วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 22, 2564

ขอบเขตของม.112 อยู่ตรงไหน มีใครรู้มั่ง ??

.....
iLaw
17h ·

+++ ขอบเขตของม.112 อยู่ตรงไหน ประชาชนไม่เคยรู้ +++
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
.
ขอบเขตการตีความและการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงมากที่สุด เนื่องจากในแง่ตัวบทกฎหมายเองนั้น การบัญญัติให้องค์ประกอบความผิดที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายอยู่ด้วยกันในมาตราเดียว ย่อมทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงความคิดเห็นแบบใดเป็นความผิดบ้าง
.
เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นองค์ประกอบความผิดที่กว้างมาก เปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 326 ที่ระบุบทนิยามของคำว่า "หมิ่นประมาท" ไว้ชัดเจนกว่า ประชาชนย่อมพอจะคาดหมายได้ว่า สิ่งใดที่ทำแล้วจะเป็นความผิดหรือไม่ อีกทั้งยังได้แยกความผิดฐานดูหมิ่นบุคคลธรรมดาไว้ในอีกมาตราหนึ่ง ส่วนการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด
.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
.
นอกจากในแง่ของตัวบทแล้ว การบังคับใช้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งเนื่องจากมีการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต การกระทำบางอย่างดูเหมือนจะไม่ใกล้เคียงที่จะเป็นการ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ก็ถูกดำเนินคดี เช่น คดีนักศึกษาที่จ.ลำปาง แขวนป้ายผ้าข้อความว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid19” หรืออย่างกรณีนักศึกษาที่จำหน่าย "ปฏิทินเป็ดเหลือง" ที่มีข้อความว่าปฏิทินพระราชทาน
.
อย่างไรก็ตาม การตีความกฎหมายกว้าง ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะก่อนหน้านี้ ศาลเคยมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยโดยการตีความเกินตัวบทให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึงรัชกาลที่ 4 หรือสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่ทั้งสองพระองค์นี้ไม่ได้เป็นบุคคลที่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 112