่างใด

ABAC มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 63 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนจากแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ แห่งละ 3 คน สำหรับประเทศไทย ตัวแทนคือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย

เวทีการประชุมเอเปคจึงเป็นเวทีการประชุมที่รัฐร่วมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ใน 21 เขตเศรษฐกิจกำหนดวาระและสารัตถะการประชุมร่วมกัน

4. โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) : หลักการสวยหรูดูดี

ยุทธศาสตร์หรือโมเดล BCG เริ่มพัฒนามาโดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อปี 2561-2562 “เพื่อเปลี่ยนข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage)ที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) หรือปรับระบบการผลิตและบริการไปสู่การทำน้อยได้มากด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science, Technology & Innovation: STI)” และ "....พัฒนาสู่ “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable DevelopmentGoals: SDGs) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยการผนึกพลังภาครัฐ-เอกชน/ชุมชน/สังคม-มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย-เครือข่ายต่างประเทศในลักษณะ “จตุภาคี (Quadruple Helix)”[3]

หลักการสวยหรูดูดี ไม่มีอะไรให้คัดค้าน นี้ ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ “(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว: BCG Model) พ.ศ. 2564 – 2570” วงเงินรวม 40,972.60 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565[4]

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม การสร้างคุณค่า (Value Chain) จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ มีตัวชี้วัด

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ดยนายกฯ จะเป็นประธานในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)

5. ใครคือผู้กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG

ผู้บริหารและขับเคลื่อน BCG คือการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐ กลุ่มอดีตข้าราชการระดับสูง ร่วมกับเครือข่ายของอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของประเทศ ดังจะเห็นได้จาก

1. คณะกรรมการบริหาร[5] มี 2 คณะ โดยคณะกรรมการชุดใหญ่ หรือ “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” มีจำนวนทั้งสิ้น 23 คน มีนายกเป็นประธาน ในจำนวนนี้มี 9 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตข้าราชการจำนวน 4 คน (นายปิยะสกล สกลสัตยาทร นายยุคล ลิ้มแหลมทอง นายไพรัช ธัชยพงษ์ นายวิจารย์ สิมาฉายา) และภาคเอกชนรายใหญ่ 5 คนได้แก่ 1)นายอิสระ ว่องกุศลกิจ- บริษัทมิตรผล 2)นายเทวินทร์ วงศ์วานิช- รองประธานกรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด มหาชน ในเครือไทยเบฟ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 3) นายกลินท์ สารสิน-อดีตประธานสภาหอการค้าไทย ผู้บริหาร SCG trading 4)นายธีรพงศ์ จันศิริ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมอาหารทะเล 5) นายกฤษณ์ ณ ลำเลียง (มีนามสกุลเดียวกับ นายชุมพล ณ ลำเลียง ผู้บริหารใหญ่ของเครือ SCG) บอร์ดของสภาดิจิทัล ร่วมกันอิสว์ เตาลานนท์ (นามสกุลเดียวกันกับ อาชว์ เตาลานนท์ ผู้บริหารระดับสูงของซีพี) ที่มี ศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน

และส่วน “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model” มี 29 คน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นประธาน คณะกรรมการมีรายชื่อใกล้เคียงกับกรรมการชุดแรก เพียงแต่เพิ่ม นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อีก 1 คนร่วมเป็นกรรมการ

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน สาขาต่างๆ ซึ่งชัดเจนว่าเต็มไปด้วยตัวแทนของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่เต็มไปหมด ตัวอย่างเช่น

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านอาหาร[6] มีกรรมการรวมทั้งสิ้น 17 คน ประธานคือ นายธีรพงศ์ จันศิริ-ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป กรรมการประกอบไปด้วยตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับชาติ โดยเฉพาะด้านเกษตร อาหาร และค้าปลีก ได้แก่ 1)เจริญโภคภัณฑ์ 2)ไทยเบฟ 3)มิตรผล 4)เบทาโกร 5)เอสซีจี 6)สยามมอดิฟายด์สตาร์ช (กลุ่มหวั่งหลี)

คณะอนุกรรมการสาขานวัตกรรม[7] ประธานคือ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เจ้าของกลุ่มมิตรผล และกรรมการประกอบไปด้วย

นายประวิทย์ ประกฤตศรี (กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กลุ่มมิตรผล)

ผู้แทนบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท พูแรค (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้แทนบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด

ผู้แทนบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท ปูนชิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ผู้แทนบริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด

ผู้แทนบริษัท สยาม มอดิฟายด์ สตาร์ช จำกัด

นางฐิตาภา สมิตินนท์ (เป็นทั้งรองผู้อำนวยการสวทช.และกรรมการบริษัทบีบีจีไอ ซึ่งทำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ)

6. อะไรซ่อนอยู่ใต้แผนยุทธศาสตร์นี้ ?

สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้คือการ “ปลดล็อคกฎหมาย” เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชนรายใหญ่ ทั้งนี้โดยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอในการแก้กฎหมายที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์นั้นระบุอย่างชัดเจนไว้ดังนี้[8]

1. ผลักดันร่างพ.ร.บ.ความหลากหลาย โดยจะผนวกเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าต้องการให้เปิดการปลูกพืชจีเอ็มโอ รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการดัดแปลงยีน (gene editing)

2. แก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เพื่อแก้นิยามพันธุ์พืชพื้นเมือง ซึ่งสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยที่มีสมาชิกสำคัญคือบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของไทยตั้งเป้าให้มีการแก้ไขมานาน เพื่อให้สามารถขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้โดยง่าย และหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์ (เพียงแต่นำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เสียก่อน ก็จะไม่ถือว่าเป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง)

3. แก้พ.ร.บ.พันธฺุ์พืช 2518 ให้รวมส่วนขยายพันธุ์ที่มาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่

4. แยกประเภทโรงงานอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากเคมีภัณฑ์ อนุญาตให้เอากากอุตสาหกรรมมาใช้ใหม่ แก้นิยามในกฎหมาย

5. ปรับปรุงมาตรการภาษีสรรพสามิตสร้างมูลค่าเพิ่มแอลกอฮอล์แปลงสภาพ[9] เป็นการสร้างแรงจูงใจและแต้มต่อให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล[10] ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกอ้อยไม่ได้ประโยชน์อะไร

6. เร่งรัดการขึ้นทะเบียนชีวภัณฑ์ทางการเกษตร

7. การอนุญาตให้ใช้ภาชนะพลาสติครีไซเคิลมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม การดำเนินการในเรื่องนี้อาจต้องจับตามองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค

8. กำหนดสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย

9. ปลดล็อคข้อจำกัดการรับซื้อขายไฟฟ้า เป็นการเอื้อต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ประชาชนที่ติดแผงโซลาร์เซลล์อาจไม่ได้ประโยชน์ใดๆกับการปลดล็อคนี้ เพราะผู้กำกับและขับเคลื่อนใน BCG คือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น

10. ปลดล็อคให้เอกชนสามารถลงทุนปลูกป่าในที่ดินของรัฐ โดยจูงใจให้ค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากร[11] อีกทั้งมีการรายงานในที่ประชุมระบุว่า บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เช่น เชลล์ ได้ให้ความสนใจจะร่วมในโครงการปลูกป่าด้วย ทั้งๆที่จจะส่งผลกระทบต่อการแย่งชิงทรัพยากรของเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากมีพื้นที่เป้าหมายในการปลูกป่าใหม่มากถึง 600,000 ไร่ภายในปี 2566[12]

11. ปรับปรุงระเบียบของเสียให้สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุหมุนเวียน

12. ปลดล็อคให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตอุทยานพื้นที่อนุรักษ์[13]

7. บทส่งท้าย


ถ้อยคำสวยหรูทั้งที่ปรากฏอยู่ในคำโฆษณาและกล่าวอ้างเกี่ยวกับการประชุมเอเปค ทั้งเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โมเดล BCG การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย เป็นเพียงวาทกรรมที่ซ่อนเร้นเพื่อผลักดันสารัตถะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ต้องการ และเบียดขับคนเล็กคนน้อยออกจากฐานทรัพยากร และเปิดทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมสามารถขยายธุรกิจที่ได้มาจากการแย่งชิงทรัพยากร การปล่อยของเสียไปสู่ระบบนิเวศ ได้อย่างแนบเนียน อาทิเช่น

  • ใช้ถ้อยคำสวยหรู เช่น จัดทำ Community Biodiversity Bank ที่เชื่อมโยงกับ National Biobank of Thailand พูดถึงจุดแข็งของความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับกำลังส่งเสริมเอกชนไปปลูกป่าในที่ดินสาธารณะ อ้างคาร์บอนเครดิต สร้างความเป็นธรรมให้กับการปล่อยแกสเรือนกระจก พร้อมกับขับไล่ชุมชนพื้นเมืองที่ทำเกษตรกรรมกรรมตามวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นออกจากพื้นที่ดั้งเดิม เช่นเดียวกับการปลดล็อคส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตป่าอนุรักษ์ แต่ไม่ยอมปลดล็อคให้กับผู้คนที่ทำเกษตรกรรมตามวิถีวัฒนธรรม
  • อ้างอุตสาหกรรมชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว แต่เบื้องหลังคือ การขยายพื้นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยว ปลดล็อคการขยายโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เอทานอล ใช้วาทกรรม BCG กลบฝังปิดปากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยมลภาวะ รวมทั้ง PM2.5 จากเครือข่ายของอุตสาหกรรมเหล่านี้
  • ในขณะที่บทวิเคราะห์ของยุทธศาสตร์ BCG วิพากษ์วิจารณ์การทำเกษตรกรรมรายย่อยว่า เป็นการ “ทำมากแต่ได้น้อย” แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการภายใต้ยุทธศาสตร์ BCG ก็ยังคงเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น การปลดล็อคพืช GM ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด เลี้ยงปลาหนาแน่น ผลิตพืชในโรงเรือน เพลตฟอร์มการพยากรณ์อากาศและปัจจัยการผลิต (ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่) โดยไม่มีสักคำเดียวใน 90 หน้าของยุทธศาสตร์ที่พูดถึง "เกษตรยั่งยืน" "เกษตรนิเวศ” ช่างแตกต่างสุดขั้วกับยุทธศาสตร์ Green Deal ของสหภาพยุโรปที่ ระบุเป้าหมายอย่างชัดจนทั้งเรื่องการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 25% ของพื้นที่เกษตรกรรม การลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชลง 50% และลดการใปุ๋ยและสารเคมีลง 25% ในปี 2030 (แต่กระนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังขอเพิ่มงบประมาณเป็น 98.5 ล้านบาท “โดยจะปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เน้นเกษตรอินทรีย์ อาหาร และเกษตรชุมชน”[14])
กระบวนการกำหนดวาระ เนื้อหาการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนกลไกการขับเคลื่อนทั้งหมด อยู่ในมือของบรรษัทชนาดใหญ่ กลุ่มทุนผูกขาด ข้าราชการระดับสูง และเครือข่ายของพวกเขา

เกษตรกรรายย่อย ชุมชนชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น จำนวนมาก ต่างเรียกร้องวิถีเกษตรกรรม และการผลิตที่ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเคารพวิถีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่กลับไม่มีที่ว่างให้กับพวกเขาแม้เพียงเล็กน้อย

APEC และ BCG ที่แท้คือเวทีการส่งเสริมการค้าเสรี และการอ้างเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับชาตินั้นเอง

อ้างอิง
[1] เอเปคคืออะไร จากเว็บไซท์อย่างเป็นทางการของการประชุม APEC https://www.apec2022.go.th/th/what-is-apec-th/

[2] จาก https://www2.abaconline.org/page-content/22629881/business-calls-on-apec-leaders-to-exercise-collective-leadership-and-take-decisive-action-for-recovery-and-growth

[3] แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 1

[4] https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51360

[5] หนังสือที่ นร .403(กน)/ 11557) แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2563

[6] คำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ที่ 10 /2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาอาหาร

[7] คำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model 6/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขานวัตกรรม

[8] ข้อมูลส่วนนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเอกสารชื่อ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569” หน้า 53

[9] รายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพฯ ครั้งที่ 1/2565 (ฉบับปรับปรุง) วันที่ 19 มกราคม 2565 หน้า 13


[10] รายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ครั้งที่ 2/2564 วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 หน้า 10

[11] เอกสารยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569” หน้า 67 และ หน้า 155

[12] ไฟล์ Presentation การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 31

[13] รายงานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ครั้งที่ 2/2564 วันพุธที่ 24 มีนาคม 2564ระเบียบวาระที่ 2.1 แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2565-2570 สาขาท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

[14] รายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model ครั้งที่ 3/2564 วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2564 หน้า 11