ตลาดเหล้า-เบียร์ มูลค่าเกือบ 5 แสนล้านในมือ 2 บริษัทใหญ่ ยังไม่ง่ายที่รายใหม่จะได้เกิด
2 พ.ย. 65
Thairath Plus
Summary
- แม้ว่าประเทศไทยเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในปี 2543 แต่ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยก็ยังอยู่ในมือของบริษัทใหญ่เพียงสองราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และกฎระเบียบที่รัฐกำหนดนั้นเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาสู่ตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมก็มีความได้เปรียบที่จะขยายใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป
- อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีแบรนด์สำคัญคือ สิงห์ ลีโอ และ My Beer อีกราย คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีแบรนด์สำคัญ คือ ช้าง อาชา และ Federbräu (เฟดเดอร์บรอย) สองบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราว 95% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทย
- ส่วนอุตสาหกรรมสุรานั้นการแข่งขันน้อยยิ่งกว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่มากกว่า 80% และมีอำนาจทางการตลาดสูงมากจากการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ครบวงจร และมีบริษัทในเครือนำเข้าสุราต่างประเทศมาจำหน่าย
สาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ในตอนเริ่มต้นเมื่อปี 2470 นั้น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นการผลิตของภาครัฐ เพื่อทดแทนการนำเข้า แล้วต่อมา ปี 2502 ภาครัฐเปิดให้เอกชนลงทุนผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
แม้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุราในปี 2543 ทำให้มีการตั้งโรงงานสุราหลายแห่ง และมีบริษัทเบียร์ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนผลิตเบียร์ในไทย แต่ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยก็ยังอยู่ในมือของบริษัทใหญ่เพียงสองราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และกฎระเบียบที่รัฐกำหนดนั้นเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาสู่ตลาดนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมก็มีความได้เปรียบที่จะขยายใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นไป
ไทยรัฐพลัสขอชวนมาดูลงรายละเอียกว่า ภาพรวมตลาดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
รายงาน ‘แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2565-2567: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม’ ของวิจัยกรุงศรี ให้ข้อมูลไว้ว่า ณ ปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีขนาดการผลิตคิดเป็น 21% ของปริมาณการผลิตเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทย ส่วนในแง่มูลค่านั้น มีมูลค่ารวมประมาณ 473,000 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณการผลิต-การบริโภค และมูลค่าตลาดสูงสุดคือ เบียร์ มีสัดส่วนในเชิงปริมาณ 71.3% และในเชิงมูลค่า 54.3% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ตามด้วยสุรา ที่มีสัดส่วนในเชิงปริมาณ 26.7% และในเชิงมูลค่า 37.9% ของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด
อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยผู้ผลิตรายใหญ่สองราย คือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตเบียร์ยุคแรกเริ่มของไทย มีแบรนด์สำคัญคือ สิงห์ ลีโอ และ My Beer อีกราย คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาทีหลัง แต่เติบโตและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว มีแบรนด์สำคัญ คือ ช้าง อาชา และ Federbräu (เฟดเดอร์บรอย)
บริษัทใหญ่สองรายนี้มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจสูง และมีความได้เปรียบหลายด้าน ทำให้ปัจจุบันนี้ทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันราว 95% ของปริมาณจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทย โดยบุญรอดนำเป็นอันดับที่ 1
ส่วนอุตสาหกรรมสุรานั้นการแข่งขันน้อยยิ่งกว่า เพราะการผลิตถูกจำกัดอยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐ ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ธุรกิจยาก และถึงแม้เข้าได้ ก็แข่งขันไม่ได้ ตลาดจึงถูกผูกขาดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% และมีอำนาจทางการตลาดสูงมากจากการขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ครบวงจร โดยมีโรงงานสุราในเครือ 18 โรง และมีบริษัทในเครือนำเข้าสุราต่างประเทศมาจำหน่าย ทำให้ปัจจุบัน ไทยเบฟเวอเรจ มีผลิตภัณฑ์สุราตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกระดับกว่า 30 แบรนด์ ยกตัวอย่าง สุราสี แบรนด์แม่โขง หงส์ทอง มังกรทอง แสงโสม BLEND และ CROWN99 สุราขาว แบรนด์รวงข้าว ไผ่ทอง นิยมไทย เสือขาว หมีขาว มังกรท่าจีน ไชยา เจ้าพระยา พญานาค พญาเสือ และบางยี่ขัน และสุราผสม แบรนด์เสือดำ และเชียงชุน
สำหรับส่วนแบ่งตลาดการจำหน่าย ซึ่งรวมถึงแบรนด์สินค้านำเข้าจากต่างประเทศด้วย ข้อมูลจากการวิจัยตลาดโดย Euromonitor ระบุว่า ตลาดเบียร์ในไทยปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ผู้นำตลาดคือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ครองส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามมาด้วย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาด 34.3% และบริษัท ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด 4.7% หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ ลีโอ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 44.8% รองลงมาคือ ช้าง 31.2% สิงห์ 11.2% ไฮเนเกน 3.8% และอาชา 2.4%
ส่วนตลาดการจำหน่ายสุรา มีมูลค่าโดยรวม 1.8 แสนล้านบาท ผู้นำตลาดคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ครองส่วนแบ่งอยู่ 59.5% ตามมาด้วย บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) ครองอยู่ 8.0% บริษัท รีเจนซี่ บรั่นดีไทย จำกัด ครองอยู่ 4.4% และบริษัทอื่นๆ 28.1% หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ พบว่า สุรากลั่นชุมชน ‘รวงข้าว’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 30.9% ตามด้วยสุรากลั่นสี ‘หงษ์ทอง’ 11.4% สุรากลั่นสี ‘เบลนด์ 285’ 11.2% สุรากลั่นสี ‘รีเจนซี่’ 3.6% สุรากลั่นสี ‘แสงโสม’ 3.0% และสุรากลั่นสี ‘แม่โขง’ 2.5%
ปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อหัวของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แต่อัตราการ เติบโตเฉลี่ยไม่สูงนัก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดหดตัวรุนแรงในปี 2563 และชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2564 ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมาแล้วเกือบทั้งปี แนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากการที่ 1 ใน 2 บริษัทใหญ่อย่างไทยเบฟแถลงรายได้ 9 เดือน ว่า มีรายได้จากการขายเบียร์เพิ่มขึ้น 15.3% และรายได้จากการขายเบียร์เพิ่มขึ้น 9%
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : ‘ไทยเบฟ’ เตรียมรุกธุรกิจใหม่ สรุปเหตุผล ทำไมสนใจสถานีชาร์จ EV และโฟกัส ‘นอนแอลกอฮอล์’ มากขึ้น แม้สุราและเบียร์ยังแข็งแกร่ง
ส่วนแนวโน้มอนาคต ตามที่วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2565 ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2565-2567 จะเติบโตในอัตราต่ำ หรือพูดตรงๆ คือ จะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากที่หดตัวลงมากในปี 2563 และในปี 2564 ก็ยังไม่ฟื้นสู่ระดับปกติ ส่วนเหตุที่การเติบโตจะยังต่ำเป็นเพราะว่า ภาครัฐยังคงควบคุมการทำตลาดและโฆษณา กำหนดโซนนิ่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์/จัดกิจกรรมงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพจะเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตของธุรกิจ
ถ้าแยกไปดูเป็นประเภท สำหรับเบียร์ คาดว่าความต้องการในประเทศจะขยายตัวเฉลี่ย 3-4% ต่อปี เป็นผลจากแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัว และการเร่งทำตลาดในช่วงที่มีการจัดมหกรรมกีฬาสำคัญอย่างฟุตบอลโลกในปี 2565 ฟุตบอลยูโร และโอลิมปิกปี 2567 ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายผ่านช่องทางร้านอาหารและสถานบันเทิง โดยเฉพาะคราฟต์เบียร์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตยังมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์การขายเพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การลดปริมาณแอลกอฮอล์ และการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ราคาจำหน่ายไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้รักสุขภาพอาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเบียร์มีแอลกอฮอล์ได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับสุรา คาดว่าการบริโภคจะเติบโตเฉลี่ย 2-3% ต่อปี จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อดึงดูดผู้บริโภคตั้งแต่ในช่วงปี 2563-2564 และผู้ผลิตบางส่วนปรับดีไซน์แพ็กเกจและขนาดขวดอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างความแตกต่างและขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภค
ด้านการส่งออกเบียร์และสุราไปต่างประเทศ คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเติบโตอย่างจำกัด แม้ว่ามีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก (สัดส่วนมากกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด) ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นตลาด ทั้งยังร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อขยายเครือข่ายช่วยกระจายสินค้า แต่อัตราการเติบโตจะถูกจำกัดโดย 2 ปัจจัย คือ การแข่งขันในตลาดอาเซียนค่อนข้างรุนแรงจากผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศค่อนข้างสูง และปัญหาการเมืองและความไม่แน่นอนของกฎระเบียบการค้าชายแดนของเมียนมา จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย
คาดการณ์ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่ว่านี้ เป็นการคาดการณ์ที่ไม่ได้นำปัจจัยเรื่องการเกิดขึ้นมาของผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่เข้าไปคิดคำนวณด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเกิดขึ้นมา ตามกฎหมายในอนาคตที่อาจจะอนุญาตให้ทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะแข่งขันกับรายใหญ่ได้ และคงไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตลาดมากนักในช่วงปีแรกๆ
และที่สำคัญคือ วันนั้นคงมาถึงไม่เร็ว เพราะแม้ว่าล่าสุดกระทรวงการคลังได้เสนอ ‘ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. ....’ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้แถลงว่า “กระทรวงการคลังเดินหน้าออกกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ ปลดล็อกเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขัน ทั้งยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน …” แต่เมื่อไปดูในรายละเอียดก็พบว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น
ส่วน ‘ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ …) พ.ศ. ….’ หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ว่าจะปลดล็อกให้ประชาชนสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ เอื้อให้มีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยเข้ามาแข่งขันได้มากขึ้นนั้น ก็ถูกสภาผู้แทนราษฎรคว่ำไปเรียบร้อยแล้ว
เป็นอันว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ของไทยยังคงสภาพโครงสร้างเดิมที่อยู่ในมือของสองบริษัทใหญ่ต่อไป
อ้างอิง : วิจัยกรุงศรี
อินโฟกราฟฟิก : Nuttal - Thanatpohn Dejkunchorn