วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 01, 2564

วัคซีนโควิด : ได้ฉีดไหม ฉีดเมื่อไร บีบีซีไทยรวบรวมคำตอบข้อสงสัยวัคซีนสู้ไวรัสโคโรนาในไทย



ส่วนหนึ่งของบทความ
วัคซีนโควิด : ได้ฉีดไหม ฉีดเมื่อไร รวมคำตอบข้อสงสัยวัคซีนสู้ไวรัสโคโรนาในไทย
บีบีซีไทย

การเจรจาจัดหาวัคซีนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

หลัง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าออกมาตั้งคำถามเมื่อ 18 ม.ค. ถึงความล่าช้าและความไม่โปรงใส จากการที่รัฐบาลเลือกเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนจำนวนน้อยรายเกินไปจนตั้งข้อสังเกตว่า "แทงม้าตัวเดียว" หรือไม่ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งนายอนุทินก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า "ไม่ได้แทงม้าตัวเดียว"

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางการไทยมีความพยายามอย่างน้อย 2 ช่องทางเพื่อให้ได้รับวัคซีนเพื่อทำการฉีดให้ครอบคลุม 50% ของประชากรภายในปีนี้ นอกจากแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดสจากจีนในช่วง ก.พ.- เม.ย. อีกทั้งยังความพยายามแสวงหาความร่วมมือผ่าน COVAX facility ที่เป็นความริเริ่มขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดหาวัคซีนโควิดแก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ นพ. ศุภกิจยอมรับว่าการทำสัญญาสั่งจองซื้อมีความยุ่งยากบางประการทำให้การได้มาของวัคซีนยังไม่แน่นอน และอาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ด้านนายอนุทินก็ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในกรณีนี้ว่า ไทยได้เจรจากับ COVAX มาตลอด แต่ไม่อยู่เกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจาก COVAX ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ พันธมิตรวัคซีน GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง หากจะร่วมกับ COVAX ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า

ลำดับการฉีดวัคซีนในประเทศ ใครได้ก่อน-หลัง

27 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันผ่านหอกระจายข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงไทยคู่ฟ้า PM PODCAST ที่เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ว่า คนไทยทุกคนที่ต้องการฉีดจะได้รับการฉีดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีและสตรีมีครรภ์

ระยะแรกรัฐบาลได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ประมาณ 19 ล้านคน ได้แก่

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 6.1 ล้านคน
  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน
  • เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย 15,000 คน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วัคซีนล็อตแรก 5 หมื่นโดสจะเข้ามาในเร็ว ๆ นี้โดยจะฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่ 14 ก.พ.เป็นต้นไป



ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มประมาณเดือน พ.ค. ขึ้นอยู่กับวัคซีนจะทยอยเข้ามาได้มากน้อยเพียงใด ในส่วนนี้จะครอบคลุมประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงลำดับถัดไป โดยกลุ่มเป้าหมายอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งจำนวนวัคซีนที่หาได้

นอกจากนี้ในช่วงประมาณเดือน พ.ค. คาดว่าสยามไบโอไซเอนซ์จะสามารถผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตแรกในประเทศได้ 26 ล้านโดส พร้อมกันนั้นรัฐบาลไทยยังสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมทั้งจากแอสตร้าเซเนก้าและที่ผลิตเองจากคณะแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสต์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส

นพ. นคร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ในวันที่ 29 ม.ค. ถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าโดยสยามไบโอไซเอนซ์ว่า เป็นไปตามที่คาดหมาย โดยล็อตแรกสำหรับการทดสอบคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค. และล็อตในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมจะได้รับการจัดส่งมายังบุคลากรทางการแพทยเพื่อฉีดกลุ่มเป้าหมายได้ภายในเดือน มิ.ย

จะใช้วัคซีนจากจีนหรือไม่

เมื่อต้นเดือน ม.ค. รัฐบาลไทยแถลงว่าได้สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจากจีนจำนวน 2 ล้านโดส โดยจะให้องค์การอาหารและยาไทยของไทย (อ.ย.) เตรียมขึ้นทะเบียน เพื่อให้ทันการฉีดวัคซีนให้ประชาชนวันแรกคือ 14 ก.พ. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า ไทยต้องปรับแผนวัคซีนโควิด-19 หลังซิโนแวคยังรอการขึ้นทะเบียนในจีน จึงเจรจาแอสตราฯ จัดส่งล็อตสำเร็จรูปผลิตในอิตาลีให้ไทยก่อนรอบแรก 5 หมื่นโดส

นายอนุทินระบุ วัคซีนของซิโนแวค ยังคงอยู่ระหว่างรอเอกสารข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อขึ้นทะเบียน อย.

"ซิโนแวค" เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัคซีนจีนที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อ 2 ล้านโดส
เราจะฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้กับคนทั้งโลกได้อย่างไร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายอนุทิน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาและการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของประเทศว่า วัคซีนของซิโนแวค ยังคงอยู่ระหว่างรอเอกสารข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อขึ้นทะเบียน อย.

วัคซีนต้องมีความปลอดภัยและประสิทธิภาพอย่างไร

ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยเมื่อ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างข้อมูล ณ วันที่ 14 ม.ค. มีวัคซีนที่ผ่านเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว จากทั้งหมด 20 บริษัท ด้วยการศึกษาในคนอย่างน้อย 30,000 ตัวอย่าง เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

สำหรับวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีราคาแพง ซึ่งไทยไม่ได้นำเข้า ศ.นพ. ประสิทธิ์ อธิบายว่า แม้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสสูงสุดถึง 95% แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะประสิทธิภาพเพียง 50-60% ก็เพียงพอแล้ว โดยยกตัวอย่างของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดประจำปีก็มีประสิทธิภาพราว 50-60% เช่นกัน


"หากเราได้วัคซีนเหล่านั้นแล้ว จะต้องไม่ทำให้โรครุนแรงหรือเสียชีวิต คือเป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ" ศ.นพ. ประสิทธิ์ กล่าว

"หากเราได้วัคซีนเหล่านั้นแล้ว จะต้องไม่ทำให้โรครุนแรงหรือเสียชีวิต คือเป้าหมายใหญ่ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ"

ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันแต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันที่ 90% และไม่ได้เอาเชื้อโควิด-19 มาผลิตจึงทำให้ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอีกเทคโนโลยี ในราคาในไทยจะได้ราคาราว 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส



ส่วนวัคซีนซิโนแวคจากจีนนั้น นายแพทย์ผู้นี้อธิบายว่า ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ซึ่งปลอดภัย แค่ใช้เชื้อโควิด-19 มาแล้วทำให้มันเปลี้ย ไม่ทำให้เป็นอันตราย ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเพราะต้องใช้เทคโนโลยีป้องกันการระบาด และมีประสิทธิภาพ 50% ซึ่งเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน



นพ. ประสิทธิ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตวัคซีนให้กับแอสตร้าเซนเนก้าในไทยด้วย

หากผู้อ่านมีข้อสงสัยเกี่ยวข้องเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดหาและแผนบริหารจัดการฉีดวัคซีน สามารถส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของบีบีซีไทย เราจะหาคำตอบมาให้

อ่านบทความเต็ม
https://www.bbc.com/thai/thailand-55873467