วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 28, 2564

คำบอกเล่าของ "ทนายแจม" ภรรยาตำรวจผู้ถูกธำรงวินัย



"ไม่น่าจะมีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้วมั้ง" ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความสังกัดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวกับบีบีซีไทย

เธอไม่ได้พูดถึงสถานการณ์การเมืองในฐานะ "ทนายแจม" อย่างที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหลายคนรู้จักกันดี แต่กำลังพูดถึงความเสี่ยงในฐานะ "ภรรยา" ที่ตัดสินใจออกมาบอกเล่าเรื่องราวของคู่ชีวิตและพ่อของลูกเธอ

สามีของศศินันท์เป็นหนึ่งในตำรวจ 97 นาย ที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดประเด็นว่าถูก "ธำรงวินัย" เพราะปฏิเสธที่จะถูกโอนย้ายไปเป็น "ข้าราชบริพาร"

"นั่งร้องไห้อยู่คนเดียวเป็นชั่วโมงเลย" ศศินันท์เล่าถึงตอนได้ฟังรังสิมันต์อภิปรายประเด็นนี้ในสภา "ได้มีคนรู้สักทีว่ามันมีเรื่องบ้า ๆ นี้เกิดขึ้น เราอยากพูดมานาน ไม่ใช่พูดไม่ได้ แต่มันไม่มีใครฟัง"

นี่เป็นประเด็นใหญ่ไม่แพ้เรื่องของ "ตั๋วช้าง" ที่ว่าด้วยการแทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ ทำให้สังคมออกมาตั้งคำถามว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ "ตำรวจราบในพระองค์" คืออะไร และใช้กระบวนการและกฎหมายอะไรในการโยกย้ายตำรวจหลายร้อยนายจากที่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเป็น "ข้าราชบริพาร"

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายรังสิมันต์ได้นำเสนอ "เอกสารชั้นต้น" ต่าง ๆ ที่มีตั้งแต่หนังสือจากสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ เมื่อเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ ส่งถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรื่องที่กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์จะคัดเลือกนายตำรวจมาบรรจุลงในกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904

ส.ส.พรรคก้าวไกลผู้นี้ เสนอข้อมูลต่อว่า หลังจากคัดเลือกได้ตำรวจ 1,319 นาย จากเคยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมีหนังสือภายใน สตช.ในช่วงปลาย ก.ย. 2562 ให้ผู้ผ่านการฝึก 873 คน ไป "ช่วยราชการในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยในพระองค์" โดยเข้าฝึกหลักสูตร "ตำรวจราบในพระองค์"

บีบีซีไทยไม่สามารถพิสูจน์และยืนยันเอกสารของรังสิมันต์ ได้ แต่ข้อมูลทั้งหมดสอดคล้องกับคำบอกเล่าจากศศินันท์ เธอเล่าว่า กระบวนการคัดเลือกก่อนจะได้นายตำรวจกว่า 1,300 นาย ทำโดยละเอียด "ไม่สูง ไม่เตี้ย ไม่อ้วน แล้วก็ไม่ใส่แว่นตา แล้วก็นับถือศาสนาพุทธ ขาไม่โก่ง หลังไม่โก่ง..."

เธอเล่าว่า สามีและเพื่อนตำรวจเริ่มตั้งคำถามเมื่อคนที่มาอบรมผู้ผ่านการคัดเลือกกว่า 800 คนกลับเป็นทหาร และมีกระบวนการจิตวิทยาทำให้คนกลัว "คนที่ยกมือ ที่พูดคนแรกว่าจะสละสิทธิ์ เขาสั่งให้ถอดเสื้อตำรวจออกเลย แล้วก็บอกว่า มึงเอายศออกมา มึงเป็นคนธรรมดาแล้ว ไม่มียศแล้ว แล้วก็ให้คลานเข่า"

หลังจากมีคำสั่งให้ไปรายการตัวรอบสุดท้ายก่อนเข้ารับการฝึก สามีของศศินันท์ตัดสินใจยื่นหนังสือพยายามให้เหตุผลว่าไม่สะดวก มีภาระทั้งครอบครัวและหนี้สิน และก็อยากสังกัดตำรวจต่อไป "แต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้มีการรับฟัง ...ตอนแรกเขาจะลาออก ทำหนังสือลาออก ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าเซ็นให้ออก"

หลังจากนั้น สามีเธอกลายเป็นหนึ่งในตำรวจ 100 นาย (ต่อมามี 3 นายที่ลาออกไป) ที่ถูกส่งตัวไป "ฝึกธำรงวินัย" ที่ จ.ยะลา 1 เดือน และที่ จ.นครราชสีมา อีก 8 เดือน

ตลอดเวลา 1 เดือนที่ยะลา ศศินันท์เล่าว่า การฝึกประกอบไปด้วยการให้เดินป่า ไม่ให้อาบน้ำ ให้ออกตรวจพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงสูง "กดดันทุกวิถีทาง ...เขาจะพูดอยู่ตลอดว่าถ้าใครไม่ไหวกลับไปก็ยังทัน กลับไปเข้ารับการฝึก[หลักสูตรตำรวจราบในพระองค์] เพื่อให้ทุกคนยอม คือไม่ลาออกก็ต้องกลับ ยอมโอนย้ายตามระเบียบ"

"มันเป็นวิธีการสู้ในวิถีทางของเขา สู้เพื่ออยากจะเป็นตำรวจต่อ" ศศินันท์เล่าถึงการตัดสินใจของสามี "เขาบอกว่าเขาคิดไม่ออกเลยว่าเขาจะเป็นอะไรนอกจากตำรวจ เขาก็รู้สึกว่าถ้าเขายอมลาออก โดยที่เขายังไม่ได้ลองสู้ในวิธีของเขาก่อน มันจะติดค้างใจไปตลอดชีวิต"

ขณะที่ศศินันท์ต้องรับภาระงานที่หนักไปตามกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมือง สามีเธอเคยรับหน้าที่เลี้ยงลูกเป็นหลัก "ตั้งแต่ลูกเกิด ล้างก้น อาบน้ำ ป้อนข้าว เขาทำทุกอย่างเลย"

แต่การถูกธำรงวินัยหมายความว่า สามีเธอต้องพลาดช่วงสำคัญ ๆ ในชีวิตลูกไป "ไม่ได้เห็นตอนที่ลูกเริ่มหัดเดิน เริ่มโต ตอนที่เขาเข้าไป ลูกยังไม่คลานเลย พอเขาออกมาลูกพูดเก่งแล้ว วิ่งแล้ว"

"เป็นห่วง ทำใจทุกวัน ไม่อยากดูหนังสือพิมพ์ เวลามีระเบิด เราก็กลัวไปหมด จุดที่ระเบิดมันเป็นจุดที่แฟนเราอยู่หรือเปล่า เราไม่รุ้เลยว่าเขาอยุ่ตรงไหน เขาทำอะไร" ศศินันท์เล่าถึงช่วงที่สามีไปอยู่ยะลา เธอเล่าต่ออีกว่าคนที่มาคุมฝึกจะมีทัศนคติด้านลบกับตำรวจกลุ่มนี้ "ว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดี พวกหนีคำสั่ง เป็นพวกแบบเลวร้าย"

ศศินันท์บอกว่า ตลอดชีวิต เธอมักเป็นคนที่ควบคุมทุกอย่างได้เสมอ วางแผนระยะยาวว่า 3-5 ปี ว่าชีวิตตัวเองและครอบครัวจะไปอยู่​ ณ จุดไหน แต่เรื่องนี้ทำให้เธอเครียดจนนอนไม่หลับอยู่เป็นเดือน ๆ จนต้องไปหาจิตแพทย์ในที่สุด

ในฐานะทนายความ จากที่เคยเอากฎหมาย "ไปจับ" ปัญหาได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับสามี เธอไม่รู้เลยว่า "วัตถุแห่งคดี" คืออะไร "ศาลปกครองไม่ได้ละ มันไม่เป็นคำสั่ง คำสั่งสิ้นผลไปแล้ว ...ศาลรัฐธรรมนูญไหม [แต่]จะเอาหลักการอะไรไปจับล่ะ ก็ได้แค่เสรีภาพในการประกอบอาชีพเหรอ"

"ตำรวจเอง พอเจอกลุ่มแบบเนี้ย ที่ไม่ยอมไป เหมือนเขาก็กลัวกันนะว่าเรื่องจะไปถึงข้างบนหรือเปล่า ด้วยความที่การเอาคนมาธำรงวินัยมันไม่ได้อยู่ในหลักกฎหมายหรือระเบียบอะไร"

ศศินันท์ เล่าว่า เมื่อรู้ว่า "การเอาคนมาไว้อย่างนี้ไม่มีกฎหมายรองรับ เขาก็เลยสร้างหลักสูตรให้ฝึกไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ให้กลับบ้าน 9 เดือน" ไม่ว่าจะเป็น "การตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราว, "การขับเรือยางตั้งเครื่องยนต์ขั้นพื้นฐาน", "เทคนิคการยิงปืนโดยไม่ใช้ศูนย์" ไปจนถึง "จักรยานยุทธวิธีและสายตรวจ" เป็นต้น

"พวกกระผมมีความรักในอาชีพตำรวจอย่างแท้จริง แม้จะถูกลงโทษให้เข้ารับการธำรงวินัยนานถึง 9 เดือน ก็ยอมรับแต่โดยดี ไม่ปริปาก เพียงแค่หวังว่าผู้บังคับบัญชาจะเห็นใจและให้โอกาส พวกกระผมมีความจงรักภักดีต่อสถาบันจากใจจริง เพียงแต่ความจำเป็นทางครอบครัวที่ทำให้ไม่พร้อมที่จะโอนย้ายไปยังหน่วยงานดังกล่าว…." คือข้อความส่วนหนึ่งจากจดหมาย "ขอความเมตตา" โดยตำรวจทั้ง 97 คน ที่ส่งไปยัง ผบ.ตร.


แต่หลังจากการฝึก 9 เดือนผ่านไป จากที่เคยเป็นนายตำรวจติดตามผู้บังคับบัญชา ศศินันท์บอกว่าสามีถูกย้ายไป "ดอง" อยู่ส่วนกลาง "ทำใจว่าคงจะไม่ได้ก้าวหน้าแล้ว คงได้เป็นตำรวจแบบนี้ อย่างน้อยก็ยังได้เป็นตำรวจอยู่"

อย่างไรก็ดี ศศินันท์ก็ยังนับว่าตัวเองโชคดีกว่าครอบครัวตำรวจคนอื่น ๆ ในจำนวน 97 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นตำรวจระดับนายสิบ มีเงินเดือนแค่หลักพัน ปกติแล้ว พวกเขาเหล่านี้จะได้เงินเสริมจากการเข้าเวร ได้เบี้ยเลี้ยงเพิ่ม แต่การถูกไปธำรงวินัยเท่ากับเงินที่ต้องนำไปใช้ดูแลครอบครัวตัวเองและญาติพี่น้องด้วยต้องหายไปโดยปริยาย

"แต่ละคนคือน่าสงสารมาก พวกแม่บ้านต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แล้วสามีไม่อยู่ ...สภาพจิตใจแย่กันหมด บางคนที่กำลังตั้งท้อง วันที่คลอดต้องไปคลอดเอง ผัวไม่อยู่ วันที่ลูกคลอดก็ไม่ได้ออกไปเจอหน้าลูก"

สังคมแห่งการนิ่งเฉย

ศศินันท์บอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมเรา "รู้อยู่แล้วว่าอะไรที่มันแย่ คนนี้ไม่ดี ระบบนี้มันห่วย มันแย่ แต่มันก็มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่นิ่งเฉยกับสิ่งนั้น เพียงแค่วันมันไม่ได้เกิดกับตัวเอง"

เธอบอกว่า ทุกคนต่างบอกกับเธอว่าสิ่งที่สามีเธอเผชิญเป็นเรื่องแย่ แต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ กลับไม่ไม่มีใครพูดอะไร

"ทำไมถึงยอมเห็นคนกลุ่มหนึ่งถูกกระทำอยู่อย่างนั้น ทุกคนรู้ว่ามันไม่เป็นธรรมกับเขา แต่ทุกคนก็ยังยอมอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครทำอะไรเพราะทุกคนกลัว"

ศศินันท์ยกประเด็นนี้เทียบกับประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 "ทุกคนก็รู้ว่ามันแย่ ...หลาย ๆ คนก็พูดกันลับหลังเยอะแยะมากมาย แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร ไม่มีใครออกมามากพอ"

เธอบอกว่าสิ่งที่เหมือนกันในตัว อานนท์ นำภา ที่เธอเรียกว่าเป็น "ทนายพี่เลี้ยง" สอนงานเธอมาหลายปี, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่เธอสนิท และสามีเธอเอง คือการคิดไปไกลกว่าตัวเอง

"ถ้าคนเราคิดแค่ตัวเอง ไม่ทำอะไรพวกนี้หรอก คิดว่าทำไป เดี๋ยวเมีย เดี๋ยวลูกลำบาก" ศศินันท์กล่าว "...แฟนแจมพูดว่าการที่เขายอมโดนธำรงวินัย ยอมขัดคำสั่ง เพราะเขาต้องการให้ไม่มีการคัดตัวแบบนี้อีก ไม่ให้รุ่นน้องเขาต้องมาอยู่ในความไม่มั่นคงแบบนี้อีก ...เขาไม่ได้คิดแค่ว่าเมียและลูกจะลำบาก เขามองแค่ว่ามันจะเป็นผลดีกับตำรวจอีกหลายคนมาก ๆ ที่อาจจะต้องเจอแบบเขาในอนาคต"

ในทางเดียวกัน ตอนที่ศศินันท์เพิ่งมีลูก คนรอบตัวมักจะพูดว่า "ลาออกไปทำงานอื่นไหม ทนายความมันเสี่ยงถ้าเป็นอะไรขึ้นมา ถ้าติดคุกขึ้นมา ลูกจะอยู่ยังไง" แต่เธอบอกว่า เธอมองไกลกว่านั้น มองถึงสังคมที่ลูกเธอจะต้องอยู่ในอนาคต

ศศินันท์บอกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เธอทำงานอยู่ "เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น" และเริ่มเห็นผลของสิ่งที่ทีมได้ลงแรงไป

"[ถ้าวันหนึ่งลูกมาถามว่า] ตอนที่เขาวุ่นวายกัน แม่ทำอะไรอยู่ เราอยากจะเป็นคนที่ลูกภูมิใจว่าในเวลาที่สังคมมันบ้าบอวุ่นวาย แม่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยให้โลกมันเปลี่ยแปลง"

ในบรรยากาศการเมืองที่คุกรุ่นและดูจะผลักให้คนสายอาชีพอย่างตำรวจและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไปอยู่ขั้วตรงข้ามกัน ศศินันท์บอกว่ามีสิ่งหนึ่งที่เธอและสามีคิดตรงกันมาตั้งแต่เขาสองคนเริ่มชอบกัน

"...เราจะสนับสนุนงานของกันและกันตลอด ไม่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องเสียตัวตน หรือเสียอุดมการณ์ในสิ่งที่ตัวเองทำ"

อ่านบทความเต็ม
ธำรงวินัย : ทนายสิทธิฯ บอกเล่าเรื่องราวของสามีที่ถูก “ทำโทษ” 9 เดือนเพียงเพราะอยากเป็นตำรวจต่อ
https://www.bbc.com/thai/thailand-56196375