วันเสาร์, พฤศจิกายน 19, 2565

เอเปค : ตำรวจสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” จับกุม-ทำร้ายสื่อบาดเจ็บหลายคน


บีบีซีไทย - BBC Thai
14h

ตำรวจสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” จับกุม-ทำร้ายสื่อบาดเจ็บหลายคน
.
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เปิดเผยว่า พบเห็นผู้บาดเจ็บมี 3 คน คนแรกเป็นช่างภาพหญิงของสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รับบาดเจ็บที่ตาด้านขวา มีเลือดไหลเต็มตา หลังปฐมพยาบาลเบื้องต้น พบว่ามีรอยแผลฉีกขาดถึงเยื่อบุตาขาวด้านใน แต่ไม่ทราบสาเหตุ คนที่สอง เป็นผู้ชาย ถูกยิงด้วยกระสุนยาง 2 รอย และคนที่สาม ไม่แน่ชัดว่าได้รับบาดเจ็บจากอะไร แต่พบว่านอนฟุบบนพื้น คาดว่าศีรษะอาจกระแทกพื้น
.
“ตูมตาม ๆ ขึ้นมา เห็นขบวนการตำรวจเดินเรียงหน้าเข้ามา” และ “มันไม่ควรใช้ความรุนแรง ประชาชนมาด้วยความสงบ ไม่เห็นต้องสลายอะไรเลย ถึงเวลาก็ชุมนุมไป ทำกิจกรรมไป ก็ควรจบด้วยดี ไม่ควรต้องใช้กำลังกับประชาชน” นพ. ทศพร กล่าว
.
อ่านรายละเอียดทางนี้ https://bbc.in/3hS7Dua

ตำรวจสลายการชุมนุม

18 พฤศจิกายน 2022
บีบีซีไทย

เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้กระสุนยางกับประชาชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ในระหว่างเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย

ภายหลังกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” เคลื่อนพลออกจากลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งพวกเขาใช้เป็นสถานที่ปักหลักชุมนุมและพักค้างตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. ก่อนเดินเท้ามุ่งสู่สถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ช่วงเช้าวันนี้ (18 พ.ย.) เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้นำชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม ทั้งตำรวจและผู้ชุมนุมเกิดการเผชิญหน้าและปะทะกันบริเวณ ถ.ดินสอ ก่อนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังแนวร่วมราษฎรพยายามทลายแนวกั้นของตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยชุดควบคุมฝงชน (คฝ.) เริ่มใช้โล่ และยิงกระสุนยางใส่มวลชน

ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนเร่งออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะจะสลายการชุมนุม

สำหรับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็น 1 ใน 20 สถานที่ที่รัฐบาลประกาศห้ามชุมนุม

หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำทั้งปรับ



ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” เกิดขึ้นเพื่อยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อผู้นำโลก ประกอบด้วย
  • เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) รวมถึงระเบียบกฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ที่พยายามนำเสนอให้ที่ประชุมเอเปครับรอง โดยให้เหตุผลว่า “เป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศ และสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับประชาชนไทยและประชาคมโลกในอนาคต”
  • เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ยุติบทบาทในการเป็นประธานการประชุมเอเปคโดยทันที เพราะ “ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่มเอเปค” และ “เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อประชาชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ”
  • เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ยุบสภา และเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง พร้อมกับจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลัง “ราษฎร” เคลื่อนขบวน

บีบีซีไทยสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับจากกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” เคลื่อนขบวน ไว้ ดังนี้

08.20 น. น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” ประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า จะเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดของเส้นทาง ซึ่งจะมี “ทีมกรุยทาง” พยายามเจรจาเพื่อลดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และ “ไปให้ใกล้ที่สุด” กับสถานที่จัดการประชุมผู้นำเอเปค

08.40 น. ผู้ชุมนุมจัดรูปขบวนเป็นแถวตอนเรียง 8 ก่อนออกเดินเท้าจากลานคนเมืองเข้าสู่ ถ.ดินสอ และมีนายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน เป็นผู้คุมรถกระบะดัดแปลงเป็นรถเครื่องขยายเสียง 1 คัน เพื่อคอยสื่อสารกับมวลชน สลับกับปราศรัยโจมตีรัฐบาล ทว่าเคลื่อนขบวนไปได้เพียง 200 เมตร ก็ต้องหยุดอยู่ด้านข้างศาลาว่าการ กทม. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางเครื่องกีดขวางเป็นแผงรั้วเหล็ก

09.08 น. ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ เจ้าของพื้นที่ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ผู้ชุมนุมกำลังฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมสาธารณะ “ขออย่าให้เกิดความไม่เรียบร้อยต่อบ้านเมือง ขอให้ท่านกลับไปที่ลานคนเมืองเวลานี้” นอกจากนี้ยังแจ้งสื่อมวลชนให้ขึ้นไปบนบาทวิถี

09.15 น. ผู้ชุมนุมได้รื้อทลายแนวกั้นของตำรวจ ก่อนเดินเท้ามุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และต้องพบกับแนวกั้นที่ 2 ของตำรวจ โดยมีการนำรถตำรวจมาจอดขวางทาง และวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมโล่ป้องกัน

09.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศเตือนผู้ชุมนุมอีกครั้งว่ากำลังทำผิดกฎหมาย พร้อมระบุว่า หากมวลชนคนใดฝ่าแนวรถเข้ามา ตำรวจจะจับกุมทันที

09.27 น. ผู้ชุมนุมที่อยู่แนวหน้าเริ่มดันรถตำรวจที่นำมากีดขวางไว้ ขณะที่ตำรวจแจ้งสื่อมวลชนให้ช่วยกันบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานว่าใครทำลายทรัพย์สินของทางราชการ

09.40 น. ตำรวจควบคุมตัวนางวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” ขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังหลังพยายามฝ่าแนวกั้นตำรวจ คฝ.



10.10 น. ผู้ชุมนุมแนวหน้าได้ลากรถตำรวจที่กีดขวางทางออกไปได้ 1 คัน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. พร้อมโล่และปืน ออกจากหลังแนวรถดังกล่าว รุกคืบมาทางมวลชน จนเกิดการปะทะกันของสองฝ่าย โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้ถีบโล่ตำรวจ ปาก้อนหินใส่ และใช้ไม้ฟาด ขณะที่ตำรวจก็นำโล่ผลักดันมวลชนกลับ และบางนายเริ่มใช้กระสุนยาง

ภาพการถ่ายทอดสดจากวอยซ์ทีวีแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ตำรวจนายหนึ่งเล็งปืนใส่ผู้ชุมนุม และมีกระสุนและประกายไฟออกมา นอกจากนี้ ยังมีตำรวจอีกหลายนายยิงกระสุนยางในช่วงชุลมุนราว 3 นาที ก่อนที่เหตุการณ์จะสงบลง โดยมีชายที่อยู่ฝั่งผู้ชุมนุมคนหนึ่งถูกหามออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุ รวมถึงมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่แนวหน้าหลายคน ก่อนควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขัง

10.15 น. มายด์-ภัสราวลี ขึ้นประกาศผ่านรถเครื่องขยายเสียง พร้อมโชว์หลักฐานเป็นปลอกกระสุน โดยบอกว่า “นี่คือกระสุนยางที่ยิงมาใส่เรา ยิงกระสุนยางใส่พี่น้องทำไม ละอายแก่ใจบ้างไหม”

10.30 น. พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงชี้แจงกรณีใช้กระสุนยางว่า เพื่อการป้องกันตนเองจากผู้ที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ขณะเดียวกันมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งหน้าไป 10 คน

10.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้มวลชนออกจากพื้นที่ เพราะจะเริ่มสลายการชุมนุมในเวลา 11.00 น.

11.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษชนรายงานว่า มีการจับกุมผู้และควบคุมตัวผู้ชุมนุมอย่างน้อย 6 คนไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง



11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้สื่อมวลชนและประชาชนออกจากนอกพื้นที่ ขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมขึ้นปราศรัยว่าจะตั้งเวทีรอเจ้าหน้าที่สถานทูตที่จะมาร่วมสังเกตการณ์

12.30 น. ตำรวจ คฝ. ยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณ ถ.ดินสอ ยึดรถเครื่องขยายเสียง และควบคุมตัวผู้ชุมนุมบางส่วนไป ทำให้ผู้ชุมนุมแตกฮือกลับไปทางศาลากลาง กทม.

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เปิดเผยว่า พบเห็นผู้บาดเจ็บมี 3 คน คนแรกเป็นช่างภาพหญิงของสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รับบาดเจ็บที่ตาด้านขวา มีเลือดไหลเต็มตา หลังปฐมพยาบาลเบื้องต้น พบว่ามีรอยแผลฉีกขาดถึงเยื่อบุตาขาวด้านใน แต่ไม่ทราบสาเหตุ คนที่สอง เป็นผู้ชาย ถูกยิงด้วยกระสุนยาง 2 รอย และคนที่สาม ไม่แน่ชัดว่าได้รับบาดเจ็บจากอะไร แต่พบว่านอนฟุบบนพื้น คาดว่าศีรษะอาจกระแทกพื้น

“ตูมตาม ๆ ขึ้นมา เห็นขบวนการตำรวจเดินเรียงหน้าเข้ามา” และ “มันไม่ควรใช้ความรุนแรง ประชาชนมาด้วยความสงบ ไม่เห็นต้องสลายอะไรเลย ถึงเวลาก็ชุมนุมไป ทำกิจกรรมไป ก็ควรจบด้วยดี ไม่ควรต้องใช้กำลังกับประชาชน” นพ. ทศพร กล่าว

12.40 น. ทวิตเตอร์ของสื่อ 2 สำนัก เปิดเผยว่า มีผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายร่างกายและควบคุมตัวในระหว่างการสลายการชุมนุมของตำรวจ คฝ.
  • เดอะ อีสาน เรคคอร์ด รายงานว่า วรัญญู คงสถิตย์ธรรม หรือบุ๊ค นักข่าวพลเมืองของ The Isaan Record “ถูกจับกุมขณะรายงานสดทาง FB Live ยังไม่ทราบว่านำตัวไปที่ไหน” โดยก่อนหน้านั้นสำนักข่าวนี้ได้ทวีตข้อความว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายขณะรายงานสดบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มต้าน APEC 2022”
  • เดอะ แมทเทอร์ รายงานว่า “ผู้สื่อข่าว The MATTER ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองฟาดและเตะเข้าที่ศีรษะ ทั้งที่ใส่ปลอกแขนและยืนยันตัวว่าเป็นสื่อมวลชน”
ตำรวจแจงจำเป็นต้องสลายการชุมนุม

พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค (กอร.รปภ.จร.) เปิดแถลงข่าวชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า ผู้ชุมนุมประมาณ 350 คน ได้เคลื่อนขบวนเพื่อเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อที่ประชุมเอเปค ซึ่งการเคลื่อนขบวนเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการขอชุมนุมสาธารณะ โดยเจ้าหน้าที่ได้เจรจาแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนกฎหมาย และทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ขว้างปาก้อนหินและสิ่งของ ทำลายรถยนต์กระบะของทางราชการเสียหาย มีการใช้กำลังทำร้ายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องใช้กำลังป้องกันตนเอง และทำการจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 10 รายที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข และกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาอื่น ๆ

ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 นาย ทรัพย์สินเสียหายจำนวนหลายรายการ

ส่วนกรณีปรากฎารใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ต. อาชยน กล่าวว่า เป็นอุปกรณ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์เพื่อการป้องกันตนเองจากผู้ที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ และเพื่อจะจับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ที่ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดเป็นไปตามหลักกฎหมาย ตามยุทธวิธี เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ดูแลความสงบเรียบร้อย