22 กุมภาพันธ์ 2565
ประชาชาติธุรกิจ
เปิดเหตุผลปูตินยึดแคว้นดอนบาสในยูเครน คาดหวังผนวกโดเนสต์-ลูฮันสก์ เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ตามรอยคราวที่เคยยึดไครเมีย
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียสร้างความสะเทือนไปทั่วยุโรปอีกครั้งนับตั้งแตวิกฤตการณ์ไครเมีย เมื่อ 2014 ซึ่งท้ายที่สุด ปูตินสามารถผนวกรวมคาบสมุครไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้สำเร็จ ทำให้รัสเซียมีพื้นที่เข้าถึงทะเลดำมากขึ้น
มาคราวนี้ ปูติน ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐอิสระเหนือโดเนสต์และลูฮันสก์ซึ่งอยู่ในแคว้นดอนบาสของยูเครน พร้อมส่งกองกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่โดยอ้างว่าเพื่อ “รักษาสันติภาพ” ในดินแดนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ปูตินปรารถนาคือการผนวกดินแดนแคว้นดอนบาสในยูเครนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วยวิธีการ บุกโดยไม่รบ บีบให้สงบ เพื่อสยบใต้เครมลิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ปูตินเคยใช้กับคราววิกฤตไครเมีย
ภูมิภาคโดเนสต์ เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยเหมืองแร่หลายแห่ง หนึ่งในเมืองสำคัญของภูมิภาคนี้คือ “สตาลิโน” (Stalino) ซึ่งมีประชากรราว 2 ล้านคน เมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และการถลุงเหล็กสำคัญของยูเครน
ส่วนลูฮันสก์ หรือชื่อเดิมสมัยสหภาพโซเวียต “โวโรชิลอฟกราด” (Voroshilovgrad) เป็นเมืองที่มีประชากรรองลงมาจากสตาลิโน่ ที่ 1.5 ล้านคน ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญอีกแห่งของยูเครนที่อยู่ใกล้ทะเลดำ เป็นแหล่งของเหมืองถ่านหินจำนวนมหาศาล ทรัพยากรจากทั้งสองเมืองรัสเซียสามารถเชื่อมต่อผ่านไปยังไครเมียเพื่อใช้สรรพประโยชน์ได้มากมาย
พลเมืองในแคว้นดอนบาส ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษารัสเซียนั้น เกิดขึ้นจากการที่แรงงานชาวรัสเซียจำนวนมากถูกส่งไปยังพื้นที่แห่งนี้หลังสงครามโลกครั้งที่สองตลอดช่วงการปกครองยุคโซเวียต กระทั่งโซเวียตล่มสลาย ยูเครนแยกตัวเป็นรัฐอิสระและถูกปกครองด้วยรัฐบาลที่เอนเอียงเข้าหาเครมลินเรื่อยมา กระทั่งปี 2014 คือจุดเริ่มต้นของการแตกหักระหว่างยูเครนกับรัสเซีย จากเหตุการความขัดแย้งนิยมรัสเซียในประเทศยูเครน ที่ประชาชนออกมาโค้นล้มรัฐบาลเอียงรัสเซีย
เป็นเหตุให้ยูเครนได้รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้ผู้นำขั้วตรงข้ามที่เปิดหน้าท้าชนเครมลินอย่างตรงไปตรงมา นั่นทำให้กลุ่มประชาชนในยูเครนที่ฝักใฝ่รัสเซีย เริ่มเคลื่อนไหวก่อการกบฏต่อต้านรัฐบาลเคียฟ ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ รัฐบาลท้องถิ่นเซวัสโตปอลซึ่งแทบไม่ต่างจากการเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของรัสเซีย จัดการลงประชามติแยกไครเมียเป็นรัฐอิสระ ผลลัพธ์คือ ประชาชนในไครเมียมากถึง 96.77% ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นหนุนให้ไครเมียเป็นรัฐอิสระ
กระทั่งต่อมารัสเซียผนวกรวมไครเมียได้สำเร็จ เชื่อว่าปูตินจะใช้แนวทางในลักษณะคล้ายกันนี้ค่อยๆ ผนวกรวมแคว้นดอนบาสอันอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้สำเร็จ