วันพุธ, พฤศจิกายน 09, 2565

10 ปีที่แล้ว ทางการไทยแจงชาวโลกว่า 'ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' เป็นของคนทั้งชาติ แต่วันนี้....


ย้อนดูความพยายามอธิบาย 'ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' ของทางการไทย กต. เคยโต้ฟอร์บส์ปี 51 ว่า 'ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ' ขณะที่ ปี 55 สถานทูตไทยระบุทรัพย์สินของ สนง.ทรัพย์สินฯนับเป็นของแผ่นดิน แม้แต่รายงานประจำปี 53 ของ สนง.ทรัพย์สินฯ ก็พยายามบอกว่า รัฐบาลเป็น 'ผู้รับผิดชอบ' จน 'สมศักดิ์' ต้องเขียนบทความโต้
.....
"ตามที่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2551 นิตยสาร Forbes ได้เผยแพร่บทความพิเศษเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ประจำปี พ.ศ. 2551 และได้จัดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในลำดับแรกของพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ชี้แจงว่า บทความดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากว่าทรัพย์สินที่บทความนำมาประเมินนั้น ในความเป็นจริงมิใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่เป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นที่บทความเดียวกันนี้ไม่ได้จัดอันดับฐานะความร่ำรวย เพราะทรัพย์สินต่างๆ ไม่ใช่ของกษัตริย์ หากแต่เป็นของคนทั้งชาติ

สำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ที่ดิน" ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการ องค์กรสาธารณะกุศลเป็นผู้ใช้ประโยชน์ และจัดให้ประชาชนที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย รวมทั้งชุมชนอีกกว่าหนึ่งร้อยแห่งเช่าในอัตราที่ต่ำ มีเพียงส่วนน้อยประมาณร้อยละ 7 ของที่ดินที่จัดให้เอกชนเช่าและจัดเก็บในอัตราเชิงพาณิชย์

กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนเพิ่มเติมว่า บทความพิเศษดังกล่าวยังได้พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯว่าทรงเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งไม่ถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงไม่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติดังกล่าวแต่อย่างใด การที่ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เป็นเพียงหน้าที่ขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงไปยังนิตยสาร Forbes ด้วยแล้ว"