วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 23, 2564

วันนี้ 'โขงสีคราม' หมายถึง ‘Hungry Mekong’ เพราะ “ปั่นไฟ เพื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์...เพียงเพื่อจะเอากำไรจากไฟฟ้า"


จะเรียก ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ก็ได้ ปัญหาน้ำโขงแล้งเนื่องจากเขื่อน ๑๑ แห่งของจีนตามแนวต้นน้ำโขงตอนเหนือ เก็บกักและผันน้ำเอาไปใช้อย่างไม่ใยดีประเทศปลายน้ำ ทั้งลาว พม่า ไทย เขมร และเวียดนาม ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ทางการจีนนั้นได้แต่ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้อง และกล่าวคำรื่นหู (เพียง) ว่าจะรับพิจารณาให้ความร่วมมือกับประเทศปลายน้ำเหล่านี้ ในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง (หรือที่จีนเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง) ทว่าผลงานวิจัยของ Eyes on Earth Inc. ไม่เห็นอย่างนั้น

“แม่น้ำโขงเผชิญกับภาวะความแห้งแล้ง ระดับน้ำลดต่ำสุดในรอบกว่า ๕๐ ปี สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรและชาวประมงจำนวนมาก” บีบีซีไทยรายงานไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว “อีกทั้งยังเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำโขงสีคราม อันเป็นผลมาจากตะกอนแม่น้ำโขงได้ถูกกักไว้”

มาปีนี้อาการแม่น้ำโขง หิวโหยยิ่งขึ้นเนื่องจาก ภาวะไร้ตะกอนไม่มีโคลนขุ่น สีปูนเจือปนจนน้ำใสสะท้อนท้องฟ้าเป็นสีคราม ยิ่งเด่นชัดแถบปลายน้ำโดยเฉพาะด้านลาวและไทย เพราะตะกอนที่เต็มไปด้วยอาหารของปลาและพันธุ์ไม้ ตกอยู่เหนือเขื่อนหมด

“ที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ในเวลานี้ กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงได้สังเกตพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณที่เคยมีตะไคร่น้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าเทาหรือไก ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างที่เคย” Chainarong Setthachua นักอนุรักษ์ธรรมชาติที่โดดเด่นคนหนึ่งของไทยปริวิตก


วันนี้ แม่น้ำโขงไม่ได้เป็น Mighty Mekong อีกแล้ว แต่กลายเป็น ‘Hungry Mekong’ เพราะหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ ก็มีการกักเก็บน้ำไว้เหนือเขื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนกระทั่งน้ำท้ายเขื่อนแห้งและปลาตาย” เขื่อนดังกล่าวของลาวผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย

ไชยณรงค์บอกว่า “เขื่อนไม่ได้เก็บและปล่อยน้ำแบบที่โฆษณาว่า ไหลมาเท่าไหร่ ปล่อยไปเท่านั้น หรอกนะ คำพูดนั้นก็แค่หลอกเด็ก” แท้จริงเขื่อนได้ ล่ามโซ่แม่น้ำโขง เอาไว้ “จะปล่อยน้ำในยามผลิตกระแสไฟฟ้า” เท่านั้น

น้ำที่ปล่อยออกมาคือส่วนพ้นระดับ ‘Head’ ซึ่งสูงหลายสิบเมตร ดังเช่นที่เป็นกับเขื่อนปากมูล “เหนือเขื่อนตั้งแต่ตัวเขื่อนขึ้นไปอีกหลายสิบกิโลเมตรจนถึงแก่งสะพือก็เต็มไปด้วยตะกอน ตะกอนเหล่านี้ทับถมอยู่หน้าเขื่อน

ต้องใช้เวลาเป็นปีสายน้ำจึงพัดพาตะกอนออกไป” เขื่อนไซยะบุรีทำให้ระบบนิเวศน์ตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงเสียไป โดยยังไม่มีใครในรัฐบาลชุดที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหารนี้ยอมรับ หรือแม้แต่สำเหนียกในปัญหา

การ “ปั่นไฟ เพื่อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์...เพียงเพื่อจะเอากำไรจากไฟฟ้าทีซื้อมาจากการทำลายแม่น้ำโขง” ยังคงดำเนินต่อไป ซ้ำร้ายกำลังจะเพิ่มพูนปัญหาเดียวกันนี้ด้วยการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งบริษัทเจ้าสัวไทย มิตรรัก คสช.เป็นนายทุนใหญ่


ไม่บังเอิญที่เขื่อนหลวงพระบางมียักษ์ใหญ่ก่อสร้างของไทย ช.การช่าง อยู่เบื้องหลังเช่นเดียวกับเขื่อนไซยะบุรี ด้วยจุดประสงค์เดียวคือการผลิตไฟฟ้าขายให้แก่ไทย ทำสัญญาผูกพันแบบ ‘prenuptial’ แบ่งสมบัติกันไว้ล่วงหน้าแล้ว

เรียกว่าปริมาณไฟฟ้าที่สัญญาซื้อล่วงหน้านั้นเกินกว่าความต้องการในไทยไปเยอะแล้ว ส่วนมากจะไปลงที่กิจการเครือข่าย ไฮโซ แบบว่าศูนย์แฟชั่นหรืออุตสาหกรรมส่งออกของบรรษัทเจ้าสัว ที่ผลกำไรจะอยู่แต่ในพกในห่อของ ไอค่อน เหล่านั้น ให้ชาวบ้านได้แค่ชื่นชม

แดนนี่ ม้าร์คส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยดับลินซิตี้ชี้ว่า “ความต้องการพลังงานที่เกินจริงของประเทศไทย...เฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ ก่อผลกระทบในทางเสียเปรียบของชีวิตความเป็นอยู่ และระบบนิเวศน์ในชนบท”

ทุนใหญ่ทั้งจากจีน ไทย มาเลย์ เวียดนาม ระดมสร้างเขื่อนตลอดแนวแม่น้ำโขงตอนล่างกันอย่างสนุกสนาน สถิติในปี ๒๕๖๒ มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ๘๙ แห่ง (เฉพาะในลาว ๖๕ แห่ง) อีกราว ๓๐ โครงการอยู่ในระหว่างเตรียมการ

มันไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อปากท้องของประชากรทั่วไป หากแต่เพียงสร้างกระแสหมุนเวียนทางการลงทุนและมูลค่าหุ้นในช่วงเวลาหนึ่งให้เห็นผลกำไร แต่ผลกระทบเกิดความเสียหายระยะยาว ต่อสภาพธรรมชาติและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมากกว่า

ชาวบ้านตลอดแนวลำน้ำโขงของไทยตระหนักในภัยจากนายทุนเหล่านั้น เริ่มแสดงออกในการต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนของจีนในลาวบางแห่ง ที่ใกล้หมู่บ้านไทยเพียงสองสามกิโลเมตร เช่นเขื่อนสานะคาม ติดจังหวัดเลย

เช่นกันกับเขื่อนหลวงพระบางซึ่งเริ่มลงมือสร้าง และกำหนดปฏิบัติการเต็มที่ในปี ๒๕๗๐ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแผนงานศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ริมแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนแต่อย่างใดเลย

(https://www.scmp.com/week-asia/economics/article/3122326/thailand-ngo-seeks-halt-mekong-dam-project-laos-threat-aseans, https://www.facebook.com/BBCnewsThai/posts/2873363282884693 และ https://www.bbc.com/thai/thailand-52276706PAVqw)