วันอังคาร, พฤศจิกายน 22, 2565

'อานนท์' ลั่น เอาจริงฟ้องกลับเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม 18 พ.ย. ทั้งทางวินัย-แพ่ง-อาญา เบื้องต้นทราบรายชื่อแล้วราว 170 คน ขู่ เตรียมทนายไว้ได้เลย เจอกันชั้นศาลแน่นอน - กลุ่มราษฎรร้อง กมธ.การเมือง สอบกรณีสลายม็อบ 18 พ.ย. 65


The Reporters
· 11h

UPDATE: 'อานนท์' ลั่น “โดนแน่” เอาจริงฟ้องกลับเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม 18 พ.ย. ทั้งทางวินัย-แพ่ง-อาญา เบื้องต้นทราบรายชื่อแล้วราว 170 คน ขู่ เตรียมทนายไว้ได้เลย เจอกันชั้นศาลแน่นอน
วันนี้ (21 พ.ย. 65) นายอานนท์ นำภา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว The Reporters ภายหลังการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้ตรวจสอบกรณีการใช้กำลังสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค ที่ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุและขัดต่อกฎหมายจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียการมองเห็น ยืนยันว่าจะมีการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทุกนาย ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง อย่างถึงที่สุด
นายอานนท์ ระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่รัฐต้องร่วมกันรับผิด ตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาจนถึงระดับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้ร่วมกันประพฤติผิดกฏหมาย ต้องรับผิดทั้งในระดับส่วนตัวและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องมีส่วนรับผิดด้วย คิดว่าครั้งนี้ล้ำไปเยอะและกระทบทุกส่วน ทั้งผู้ชุมนุม ไม่ได้ร่วมชุมนุม และสื่อมวลชน การทำร้ายสื่อมวลชนทั้งที่แสดงตัวแล้วอาจแฝงเจตนาต้องการคุกคามสื่อในการนำเสนอข่าวการชุมนุม ซึ่งสื่อมวลชนควรเรียกร้องและแสดงความจำนงเอาผิดร่วมด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคม โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่มีหลักฐานชัดเจน
นายอานนท์ เผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่คาดว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้กว่า 170 คนแล้ว ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาและระดับปฏิบัติการ รวมถึงอยู่ระหว่างการตามหาและพิสูจน์ทราบบุคคลที่ลั่นไกยิงกระสุนยางในระยะประชิด และในระดับเหนือเอวซึ่งผิดหลักยุทธวิธี
และการแต่งกายแบบอำพรางรูปพรรณสัณฐานของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่นั้น อานนท์ ยอมรับว่าไม่ใช่อุปสรรคในการพิสูจน์ทราบ เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในนามของรัฐมีหลักฐานอื่นๆระบุอยู่แล้ว และเราเชื่อว่าในสังคมตำรวจ ยังมีคนที่มีสติ ที่จะนำข้อมูลมาเพื่อคลี่คลายเรื่องนี้ ไม่ปกป้องคนผิด ไม่ปกป้องกันเอง
“…การกระทำในชุดนี้แตกต่างกับที่ผ่านมา จากพฤติกรรมทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่ใช่ตำรวจธรรมดาที่ออกมากระทำแบบนี้ ซึ่งต้องเอาผิดกันต่อไป ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บก็ต้องกระทำอย่างเต็มที่ต่อไป…” นายอานนท์ กล่าว
นายอานนท์ ยืนยันว่าจะเอาผิดทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง กับผู้ปฏิบัติทั้งหมดที่กระทำความผิด รวมถึงการเรียกร้องในทุกองค์กรนอกจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วจะเดินทางไปยังองค์กรอื่นๆเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น เพื่อให้แสดงบทบาทในการตรวจสอบเรื่องนี้
กรณีนี้จะไม่ใช่กรณีแรกในการดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งกรณีก่อนหน้านี้อยู่ในระหว่างการตั้งเรื่อง แต่เชื่อว่ากรณีนี้จะเป็นกรณีที่มีความชัดเจนมากที่สุด เพราะมีพยานหลักฐานพอสมควรที่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้อย่างชัดเจน อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของทนายความ ตอนนี้รู้ตัวแล้วคร่าวๆ และยังรู้ถึงระบบการสั่งการด้วย
เราหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำงานในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดจริงๆ ก็ต้องเอาผิดตามกฏหมาย เพื่อแสดงบทบาทการเป็นเสาหลักของประเทศ ถึงแม้ที่ผ่านมา จะมีกรณีที่ประชาชนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐจากการปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการชุมนุมได้นั้น เกิดขึ้นน้อยมาก
“…เตรียมหาทนายไว้ เจอกันชั้นศาลแน่นอน…” ทนายอานนท์ กล่าวปิดท้ายเมื่อถามว่าจะฝากอะไรถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
เรื่อง/ภาพ : ทศ ลิ้มสดใส
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์


The Reporters
· 14h

UPDATE: กลุ่มราษฎรร้อง กมธ.การเมือง สอบกรณีสลายม็อบ 18 พ.ย. 65 ย้ำชุมนุมตามกฎหมาย แต่ตำรวจรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่ได้ขอหมายศาลก่อน 'ณัฐชา' ตอกเจ้าหน้าที่เหมือนไม่เคยฝึกมา จ่อเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง 24 พ.ย. นี้
วันนี้ (21 พ.ย. 65) ที่อาคารรัฐสภา ตัวแทนแนวร่วม 'ราษฎร' นำโดย อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษากลุ่มสมัชชาคนจน และคณะ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม 'ราษฎรหยุด APEC 2022' ที่บริเวณ ถ.ดินสอ เมื่อ 18 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา
บารมี ระบุว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว แกนนำได้แจ้งการชุมนุมตามกฎหมาย จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีอำนาจอะไรมาขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมมุ่งไปสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้พยายามเรียกร้องให้ตำรวจถอดกำลังออกไป มาอยู่เคียงข้างประชาชน ขณะที่เหตุชุลมุนนั้น “ยืนยันว่าไม่ใช่การปะทะ แต่เป็นการที่เจ้าหน้าที่ทุบตีเอาเพียงฝ่ายเดียว” และในครั้งที่ 3 มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่จากตำรวจคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นอีกชุดหนึ่ง ที่ใส่ผ้าพันคอสีเขียว เข้ามาสลายการชุมนุม
"ถ้าเห็นว่าการชุมนุมไม่ชอบ ก็ต้องไปร้องต่อศาลให้มีคำสั่งยุติการชุมนุม แต่นี่เป็นการใช้กำลังและอำนาจเถื่อนเข้ามาทำร้ายมวลชน จนกระทั่งมีคนบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นเสียดวงตา ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้ และยังเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเรา"
บารมี ระบุว่า ตัวแทนมวลชนจึงมาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปค เข้ามาชี้แจง
ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือ โดยระบุว่า การชุมนุมของประชาชนย่อมเป็นสิ่งพึงกระทำได้ และประเทศไทยขณะนี้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว การชุมนุมสาธารณะก็เป็นเรื่องปกติในระบบประชาธิปไตย ยกเว้นผู้นำเผด็จการเท่านั้นที่รับไม่ได้กับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ
ทั้งนี้ ณัฐชา ยังกล่าวว่า ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ ถือว่าเกินอัตราส่วนจำนวนของประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งยังขาดมาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก เปรียบเหมือนไม่ได้มีการฝึกอบรมอะไรกันมาเลย
ณัฐชา ยังเผยว่า วันที่ 24 พ.ย.นี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสืบถามข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเวลา 11:00 น. ก่อนการประชุม ก็จะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าว มาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนพรรคเพื่อไทยร่วมรับหนังสือ พร้อมระบุว่า รัฐบาลที่ดีต้องฟังเสียงประชาชน แต่สิ่งที่รัฐบาลโต้ตอบกลับมา คือการผลักประชาชนให้เป็นศัตรู ถือว่าไม่ถูกต้อง และยังเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ ตนในฐานะตัวแทนของพรรคเพื่อไทยจะนำเรื่องเข้าสู่การตรวจสอบ
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์